หนี้นอกระบบ กับปัญหาเชิงโครงสร้าง | คำ ผกา

คำ ผกา

หน้าบ้านของฉันที่เชียงใหม่ เป็นร้านขายไก่ย่าง ปลาดุกย่างเล็กๆ ของแม่บ้านชาวกะเหรี่ยงของฉันเอง ซึ่งประกอบอาชีพนี้มานับสิบปี เป็นรายได้เสริมจากงานประจำคือการเป็น “แม่บ้าน”

จนปัจจุบันนี้ ฉันไม่แน่ใจว่า เงินเดือนจากฉันหรือกำไรจากการค้าขายที่เป็นรายได้หลักกันแน่

แต่นี่ไม่ใช่ประเด็นหลักของเรื่องที่จะเขียนถึง

ประเด็นอยู่ที่ ทุกๆ เช้า ฉันจะเห็นใบปลิวและนามบัตรของคนปล่อยเงินกู้นอกระบบ ที่ถูกนำมา “ปลิว” ที่หน้าร้านนับสิบๆ ใบทุกวัน และเขียนคำโฆษณาให้ไปใช้บริการ กู้ด่วน ยืมด่วน ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ ยืมทันที ได้ทันที

และทุกครั้งที่เห็นใบปลิวเหล่านี้ ก็ทำให้ตระหนักว่า ธุรกิจเงินกู้นอกระบบ ไม่ได้หลบเร้นตัวอยู่ที่ไหนเลย แต่เปิดเผย เข้าถึงชาวบ้านอย่างชนิดที่เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเสียด้วยซ้ำ

และหากใครมีชีวิตอยู่ในหมู่บ้านต่างจังหวัดแบบฉัน ก็จะเห็นสิ่งที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “หัวปิงปอง” คือ คนขี่รถเครื่อง ใส่หมวกกันน็อก ทำหน้าที่เก็บดอก ทวงหนี้

และหลายครั้งที่เราเห็นร้านค้าย่อย ร้านขายของชำในหมู่บ้าน ร้านก๋วยเตี๋ยว ส้มตำที่เปิดร้านอยู่ วันดีคืนดีก็ปิดร้าน

เป็นอันรู้กันว่า “หนีเจ้าหนี้” หนีการทวงหนี้จากพวกหัวปิงปองนั่นเอง

 

ฉันสารภาพว่าไม่มีความรู้เรื่องหนี้นอกระบบเลย

จากข้อมูลเท่าที่หาได้ เช่น เว็บไซต์ของธนาคารพานิชย์ ได้ตีพิมพ์เกี่ยวกับหนี้นอกระบบเอาไว้ว่า สาเหตุของการเกิดหนี้นอกระบบเกิดจาก

หนึ่ง ต้องการเงินลงทุน 41.5%

สอง เพื่อนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน 40.8%

สาม ต้องการเงินไปใช้หนี้เก่า ทั้งในและนอกระบบ 9.4%

สี่ นำไปซื้อสิ่งฟุ่มเฟือย 2.3%

ถ้าดูข้อมูลตรงนี้ก็ตัดเหตุผลเรื่องคนใช้เงินไม่เป็น ฟุ่มเฟือย ไม่มีวินัยทางการเงินออกไปได้เลย

เพราะมันชัดเจนว่า คนกู้มาเพื่อลงทุนกับใช้ในสิ่งจำเป็นอย่างค่ารักษาพยาบาล รวมๆ กันถึงเกือบ 81% ของผู้ที่เป็นหนี้นอกระบบ

 

ถ้าเราสวมวิญญาณของคนที่มองปัญหาเชิงโครงสร้าง เราจะเห็นทันทีว่าหนึ่งในนโยบายสำคัญมากของพรรคเพื่อไทย และของรัฐบาลเรื่อง 30 บาทพลัส จะช่วยแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของหนี้นอกระบบได้เยอะมาก

ไม่ใช่แค่ค่ารักษาพยาบาล แต่นโนบายเชิง “ป้องกัน” เช่น นโยบายวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก นโยบายคัดกรองมะเร็งเบื้องต้น นโยบายเทเลเมดิซิน หรือการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ความดัน หากทำได้โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางมาโรงพยาบาล เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ที่เป็นสาเหตุสำคัญอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนต้องไปเป็นหนี้นอกระบบ

ฉันยังมองข้ามช็อตไปอีกว่า พูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษา การยกระดับคุณภาพโรงเรียนให้มีคุณภาพ มาตรฐานการเรียนการสอนใกล้เคียงกัน ทำให้โรงเรียนประถมของรัฐบาลที่อยู่ใกล้ๆ บ้านของทุกคน เป็นโรงเรียนเรียนฟรี มีอาหารกลางวัน ถ้าทำตรงนี้ได้ ก็จะลดภาระค่าใชจ่ายของพ่อแม่ไปได้อีกเยอะ และยังสัมพันธ์กับนโยบายที่รัฐบาลอยากส่งเสริมให้คนมีลูก ถ้ามีลูกแล้วส่งเรียนโรงเรียนข้างบ้าน แบบที่เด็กเดินไปโรงเรียนเองได้ หรือไม่ไกลเกินไป และเรียนฟรี

ฉันคิดว่า สิ่งนี้จะสร้างแรงจูงใจให้คนอยากมีลูกได้จริงๆ

 

แต่เรื่องนี้ยากเกินไป ซับซ้อนเกินไป สิ่งที่ทำได้เลยคือ “ยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบนักเรียน” และยกเลิก “เครื่องแบบ” ที่ไม่จำเป็น เช่น ชุดลูกเสื้อ เนตรนารี ยุวกาชาด ให้เหลือแค่ผ้าพันคอ เข็ม เครื่องหมาย หรือหมวก อย่างใดอย่างหนึ่ง

หากไม่ยกเลิกการบังคับใส่เครื่องแบบ ฉันเสนอว่า กระทรวงศึกษาฯ ควรปรับเครื่องแบบนักเรียนให้เป็นเสื้อยืดคอโปโล กับกางเกงวอร์ม ใส่เหมือนกันทั้งชายและหญิง รองเท้านักเรียน ปรับเป็นรองเท้าผ้าใบทั้ง 5 วัน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย

ชุดนักเรียนนี้สามารถเป็นชุดพละไปได้ในตัว ประหยัดค่าซัก รีด

และสมควรเลิกการมีเครื่องแบบตามสีประจำโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถใส่เสื้อผ้าเหล่านี้ในวาระโอกาสอื่นได้ด้วย

หากทำได้ ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องพ่อแม่วิ่งวุ่นจำนำข้าวของ หรือกู้หนี้ยืมสินมาซื้อเสื้อผ้า เครื่องแบบให้ลูกไปโรงเรียน อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนเข้าสู่วงจรของหนี้นอกระบบ

 

คําถามต่อมาคือ ทำไมคนไปพึ่งพาหนี้นอกระบบ

คำตอบมีหลากหลาย ตั้งแต่ไม่มีหลักทรัพย์ ต้องการใช้เงินด่วนมากๆ ติด NPL ติดเครดิตบูโร มีรายได้ไม่แน่นอน มีประวัติถูกดำเนินคดี

มองในแง่นี้ก็ยิ่งทำให้สะท้อนใจ เช่น ถ้าเราเป็นคนที่เคยผิดพลาดในชีวิตด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ มี “ประวัติ” ติดตัว เราจะกลับมานับหนึ่งในชีวิตได้อย่างไร?

และหากเราซึ่งมี “ประวัติ” ติดตัวนี้ มาจากครอบครัวเปราะบาง ยากจน ปากกัด ตีนถีบ ญาติมิตรก็ล้วนแต่เป็นคนที่เอาตัวเองไม่รอดด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น

การจะนับหนึ่งเป็นผู้เป็นคนอีกครั้งถูกปิดกั้นจากเงื่อนไขว่า “ประวัติ” แบบนี้ทำให้เข้าถึงสินเชื่อในระบบไม่ได้ จำเป็นต้องไปอาศัยหนี้นอกระบบในการเริ่มต้นชีวิตใหม่ อาชีพใหม่

แต่การเป็นหนี้นอกระบบ ไม่ใช่การเริ่มต้นชีวิต กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นทาสดอกเบี้ยไปอย่างไม่มีวันสิ้นสุด

หากรัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือประชาชนจากวงจรหนี้นอกระบบ ฉันคิดว่านอกจากไปกอบกู้คนที่ตกเป็น “ทาส” ดอกเบี้ยเหล่านี้ ด้วยการเปลี่ยนหนี้นอกระบบของเขาให้กลายเป็นหนี้ในระบบแล้ว

การแก้ปัญหาในระยะยาว ต้องมาตั้งหลักว่า คนที่เป็นหนี้นอกระบบ ไม่ใช่แค่คนที่เงินขาดมือกะทันหัน

แต่เป็นคนที่ทั้ง “จน” ในมิติของเงิน และยัง “จน” ในมิติของ “ทุนสังคม”

เช่น เป็นคนที่ไม่มีหลักทรัพย์ เป็นคนที่ไม่มีงานประจำ เป็นคนที่ไม่มีรายได้แน่นอน เป็นคนที่ไม่มีการศึกษา ความรู้พอที่จะผ่านด่านการทำธุรกรรมของธนาคารห้าร้อยอย่างได้

หรือเป็นคนที่แม้แต่จะเดินผ่านธนาคารยังไม่กล้า อย่าว่าแต่จะไปขอกู้เงิน

หรือเป็นคนที่ “ประวัติ” ด่างพร้อยจนเข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบอีกต่อไป

 

โมเดลสินเชื่อที่จะช่วยเหลือคนเหล่านี้ น่าจะเป็นอีกโมเดลหนึ่งที่ไม่ใช่สินเชื่อธนาคารทั่วไป แต่เป็น “นาโนไฟแนนซ์” ที่ถูกออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

และหากถามฉันว่า โมเดลไฟแนนซ์นี้ต้องเป็นยังไง ฉันก็ตอบไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นทั้งนักเศรษฐศาสตร์ และไม่ได้เป็นทั้งนักการเงิน

แต่เท่าที่เคยอ่าน เคยได้ฟังมาเกี่ยวกับนาโนไฟแนนซ์ในประเทศที่ยากจน จนมาก เช่น เนปาล มีแม้กระทั่งเงินกู้จำนวน 50 บาท หรือ 100 บาท

กู้เอาไปทำอะไร ก็อาจเป็นสิ่งที่ชนชั้นกลางอย่างเราคิดไม่ถึง เช่น กู้ไปซื้อสบู่สำหรับอาบน้ำ เพื่อจะไปสมัครงานแบบร่างกายสะอาดๆ กู้เพื่อเป็นค่ารถ ค่ากิน ในสัปดาห์แรกที่เพิ่งได้งานทำ จึงเป็นเงินกิน – อยู่ก่อนเงินค่าวีกแรกจะออก

นี่ก็เป็นเรื่องเหลือเชื่อว่า เงินกู้ยืมเพียงน้อยนิดนี้ เงินทุนก้อนแรกสำหรับคนจำนวนมากบนโลกใบนี้ มันเป็นเงินแค่น้อยนิดเท่านั้น และหากเขาสามารถยืมเงินเล็กๆ น้อยๆ แบบนี้ใน “ระบบสินเชื่อ” ที่มีกฎหมายคุ้มครอง จะมีคนรอดชีวิต หรือสามารถตั้งหลักนับหนึ่งใหม่กับชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี

แต่โมเดลทางไฟแนนซ์แบบไหนที่จะรองรับการกู้ระดับนาโนขนาดนี้ได้ โดยที่บริษัทไฟแนนซ์นั้นก็สามารถทำกำไรได้ด้วย

 

ฉันยังเคยได้ยินคนขับแท็กซี่เล่าให้ฟังว่า การที่เขาเข้าระบบของ “บริษัท” ขอไม่เอ่ยชื่อ เขาสามารถกู้ยืมเงินตั้งแต่หลักร้อยบาท ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทจากระบบ และเงินกู้ยืมนั้นมีอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม และการใช้หนี้เป็นการหักจากส่วนบางรายได้ และหักทุกวันไปเรื่อยๆ จนกว่าจะใช้หนี้หมด

โมเดลนาโนไฟแนนซ์แบบนี้ ฉันคิดว่ารัฐบาลสามารถออกแบบให้ตอบโจทย์ที่หลากหลายได้ ตั้งแต่โมเดลกองทุนหมู่บ้าน สหกรณ์ หรือแม้แต่สนับสนุนเอกชนให้ทำธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ที่คนตัวเล็กๆ ก็เข้าถึงสินเชื่อที่เป็นธรรม กฎหมายคุ้มครอง และเอกชนก็มีกำไรจากธุรกิจนี้ ภายใต้คอนเส็ปต์ Financial inclusion ซึ่งฉันคิดว่า รัฐบาลต่อยอดจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต และจากแอพพ์เป๋าตัง เชื่อมกับบริการการเงินที่มีอยู่ในทุกๆ ร้านสะดวกซื้อ

ระยะยาวกว่านั้นคือ สวัสดิการโดยรัฐ ซึ่งหลายอย่างที่ได้เริ่มทำแล้วน่าสนใจมาก เช่น โครงการบ้านเช่าของโครงการการเคหะแห่งชาติ ที่คิดค่าเช่าถูกมากๆ

การลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย ไม่เพียงแต่ลดความเสี่ยงต่อการเป็นหนี้ แต่คือการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รายได้น้อย แต่เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ สิ่งแวดล้อมดี

ลูกหลานของพวกเขาไม่ต้องเสี่ยงต่อการหล่นลงไปในวงจรยาเสพติด อาชญากรรม แต่การเคหะฯ ทำบ้านเช่าราคาถูก มีพื้นที่ส่วนกลางสำหรับออกกำลังกาย มีห้องสมุด

เหล่านี้เป็นความฝันระยะยาว เมื่อเรามองภาพใหญ่ว่า เราจะทำให้คนส่วนใหญ่ของสังคมเรากลายเป็นชนชั้นกลางได้อย่างไร

ซึ่งมันแปลว่าเราต้องทำให้คนที่จนที่สุดที่ไม่แปลว่าจนเงิน แต่คือความจนทางโครงสร้างที่หมายถึงการเข้าถึงสินเชื่อ เข้าถึงที่อยู่อาศัยที่มีคุณภาพ เข้าถึงการศึกษา เข้าถึงบริการด้านสุขภาพ

และนี่แหละที่ฉันอยากจะเรียกมันว่าการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ในมิติที่เหมือนจะเป็นเรื่องปากท้องล้วนๆ อย่างหนี้นอกระบบมันจึงเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างล้วนๆ ด้วยเช่นกัน