วัฒนธรรม ‘แยกขยะ’ ญี่ปุ่น (2)

ทวีศักดิ์ บุตรตัน

ที่พักริมทางของญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะมีร้านขายสินค้าที่ระลึกทั้งขนมของกินเล่น อาหารสด เช่น เห็ด อาหารแช่แข็งเช่นปลา สินค้าแต่ละชนิดได้รับการห่อหุ้มด้วยกล่องและกระดาษเป็นอย่างดีนำไปเป็นของขวัญได้เลย

ผมมักแวะซื้อขนมไดฟูกุทำจากแป้งข้าวญี่ปุ่นใส้ถั่วแดงเอาไปกินเล่นระหว่างเดินทาง กล่องใส่ขนมห่อหุ้มด้วยกระดาษสีสดใส แกะกระดาษออกมาแล้วก็มีพลาสติกหุ้มกล่องข้างในอีกชั้น กว่าจะแกะกินขนมไดฟูกุได้ต้องใช้เวลาแกะเครื่องห่อหุ้มถึง 3 ชั้น

เครื่องห่อหุ้มกล่องใส่ไดฟูกุสวยเนียบ ต้องค่อยๆ แกะอย่างบรรจงเพราะไม่ต้องการให้กระดาษฉีกขาด การแกะแต่ละชั้นให้ความรู้สึกอยากรู้อยากเห็นหน้าตาไดฟูกุ เป็นอย่างไร

ทำให้นึกถึงคุณวาโกะ โชจิ พี่ชาวญี่ปุ่นที่ผมเคารพรัก เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ คุณวาโกะเดินทางมาเมืองไทยทีไรก็มักจะหอบ “โอมิยาเกะ” หรือของขวัญกล่องขนมไดฟูกุมาฝาก

คุณวาโกะเคยบอกว่า การให้ของขวัญเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวญี่ปุ่น และการห่อหุ้มเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมที่ชาวญี่ปุ่นสืบทอดมายาวนาน เป็นการแสดงถึงการมอบสิ่งที่สะอาดบริสุทธิ์ กระดาษหรือกล่องที่ห่อหุ้มเป็นสัญลักษณ์ของการป้องกันสิ่งสกปรก

ความประณีตในการออกแบบผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นให้ความรู้สึกเชื่อมสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งระหว่างผู้ให้และผู้รับ

ชาวญี่ปุ่นใช้กระดาษ พลาสติกห่อหุ้มในแทบทุกผลิตภัณฑ์ที่เป็นของกินของใช้ ผลไม้ชนิดต่างๆ มีโฟมตาข่ายห่อแล้วหุ้มด้วยแร็ปพลาสติกอีกชั้น เช่นเดียวกับข้าวซูชิ หรือโอนิงิริ เบนโตะ ราเมงที่มีถาดโฟมแล้วก็หุ้มด้วยแร็ปพลาสติกเช่นกัน

ร้านสะดวกซื้อไม่ว่าจะเป็น เซเว่น แฟมิลี่มาร์ท หรือลอว์สัน กลายเป็นที่นิยมของชาวญี่ปุ่นเนื่องจากมีทุกอย่างครบถ้วน ตั้งแต่อาหาร เครื่องดื่ม ไปถึงบริการถ่ายเอกสารและถอนเงิน

ชาวญี่ปุ่นเดินเข้าออกร้านสะดวกซื้อเพื่อซื้อข้าวปั้นอย่างโอนิงิริที่ห่อด้วยแผ่นสาหร่ายแล้วหุ้มฟิล์มพลาสติกอีกชั้นวันละหลายล้านคน เฉพาะร้านเซเว่นทั่วญี่ปุ่น สั่งโอนิงิริมาวางขายวันละ 2,200 ล้านชิ้น

 

จะเห็นว่า สังคมญี่ปุ่นใช้กระดาษ พลาสติกสิ้นเปลืองมาก ไม่เพียง “โอมิยาเกะ” หรืออาหารการกินเท่านั้น แต่สินค้าอื่นๆ ตั้งแต่ของเด็กเล่น ของใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้า ไปถึงรถยนต์ ชาวญี่ปุ่นบริโภคกันอย่างฟุ่มเฟือยเนื่องจากผู้คนมีรายได้ดีและเป็นแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก

เฉพาะขยะพลาสติกในญี่ปุ่นมีปริมาณมากเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ พลาสติกจึงกลายเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก เพราะแพร่กระจายไปทั่วทุกแห่งหน ไม่ว่าจะใต้ทะเลลึกหรือบนยอดเขาสูง แม้กระทั่งขั้วโลกล้วนเจอขยะพลาสติกยากต่อการกำจัดและทำลาย

อย่างที่เกริ่นไว้ในตอนที่ 1 ว่า ในช่วง 70 ปีที่ผ่านมาญี่ปุ่นมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ทั้งที่มาจากแหล่งอุตสาหกรรมและบ้านเรือน แต่ในเวลาต่อมาด้วยความมุ่งมั่นของรัฐบาลญี่ปุ่นในการให้ความสำคัญต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมจึงวางนโยบายฟื้นฟูประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง

หลักการที่ว่าด้วยผู้ก่อมลพิษจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ หรือพีพีพี (polluter-pays principle) รัฐบาลญี่ปุ่นใช้มาตั้งแต่ปี 2515 หลังเกิดปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอุตสาหกรรมเกลื่อนประเทศ

หลักการพีพีพีของญี่ปุ่นบังคับใช้อย่างเข้มแข็งมาก เพราะถือว่าการลักลอบทิ้งขยะเป็นอาชญากรรม ทำลายทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คน

มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการขยะ (waste management waste) เพิ่มโทษผู้กระทำผิดมากขึ้นจากเดิมปรับสูงสุดถึง 5 แสนเยน จำคุก 6 เดือน เป็นโทษปรับ 100 ล้านเยน จำคุกสูงสุด 3 ปี

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับขยะอันตรายของญี่ปุ่นมีการแยกย่อยออกไปอีกหลายฉบับ เช่น กฎหมายว่าด้วยการปนเปื้อนสารพิษในดิน กฎหมายการปนเปื้อนดินในพื้นที่เกษตรกรรม และกฎหมายว่าด้วยการปนเปื้อนของสารไดออกซินซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่มาจากการเผาไหม้วัตถุอันตรายหรือการเททิ้งสารเคมีอันตรายในพื้นที่สาธารณะ

ขณะเดียวกันกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นยังเพิ่มงบประมาณเฝ้าติดตามดูแลการลักลอบทิ้งขยะ ดึงอดีตตำรวจ ข้าราชการที่เกษียณในท้องถิ่นมาช่วยทำงาน ทำให้การตรวจสอบเข้มแข็งขึ้น มีการจับกุมผู้กระทำผิดได้มากขึ้น

 

ส่วนกระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ออกมาตรการว่าด้วยขยะของเสีย การรีไซเคิลขยะ กำหนดมาตรฐานการผลิตและคุณภาพการผลิตตามหลักการ 3R (reduce, reuse, recycle) เพื่อลดปริมาณขยะ นำขยะมาใช้ซ้ำและแปรรูปใหม่

มีการจำแนกประเภทของขยะเพื่อนำไปรีไซเคิลอย่างเป็นระบบ เช่น ขยะทำจากกระดาษ พลาสติก สำหรับนำไปใช้ใส่อาหาร เป็นหีบห่อบรรจุภัณฑ์ เป็นวัตถุดิบผลิตรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า

การแยกย่อยเช่นนี้ส่งผลให้ญี่ปุ่นสามารถนำขยะไปรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกับส่งเสริมให้ท้องถิ่นรณรงค์ประชาชนร่วมคัดแยกขยะ ทิ้งขยะ ช่วยให้ชาวญี่ปุ่นคัดแยกขยะได้ง่าย เกิดผลในทางปฏิบัติชัดเจน

 

หลังการใช้กฎหมายและการรณรงค์แยกขยะของญี่ปุ่นเป็นไปอย่างเข้มข้น ประสบความสำเร็จมาก ดูได้จากอัตราการคัดแยกขยะและรีไซเคิลขยะเมื่อปี 2561 สูงถึง 84 เปอร์เซ็นต์ และยังสะท้อนว่าชาวญี่ปุ่นมีจิตสำนึกสาธารณะสูงมากในการเก็บ คัดแยกขยะ

ทุกครั้งที่มีการทิ้งขยะ ชาวญี่ปุ่นจะต้องแยกขยะแต่ละประเภท ถ้าเป็นขวดพลาสติก จะฉีกฉลากพลาสติกออก แยกฝาขวด และบีบอัดขวดให้แบน เพื่อนำไปแยกใส่ในถังแต่ละประเภท เป็นพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวหรือพลาสติกที่สามารถนำไปแปรรูปใหม่ เช่นเดียวกับขวดแก้ว แยกฝาขวดออกก่อนทิ้งถังขยะประเภทขวดแก้ว ส่วนขยะอันตรายอย่างแบตเตอรี่ ก็แยกต่างหาก

ในแต่ละสัปดาห์ทางเทศบาลจะแจ้งให้ทราบว่า รถเก็บขยะจะไปเก็บขยะชนิดใด ถ้าเป็นขวดพลาสติก ชาวญี่ปุ่นขนเอาเฉพาะถังขยะใส่ขวดพลาสติกออกจากบ้านไปรอตามจุดรับขยะที่แจ้งไว้

เวลานี้กระบวนการสอนและเรียนรู้การรีไซเคิลขยะ การเก็บแยกขยะของญี่ปุ่นทำอย่างต่อเนื่อง มีการฝึกอบรมให้เด็กตั้งแต่ชั้นอนุบาลเรียนรู้ รวมถึงให้เคารพในธรรมชาติ ตามความเชื่อของศาสนาชินโต ว่าทรัพยากรทุกอย่างมีจิตวิญญาณ เป็นเทพเจ้า ควรใช้อย่างทะนุถนอมและให้รู้สึกเสียดาย ถ้าโยนทิ้งๆ ไปทั้งที่สิ่งนั้นยังใช้ได้อยู่

ชาวญี่ปุ่นมักจะพูดว่า “มอตตาไน” หรือรู้สึกเสียดาย

ที่เขตชินากาวะ ในมหานครโตเกียว มีการจัดอบรมการดูแลสิ่งแวดล้อมและคัดแยกขยะให้กับเด็กนักเรียน 40 โรงเรียน ด้วยโครงการรู้เห็นผ่านรถขยะ (see-through garbage truck)

โครงการดังกล่าว นำรถขยะที่เลิกใช้แล้วมาเป็นเครื่องมือในการสอนเพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ว่า รถขยะทำงานอย่างไร วิธีแยกขยะแต่ละชนิด การขนขยะไปฝังกลบ หรือรีไซเคิลต้องผ่านกระบวนการอะไรบ้าง เด็กจะเห็นรถขยะใช้เครื่องบีบอัดขยะให้เล็กสุดเพื่อใส่ขยะให้ได้ปริมาณมากสุด

โรงเรียนอนุบาลทุกแห่งของญี่ปุ่น มีหลักสูตรการจัดการขยะของเสียให้เด็กเรียนรู้และมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เมื่อกลับไปบ้าน พ่อแม่ผู้ปกครองก็จะสอบถามเด็กถึงการเก็บคัดแยกและทิ้งขยะ

ฉะนั้น จึงไม่แปลกเลยว่า ชาวญี่ปุ่นสามารถแยกขยะลงถังขยะแต่ละประเภท แม้กระทั่งในเมืองเล็กๆ บางแห่ง เช่น เมืองคามิคัตสุ ในจังหวัดโทคุชิมะ ชาวเมืองที่นั่นขนขยะที่คัดแยกแล้วไปใส่ในถังขยะประเภทต่างๆ เรียงเป็นแถวยาวมากถึง 34 ถัง ได้อย่างช่ำชองจนกลายเป็นเมืองปลอดขยะ

คำถามระหว่างเดินทางกลับประเทศไทยยังคาอยู่ในห้วงสมองว่า การแยกขยะของไทยยกระดับเทียบเท่าญี่ปุ่นจะต้องใช้เวลานานแค่ไหน นานเป็นหลายทศวรรษหรือเป็นศตวรรษ? •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]