เหรียญอายุครบ 80 ปี หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ มงคลวัดหลวงราชาวาส

“หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ” หรือ “พระครูอุทัยธรรมกิจ” อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงราชาวาส ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง

ศึกษาวิทยาคมจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังหลายรูป อาทิ หลวงพ่อพูน วัดหนองตางู, หลวงพ่อพุฒ วัดทุ่งแก้ว, หลวงพ่อเคน วัดดงเศรษฐี,หลวงปู่พลอย วัดห้วยขานาง เป็นต้น

วัตถุมงคลที่สร้างขึ้นมาแต่ละรุ่น มีความคิดโดดเด่นในทุกด้าน ไม่ว่าจะเมตตามหานิยม โชคลาภ และมีประสบการณ์ จึงเป็นที่นิยมเสาะหาโดยทั่วไป

ที่โดดเด่นเป็นที่เลื่องลือ นอกจากเหรียญรุ่นแรก จัดสร้างขึ้นเมื่อปี 2520 แล้ว ยังมี “เหรียญอายุครบ 80 ปี”

ปี พ.ศ.2535 จัดสร้างวัตถุมงคลในโอกาสที่มีอายุครบรอบ 80 ปี เป็นเหรียญพิมพ์ทรงรูปไข่ มีหูห่วง เนื้อนวะ 400 เหรียญ, เนื้อทองเหลือง 1,000 เหรียญ และเนื้อทองแดง 1,000 เหรียญ โดยปลุกเสกเดี่ยวตลอดไตรมาส

เหรียญหลวงปู่ตี๋ ครบรอบ 80 ปี (หน้า)

ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูห่วงยกซุ้ม

ด้านหน้า มีขอบรอบคู่กับลายกนก ตรงกลาง มีรูปนูนครึ่งองค์ มีอักษรไทยเขียนกำกับว่า “พระครูอุทัยธรรมกิจ”

เหรียญหลวงปู่ตี๋ ครบรอบ 80 ปี (หลัง)

ส่วนด้านหลัง มีขอบรอบเช่นกัน ตรงกลางมีอักขระขอม “นะ ใหญ่” หรือ “นะ ทรงแผ่นดิน” ใต้ขอบด้านบน มีอักษรไทย “วัดหลวงราชาวาส” ขอบเหรียญทั้งซ้าย-ขวา มีอักขระขอม อิ สะ หวา สุ และ สุ สะ หวา สุ อิ กำกับ ใต้ยันต์นะใหญ่ หรือ นะทรงแผ่นดิน มีอักขระขอม สะ สะ ลิ เต และอักษรไทย “ครบรอบ 80 ปี จ.อุทัยธานี”

พุทธคุณเด่นรอบด้าน ทั้งเมตตามหานิยม โชคลาภ เป็นต้น ผู้เช่าบูชาไปห้อยคอต่างพบประสบการณ์ นักนิยมสะสมพระเครื่องต่างเสาะหาเก็บไว้ในครอบครอง

เป็นวัตถุมงคลอีกรุ่นที่กล่าวขวัญ

หลวงปู่ตี๋ ญาณโสภโณ

อัตโนประวัติ เป็นชาวอุทัยธานีโดยกำเนิด เกิดที่ ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2455 ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือน 5 ปีชวด มีนามเดิมว่า ตี๋ แซ่ตั้ง เป็นบุตรคนที่ 3 ในจำนวน 6 คน ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย

ในช่วงวัยเยาว์ เรียนหนังสือที่โรงเรียนอุทัยทวีเวทย์ จ.อุทัยธานี จนจบการศึกษาชั้นมัธยมปีที่ 3

หลังจากนั้นได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2476 ที่พัทธสีมาวัดธรรมโฆษก (โรงโค) โดยมีพระสุนทรมุณี (หลวงพ่อฮวด) วัดพิชัยปุรณาราม เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปลัดโชติ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระใบฎีกาทิม เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า ญาณโสภโณ มีความหมายว่า ผู้มีญาณอันงดงาม

จำพรรษาอยู่ที่วัดธรรมโฆษก ต่อมาเมื่อเกิดไฟไหม้ตลาดอุทัยธานีครั้งใหญ่ ได้ไปอยู่กับหลวงพ่อพูนที่วัดหนองตางู เป็นเวลา 2 พรรษา ศึกษาวิทยาคม จนกระทั่งหลวงพ่อพูนมรณภาพลงในปี พ.ศ.2480 จึงได้กลับมาอยู่ที่วัดธรรมโฆษกอีกครั้ง

ในปี พ.ศ.2497 ย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหลวงราชาวาส

พ.ศ.2501 ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส และได้รับแต่งตั้งเป็นพระฐานานุกรมของพระราชอุทัยกวี (พุฒ) เจ้าคณะจังหวัดอุทัยธานี เจ้าอาวาสวัดมณีสถิตกปิฏฐาราม (วัดทุ่งแก้ว) พระอารามหลวง

พ.ศ.2517 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระครูชั้นสัญญาบัตร ที่ พระครูอุทัยธรรมกิจ

นอกจากได้รับการถ่ายทอดการฝึกจิตวิชาแพทย์แผนโบราณ รวมทั้งวิทยาคมด้านอื่นจากหลวงพ่อพูน วัดหนองตางู จ.อุทัยธานี แล้ว

ยังได้ศึกษาจากตำราสมุดข่อยโบราณของหลวงพ่อแป้น อดีตเจ้าอาวาสวัดหลวงราชาวาส เกี่ยวกับยันต์เทพรัญจวน เป็นยันต์เดียวกับที่จารลงในตะกรุดโทน ซึ่งหลวงพ่อป๊อก อดีตเจ้าอาวาสวัดอุโปสถารามใช้อยู่เป็นประจำ

จึงให้ช่างหลี เป็นช่างตัดผมในตลาดอุทัยธานี สักยันต์เทพรัญจวนที่ตัว ที่อก และหลังเป็นที่ระลึกกับหลวงพ่อแป้น และเห็นว่าเป็นยันต์โบราณที่ใช้สืบทอดกันมา

อีกทั้งยังได้รับการถ่ายทอดต่อจากพระราชอุทัยกวี หรือท่านเจ้าคุณพุฒ วัดทุ่งแก้วด้วย

 

ด้วยความสมถะและถือสันโดษมาตลอดระยะเวลาในชีวิตสมณเพศ ชอบศึกษาหาความรู้และอยู่อย่างเงียบๆ มีวัตรปฏิบัติที่เรียบง่าย ยึดมั่นในศีลาจารวัตร เคร่งครัดในพระธรรมวินัย

แม้จะมีชื่อเสียงในเรื่องของการสร้างวัตถุมงคลที่เป็นที่นิยมสะสมกันในวงการพระเครื่อง แต่ก็ยึดคำโบราณที่ว่า “ฆ้องดังเองไม่มีคนตี เรียกว่า ฆ้องอัปรีย์ ฆ้องที่ดีต้องมีคนตีถึงจะดัง”

วัตถุมงคลไม่ว่าจะเป็นเสือพุทธาคม ตะกรุดเทพรัญจวน เหรียญและรูปหล่อ สร้างขึ้นมาด้วยเจตนาบริสุทธิ์ ประกอบการปลุกเสกเดี่ยวและใช้เวลายาวนานตลอดไตรมาส เป็นส่วนใหญ่ จึงมีพุทธคุณจนเป็นที่เล่าลือโจษขานกันมากมาย

มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่ง คือ การพูดตรงไปตรงมา เป็นวาจาเสมือนเนื้อของหัวใจ ปากกับใจตรงกัน ท่านไม่เคยแสดงตัวโอ้อวด แม้ท่านจะมีชื่อเสียงในเรื่องของการจัดสร้างวัตถุมงคลเป็นที่นิยมกัน

วันที่ 1 มีนาคม 2546 เวลา 11.57 น. ละสังขารลงด้วยอาการสงบ สิริอายุ 91 ปี พรรษา 71

ปัจจุบัน สังขารยังคงนอนสงบนิ่งภายในโลงแก้วอันโปร่งใส ณ วัดหลวงราชาวาส ต.อุทัยใหม่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี

เพื่อให้ผู้ที่ศรัทธา ตลอดจนบรรดาศิษยานุศิษย์ได้กราบไหว้สักการะ •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]