ดอกบัวทอง

ดอฯกบ฿วฯทอฯง

ดอกบัวทอง อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “ดอกบัวตอง”

คำว่า “บัว” หมายถึง รูปทรงของดอกมีลักษณะคล้ายดอกบัว และ “ตอง” ในภาษาล้านนา หมายถึง “ทองเหลือง” ได้จากลักษณะสีเหลืองของดอกชนิดนี้

ดอกบัวตอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tithonia diversifolia (Hemsley) A. Gray. ในวงศ์ ASTERACEAE หรือวงศ์ทานตะวัน ชื่อสกุล Tithonia ตั้งตามชื่อของ Titonus คนรักของเทพี Aurora เทพีแห่งรุ่งอรุณของโรมัน และ diversifolia แปลว่า มีรูปร่างของใบที่หลากหลายตามลักษณะของใบบัวตอง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Mexican Sunflower Weed”

บัวตองเป็นพืชล้มลุกอายุหลายปี สูงได้ถึง 5 เมตร มีไหลใต้ดิน ใบเดี่ยวออกสลับ รูปไข่ หรือรูปไข่แกมขอบขนาน ขอบใบมักเว้า 3-5 แฉก ตามเส้นใบ หลังใบสีเขียวเข้ม ท้องใบเขียวอมเทา มีขนประปรายทั้งสองด้าน ดอกสีเหลืองทอง ออกเป็นช่อกระจุกที่ปลายกิ่ง ขนาด 6-14 ซ.ม. ช่อดอกกระจุกแน่นดูเหมือนเป็นดอกเดียว แท้จริงประกอบด้วยดอกสองแบบ ขอบนอกของช่อเป็นดอกย่อยที่มีกลีบดอกเชื่อมกันเป็นแถบยาว มองเห็นกลีบดอกแผ่เป็นรัศมีที่ขอบของช่อดอก หนึ่งกลีบมาจากหนึ่งดอก ตรงกลางช่อดอกเป็นดอกสมบูรณ์เพศจำนวนมากเรียงตัวอยู่บนจานดอก กลีบดอกเชื่อมเป็นหลอดสั้น มีเกสรเพศเมียโผล่พ้นกลีบดอกปลายแยกเป็นสองแฉกสีเหลือง ใต้จานดอกมีริ้วประดับสีเขียวรองรับ 3-4 ชั้น มองดูคล้ายเป็นกลีบเลี้ยงของช่อดอก ดอกย่อยแต่ละดอกติดผลแบบเม็ดทานตะวัน รูปขอบขนานขนาดเล็ก ยาว 0.5-0.8 ซ.ม. มีระยางค์เล็กๆ ที่ปลายผล บัวตองออกดอกได้ตลอดปี แต่จะดกมากในฤดูหนาว การใช้ประโยชน์ทางยาใช้เป็นยาภายนอก ใช้ใบสดย่างไฟวางบนศีรษะช่วยแก้ปวดหัว ยอดอ่อนเผาไฟขยี้ทาช่วยบรรเทาอาการผื่นคัน และดอกใช้ใส่แผลช่วยบรรเทาอาการฟกช้ำ

ดอฯกบ฿วฯทอฯงบ฿นฯดอฯยฯที่ขุรยวฯม
อ่านว่า “ดอกบัวตองบนดอยตี้ขุนยวม”
แปลว่า ดอกบัวตองบนภูเขาที่ขุนยวม

บัวตองเป็นพืชทนแล้ง ทนร้อน ชอบแดดจัด ชอบอากาศเย็น ขยายทรงพุ่มจากไหลใต้ดินได้อย่างรวดเร็ว เป็นพืชเบิกนำในพื้นที่ที่ถูกเปิด หรือพื้นที่ที่ถูกรบกวน จึงพบได้ตามข้างทางและรบกวนพืชท้องถิ่นเป็นวงกว้าง มีการปล่อยสารพิษยับยั้งการเติบโตของพืชอื่น มีอายุยาว แตกหน่อได้ดี ทั้งยังมีเมล็ดขนาดเล็กเบา ปลิวตามลมช่วยในการแพร่พันธุ์ได้ดี มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโกและกระจายไปทั่วโลก

ทุ่งดอกบัวตองที่มีชื่อเสียงในล้านนา คือที่ดอยแม่อูคอ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับซับซ้อน ดินเป็นดินร่วนปนทราย สูงจากระดับน้ำทะเล 1,600 เมตร เหมาะกับความต้องการของดอกบัวตอง ทิวทัศน์มองเห็นภูเขาซ้อนกันคล้ายคลื่นทะเล เมื่อถึงฤดูหนาวช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม ดอกบัวตองในพื้นที่ออกดอกดูเหลืองอร่ามไปทั้งดอยสุดลูกหูลูกตา มองเห็นเป็นทัศนียภาพที่สวยงาม กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เป็นแลนด์มาร์กของจังหวัด ช่วยยกระดับดอกบัวตองให้เป็นดอกไม้ประจังหวัดอีกด้วย ดังปรากฏในคำขวัญประจำจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ว่า “หมอกสามฤดู กองมูเสียดฟ้า ป่าเขียวขจี ผู้คนดี ประเพณีงาม ลือนามถิ่นบัวตอง”

นอกจากนี้ ศิลปินล้านนา “จรัล มโนเพ็ชร” ยังได้นำเอา “ดอกบัวตอง” มาใส่ไว้ในเพลงยอดนิยมของล้านนา นั่นคือเพลง ล่องแม่ปิง มีเนื้อเพลงขึ้นต้นว่า “ดอกบัวตอง นั้นบานอยู่บนยอดดอย ดอกเอื้องสามปอย บ่เคยเบ่งบานบนลานพื้นดิน …” ถือว่าเป็นเพลงที่เป็นคติเตือนใจของสาวๆ ชาวล้านนา ได้เป็นอย่างดี

 

ล้านนาคำเมือง | ชมรมฮักตั๋วเมือง