ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 1 - 7 ธันวาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | จ๋าจ๊ะ วรรณคดี |
ผู้เขียน | ญาดา อารัมภีร |
เผยแพร่ |
‘จันทน์’ เป็นไม้หอมชั้นสูงมีบทบาทในพิธีกรรมมาแต่โบราณ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปของแก่นจันทน์ (เนื้อไม้แข็งสีเข้มอยู่กลางลำต้นถัดจากกระพี้เข้าไป) จวงจันทน์ (เครื่องหอมอันแล้วไปด้วยแก่นจันทน์) กระแจะจันทน์ (ผงเครื่องหอมต่างๆ ที่ประสมกันสำหรับทาหรือเจิม) หรือเป็นน้ำมันจันทน์หอม
วรรณคดีเรื่อง “มหาเวสสันดรชาดก” กัณฑ์ทศพร เล่าถึงอานิสงส์ของการถวายแก่นจันทน์เป็นพุทธบูชาว่า พระเจ้าพันธุมราชพระราชทานแก่นจันทน์แดงแก่พระผุสดีพระราชธิดา พระนางทรงขออนุญาตพระบิดานำไปถวายพระวิปัสสิสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงอนุโมทนา
“พระราชบุตรีก็ให้บดแก่นจันทน์เป็นวิเลปนะเครื่องลูบไล้ ใส่ลงในผอบทองอันบรรจงวิจิตร …ฯลฯ… บูชาพระทศพลด้วยจุรณแก่นจันทน์ ที่เหลือนั้นก็เรี่ยรายปรายโปรยในสถานที่คันธกุฎี พระนางก็ตั้งพระปณิธานวาที ด้วยบาทพระคาถาว่า
เอสา จนฺทนจุณฺเณน ปูชา ตุมฺเหสุ เม กตา
ตุมฺหาทิสสฺส พุทฺธสฺส มาตา เหสฺสํ อนาคเตติ
ภนฺเต ข้าแต่สมเด็จพระผู้ทรงพระภาค เอสา ปูชา อันว่าการสักการบูชาอันข้าพระพุทธเจ้ากระทำในพระองค์ ด้วยผงจุรณแก่นจันทน์นี้ ขอให้ข้าได้สมความยินดี เป็นพุทธมารดาพระพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล อันทรงพระญาณวิเศษปรากฏเหมือนอย่างพระองค์ฉะนี้”
พระวิปัสสิสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ตรัสอนุโมทนา ‘ขอท่านจงสำเร็จดังหวัง’ ด้วยอานิสงส์ถวายผงแก่นจันทน์เป็นพุทธบูชา สิ่งที่บังเกิดในกาลต่อมาคือ
“เมื่อสิ้นพระชนมานก็บังเกิดในสวรรค์ ครั้นจุติจากเทวโลกนั้น พระราชธิดาผู้พี่ก็ได้เป็นพระบรมพุทธชนนีสมพระปรารถนา ทรงพระนามพระนางสิริมหามายาเทวี”
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญวันสุดท้ายแห่งพระชนม์ชีพของพระพุทธองค์สัมพันธ์กับ ‘จันทน์’ เช่นกัน ดังที่ “ไตรภูมิโลกวินิจฉยกถา” ฉบับที่ 2 ของพระยาธรรมปรีชา (แก้ว) บรรยายว่า
“ทิพฺพจนฺทนสุรภิกุสุมมิสฺสานิ ห่าฝนดอกไม้ทิพย์กับห่าฝนจุณแก่นจันทน์เจือกันนั้น ก็ตกลงผ็อยๆ กระทำสักการบูชาสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธิเจ้าเมื่อเสด็จเข้าสู่พระนิพพาน”
ห่าฝนที่ตกลงมาบูชาพุทธสรีระ คือ บรรดาดอกไม้สวรรค์ร่วงลงมาเป็นสายรวมกับสายฝนที่ผสมผสานกับผงแก่นจันทน์ปริมาณมหาศาล
นอกจากถวายเป็นพุทธบูชา ‘จันทน์’ ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะอุปกรณ์ประกอบพิธีที่จะขาดเสียมิได้ในการเวียนเทียนทั้งในพิธีอภิเษกและพิธีทำขวัญ ‘จันทน์’ ในที่นี้คือ ‘กระแจะจันทน์’ ซึ่งปรุงด้วยผงเครื่องหอม เช่น ผงไม้จันทน์ ผงกฤษณา ชะมดเชียง และหญ้าฝรั่น ประสมให้เข้ากันเป็นเนื้อเดียว ใช้สำหรับทาหรือเจิม
บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” เล่าถึงพิธีอภิเษกอิเหนาและราชบุตรราชธิดาสี่พระนคร เป็นพิธีสมรสหมู่รวม 29 องค์ ประกอบด้วยพิธีสำคัญ ได้แก่ ‘การอาบน้ำ’ หรือ รดน้ำพระพุทธมนต์ และ ‘การล้างด้วยไฟ’ หรือ การเวียนเทียน ขจัดเสนียดจัญไรให้สิ้นสูญเหลือเพียงความบริสุทธิ์ไร้มลทินใดๆ ก่อนเวียนเทียน ตำมะหงงจุดเทียนติดแว่น เจิม ‘จันทน์หอม’ หรือเครื่องหอมทำจากไม้จันทน์ ที่เจิมเทียนเพื่อให้เกิดสิริมงคล ก่อนนำเทียนนั้นไปทำพิธีเวียนเทียน
“ตำมะหงงตรงเข้าไปจุดเทียน ติดแว่นวิเชียรเจิมจันทน์หอม”
หลังจากเวียนเทียนครบ 7 รอบ ตำมะหงงจับแว่นเวียนเทียน (เครื่องติดเทียนรูปแบนๆ ปลายแหลมเหมือนใบโพ ทำด้วยเงิน ทอง หรือทองเหลือง มีด้ามถือ ใช้สำหรับติดเทียนเวียนในการทำขวัญต่างๆ) ทีละสองปักลงในขันทอง เอาใบพลูรองดับไฟแล้วโบกควัน ใช้จันทน์ (กระแจะจันทน์) เจิมหน้าเพื่อความเป็นมงคล ต่อจากนั้นเอาช้อนตักมะพร้าวอ่อนมาป้อน อวยพรให้ทรงพระเจริญปราศจากภยันตราย ข้าศึกพ่ายแพ้ ดังที่บรรยายว่า
“ครั้นครบเสร็จเจ็ดรอบตามตำรับ ตำมะหงงประจงจับทีละสอง
มาปักลงไว้ในขันทอง ใบพลูรองดับอัคคีแล้วคลี่คลาย
จึงโบกควันจันทน์เจิมเฉลิมพักตร์ เอาช้อนตักมะพร้าวอ่อนป้อนถวาย
จำเริญศรีอย่าให้มีอันตราย ข้าศึกแพ้พ่ายไปทุกทิศ”
พิธีราชาภิเษกสิงหไตรภพครองเมือง เวียนเทียนแล้วก็ใช้ใบพลูดับเทียน และเจิมหน้าผากด้วยกระแจะจันทน์ ดังที่นิทานคำกลอนเรื่อง “สิงหไตรภพ” บรรยายว่า
“ครั้นเวียนเทียนสำเร็จเจ็ดรอบแล้ว รับแว่นแก้วรวมไว้ในที่ขัน
ใบพลูดับวับหายระบายควัน กระแจะจันทน์จุรณเฉลิมเจิมพักตรา”
‘จันทน์’ มิได้ใช้เฉพาะเจ้านายเท่านั้น สามัญชนก็ใช้ได้ เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนทำขวัญพลายงาม หลังจากเวียนเทียนเสร็จแล้ว ย่าทองประศรีก็ป้อน ‘มะพร้าวอ่อน’ และข้าวขวัญให้ และเจิมหน้าหลานชายด้วยกระแจะจันทน์
“มะพร้าวอ่อนป้อนเจ้าทั้งข้าวขวัญ กระแจะจันทน์เจิมหน้าเป็นราศี”
ว่าไหมล่ะ ‘จันทน์’ ในพิธีกรรมสำคัญไม่น้อย •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022