คุยกับทูต | อาร์ตูร์ ดมอฮอฟสกี นักข่าว นักประวัติศาสตร์ นักการทูตโปแลนด์ (2)

นับแต่กองทัพรัสเซียเข้ารุกรานยูเครนเมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2022 โปแลนด์เพื่อนบ้านของยูเครน เป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทอย่างมาก และเป็นประเทศแรกที่ประกาศส่งอาวุธเข้าไปช่วย

นอกจากนั้น โปแลนด์ยังเป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยจากยูเครนไว้มากที่สุดในโลก แต่การต่อสู้ก็ยังคงดำเนินต่อไปอย่างดุเดือด โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เรียกสถานการณ์นี้ว่า วิกฤตผู้อพยพที่ทวีความรุนแรงรวดเร็วที่สุดในยุโรปนับแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

สงครามรัสเซีย-ยูเครนคือโศกนาฏกรรมแห่งมวลมนุษยชาติ (human tragedy) หากยูเครนล้มเหลวในการปกป้องตัวเอง โปแลนด์อาจถูกบีบให้เข้าสู่สงครามหรือไม่

นายอาร์ตูร์ ดมอฮอฟสกี (Artur Dmochowski) เอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทยมีความเห็นว่า

“ปีที่แล้ว ผมมีตำแหน่งเป็นทูตพิเศษขององค์กรเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (OSCE) ได้ไปอยู่ในยูเครนถึงสามครั้ง โดยเข้าไปยังพื้นที่ที่รัสเซียโจมตีเพียงไม่กี่วันก่อนการรุกราน และในช่วงสงครามผมก็อยู่ที่นั่นด้วย”

“ผมรับรองได้เลยว่า ยูเครนเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่และเข้มแข็งมาก ชาวยูเครนมีความกล้าหาญ แข็งแกร่ง มุ่งมั่น และไม่ยอมแพ้ ผมจึงมั่นใจว่าสงครามครั้งนี้ ชัยชนะจะตกเป็นของยูเครนอย่างแน่นอน เพียงแต่เป็นเรื่องของเวลาว่าจะเป็นเมื่อใดเท่านั้น”

“ผมมีความภูมิใจมากที่เราชาวโปแลนด์เปิดใจต้อนรับโดยให้ที่พักอาศัยแก่ชาวยูเครนซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ซึ่งในปัจจุบันเรารับผู้ลี้ภัยชาวยูเครนแล้วประมาณ 2 ล้านคน”

“ส่วนทางด้านการท่องเที่ยว โปแลนด์ตั้งอยู่ในใจกลางทวีปยุโรป เป็นประเทศที่มีความมั่นคงและปลอดภัยในระดับสูง อีกทั้งเป็นชาติสมาชิกของกลุ่มพันธมิตรทางทหาร (NATO) ที่ทรงพลังที่สุดในประวัติศาสตร์”

นายอาร์ตูร์ ดมอฮอฟสกี (Artur Dmochowski) เอกอัครราชทูตโปแลนด์ประจำประเทศไทย

ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-โปแลนด์

“การลงทุนที่ใหญ่ที่สุดของโปแลนด์ในขณะนี้อยู่ในด้านอุปกรณ์การแพทย์และเทคโนโลยีดิจิทัล-ระบบไอที และการเขียนโปรแกรม”

“การพัฒนาการค้าระหว่างกันในอนาคตน่าสนใจมาก เนื่องจากทั้งสองสาขาแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีขั้นสูงที่ยอดเยี่ยมของเรา”

“ในอีกด้านหนึ่ง เราก็ได้เห็นบริษัทจากไทยที่สำคัญ เช่น CP, Thai Union หรือ Indorama เข้าไปลงทุนในโปแลนด์ รวมทั้งอีกหลายบริษัทที่กำลังวางแผนจะเข้าสู่ตลาดโปแลนด์เช่นเดียวกัน”

โปแลนด์กับอาเซียน (ASEAN) ในยุคปัจจุบัน

“เรามีความร่วมมือกับประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งในระดับการเมืองและเศรษฐกิจ”

“อย่างไรก็ตาม ผมหวังว่าจะมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในอนาคต”

“สิ่งสำคัญประการหนึ่งของความร่วมมือนี้คือโครงการช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาของโปแลนด์”

“ดังเช่นที่เราให้การสนับสนุนโรงเรียนในกัมพูชาหรือ ในประเทศไทย สำหรับผู้ลี้ภัยจากเมียนมา”

จตุรัสหลัก เมือง Kraków เครดิตภาพ- Andrzej Otrębski

กลยุทธ์ในธุรกิจการศึกษาหรือการท่องเที่ยวในโปแลนด์

“จํานวนนักศึกษาไทยที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยของโปแลนด์ปัจจุบันมีจำนวนมากขึ้นทุกปี จากหลักร้อย กำลังจะเป็นหลักพันคน”

“เนื่องจากข้อเสนอทางด้านการศึกษาของเรามีความน่าดึงดูดใจ ด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่ การมีค่าธรรมเนียมต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรป ในขณะที่การศึกษาของโปแลนด์อยู่ในระดับที่สูงมาก อีกทั้งค่าครองชีพก็อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่แพงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นในยุโรปตะวันตก”

“ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ หากเยาวชนไทยซึ่งกำลังตัดสินใจเกี่ยวกับแผนการศึกษาในอนาคตจะพิจารณาเลือกศึกษาที่มหาวิทยาลัยในโปแลนด์ โดยเฉพาะ การเรียนแพทย์หรือวิศวกรรมศาสตร์ด้วยค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าในประเทศอื่นๆ ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว”

พระราชวังวาเวล (Wawel Royal Castle)ใจกลางเมือง Kraków ประเทศโปแลนด์

ความน่าสนใจเมื่อเยือนโปแลนด์

“โปแลนด์เป็นดินแดนแห่งวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมในยุโรป มีอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์มากมายและความงดงามทางธรรมชาติที่หลากหลาย เช่น หาดทรายที่ยาวเหยียด ทะเลสาบหลายพันแห่ง และป่าของโปแลนด์ก็มีชื่อว่าใหญ่ที่สุดในยุโรป”

“นักท่องเที่ยวมักจะคอยชมขบวนพาเหรดมังกรครั้งใหญ่ที่คราคูฟ (Krak?w) เมืองมรดกทางวัฒนธรรมและเมืองหลวงเก่าของโปแลนด์ซึ่งมีประวัติและตำนานที่เกี่ยวข้องกับมังกร”

สมเด็จพระสันตะปาปายอห์น ปอลที่ 2 เสก็จฯเยือนโปแลนด์ เครดิต The Catholic World Report

บทบาทสมัยเป็นนักศึกษากับการทำ ‘กิจกรรม’

“ผมเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองในทศวรรษปี 1980 เป็นผลสืบเนื่องจากประวัติศาสตร์โปแลนด์”

“โปแลนด์ ในปัจจุบัน ถือเป็นหนึ่งในประเทศของสหภาพยุโรป (EU) ที่เจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่ง มีการพัฒนาและมีนวัตกรรมทางเศรษฐกิจ และยังถือเป็นผู้สร้างเสถียรภาพในภูมิภาคในฐานะชาติสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO)”

“วิถีทางแห่งความเป็นเสรี มีความมั่นคงและแข็งแกร่งของโปแลนด์ในวันนี้ เริ่มขึ้นในปี 1979 เมื่อสมเด็จพระสันตะปาปาจอห์น ปอลที่ 2 ประมุขของคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลกได้เสด็จเยือนโปแลนด์ ประเทศบ้านเกิดของพระองค์ ซึ่งในขณะนั้นสหภาพโซเวียตเข้ามายึดครอง พระองค์ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่ของชาวโปแลนด์เพราะเป็นพระสันตะปาปาองค์แรกที่เป็นชาวโปแลนด์ ไม่ใช่ชาวอิตาลีในรอบ 455 ปี”

“เรียกกันว่าเป็นการเผชิญหน้าของโลก (to renew the face of the Earth) พระองค์มีพระดำรัสกับเหล่าประชาชนชาวโปแลนด์ที่มาเข้าเฝ้าฯ ซึ่งเป็นผู้สร้างขบวนการน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (Solidarity) อันเป็นขบวนปลดปล่อยหรือปลดแอกที่ไม่ใช้ความรุนแรงในโปแลนด์ และในอีก 10 ปีต่อมา ก็ทำให้อาณาจักรเผด็จการรัสเซียล่มสลาย พร้อมกับระบอบสหภาพโซเวียตถูกขับออกไป ก่อนที่จะส่งผลให้หลายประเทศในยุโรปกลาง เริ่มเข้าสู่การรวมตัวเป็นสหภาพยุโรป และนาโต ในเวลาต่อมา”

“ซึ่งผมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการนั้น และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสหภาพนักศึกษาอิสระ (Independent Students Union) ที่ผมมีความภาคภูมิใจมาก”

“เมื่อโปแลนด์ได้รับอิสรภาพกลับคืนมา ผมก็ไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมใดๆ อีก เพราะทำงานเป็นนักการทูตและสื่อมวลชน โดยผมเชื่อว่า เมื่อเข้ามาอยู่ในสายอาชีพนี้แล้ว ก็ต้องมีความเป็นกลางทางการเมือง”

เอกอัครราชทูตโปแลนด์และครอบครัว

การผจญภัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต

“ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ตอนที่เรียนในมหาวิทยาลัย กิจกรรมของผมอยู่ในขบวนการเรียกร้องเอกราชและต่อต้านโซเวียต นับเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่มาก แม้ชีวิตจะมีความยากลำบากก็ตาม เพราะในระบอบเผด็จการที่กดขี่เราต้องเผชิญกับการปราบปรามหลายรูปแบบ”

“ประสบการณ์ดังกล่าว ทำให้ชีวิตของผมตื่นเต้นและคุ้มค่า ถึงแม้ทำงานเป็นนักการทูตและนักข่าวในสถานที่ที่น่าสนใจหลายแห่ง ก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทายทางอาชีพที่หาได้ยาก เช่น การสร้างเครือข่ายสถานีโทรทัศน์ และเป็นหัวหน้าสำนักข่าวระดับชาติที่นำทีมนักข่าว 500 คน”

“นอกจากนี้ ภารกิจของการเป็นทูตพิเศษเมื่อปีที่แล้ว ทำให้ได้ไปเยือนเกือบ 20 ประเทศ ถือเป็นงานหนักที่สำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤตการณ์ระหว่างประเทศซึ่งเกิดจากการรุกรานยูเครนอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซีย” •

 

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin