พินิจ ‘สัปเหร่อ’ พิจารณา ‘ความตาย’ จากสายตานักปรัชญา

ปรากฏการณ์ของหนัง “สัปเหร่อ” ที่ตอนแรกเป็นเรื่องฮือฮากันขึ้นมาก็เพราะหนังได้ทุบสถิติการทำรายได้หลายร้อยล้านอย่างรวดเร็ว

ประเด็นเริ่มลามไปถึงความท้าทายต่อสังคมและวัฒนธรรมกระแสหลัก

และล่าสุดกลายเป็นประเด็นทางการเมือง ว่าด้วยวิวาทะเรื่องซอฟต์เพาเวอร์กับรัฐบาล

แต่ปรากฏการณ์เหล่านี้ยังไม่ใช่เรื่องที่ผู้เขียนอยากพูดถึง

เพราะผู้เขียนคิดว่าเนื้อหาของหนังสัปเหร่อยังมีคุณค่าชวนให้เราพินิจพิเคราะห์ต่อไปได้อีกมาก

 

ประเด็นหนึ่งในหนังเรื่องนี้ที่ทุกคนก็ย่อมเห็นอย่างชัดเจนว่าหนังเล่าถึง “ความตาย” อย่างตรงไปตรงมาและถือเป็นแก่นแกนของหนังเลยก็ว่าได้

หนังเล่าถึงความตายอันเป็นสามัญลักษณะของคนเราได้อย่างครบถ้วน

ไม่ว่าจะเป็นความตายคือสิ่งที่เรามิอาจหลีกเลี่ยงได้ เป็นความโศกเศร้าเสียใจ เป็นความไม่แน่นอนอันจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ไม่ว่าลูกเด็กเล็กแดง คนหนุ่มสาว พ่อแก่แม่เฒ่าทั้งหลาย

คล้ายกับคำพูดที่ว่า “ทันทีที่คนเราเกิดมาก็แก่พอที่จะตายได้”

กล่าวคือ ความตายไม่เลือกเวลาว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เช้าสายบ่ายเย็นล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้นที่ความตายจะเกิดขึ้น พูดอีกอย่างได้ว่า คนเรานั้นตายแน่นอน แต่ไม่รู้ว่าตายเมื่อไหร่

ในเรื่องสัปเหร่อ หนังก็เล่าถึงความตายในทำนองนี้เช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นงานศพของเด็กหนุ่มขาแว้น ที่วันเผาศพต้องมีเพื่อนๆ ขาซิ่งทั้งหลายมาแว้น บิดเครื่องมอเตอร์ไซค์ให้เสียงดังรอบเมรุ นัยว่าเป็นการส่งผู้ตายด้วยสิ่งที่เขาชอบในนาทีสุดท้าย

หญิงสาวสวยกำลังตั้งครรภ์ก็จากโลกนี้ไปได้ด้วยความตาย คนต่างความคิด ต่างความเชื่อ ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนาก็ล้วนลาโลกนี้ไปเช่นเดียวกัน

คนต่างเพศสภาพที่ในหนังเรื่องนี้เล่าอย่างยั่วล้อว่าเป็นกะเทยตายก็มี

คนที่ทำงานเกี่ยวกับความตายโดยตรงคือสัปเหร่อก็ต้องมีคราวของตัวเองเช่นกัน

ในหนังยังเสียดสีไปถึงสัตว์เลี้ยงก็คือหมาก็ยังตาย แถมยังจัดงานศพใหญ่โตกว่าคนเสียด้วยซ้ำ

 

อย่างไรก็ตาม มีนักปรัชญากรีกนามว่า เอพิคิวรัส (Epicurus : 341-270 BC) ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับความตายเอาไว้ว่า จริงอยู่ที่เรารู้จักลักษณะพื้นฐานต่างๆ ทั้งหมดของความตายที่กล่าวมา แต่อย่าลืมว่า อันที่จริงแล้วเราไม่เคยเผชิญความตายด้วยตัวเราเองจริงๆ

เรารู้จักหรือมีประสบการณ์กับความตายก็จากความตายของผู้อื่นเท่านั้น

ฉะนั้น สำหรับเอพิคิวรัสแล้ว “ความตายหาใช่สิ่งใดเลยสำหรับเรา เพราะว่าสิ่งที่ได้สลายไปแล้ว ย่อมไม่มีประสบการณ์ และสิ่งที่ไม่มีประสบการณ์ย่อมไม่เป็นสิ่งใดเลยสำหรับเรา”

กล่าวคือ สำหรับนักประสบการณ์นิยม (empiricist) แบบเอพิคิวรัสแล้ว เรารับรู้โลกหรือสรรพสิ่งจากประสบการณ์ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ของเรา ในเมื่อถ้าความตายมาเยือนจริง ตัวเราที่รับรู้สิ่งต่างๆ ก็ไม่อยู่แล้ว

เมื่อเราไม่มีอยู่แล้ว ความตายก็มิอาจส่งผลอะไรกับเราได้เลย

ในทำนองกลับกันหากเราตายแล้วยังรับรู้ทุกสิ่งทุกอย่างได้ปกติ นั่นก็เท่ากับว่าเราไม่ตายอยู่ดี

เอพิคิวรัสจึงเห็นต่อไปว่ามนุษย์เราไม่ควรกลัวความตายเสียด้วยซ้ำ

 

สําหรับเอพิคิวรัสแล้ว การตายคือการปราศจากประสบการณ์ และการปราศจากประสบการณ์ก็คือการปราศจากทุกข์ มนุษย์เราอาจจะกลัวตายจากจุดยืนของสิ่งที่มีชีวิตอยู่ เราจึงต้องการที่จะมีชีวิตต่อไป

แต่หากเรามองความตายจากจุดยืนของความตายแล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องกลัว

จะเห็นได้ว่า เอพิคิวรัสไม่ได้ลดทอนชีวิตลงไปเป็นเรื่องของความสุข ความทุกข์ แต่เขาเปลี่ยนมุมมองเรื่องความตายจากคนที่มีชีวิตอยู่ผู้ซึ่งกลัวความตายไปสู่คนตายที่ปราศจากประสบการณ์ด้านต่างๆ รวมถึงประสบการณ์ด้านความกลัวด้วย

หากเราตีความข้อเสนอของเอพิคิวรัสต่อไป อาจจะกล่าวได้ว่า อันที่จริงแล้วความตายนั้นไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับคนตายแต่อย่างใด

ข้อผูกมัดต่างๆ ในชีวิตเราก็จะจบสิ้นลงไปพร้อมกับความตาย

ข้อวิจารณ์หนึ่งต่อความคิดของเอพิคิวรัสเรื่องความตายก็คือว่า เอพิคิวรัสมองความตายราวกับว่าเป็นสวิตช์ปิดเปิดได้

ตราบใดที่มนุษย์ยังมีสำนึกรับรู้สิ่งต่างๆ ได้ มนุษย์ก็มีชีวิต แต่พอไม่มีตัวสำนึกรับรู้สิ่งต่างๆ มนุษย์ก็ตาย จบสิ้นตามนี้

แต่เอพิคิวรัสรู้หรือไม่ว่า มนุษย์ไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกนี้

มนุษย์ยังมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นหรือสิ่งอื่นอยู่ตลอดเวลา

ฉะนั้น ความตายคงต่างจากการปิดสวิตช์อย่างแน่นอน

ความคิดทำนองนี้คล้ายกับคำพูดของสัปเหร่อศักดิ์ตัวละครหลักในหนังที่ว่า “ให้คนตายเป็นครู ให้คนอยู่เป็นนักเรียน”

ความตาย ความโศกเศร้า งานศพ พิธีกรรมต่างๆ จึงเป็นเรื่องของ “คนเป็น” อย่างแท้จริง

ไม่ว่าจะเป็นการแสดงถึงความเคารพ เป็นการเยียวยาจิตใจในการจากลา เป็นการระลึกถึงอย่างเป็นทางการ ฯลฯ อันที่จริงเราจัดงานศพเพื่อคนเป็นมากกว่าเพื่อคนตายเสียด้วยซ้ำ

 

นักปรัชญาอีกคนที่สนใจเรื่องความตายอย่างเป็นระบบมากที่สุดคนหนึ่งก็คือ มาร์ติน ไฮเดกเกอร์ (Martin Heidegger : 1889-1976) นักปรัชญาชาวเยอรมันผู้ที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าความคิดของเขาเป็นรากฐานทางความคิดให้แก่ปรัชญาหลายสำนักไม่ว่าจะเป็น ปรากฏการณ์วิทยา (phenomenology) ปรัชญาแห่งการตีความ (hermeneutics) หรือแม้กระทั่งปรัชญาอัตถิภาวนิยม (existentialism)

ในหนังสือเล่มสำคัญของไฮเดกเกอร์ที่ชื่อว่า Being and Time (1927) ได้กล่าวถึงความตายไว้อย่างน่าสนใจ

แต่การที่เราจะเข้าใจความคิดเรื่องความตายของเขาได้ ก็จำเป็นต้องเข้าใจความคิดพื้นฐานของเขาด้วย

ผู้เขียนจึงขออนุญาตอธิบายความคิดส่วนนี้เท่าที่จำเป็นและอย่างรวบรัดให้ง่ายที่สุด

ก็คือ ไฮเดกเกอร์นั้นสนใจภาวะการเป็นมนุษย์ (human being) หรือการมีอยู่ของมนุษย์เรานั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การมีอยู่ของเรา เราไม่ได้มีอยู่อย่างโดดเดี่ยวแต่เพียงสิ่งเดียวเท่านั้น ทว่า การมีอยู่ของเรานั้นจำเป็นต้องมีอยู่ในเวลา และแน่นอนว่า เวลานั้นเป็นสิ่งจำกัด (finitude) มีที่สิ้นสุด

ฉะนั้น สำหรับมนุษย์แล้ว เมื่อเวลาของเราสิ้นสุด มันก็ย่อมมาพร้อมกับความตายนั่นเอง

ถ้าหากเราต้องการเข้าใจความเป็นมนุษย์ที่แท้จริง เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะพิจารณาชีวิตของเราในขอบเขตของความตาย

 

ไฮเดกเกอร์มองว่าแรกเมื่อมนุษย์เราตระหนักถึงภาวะความเป็นมนุษย์ เราไม่รู้หรอกว่าเรามาจากไหน อยู่ดีๆ เราก็สำนึกรู้ได้ว่าเราถูกจับโยนเข้ามาสู่โลกใบนี้แล้ว

ดังนั้น ภาวะพื้นฐานอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็คือ “ภาวะที่ถูกจับโยนเข้ามาสู่โลกนี้” (being-thrown-into-this-world)

แต่ระหว่างการดำเนินชีวิต เรารู้อยู่ตลอดเวลาว่าชีวิตเรานั้นมีจุดสิ้นสุดก็คือความตาย

สำนึกรู้ถึงข้อจำกัดหรือความตายของเรานี่เองที่ทำให้มนุษย์รู้สึกกระวนกระวาย (anxiety) และความกระวนกระวายนี้เองที่แสดงให้เห็นว่ามนุษย์มีการตระหนักถึง “ภาวะที่แท้จริง” (authenticity) ของตนเอง

กล่าวอย่างถึงที่สุด ภาวะการมีอยู่หรือการมีชีวิตจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเราตระหนักถึงความตายนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ความตายก็ปรากฏในทุกช่วงขณะของการมีชีวิตอยู่เช่นเดียวกัน ดังนั้น ลักษณะพื้นฐานอีกอย่างของมนุษย์ก็คือ “ภาวะที่มุ่งสู่ความตายตลอดเวลา” (being-towards-death)

พูดอีกอย่างก็คือ ความตายคือความเป็นไปได้ทุกขณะของการมีชีวิต

ตรงนี้นี่เองที่ทำให้มนุษย์เกิดความขัดแย้งขึ้น เพราะในทางหนึ่งเราก็รู้ถึงข้อจำกัด (facticity) ของเราคือความตาย

และในขณะเดียวกันทุกคนก็อยากหลีกเลี่ยงความตายให้ได้นานที่สุด

ฮเดกเกอร์เห็นว่า ผู้คนจำนวนมากดำเนินชีวิตไปโดยใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการปฏิเสธความตาย เพราะแม้แต่การครุ่นคิดเกี่ยวกับความตายก็เป็นรูปแบบหนึ่งของการปฏิเสธความตายเช่นเดียวกัน

ในขณะเดียวกันความตายจึงช่วยในการกำหนดโครงสร้างของชีวิตเรา ความตายอาจจะเป็นตัวกระตุ้นที่มีอิทธิพลมากที่สุดในชีวิตเราก็ว่าได้ แต่เรามักจะไม่อยากคิดถึงมันสักเท่าไหร่ และไม่อยากใช้ความตายมาเป็นเงื่อนไขในการอธิบายถึงการตัดสินใจต่างๆ ในการกำหนดชีวิตเราเลยแม้แต่น้อย

มาถึงตรงนี้ผู้เขียนอยากตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ทำไมเราถึงกลัวความแก่ชรากันนัก

ดังจะเห็นร่องรอยความคิดบางอย่างตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ความคิดเรื่องยาอายุวัฒนะ ความคิดเรื่องอมตะ ตลอดจนเทคโนโลยีชะลอความแก่ เพิ่มความหนุ่มสาวอะไรก็ตามในทุกวันนี้ ก็ล้วนเป็นรูปแบบหนึ่งของการปฏิเสธความตายนั่นเอง

พูดอีกอย่างก็คือ เราไม่ได้กลัวแก่ แต่เรากลัวตายต่างหาก แม้ว่าก่อนหน้านี้เราจะบอกว่าความตายเกิดขึ้นได้ทุกช่วงเวลาก็ตาม

 

ในหนังสัปเหร่อก็จะเห็นว่า ในห้วงคิดคำนึงของเจิด ตัวละครผู้ลูก ที่เศร้าเสียใจกับการจากไปของผู้เป็นพ่อหรือสัปเหร่อศักดิ์ ด้วยการเฝ้าถามพ่อว่าทำไมจึงจากกันไปโดยไม่บอกกล่าวกันเลย และยังไม่ได้ทำสิ่งต่างๆ มากมายที่ตั้งใจไว้จะทำด้วยกัน

เสียงของพ่อในห้วงคำนึงของเจิดตอบกลับมาว่า “บ่เป็นหยัง บ่จากมื้อนี้ มื้อหน้ากะจากกันคือเก่า บ่มีหยังมาการันตีได้ดอก ว่ามื้ออื่นพ่อสิมีชีวิตอยู่บ่…”

ตรงนี้นี่เองคงไม่เกินเลยหากจะบอกว่าความคิดของสัปเหร่อศักดิ์ทำนองนี้ก็คือการมองว่าคนเรานั้นมี “ภาวะที่มุ่งสู่ความตายตลอดเวลา” นั่นเอง

 

ดังได้กล่าวไปแล้วว่าทัศนะเรื่องความตายของเอพิคิวรัสนั้นได้รับการวิจารณ์ก็ตรงที่ เอพิคิวรัสไปมองว่าการตายคือปิดดับหรือตัดขาดจากทุกสิ่ง แต่แท้จริงแล้วคนตายต่อให้ตายแล้วก็ไม่ได้ตัดขาดจากคนเป็นหรือคนที่ยังอยู่

ดังจะเห็นได้ชัดจากแนวคิดโลกหลังความตายของศาสนาต่างๆ ก็ล้วนมองว่าความตายเป็นภาวะๆ หนึ่งที่นำไปสู่อีกภาวะหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามแนวคิดแบบประสบการณ์นิยมอย่างเอพิคิวรัสเสนอไว้เท่านั้น

นอกจากนี้ หากย้อนกลับไปที่ไฮเดกเกอร์ ลักษณะสำคัญของความเป็นมนุษย์ที่เรากล่าวมาแล้วข้างต้น ไม่ว่าจะเป็น “ภาวะที่ถูกจับโยนเข้ามาอยู่ในโลกนี้” และ “ภาวะที่มุ่งไปสู่ความตายอยู่ตลอดเวลา” นั้น มนุษย์ยังมีลักษณะที่สำคัญอีกประการหนึ่ง นั่นก็คือ “ภาวะการมีอยู่กับคนอื่น” (being-with-others)

กล่าวคือ เราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้และเรายังต้องอยู่ร่วมกับคนอื่นตลอดเวลา ตีความให้ถึงที่สุดก็คือการมีอยู่ของเรามีอยู่กับร่วมคนอื่นเสมอ การตายของเราก็ย่อมหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เกี่ยวข้องกับคนอื่นนั่นเอง

จริงอยู่เมื่อความตายเกิดขึ้นกับเรา ปัญหาคงไม่ใช่เรื่องของเราอีกแล้วอย่างที่เอพิคิวรัสกล่าวไว้

แต่ในความเป็นจริงมากไปกว่านั้น ความตายไม่ได้ส่งผลเฉพาะตัวผู้ตายเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงสัมพันธ์กับคนเป็นหรือคนที่ยังอยู่ไม่มากก็น้อย

บางคนความตายของคนอื่นอาจจะเหมือนสายลมพัดผ่านมาในชีวิต

แต่สำหรับบางคนความตายอาจเหมือนพายุลูกใหญ่ที่พัดกระหน่ำทำลายและพรากเอาทุกสิ่งอย่างไปจากชีวิตเขา แม้กระทั่งเรี่ยวแรงหยัดยืนขึ้นมามีชีวิตอีกครั้งก็ยังยากลำบาก

เราไม่ควรกลัวตาย นั่นใช่ แต่คงไม่เหมือนอย่างที่เอพิคิวรัสกล่าวไว้ทั้งหมด และก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สนใจความตายเอาเสียเลย

เพราะความกระวนกระวายและครุ่นคิดถึงถึงความตายของมนุษย์เราอย่างที่ไฮเดกเกอร์ว่าไว้ก็เป็นลักษณะสำคัญที่ชี้ให้เราเห็นว่า เรายังตระหนักถึงการมีชีวิตอยู่ที่แท้จริงของเราท่ามกลางความสัมพันธ์กับคนอื่นไม่ว่าจะมีอยู่หรือจากลาเราไปไกลลับ