มองระบอบเก่า ผ่านสายตาผู้แทนราษฎรเลือกตั้งชุดแรก (1) | ณัฐพล ใจจริง

ณัฐพล ใจจริง

ผู้แทนฯ นครศรีรรมราช อภิปรายว่า “ภาษีที่ราษฎรอาบเหงื่อต่างน้ำขวนขวายหาส่งเข้าไป ก็แล้วแต่พระองค์จะเอาไปสร้างตึกระฟ้าที่ใด เล่นโขนเล่นหนังหรือแบ่งปันให้ใคร เราไม่อาจรู้ได้ ไม่มีทางรู้…”

(มงคล รัตนวิจิตร, 2477, 5)

 

“ประชาศึกษา” การสื่อสารทางการเมืองสมัยเบื้องแรกประชาธิปไตย

ภายหลังการปฏิวัติ 2475 เกิดการต่อต้านระบอบประชาธิปไตยจากกลุ่มอนุรักษนิยมอย่างต่อเนื่อง จวบจนคณะราษฎรสามารถปราบกบฏบวรเดช (ตุลาคม 2476) ลงได้แล้ว รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้จัดการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรขึ้นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนปีนั้น

เมื่อรัฐบาลคณะราษฎรสามารถกุมสภาพการเมืองให้มีเสถียรภาพแล้ว พวกเขาตระหนักดีว่า อุดมการณ์แบบเก่ายังไม่หมดสิ้นไปและเป็นคลื่นใต้น้ำที่รอวันปะทุต่อต้านรัฐบาลได้ทุกเมื่อ ดังนั้น พวกเขาจึงต้องการปลูกฝังวัฒนธรรมการเมืองใหม่ที่สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย (สุวิมล, 145)

ด้วยรัฐบาลต้องการสร้างสำนึกพลเมืองให้แก่ราษฎรทุกภาคให้ยึดโยงเป็นส่วนหนึ่งของชาติตามรูปแบบรัฐประชาชาติ ที่มีองค์ประกอบและอุดมการณ์ที่แตกต่างไปจากรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ดังนั้น การเผยแพร่ระบอบการปกครองและสร้างสำนึกพลเมืองผ่านช่องทางต่างๆ จึงมีความสำคัญมาก

ที่ผ่านมา ม.จ.สกลวรรณากร วรวรรณ (2431-2496) เจ้านายที่มีหัวก้าวหน้า หัวหน้าสำนักงานโฆษณาการคนแรก เสนอแนะว่า รัฐบาลมีหน้าที่เผยแพร่ให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ มีสาระในการสร้างปัญญาให้กับชาติซึ่งเรียกว่า “ประชาศึกษา” ด้วย “ประชาศึกษา” นี้ทำให้ประชาชนมีความกระตือรือร้นในการแสวงหาความเจริญได้ พร้อมกับการทำหน้าที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับประชาชนด้วย (สุวิมล, 145) จึงเป็นไปได้ว่า คำว่า “ประชาศึกษา” ที่ท่านเรียกนั้นมาจาก “Civic Education”

ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงผลักดันให้สำนักงานโฆษณาทำหน้าที่สื่อสารทางการเมืองด้วยการส่งบุคลากรไปเผยแพร่ความรู้ทางการเมืองให้กับชาวบ้านตามชนบทในทุกจังหวัด รวมถึงมีผู้แทนราษฎรบางพื้นที่ก็อาสาช่วยชี้แจงให้ราษฎรเกิดความเข้าใจด้วย (ประวิทย์, 226-227)

หนังสือเทอดรัฐธรรมนูญ และ ร.ต.สอน วงษ์โต ส.ส.ชัยนาท เชิญรัฐธรรมนูญจำลองไปให้แก่ราษฎรชัยนาท

ควรบันทึกด้วยว่า ในช่วงแรก ส.ส.มาช่วยปาฐกถา 24 คน มีการวางแนวทางในการพูดให้เป็นแนวเดียวกับสำนักงานโฆษณาการ มีการให้เอกสารการปาฐกถา เอกสาร คู่มือที่จะอธิบายเรื่องต่างๆ เช่น หนังสือเรื่อง “งานเรียนรัฐธรรมนูญ” ของหลวงวิจิตรวาทการ “แบบสอนอ่านของราษฎร” เล่ม 1 และ 2 ของกระทรวงธรรมการ (สุวิมล, 23-24)

ภายหลังการปราบกบฏวรเดชแล้ว ขุนวิโรจน์รัตนากร ข้าราชการคนหนึ่งที่อำเภอเมืองนครศรีธรรมราชตั้งข้อสังเกตปัญหาในระดับอุดมการณ์ตกค้างจากระบอบเก่าในความคิดของข้าราชการว่า ข้าราชการจำนวนมากในภาคใต้มีความเพิกเฉยต่อประกาศคำสั่งของรัฐบาลในช่วงที่เกิดวิกฤต โดยข้าราชการไม่แจ้งให้ประชาชนทราบถึงสถานการณ์ที่แท้จริง และมิได้ห้ามปรามข้าราชการมิให้เข้าข้างพวกกบฏแต่อย่างใด แต่เนื่องจากข้าราชการจำนวนมาก “ฝังหัวอยู่กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์” ทำให้ข้าราชการในภาคใต้ที่สนับสนุนฝ่ายรัฐบาลเดือดแค้นมาก แต่ก็ไม่สามารถทำสิ่งใดได้ ดังนั้น เขาจึงเสนอแนะรัฐบาลว่า ควรมีการปรับปรุงคำเรียก “ข้าราชการ” เสียใหม่ว่า “ข้ารัฐบาล” และจัดระบบบริหารใหม่ที่หัวเมืองใหม่ (หจช.สร.0201.1.3.1/1 กล่อง 1)

ผู้แทนราษฎร อุบลฯ ที่มาจากการเลือกตั้งชุดแรก และหนังสือเผยแพร่รัฐธรรมนูญ (2476)

เมื่อรัฐบาลมีนโยบายเผยแพร่ความรู้ทางการเมืองแก่ราษฎรทั่วประเทศ ผู้แทนราษฎรมีความตื่นตัวในการช่วยเหลือรัฐบาลในการเผยแพร่ความรู้อย่างมาก ในปลายปีนั้นเอง ขุนอินทรภักดี (ทองอิน ทองมาก) ส.ส.เพชรบูรณ์ เขียนจดหมายปวารณาตัวว่า

“…กระผมขอเรียนด้วยความเคารพว่า เมื่อหมดวาระการประชุมกลับถึงภูมิ์ลำเนาแล้ว กระผมจะได้เที่ยวตามตำบลหมู่บ้านทุกอำเภอในจังหวัดนั้น เพื่อพบปะราษฎรในโอกาสที่จะทำได้เพื่อเผยแพร่รัฐธรรมนูญเป็นส่วนใหญ่ แต่ปาฐะกะถาที่จะไปพูดไปตามความเห็นย่อมจะมีขาดตกบกพร่องอยู่” (ศราวุฒิ วิสาพรม, 2559, 81)

ในช่วงนั้น เมื่อ 31 มีนาคม 2476 มีข่าวว่า ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ และเลียง ไชยการ ส.ส.อุบลราชธานี ลงพื้นที่จังหวัดของตนร่วมเผยแพร่รัฐธรรมนูญทันทีภายหลังปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร (ศราวุฒิ, 82)

อย่างไรก็ตาม สารสำคัญของปาฐกถาของผู้แทนฯ จังหวัดต่างๆ แก่ราษฎรในครั้งนั้นเป็นการปาฐกถาสด ที่อาจมิได้บันทึกไว้จึงมิอาจทราบรายละเอียดได้ แต่บางคนนั้นมีการจัดพิมพ์ปาฐกถานั้นเผยแพร่เป็นเล่มหนังสือจึงเป็นหลักฐานที่สามารถศึกษาได้ ดัง ปาฐกถา (2477) ของมงคล รัตนวิจิตร ส.ส.นครศรีธรรมราช (2476-2480, 2489-2490)

ขุนอินทรภักดี เพชรบูรณ์ (2476-2480) และทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อุบลฯ (2476-2490)

ความในใจของ ส.ส.นครศรีรรมราช

มงคล รัตนวิจิตร ส.ส.นครศรีรรมราช (2440-) เขาได้รับการเลือกตั้งเมื่อ 2476 ซึ่งเป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของประเทศไทย ต่อมาได้รับเลือกอีกครั้งเมื่อ 2489 เคยเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร (2489-2490) เขาเป็นนักการเมืองที่มีความสามารถในการพูด ดังจะเห็นว่านายมงคลเป็นหนึ่งในผู้ร่วมการโต้วาทีครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ.2478

เขาเล่าว่า การปาฐกถานี้เป็น “กลั่นกล่าวด้วยหัวใจอันหนักแน่น มั่นคง และเต็มไปด้วยเจตนาดีที่จักให้พี่น้องได้ลิ้มรสอันเลิศของรัฐธรรมนูญ…” เขาเกริ่นถึงช่วงก่อนการปฏิวัติ 2475 ให้ราษฎรฟังว่า “เมื่อเร็วๆ นี้ เราจะได้ยินข่าวโจษจันกันหนาหู ทั้งที่เป็นข่าวที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังเลยเป็นเวลา 150 ปีมาแล้ว เป็นข่าวสำคัญยิ่งใหญ่อย่างพิลึกกว่าข่าวใดๆ คือข่าวเปลี่ยนแปลงการปกครอง…” (มงคล, 2477, 2)

เขากล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองนั้นสร้างความฉงนสงสัยต่อราษฎรทั่วไปว่า การปกครองคืออะไร ทำไมจึงเปลี่ยนการปกครองทำไม แล้วเราจะปกครองแบบใด การปกครองแบบประชาธิปไตยมีลักษณะอย่างไร ราษฎรเกี่ยวข้องกับการปกครองใหม่อย่างไร

มงคล รัตนวิจิตร ส.ส.นครศรีรรมราช และปาฐกถาเรื่องเผยแพร่รัฐธรรมนูญ (2477)

สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

เขาให้ความหมายการปกครองระบอบประชาธิปไตยว่า คือ “อำนาจสูงสุดใหญ่อยู่ที่ประชาชนทั่วไป” เขาพรรณนาถึงกำเนิดการปกครองว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ต้องอยู่รวมกันช่วยเหลือกัน ราษฎรในอดีตช่วยกันปกป้อง “บ้านเมืองของเรา” การปกครองในโลกมีหลายแบบที่เหมะาแก่แต่ละสังคมและกาลเทศะ ทั้งนี้ เขาได้สะท้อนความรู้สึกของผู้แทนฯ ที่มีต่อระบอบเก่า ดังนี้

“ประเทศสยามชาติไทยของเรานี้ก่อน พ.ศ.2475 เรามีการปกครองแบบเก่า การปกครองแบบนั้นเราเรียกว่า ราชาธิปไตย… อำนาจสูงสุดอยู่ที่พระราชาผู้เป็นใหญ่…หรืออำนาจการปกครองแผ่นดินอยู่ที่คนคนเดียว ดังที่เราเรียกว่า พระเจ้าแผ่นดิน โดยพระองค์อาจเอาแผ่นดินในประเทศยกให้ชาติต่างประเทศหรือยกให้ใครๆ เสียก็ได้ หรือเรียกว่าเจ้าชีวิต โดยที่เรารวมกันอยู่นี้ พระองค์อาจสั่งให้ประหารชีวิตเสียก็ได้ หรือเรียกพระเจ้าอยู่หัว โดยที่พระองค์ทำอะไรอยู่เหนือเราทั้งหลาย และด้วยอำนาจสูงสุดอยู่ที่พระราชาพระองค์เดียว การปกครองแบบนั้น เราราษฎรจึงไม่มีส่วนมีเสียงได้ สุดแต่พระองค์จะโปรดเกล้าฯ ทั้งสิ้น” (มงคล, 4-5)

“ภาษีที่ราษฎรอาบเหงื่อต่างน้ำขวนขวายหาส่งเข้าไป ก็แล้วแต่พระองค์จะเอาไปสร้างตึกระฟ้าที่ใด เล่นโขนเล่นหนังหรือแบ่งปันให้ใคร เราไม่อาจรู้ได้ ไม่มีทางรู้ ยังมีพระบรมวงศ์ลูกหลานเหลนของพระองค์ โดยมากออกมาถึงก็ได้เงินเดือนเงินปีทันที นั้นเป็นการปกครองแบบเก่าคือ ราชาธิปไตย” (มงคล, 5)

ต่อมาเมื่ออาณาจักรกว้างใหญ่ขึ้น เกิดขุนนางจำนวนมาก เกิดขุนนางที่ทุจริต “สูบเลือดเนื้อกินแรงราษฎร” พระมหากษัตริย์ไม่ทรงทราบความทุกข์ร้อนของราษฎร ดังนั้น การปกครองที่มีอยู่จึงไม่ดี ราษฎรจึงเดือดร้อนอย่างกว้างขวางในที่สุด “ทุกประเทศทั่วโลกเขาจึงได้เปลี่ยนแปลงการปกครองแบบราชาธิปตัยมาเป็นประชาธิปตัยอย่างของเราเดี๋ยวนี้หมดแล้ว” (มงคล, 6-7)

ดังนั้น บรรยากาศทางการเมืองภายหลังการปฏิวัติ 2475 และการปราบกบฏบวรเดชลงมีความดุเดือดเพียงใดนั้น สามารถพิจารณาได้การปฐกถาเผยแพร่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของมงคลนั้นสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของผู้แทนฯ ท่านนี้ต่อระบอบการปกครองระบอบเก่าที่ผ่านพ้นไปได้เป็นอย่างดี

หนังสือประมวลเหตุการณ์ (2475) และภาพล้อการเมืองสยามภายใต้ขุนนางศักดินาจาก น.ส.พ.เกราะเหล็ก 2467
ราษฎรในระบอบเก่าและภาพล้อการเมืองใน น.ส.พ.เกราะเหล็ก 2468