เทศกาล ลอยหนี้ ‘ทุกข์’ จะรี่ไหลลง?

ปัญหาหนี้สินเป็นปัญหาใหญ่ แน่นอนว่าการกู้เงินมาแล้วไม่มีความสามารถในการใช้คืนได้ก็เป็นปัญหา เข้าใจได้ไม่ยาก

แต่ปัจจัยสำคัญอีกเรื่อง คือปัญหาโครงสร้างการเงิน โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ย ที่จะเป็นต้นเหตุสำคัญของปัญหาหลายๆ ส่วนตามมา

ดอกเบี้ยและโครงสร้างการเงินที่ไม่เป็นธรรม กระทั่งปัญหาภาวะหนี้สิน กลายเป็นปัญหาระดับประเทศ ฉุดรั้งการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ฉุดรั้งความคิดสร้างสรรค์ ไม่นับว่ามันพรากชีวิตคนไทยเป็นจำนวนมากในแต่ละปีจากปัจจัยทางจิตวิทยา

หากยังไม่เห็นว่าหนี้เป็นปัญหาใหญ่ ขอให้ดูยอดหนี้ครัวเรือนในไทยล่าสุดที่พุ่งสูงสุดทำสถิติในประวัติศาสตร์ ข้อมูลหนี้ครัวเรือน ณ สิ้นไตรมาสสองจากธนาคารแห่งประเทศไทย มีจำนวนรวม 15.30 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นปัญหาเชิงระบบที่ต้องพูดคุย ถกเถียง ออกแบบให้เกิดความเป็นธรรมต่อไป คงไม่ใช่เรื่องจะแก้ไขกันได้ใน 3 วัน 7 วัน

 

มีเรื่องที่น่าสนใจคือหลังเข้ามามีอำนาจในการบริหารประเทศเข้าสู่เดือนที่ 3 ของรัฐบาลเพื่อไทย ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เรื่องหนี้สินได้ถูกยกเข้ามาเป็นวาระสำคัญ

เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรียกคุยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อถกปัญหาการแก้ไขปัญหาหนี้สินโดยรวมทั้งหมด แบ่งออกเป็นสองส่วนคือ หนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบ

กางไทม์ไลน์ให้เห็นชัดๆ ถึงความตั้งใจ

28 พฤศจิกายนนี้ หลังเทศกาลลอยกระทงหนึ่งวัน นายกฯ จะเป็นผู้นำการแถลงแก้ไขหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการด้วยตัวเอง ต่อด้วย 12 ธันวาคม เวลา 14 .00 น. จะแถลงครบทั้งแพ็กเกจในการแก้ไขหนี้ในระบบซึ่งถือเป็นหนี้ใหญ่

นับเป็นมูฟเมนต์ที่น่าสนใจของรัฐบาลเศรษฐา เพราะปัญหาหนี้สินกระทบคนจำนวนมากในประเทศ ทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ การเริ่มต้นศึกษา หยิบยกขึ้นมาถกเถียง วิเคราะห์ วางรากฐานการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ถือเป็นเป้าหมายใหม่ของรัฐบาลเศรษฐา ที่จะนำมาเป็นวาระในการเดินเกมการเมือง การบริหารประเทศ

หลังจากบรรยากาศการเมืองรอบหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อไทยเพลี่ยงพล้ำอย่างหนัก

แถลงนโยบายครบรอบ 2 เดือนการบริหารประเทศ ก็ไม่ได้รับการตอบรับอย่างที่คาด แม้มาตรการหลายอย่างทำได้จริง ทั้งลดราคาน้ำมัน ค่าไฟฟ้า แต่ถึงที่สุดคนก็รู้ว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ไม่ได้แก้ปัญหาในระยะยาว

ไม่กี่เดือนค่าไฟก็ขึ้นอยู่ดี ค่าน้ำมันก็ใกล้หมดโปร ต้องกลับมาเป็นราคาปกติ ส่วนรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย นับเป็นเรื่องที่ดี แต่ก็มีผลกับคนไม่มาก สายสำคัญที่คนใช้เยอะกว่าหลายเท่าอย่างสายสีเขียว สีน้ำเงิน ยังแพงหูฉี่

 

เรื่องเงินดิจิทัล 10,000 บาท กลับถูกตั้งคำถามจากทั่วสารทิศ กลายเป็นดราม่ามาตลอดสัปดาห์ เพราะความไม่ชัดเจนเรื่องที่มาของเงินจนถูกร้องเรียน ต้องกลืนน้ำลายตัวเอง ขอเปลี่ยนเป็นการกู้เงิน จากที่เคยหาเสียงไว้ว่าจะไม่กู้ ต้องทิ้งหลักการแจกแบบถ้วนหน้า เปลี่ยนเป็นคัดคนรวยออก

ยังเจอฝ่ายค้านอย่างก้าวไกลรุมถล่ม นำโดยศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล จนเพื่อไทยต้องส่งคนระดับหมอเลี้ยบ สุรพงศ์ สืบวงศ์ลี – หมอมิ้ง พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาฯ นายกฯ ออกมาดีเบต แต่คะแนนนิยมก็ไม่สู้จะดีนัก

ยังต้องเจอธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า ออกมาสมทบ ยืนยัน เศรษฐกิจไทยยังไม่ถึงขั้นวิกฤตต้องกู้เงิน ไม่ถึงขั้นติดลบต่อเนื่อง แต่เป็นปัญหาโตช้ากว่าเพื่อนบ้าน พร้อมโชว์วิชั่นการใช้งบฯ 4.6 แสนล้านไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นในระดับชีวิตประจำวัน ทั้งยังเป็นการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ในประเทศ

ตบท้ายด้วยการแถลงตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจไทย โดยสำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ จีดีพีไตรมาส 3 โตร้อยละ 1.5 ปรับลดทั้งปีเหลือ 2.5%

มองเผินๆ จะคล้อยไปทางวิกฤต แต่เมื่อไปเจาะตัวเลขดีๆ จะเห็นว่าตัวเลขส่งออกต่างหากที่หดตัวอย่างหนัก แต่ตัวเลขลงทุนเอกชนอยู่ในระดับดีขึ้น เช่นเดียวกับตัวเลขการบริโภค โตร้อยะ 8.1

สภาพัฒน์สรุปว่า โดยรวมเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ พร้อมบอกเป็นนัยให้เน้นการปรับโครงสร้างที่มุ่งการเติบโตระยะยาว จะดีกว่ากระตุ้นแบบหนักๆ รวดเดียว

 

เป็นอันว่าความหวังการจะกระตุ้นด้วยการอัดฉีดเงินใส่มือประชาชนผ่านโครงการดิจิทัล 10,000 บาท ไม่คึกคักอย่างที่คิด แม้ประชาชนจะอยากได้ตามผลสำรวจของนิด้าโพล แต่ประชาชนส่วนใหญ่ 50.69% ไม่เห็นด้วย และ 18.70% ไม่ค่อยเห็นด้วยกับวิธีการกู้มาแจก

นั่นหมายความว่าไม่ใช่แค่นักวิชาการแล้วที่ท้วงติงการกู้เงิน แม้แต่ประชาชนจำนวนมากก็ยังไม่ค่อยจะเห็นด้วย

เมื่อนโยบายเรือธงอย่างดิจิทัล 10,000 บาท ที่เพื่อไทยต้องดันให้สำเร็จไม่ว่าจะด้วยวิธีทางใด เคลื่อนมาถึงจุดที่ต้องยอมรับว่า หนทางไปสู่ฝัน ดูหนักหนาสาหัสไม่น้อย เพราะต้องผ่านอีกหลายด่าน

แม้จะผลักดันจนแจกเงินได้ ก็ไม่รู้ว่าจะคุ้มกับความชอบธรรมทางการเมืองที่จะได้กลับคืนมาหรือไม่

วันนี้รัฐบาลเพื่อไทยจึงต้องดันวาระทางเศรษฐกิจใหม่ นั่นคือการแก้ปัญหา “หนี้” เสริมกำลังกับการผลักดันนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

เพราะหนี้คือหัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศนี้ หากคนไทยยังใช้ชีวิตรุงรังจากภาวะหนี้ก็ยากที่จะขยับขยาย ลงทุน แสวงหาเศรษฐกิจสร้างสรรค์อื่นใด

ที่สำคัญหนี้ยังเกี่ยวพันกับผู้คนหลายสิบล้านคน ถ้ารัฐบาลเข้ามาจัดการได้สำเร็จ แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบหนี้ และการชำระหนี้ เอาความทุกข์ออกไปจากอกคนจำนวนมากได้จริง นี่แหละจะเรียกคืนความชอบธรรมได้เป็นกอบเป็นกำ

 

อันที่จริงก่อนหน้านี้ รัฐบาลเพื่อไทยก็ขยับเรื่องการแก้หนี้มาบ้างแล้ว เริ่มจากการพักหนี้เกษตรกร 3 ปี และในส่วนของ SME ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นเวลา 1 ปี ปรับโครงสร้างแก้ปัญหาหนี้ กยศ.ใหม่ ทั้งการคำนวณยอดหนี้ของลูกหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ใหม่ ซึ่งมีผลทำให้หนี้ของลูกหนี้ กยศ.ลดลงอย่างมาก

ขณะที่ฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลอย่างภูมิใจไทย ทันทีที่เพื่อไทยโดยนายกรัฐมนตรีขยับวาระใหม่ ภูมิใจไทยก็ออกมารับลูกทันที

อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย สั่งให้ฝ่ายปกครองคุยกับฝ่ายตำรวจมาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยลดปัญหาดอกเบี้ยและการตามทวงหนี้โหด

แต่เรื่องนี้ก็ถูกตั้งคำถามจาก สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส ที่ตั้งคำถามผ่านแพลตฟอร์ม X อย่างท้าทายไปยังรัฐบาลว่า “เรื่องแก้หนี้นอกระบบเป็นแนวคิดที่ดี แต่จะให้ผู้กำกับกับนายอำเภอทำอะไร มีอำนาจสั่งเจ้าหนี้-ลูกหนี้อย่างไร? ต้องบอกให้ชัด มิฉะนั้นจะสับสนกันทั้งประเทศ”

ขณะที่นายกฯ ตอบกลับว่า จะมีการทำงานให้รายละเอียดต่อไปในอนาคต

“คำถามจากพี่น้องสื่อมวลชนก็เป็นหนึ่งในทางเสนอแนะเพื่อให้เราปฏิบัติงานได้อย่างมีคุณภาพสูงมากขึ้น ถ้าวันนั้นยังไม่มีคำตอบ ก็จะไปทำงานกันต่อเพื่อหาคำตอบมาในวันข้างหน้า ขอบคุณครับ” นายเศรษฐาระบุ

 

สัปดาห์นี้เป็นสัปดาห์แห่งการลอยกระทง เป็นอีกหนึ่งเทศกาลสำคัญที่จะผลักดันการท่องเที่ยวของไทย

แม้รัฐบาลจะผลักดันนโยบายต่างๆ มากมายเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว แม้แต่การฟรีวีซ่าชาวจีน แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นดังคาด นักท่องเที่ยวจีนไม่ได้มาไทยมากอย่างที่คิด

การกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศจึงสำคัญ แน่นอนการหาเงินใส่กระเป๋าประชาชนเพิ่มยังเป็นที่ถกเถียงเรื่องวิธีการ แต่ที่แน่ๆ คือการลดหนี้ของประชาชน ถ้าปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จ เงินจะเพิ่มเข้ากระเป๋าประชาชนทันที

หรืออย่างน้อยก็ออกมาตรการที่จริงจัง สะท้อนความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลารัฐบาล ประโยชน์จะเกิดกับประชาชนอย่างแน่นอน

ไม่รู้ว่านโยบายเรือธงใหม่หนนี้ของเพื่อไทยจะเป็นอย่างไร แต่อย่างน้อย ลอยกระทงปีนี้ ขอให้ชีวิตคนไทยดูมีทางออก ให้ความ “ทุกข์” จากหนี้สิน ลดลงสักนิดก็ยังดี