ปิดดีลยิว-ฮามาส หยุดยิง-ปล่อยตัวประกัน

บทความต่างประเทศ

 

ปิดดีลยิว-ฮามาส

หยุดยิง-ปล่อยตัวประกัน

 

หากเริ่มต้นนับตั้งแต่วัน “เสาร์สยอง” 7 ตุลาคม ต่อเนื่องมาจนถึงเวลานี้ บรรดาตัวประกันที่ตกอยู่ในเงื้อมมือของกองกำลังติดอาวุธฮามาส ในฉนวนกาซา ก็ต้องเผชิญชะตากรรมทรมาน อกสั่นขวัญแขวน ชนิดเหมือนชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้ายมาแล้วกว่า 7 สัปดาห์

แต่ท่ามกลางฉากหน้าที่เต็มไปด้วยความรุนแรงของระเบิดและกระสุนปืนในสงครามยิว-ฮามาส การเจรจาต่อรองเพื่อช่วยเหลือตัวประกันกว่า 200 ชีวิต ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กระท่อนกระแท่น เหมือนหลอดไฟติดๆ ดับๆ มาโดยตลอด ไม่นานหลังเกิดเหตุเมื่อ 7 ตุลาคม

ตามรายงานของ “ซีเอ็นเอ็น” ทุกอย่างเป็นไปอย่างเชื่องช้า ชวนหงุดหงิด เจ็บใจ น่าโมโห แล้วก็ตื่นเต้นไปด้วยพร้อมสรรพ ราวกับบางฉากในภาพยนตร์แนวสืบสวนสอบสวน ระทึกขวัญยังไงยังงั้น

การเจรจาต่อรองเพื่อช่วยเหลือตัวประกัน “นานาสัญชาติ” ครั้งนี้ เริ่มอย่างเลื่อนลอยอยู่บ้างไม่นานหลังเกิดศึก ด้านหนึ่งมีทางการอิสราเอลและฮามาสเป็นหลัก มีสหรัฐอเมริกาและกาตาร์ เป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ ในฐานะ “ผู้ค้ำประกัน” ว่า ข้อตกลง ถ้าหากมีขึ้น จะดำเนินไปตามพันธะที่หารือกันไว้

เรื่องที่เลื่อนลอยในตอนแรกเริ่ม ดูเป็นจริงเป็นจังมากขึ้นและมีประสิทธิผลมากขึ้น เมื่อการ “เจรจานำร่อง” ดังกล่าว ส่งผลให้ตัวประกันที่เป็นพลเรือนอเมริกันคือ สองแม่ลูก นาตาลีกับจูดิธ รานาน ถูกปล่อยตัวเป็นอิสระเมื่อ 23 ตุลาคมที่ผ่านมา

กลายเป็น “กรณีตัวอย่าง” ที่ฮามาสแสดงให้เห็นว่า ความตกลงใดๆ หากบรรลุได้ ตัวประกันก็เป็นอิสระได้

 

ขณะที่นาตาลีและจูดิธ ถูกฮามาสนำตัวข้ามกาซามุ่งหน้าสู่พรมแดนด้านใต้ของอิสราเอล เจค ซุลลิแวน ประธานสภาที่ปรึกษาความมั่นคง กับ จอน ฟายเนอร์ รองประธาน และ เบรตต์ แม็กเกิร์ค ผู้ประสานงานกิจการตะวันออกกลางประจำทำเนียบขาว เฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิดตามเวลาจริง ชนิดนาทีต่อนาที

ที่พรมแดนยิว-กาซา สเตฟานี ฮอลเลตต์ อุปทูตอเมริกันรอคอยตัวประกันทั้งสองอยู่อย่างกระวนกระวาย เมื่อทุกอย่างเป็นความจริง ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แจ้งข่าวดีทางโทรศัพท์กับบิดาของนาตาลีด้วยตัวเอง ก่อนพูดคุยอย่างชื่นมื่นกับตัวประกันทั้งสองในเวลาต่อมา

ผลลัพธ์ในครั้งนั้น ทำให้ฝ่ายอเมริกันเชื่อว่า ไม่เพียงการเจรจานี้มีผลลัพธ์จริงได้เท่านั้น แต่ยังพิสูจน์ได้ว่า ช่องทางที่พวกเขาดำเนินการเจรจาอยู่นั้น เป็นช่องทางที่ถูกต้อง แท้จริง

การเจรจาต่อเนื่องเพื่อเป้าหมาย “ช่วยเหลือตัวประกันทั้งหมด” เริ่มต้นในอีกไม่ช้าไม่นานต่อมา ฝ่ายอเมริกัน นอกจากซุลลิแวน, ฟายเนอร์ และแม็กเกิร์คแล้ว ยังมี วิลเลียมส์ เจ. เบิร์นส์ ผู้อำนวยการซีไอเอ เป็นแกนหลัก

ตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจเต็มเพื่อการเจรจานี้จากทางการอิสราเอล คือ เดวิด บาร์เนีย ผู้อำนวยการมอสสาด

ในส่วนของกาตาร์ โมฮัมเหม็ด บิน อับดุลราห์มาน นายกรัฐมนตรี เป็นคนดำเนินการเรื่องนี้โดยตรงด้วยตัวเอง

ส่วนฮามาสนั้น ตัวหลักในการเจรจาคือ อิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฝ่ายการเมืองของฮามาส

กระบวนการต่อรอง เริ่มต้นจากกรุงโดฮาของกาตาร์ หรือไคโร เมืองหลวงของอียิปต์ ไปยังฮามาส ในกาซา แล้วคำตอบก็จะย้อนกลับมาทางเดิม ทุกอย่างดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพราะต่อรองกันในรายละเอียดแทบทั้งหมดที่จะบรรจุลงไว้ในความตกลง ตั้งแต่กรอบเวลา, จำนวนตัวประกันที่จะปล่อย, เส้นทางการปล่อย และการตรวจสอบติดตามผล

ข่าวดีใน 24 ชั่วโมงแรกของการเจรจาต่อรองคือ ฮามาสยอมรับในหลักการกว้างๆ ว่า พร้อมจะปล่อยตัวประกันที่เป็นสตรีและเด็ก ซึ่งส่วนหนึ่งยังอยู่ในวัย “ทารก” สองสามขวบเท่านั้น

ข่าวร้ายก็คือ หัวเด็ดตีนขาดรัฐบาลอิสราเอลก็ไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องของฮามาส ให้ชะลอ หรือล้มเลิกการบุกกาซาทางภาคพื้นดิน และเปิดทางให้ความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เข้าถึงกาซา

 

นั่นคือสถานการณ์เมื่อ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา อิสราเอลส่งกองทัพป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) บุกกาซาเมื่อ 27 ตุลาคม

การเจรจาสะดุดเป็นช่วงๆ แต่ก็ยังดำเนินไปได้อย่างอืดเอื่อยตลอด 6 สัปดาห์ ข้อถกเถียงต่อรองหนักที่สุดอีกสองประการในเวลาต่อมาคือ จำนวนผู้ที่จะได้รับอิสระ ในขณะที่อิสราเอลและสหรัฐ ต้องการให้ปล่อยตัวประกันสตรีและเด็ก “ทั้งหมด” ฮามาสยืนกรานจะปล่อยชุดแรกเพียง 50 คนเท่านั้น และฝ่ายอเมริกันยืนยันว่า ฮามาสต้องให้ “ข้อมูล” เกี่ยวกับตัวประกันมาล่วงหน้า อาทิ ชื่อ เพศ สัญชาติ อายุ ฯลฯ

12 พฤศจิกายน ไบเดนต่อสายตรงไปยังเจ้าผู้ครองนครกาตาร์ ย้ำชัดเจนอีกครั้งว่า การเจรจาจะ “ไปต่อไม่ได้” ถ้าไม่มีรายละเอียดและข้อมูลของตัวประกัน

สุดท้ายข้อมูลตัวประกันก็ถึงมือฝ่ายอิสราเอลและอเมริกันในวันเดียวกันนั้น

14 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีอิสราเอล “เห็นชอบในหลักการ” ข้อตกลงหยุดยิง “ชั่วคราว” และปล่อยตัวประกันสตรีและเด็ก 50 คน แม็กเกิร์คเฝ้าสังเกตการณ์การประชุมอย่างใกล้ชิด

แต่หลังจากนั้นทุกอย่างก็สะดุดลงอีกครั้ง เงียบหายไปชนิดกาตาร์เองก็ส่ายหน้า หมดหนทาง

 

เมื่อฮามาสกลับเข้าสู่การเจรจาอีกครั้งนั้น สถานการณ์สู้รบในกาซาไปไกลมากแล้ว ข้อเรียกร้องสำคัญในคราวนี้คือ อิสราเอลต้องถอนกำลังทหารออกจากโรงพยาบาลอัล ชีฟาทั้งหมด

อิสราเอลปฏิเสธ เพียงยืนยันว่า จะทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้ดำเนินการรักษาพยบาลต่อไปได้เท่านั้น

ข้อตกลงสุดท้ายอยู่ในมือนายกรัฐมนตรีกาตาร์เมื่อ 19 พฤศจิกายนที่ผ่านมา แม็กเกิร์คบินตรงไปยังกาตาร์ ตรวจสอบรายละเอียดข้องข้อตกลงซึ่งเข้าสู่การพิจารณาแล้วให้ความเห็นชอบโดยคณะรัฐมนตรีอิสราเอลอีกครั้งหลังแก้ไขเพียงเล็กน้อยในวันต่อมา

กาตาร์ส่งความตกลงกลับไปยังฮามาส ย้ำชัดเจนว่า นี่เป็นข้อเสนอสุดท้าย ไม่มีการต่อรองอีกแล้ว

 

21 พฤศจิการยน ฮามาสแจ้งกลับกาตาร์ว่า เห็นชอบกับความตกลง

เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอยู่กับการเจรจา บอกกับซีเอ็นเอ็นตอนหนึ่งว่า ทุกอย่างดำเนินไปเหมือนกับการเข้าไปให้หมอ “ถอนฟัน” เจ็บ ทรมาน แต่ก็ลุ้นระทึกอยู่ตลอดเวลา

พิจารณาจากข้อมูลเกี่ยวกับความตกลง “ระงับการสู้รบในเชิงยุทธวิธี” ระหว่างฮามาสกับอิสราเอลครั้งนี้ มีโอกาสน้อยอย่างยิ่งที่ตัวประกันที่ได้รับอิสระจะมีคนไทยรวมอยู่ด้วย

นอกจากนั้น ยังไม่มีใครรู้ว่าหลังการ “หยุดยิง” ครั้งนี้ และตัวประกันได้รับอิสรภาพแล้ว อะไรจะเกิดขึ้นต่อไปในฉนวนกาซา

แต่ทั้งโลกยังคาดหวังว่า ความตกลงนี้จะเป็นพื้นฐานในการเจรจาปล่อยตัวประกันที่เหลือทั้งหมด

และกลายเป็นพื้นฐานของการยุติศึกหฤโหดครั้งนี้เสียที