รุก รับ อ่อน แข็ง กลยุทธ์รัฐบาล รับมือกองทัพ เจาะกลไก กต.-กห. จับตา ทร.แข็งขืน เรือดำน้ำ?

แม้จะเป็นรัฐบาลพลเรือน นายกฯ พลเรือน และ รมว.กลาโหมพลเรือน แต่ก็เป็นรัฐบาลผสมข้ามขั้ว ขั้วอำนาจทักษิณ จับมือกับอำมาตย์เก่า ขั้วอนุรักษนิยม และพี่น้อง 3 ป. จึงทำให้กองทัพยังคงทำหน้าที่กลไกของรัฐบาลตามปกติ ยังไม่มีสัญญาณของการไม่สนองนโยบาย หรือเกียร์ว่าง

เพราะการที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ได้กลับประเทศ และได้รับพระราชทานลดโทษ และรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ ไม่ได้เข้าไปอยู่ในเรือนจำ นั้นก็ถือเป็น สัญญาณหนึ่งของการรอมชอม

จึงไม่แปลกที่ท่าทีกองทัพกับรัฐบาล จะทำงานด้วยกันได้ โดยที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม ก็พยายามรักษาความสัมพันธ์กับกองทัพ

จนบางครั้งดูเอาใจกองทัพ จนในบางกรณีถูกมองว่า เกรงใจ กลัวเกรงกองทัพเลยทีเดียว อย่างการไม่ยุบ กอ.รมน. เป็นอาทิ

สุทิน คลังแสง,พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี

ฝ่ายทหารเองก็รู้ดีว่า เป็นที่จับจ้องของสังคม ว่า ยอมรับรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจริงหรือไม่ แกล้งแสดงละคร เหมือนสมัยรัฐบาลนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หรือไม่ ที่ครานั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ทำให้นายกฯ และ รมว.กลาโหมหญิง มั่นใจว่าเอากองทัพอยู่ มีความสนิทสนมใกล้ชิด แต่ท้ายที่สุดก็รัฐประหาร

แต่ในบริบทอำนาจทางการเมือง ปัจจุบัน กองทัพรู้ดีว่า โอกาสของการรัฐประหารเป็นศูนย์ ตราบใดที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่เชื่อกันว่า นายทักษิณยังคงมีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลัง ยังทำตาม “ดีล” และไม่ล้ำเส้นกองทัพจนเกินยอมรับได้ และไม่สร้างเงื่อนไขจนเกิดวิกฤตศรัทธา

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลและกองทัพ จึงยังคงราบรื่น โดยที่นายเศรษฐาที่ดูแลเรื่องความมั่นคง และกลาโหมเอง โดยไม่ได้ตั้งรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ก็กระชับระยะห่างกับกองทัพ ด้วยการมีสายตรง ช่องทางตรงในการพูดคุยกับผู้บัญชาการเหล่าทัพ

และยึดบิ๊กอ๊อบ พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผบ.ทหารสูงสุด เป็นเซ็นเตอร์ในการประสานสั่งการไปยัง ผบ.เหล่าทัพ ตามสายการบังคับบัญชาของกองทัพ ยกเว้นในบางกรณีที่เป็นเรื่องเฉพาะเหล่าทัพ นายเศรษฐาก็สื่อสารตรงยัง ผบ.เหล่าทัพ

หรือในระดับนโยบาย นายเศรษฐาจะประสานสั่งการผ่านบิ๊กเล็ก พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขานุการ รมว.กลาโหม ที่เป็นเสมือน รมช.กลาโหม

แต่หลักๆ แล้วจะให้ พล.อ.ทรงวิทย์ เป็นศูนย์กลาง และเป็นตัวแทนเหล่าทัพในการประชุมต่างๆ ตามสไตล์นายเศรษฐา ที่ชอบประชุมวงเล็ก และนัดล่วงหน้าไม่นาน อีกทั้งรู้จักกันส่วนตัวมาก่อน

นายกฯ จึงสายตรง พล.อ.ทรงวิทย์ ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเช้าตรู่ หรือดึกดื่น และในทุกเรื่อง

บทบาทของ พล.อ.ทรงวิทย์ ในยุคนี้จึงโดดเด่น ทั้งด้วยเพราะเป็นนายทหารคนดังที่มีต้นทุนทางสังคมและในกองทัพมาอยู่แล้ว เพราะเป็นลูกชายบิ๊กตุ๋ย พล.อ.อิสระพงศ์ หนุนภักดี อดีต ผบ.ทบ. อดีต รมว.มหาดไทย และเป็นนายทหารยุคใหม่ เรียนจบนายร้อยเวอร์จิเนีย สหรัฐ และสามารถ “แตะเพดานแก้ว” ของทหารนักเรียนนอก ที่สามารถเป็นผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับการกรม หน่วยรบ และเป็น ผบ.พล.1 รอ. และเป็นทหารคอแดง

อีกทั้งใน ผบ.เหล่าทัพ ส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร 24 กับ พล.อ.ทรงวิทย์ ทั้งบิ๊กหนุ่ม พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกลาโหม บิ๊กไก่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผบ.ทอ. ไม่นับรวม ตท.24 ที่อยู่ในระดับ 5 เสือ และตำแหน่งหลักในเหล่าทัพ

นายเศรษฐาเองก็เล็งเห็นศักยภาพเหล่านี้ จึงวาง พล.อ.ทรงวิทย์ เป็น ผบ.เหล่าทัพหลัก เพราะในบอร์ดสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ก็มี พล.อ.ทรงวิทย์ ในฐานะ ผบ.ทหารสูงสุด คนเดียวที่เป็นคณะกรรมการ

หรือแม้แต่ในการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลกที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย รวม 12 คน ที่นายเศรษฐาแต่งตั้งนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกฯ และ รมว.ต่างประเทศ เป็นประธานนั้น

ก็มี พล.อ.ทรงวิทย์ คนเดียวที่เป็นคณะกรรมการ ร่วมคณะกับหมอมิ้ง นพ. พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกฯ นายพันศักดิ์ วิญญรัตน์ และปลัดกระทรวงการคลัง, พลังงาน, พาณิชย์, ต่างประเทศ, เลขาธิการ สมช. เป็นต้น

ที่นับว่าเป็นงานถนัดของ พล.อ.ทรงวิทย์ ที่ติดตามสถานการณ์โลก มหาอำนาจ และในภูมิภาคมายาวนาน และมีคอนเน็กชั่นกับผู้นำกองทัพประเทศต่างๆ ร่วมเสนอแนะแนวทางและมาตรการรองรับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์โลก เพื่อการตัดสินใจเชิงนโยบายในการดำเนินการด้านต่างๆ ที่จำเป็น รวมถึงการให้ความช่วยเหลือประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบได้อย่างทันท่วงที

ในช่วง 2 เดือนของรัฐบาล จึงปรากฏความใกล้ชิด ร่วมเป็นทีมไทยแลนด์ ระหว่างกลาโหม กับการต่างประเทศ ตั้งแต่วิกฤตในอิสราเอล การส่งคนไทยกลับบ้าน และการช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ในการสู้รบ ระหว่างชนกลุ่มน้อยกับทหารเมียนมา กลับประเทศ

มีการประสานงานใกล้ชิด ระหว่าง พล.อ.ทรงวิทย์ กับนายปานปรีย์ รวมทั้ง รมช.ต่างประเทศ และ ผช.รัฐมนตรี และเลขาฯ รมต. เพราะกองทัพหนุนให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นองค์กรหลักในการแก้ปัญหาต่างประเทศ โดยที่มีกองทัพสนับสนุน คล้ายๆ กับสหรัฐอเมริกา ที่กระทรวงต่างประเทศและกลาโหมทำงานด้วยกัน ตามระบบที่ “Two plus Two” 2+2 ในการแก้ปัญหาด้านต่างประเทศ ในการประสาน 2 กระทรวง เจรจากับ 2 กระทรวงนี้ ของประเทศอื่นเช่นกัน โดยที่กองทัพไม่ต้องออกหน้า

เช่น การประสานกับผู้นำเมียนมา ในการขอส่งกลับคนไทย 2 ระลอก 41 คน และ 266 คนนั้น ก็มีกองทัพช่วยสนับสนุน

โดยที่มีรายงานว่า พล.อ.ทรงวิทย์ ประสานกับอดีต ผบ.ทหารสูงสุด ที่มีความใกล้ชิดกับ พล.อ.มิน อ่อง ลาย ผู้นำเมียนมา ทั้งบิ๊กเจี๊ยบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร และบิ๊กต๊อก พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ

เพราะต้องไม่ลืมว่า พล.อ.มิน อ่อง ลาย เป็นลูกชายบุญธรรมของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ โดยที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ เมื่อครั้งเป็น ผบ.ทหารสูงสุด ก็เป็นผู้พา พล.อ.มิน อ่อง ลาย มาพบ พล.อ.เปรม ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์ อยู่เนืองๆ

ขณะที่ พล.อ.ธารไชยยันต์ นั้นก็เป็นบิ๊กทหารไทย ที่สนิทสนมกับ พล.อ.มิน อ่อง ลาย มากที่สุด เพราะรู้จักมายาวนาน ก่อนที่ พล.อ.มิน อ่อง ลาย จะขึ้นมาเป็นผู้นำทหาร และเป็นผู้นำประเทศ

จึงเป็นการใช้ Defence Diplomacy การทูตทางทหาร อย่างไม่เป็นทางการ ในการประสานงานอีกทางหนึ่ง เสริมงานของกระทรวงการต่างประเทศ

ภาพรวมของการทำงานแก้ปัญหาต่างๆ ในต่างประเทศ ระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ และกลาโหม กองทัพ จึงมีความกลมเกลียว สะท้อนความสัมพันธ์ที่ดีของ รัฐบาลกับกองทัพ

แต่ก็มีบางเรื่องที่รัฐบาล นายกฯ และ รมว.กลาโหม ไม่ยอมกองทัพ และบางกรณี กองทัพก็ไม่ยอมรัฐบาล ไม่ยอมฝ่ายการเมืองง่ายๆ

ตั้งแต่การเลือกเลขาธิการ สมช. รัฐบาลนายเศรษฐา ก็ไม่เอาทหาร เพราะในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ส่งพลเอกในกองทัพมานั่งคุมต่อเนื่องกัน 5 คน ในรอบ 8 ปี แต่ก็หาพลเรือนที่เหมาะสมมาเสียบยอดได้ จึงจะให้บิ๊กรอย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. โอนย้ายข้ามมาเป็น

จนมาถึงการตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ ที่จะต้องไปเจรจากับขบวนการ BRN และกลุ่มก่อความไม่สงบ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

แม้จะมีข่าวว่า ทางฝ่ายทหารมี 3 แคนดิเดตเสนอนายกฯ ทั้งบิ๊กเดฟ พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ บิ๊กเกรียง พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และ ผช.ผบ.ทบ. และ พล.ร.ต. สมเกียรติ ผลประยูร อดีตเลขาธืการ ศอ.บต. ก็ตาม

แต่สเป๊กของนายเศรษฐา คือ ต้องเป็นพลเรือน แต่ก็หาตัวไม่ง่ายที่พลเรือนจะรู้เรื่องทหาร ความมั่นคง เข้าใจปัญหาชายแดนใต้ และรู้จักกลไกขบวนการกลุ่มก่อความไม่สงบ

จนในที่สุด คาดว่าจะมาลงตัวที่ นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาฯ สมช. ที่จะให้ควบหน้าที่หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ด้วย เพราะก็ร่วมอยู่ในคณะมาหลายสมัย หลายปี และถือเป็นพลเรือนที่ทำงานความมั่นคง และกับทหารมาตลอด

ในขณะเดียวกัน ก็เสมือนเป็นการชดเชยให้นายฉัตรชัย ที่พลาดเก้าอี้เลขาฯ สมช.ด้วยนั่นเอง และจะถือเป็นการเปลี่ยนมือจากทหารมาสู่พลเรือนครั้งแรก ในคณะพูดคุยฯ จากที่เดิม ทั้งหัวหน้าคณะและเลขาฯ คณะ เป็นทหารทั้งสิ้น

ทั้งนี้เพราะนายกฯ ไม่ต้องการให้ทหารเป็นหัวหน้าคณะ เพราะกองทัพภาคที่ 4 ถือว่ามีส่วนได้เสียในพื้นที่ เพื่อทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบ สะดวกใจที่จะเจรจามากกว่า

แต่อย่างไรก็ตาม ก็จะมีตัวแทนฝ่ายทหาร กองทัพภาคที่ 4 ร่วมอยู่ในคณะพูดคุยฯ

นอกจากนี้ ยังมีปฏิกิริยาต่อต้านคำสั่งฝ่ายการเมือง กรณีรัฐบาลตกลงใจที่จะให้ยุติการต่อเรือดำน้ำจีนลำแรก แล้วเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตจีนแทน

จากที่นายสุทิน แถลงตั้งแต่วันตรวจเยี่ยมกองทัพเรือ เมื่อ 20 ตุลาคม 2566 กองทัพเรือก็เงียบกริบ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผบ.ทร. หรือแม้แต่ทีมโฆษก ทร. ไม่มีการแสดงท่าทีใดๆ ออกมา

แต่ก็ตั้งคณะกรรมการในการเจรจาจีน ที่มีบิ๊กโอ๋ พล.ร.อ.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ผช.ผบ.ทร. เป็นหัวหน้าคณะ แต่ไม่มีการเปิดเผยผลการเจรจา

ทว่า มีข่าวสะพัดออกมาใน ทร.ว่า บริษัท CSOC ที่ต่อเรือดำน้ำจีน ไม่ต้องการให้ยกเลิกเรือดำน้ำ เพราะต่อไปครึ่งลำแล้ว และต้องการให้เปลี่ยนมาใช้เครื่องยนต์จีน เช่นเดียวกับกองทัพเรือ

จนที่สุด ผบ.ทร. ออกมาแถลงสเป๊กเครื่องยนต์ โดยสรุปเองว่า ทร.และจีน ไม่มีใครบกพร่อง เพราะใน TOR-Scope of work ระบุแค่ว่า ทร.ต้องการ Diesel generator set ระบุ 16V 396 SE84-GB31L ที่อักษร GB31L หมายถึงเครื่องยนต์ที่ผลิตในจีน ซึ่งขณะนั้นจีนยังคงได้ลิขสิทธิ์ในการผลิตจากเยอรมนีในการใช้งาน และการส่งออก จึงเซ็นสัญญากัน ยืนยันว่า ณ วันนั้นไม่มีฝ่ายใดบกพร่อง แต่กราบขอโทษที่ ทร.พูดไม่หมด

พร้อมแสดงความเห็นใจบริษัท CSOC ว่า เข้าใจดีว่าเป็นเรื่องยาก หากง่าย คงเสร็จไปแล้ว แต่จะต้องจบในยุคของตน แต่การที่ทางบริษัท CSOC จีนไม่ค่อยตอบสนอง การเปลี่ยนเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต คงเป็นเหมือนทั่วไป เพราะเขาต่อมาครึ่งลำแล้ว การจะไปขอยกเลิก หรือเปลี่ยนอะไรไม่ใช่เรื่องง่าย

และการจะเปลี่ยนเป็นเรือผิวน้ำ ก็เป็นอีกบริษัทหนึ่ง ถ้าเป็นบริษัทเดียวกัน ก็ยังพอเข้าใจกันได้ ขอให้รอเวลา พร้อมเปิดช่องลดค่าปรับ หลังครบกำหนดสัญญา 30 ธันวาคม 2566 นี้

แต่ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่า ผบ.ทร.ออกมาแถลง หลังนาย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล เสียอีก พร้อมๆ กับท่าทีที่เปลี่ยนไปของพรรคก้าวไกล ที่ดูเหมือนหันมาโจมตีนายสุทิน และรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ยกเลิกเรือดำน้ำ

ดังนั้น การที่กองทัพเรือส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด ชี้ขาดว่า

1. การปรับแก้เครื่องยนต์เป็นสาระสำคัญหรือไม่

2. การจะเปลี่ยนเรือดำน้ำ ที่บอกว่าเปลี่ยนได้ๆ มีขั้นตอนยังไงกันแน่

และ 3. อนุมัติให้แก้ไขเครื่องยนต์ อำนาจอยู่ที่ใคร

แม้ว่าทางกลาโหม จะให้กรมพระธรรมนูญพิจารณาแล้วก็ตาม เพื่อความถูกต้อง เพราะเกรงว่าไม่มีใครกล้าลงนามให้มีการแก้ไขสัญญา

พร้อมย้ำว่า งบฯ ส่วนนี้ เป็นงบฯ ทร. ควรให้ ทร.คิดเอง ว่าต้องการอะไร จึงยังไม่สรุปว่า ถ้าจะต้องเปลี่ยนเรือดำน้ำ แต่จะไม่ใช่เรือฟริเกต แต่เป็นเรือผิวน้ำ ที่ ทร.พิจารณาเองว่า จะเป็นเรือแบบใด อาจเป็นเรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง OPV

 

ด้วยเป็นที่รู้กันว่า ตั้งแต่ยุคบิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย เป็น ผบ.ทร. และบิ๊กจ๊อด พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ก็สานต่อโครงการต่อเรือฟริเกต เพิ่มเติมให้ครบ 8 ลำ แต่ไม่ได้ต้องการเรือฟริเกตจีน แต่ความสำคัญของความเคลื่อนไหวนี้ เป็นเรื่องศักดิ์ศรี ผสมกับยุทธศาสตร์ ทร.

“หน้าที่ซื้อเรือดำน้ำให้ได้ เราไม่มีหน้าที่ที่จะมาบอกว่าเปลี่ยนเป็นเรืออื่น เพราะตามระเบียบการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ 2560 ให้เงินมาซื้อเรือดำน้ำ ต้องได้เรือดำน้ำ” พล.ร.อ.อะดุงระบุ

ดังนั้น ท่าทีของ ทร.ในการหันกลับมาสู้เรื่องเครื่องยนต์จีน เรือดำน้ำจีน อีกครั้ง จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า เกิดอะไรขึ้น จากเดิมที่เหมือนยอมทางรัฐบาล

 

แต่มีรายงานว่า มีความเคลื่อนไหวจากสายบ้านป่ารอยต่อฯ และอดีต ผบ.ทร. ที่กดดันมาที่ พล.ร.อ.อะดุง ให้สู้ ไม่ยอมง่ายๆ เพราะเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ หากยอมแพ้ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อใดจะได้มีเรือดำน้ำ

อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นเจ้าของโครงการเริอดำน้ำจีน ตั้งแต่ยุค คสช. ขณะที่ พล.ร.อ.อะดุง ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับสายบ้านป่ารอยต่อฯ

ไม่แค่นั้น เป็นที่สนทนากันใน ทร.ว่า กรณีจะส่งผลถึงการเลือก ผบ.ทร. ในโยกย้ายกันยายน 2567 เพราะ พล.ร.อ.อะดุง ต้องแสดงความแข็งแกร่ง ไม่ยอมฝ่ายการเมืองง่ายๆ จากเรื่องเรือดำน้ำนี้ก่อน โดยเอาข้อกฎหมายสู้ เพื่อไม่ให้การแต่งตั้งโยกย้ายถูกแทรก เพราะ พล.ร.อ.อะดุง ตั้งใจจะเสนอชื่อ พล.ร.อ.ชลธิศ เพื่อน ตท.23 เป็น ผบ.ทร.คนใหม่ โดยมีบิ๊กน้อย พล.ร.อ.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เสธ.ทร. จาก ตท.24 เป็นอีกหนึ่งตัวเลือก เพื่อสู้กับ พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข รอง ผบ.ทร. ที่รู้กันดีใน ทร.ว่า ไม่ใช่ตัวเลือกของ พล.ร.อ.อะดุง เพราะอยู่คนละขั้ว คนละสาย

แต่อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยาเรื่องเรือดำน้ำจากกองทัพเรือ ไม่มีนัยทางการเมืองระหว่างกองทัพของรัฐบาล แต่เป็นเกมการเมืองภายใน ทร. ระคนกับยุทธศาสคร์ ทร.ด้วยนั่นเอง