ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 พฤศจิกายน 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | หลังเลนส์ในดงลึก |
ผู้เขียน | ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ |
เผยแพร่ |
แรกเริ่มทำงาน เมื่อต้องแนะนำใครๆ หรือเขียนเรื่องการทำงานในป่า ว่าควรต้องปฏิบัติตัวอย่างไร รวมทั้งมีวิธีใดบ้างในอันที่จะทำให้ได้พบสัตว์ป่าอย่างที่ต้องการ ผมมักจะเขียนหรือพูดในท่วงทำนองของการสอน
โดยไม่รู้ว่า แท้จริงแล้ว ผมไม่ได้รู้อะไรมาก จนกระทั่งสอนใครๆ ได้หรอก
ช่วงเวลาผ่านไป ช่วยให้ผมรู้ขึ้นบ้าง ส่วนใหญ่แล้วเป็นการเรียนรู้จากความผิดพลาด
ก็อย่างที่เรารู้นั่นแหละ ความผิดพลาดนั่นคือสิ่งที่ทำให้เราเติบโต, โตทั้งภายนอกและภายใน
มีความจริงอยู่ว่า การทำงานในป่า อย่างที่ผมทำนั้น การมีกล้องและเลนส์ ไม่ได้ทำให้ได้งาน
สิ่งสำคัญคือจำเป็นต้องรู้ และเข้าใจถึงการใช้ชีวิตในป่า
เหมือนการทำงานทุกอย่าง หลายครั้งเราต้องแสวงหาโอกาส ไม่ใช่รอให้โอกาสเดินเข้ามาหา
การเข้าไปอยู่ในป่า ก็คล้ายกับการแสวงหาโอกาส เมื่อไปอยู่ในที่เหมาะสมแล้วนั่นแหละ โอกาสจึงจะเดินเข้ามาหา
เอาเข้าจริงแล้ว เข้าไปอยู่ในป่านานๆ นั่นย่อมต่างจากการเข้าไปพักผ่อนแค่สอง-สามวัน โดยเฉพาะเมื่อต้องเดินแบกสัมภาระ เสบียงอาหาร ผมนำอะไรๆ เข้าไปไม่ได้มากนักหรอก
ดีที่ยุคสมัยนี้มีอุปกรณ์ดีๆ มากมาย ใช้งานได้อย่างเหมาะสมให้เลือกใช้
อุปกรณ์เหล่านี้ช่วยให้ชีวิตทำงานในป่าสะดวกสบายมากขึ้น มีเต็นท์มีคุณภาพ กันฝน น้ำหนักเบา นอนหลับได้ดี รวมทั้งอุปกรณ์สนามอื่นๆ อีก
ไม่จำเป็นต้องอาศัยอุปกรณ์ซึ่งผลิตมาเพื่อใช้กับการทหารดังเช่นในยุคก่อน
มีอุปกรณ์ที่ดี ก็ต้องรู้ว่า ควรนำอะไรใส่เป้ไปบ้าง
เป้ผมใบไม่โต ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน นอกหรือในประเทศ เสื้อผ้าสำรองมีชุดเดียว ชุดที่ใส่ทำงานผมใช้ชุดเดียว
นอกจากมีดอเนกประสงค์ที่ติดข้างเอวตลอดแล้ว มีดที่ถนัดมือสักเล่ม จำเป็น
สิ่งเหล่านี้ ประสบการณ์จะช่วยให้รู้ว่า อุปกรณ์อย่างใดขาดได้ สิ่งไหนจำเป็น
และประสบการณ์ก็จะทำให้เข้าใจได้ดีว่า การดำรงชีวิตในป่า ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากพะรุงพะรัง
แต่การเข้าป่าเพื่อพักผ่อน รถเข้าถึง อย่างนี้ขนอุปกรณ์ไปมากเท่าใหร่ ย่อมไม่มีปัญหา
ในระยะแรกผมลังเลกับการจัดอุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพ กลัวว่าจะตัดสินใจพลาด ไม่ได้งานที่ดี
ในระหว่างเดินผมเลือกใช้เลนส์ตัวที่ใช้งานคล่องตัวที่สุดถือไว้ เลนส์ชุดนี้ใช้กับขาตั้งกล้องชนิดขาเดี่ยว ผมได้งานดีๆ ในตอนกำลังเดินสู่จุดหมาย แม้ว่าโอกาสพบเจอสัตว์ในระหว่างทางจะมีไม่มาก แต่การเตรียมพร้อมย่อมดีกว่า
ขณะอยู่ในซุ้มบังไพร ผมตั้งขาตั้งสองอัน ติดเลนส์สองระยะ ทำให้ได้ภาพทั้งแบบไกลๆ และใกล้
มีบอดี้มากกว่าหนึ่งตัวเป็นเรื่องดี หากตัวหนึ่งมีปัญหา แบบแก้ไขไม่ได้ มีอีกตัวไว้สำรอง ช่วยให้ไม่พลาดโอกาส
เมื่อสัตว์ป่ากำลังเพลิดเพลินกับการกินอาหารอยู่ไม่ไกลซุ้มบังไพร การขยับตัวต้องระวัง พูดง่ายๆ ว่า กระทั่งหายใจยังต้องระวัง
สิ่งที่สำคัญและจำเป็นต้องนึกถึงคือ หากสัตว์ป่าตื่นหนี หรือรู้สึกตัวว่าถูกคุกคาม นั่นจะเป็นการรบกวนพวกมันอย่างไม่น่าให้อภัย
เพราะต้องการความสมบูรณ์แบบและพร้อมในการทำงานมันจึงเป็นปัญหา ในเรื่องการบรรจุลงเป้ และตอนแบกขึ้นหลัง
ประสบการณ์อีกนั่นแหละ จะทำให้ความลังเลในการจัดอุปกรณ์หายไป
เมื่อผมเลือกใช้เลนส์ระยะเดียว ได้ภาพใกล้ เมื่อสัตว์เข้ามาใกล้ๆ ภาพไกลๆ เห็นสภาพแวดล้อมที่สัตว์ป่าอาศัย ใช่ว่าจะสวยงามน้อยกว่าภาพสัตว์หรือนกตัวโตๆ
บางทีเลนส์ที่เหมาะสม หรือภาพที่ดี นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับว่า เป็นเลนส์หรือภาพที่เราชอบ
ประสบการณ์ทำให้การใช้ชีวิตในป่าง่ายขึ้น เวลาทำให้เรียนรู้วิธีทำงานให้ดีขึ้น
แต่ดูเหมือนว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้ กลับทำให้ความมั่นใจของผมน้อยลง
มั่นใจน้อยลง เพราะรู้มากขึ้น
และเพราะรู้มากขึ้นนี่เอง อันทำให้ผมเลิกเขียน หรือพูด ในท่วงทำนองของการ “สอน” ใครๆ มานานแล้ว •
หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022