ภาพเขียนสีที่ผาหมอนน้อย ร่องรอยของ ‘พระแม่โพสพ’ เมื่อ 2,000 ปีที่แล้วในอุษาคเนย์

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

นักโบราณคดี ควบตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งรัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania State University) อย่าง ดร.ดีน สโนว์ (Dean Snow) ได้ศึกษาวิจัยรอยฉลุสี (stencil) รูปฝ่ามือในกลุ่มถ้ำยุคหินเก่าตอนปลาย ที่มีอายุอยู่ในช่วงระหว่าง 45,000-35,000 ปีที่แล้ว บริเวณทางตอนใต้ของฝรั่งเศส ไปจนถึงทางตอนเหนือของประเทศสเปน เป็นจำนวน 32 ถ้ำ แล้วสรุปผลวิจัยออกมาเป็นข้อเขียนที่ชื่อว่า “Sexual Dimorphism in European Upper Paleolithic Cave Art” (ภาวะทวิสัณฐานทางเพศที่ปรากฏอยู่ในศิลปะถ้ำช่วงปลายยุคหินเก่าในยุโรป) ตีพิมพ์ในวารสาร American Antiquity ปีที่ 78 ฉบับที่ 4 เมื่อปี พ.ศ.2556 ซึ่งก็ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจเลยทีเดียว

ผลการวิจัยที่สำคัญของสโนว์ ซึ่งผมอยากจะนำมาเล่าสู่กันฟังในที่นี้ก็คือ เขาได้พบว่า 3 ใน 4 ของจำนวนฝ่ามือทั้งหมดในกลุ่มถ้ำที่เขาได้ทำการศึกษานั้น เป็นของ “ผู้หญิง” เสียมากกว่าที่จะเป็นรอยฝ่ามือของผู้ชาย

เพื่อจะทำความเข้าใจว่า สโนว์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นรอยฝ่ามือในภาพเขียนสีผนังถ้ำเป็นรอยฝ่ามือของเพศไหน? เราจำต้องทำความเข้าใจก่อนว่าที่เรียกว่า เทคนิคการ “ฉลุสี” คืออะไร?

การฉลุสีในศิลปะถ้ำนั้น ไม่ใช่การฉลุเนื้อหินลงไปจริงๆ แต่เป็นการใช้สีสร้างภาพโครงร่างรอบนอก (outline) ของวัตถุที่ต้องการฉลุลงไป เช่น หากต้องการฉลุรูปฝ่ามือก็วางฝ่ามือไว้บนผนังถ้ำจากนั้นก็เอา “สี” ละเลงไปรอบๆ ฝ่ามือ ไม่ว่าจะทำด้วยการเขียน ระบาย หรือพ่นสีลงไปก็ไม่ว่ากัน

ภาพที่ได้ออกมาจึงมีลักษณะเป็น รูปของกลุ่มสีที่ล้อมอยู่รอบสีพื้นผิวเดิมของผนังถ้ำซึ่งโปร่งราวกับถูกฉลุเป็นรูปฝ่ามือนั่นเอง

ร่องรอยตรงนี้แหละครับ ที่สโนว์ได้นำมาใช้ในการตรวจสอบและจำแนก

สโนว์ใช้วิธีการเปรียบเทียบรูปร่างของรอยฝ่ามือประเภทนี้เข้ากับลักษณะทางกายภาพที่แตกต่างกันเป็นการเฉพาะระหว่างผู้ชาย และผู้หญิงในปัจจุบัน (ส่วนลักษณะทางกายภาพที่ว่านั้นคืออะไรบ้าง ในรายงานข่าวไม่ได้ระบุไว้) จึงได้สรุปผลออกมาว่า 75% ของภาพเขียนสีรูปรอยฝ่ามือประเภทนี้ ในกลุ่มถ้ำดังกล่าวเป็นของ “ผู้หญิง”

 

น่าสนใจที่โดยปกติ ภาพเขียนสีบนผนังถ้ำหรือเพิงผาไม่ได้วาดขึ้นเพื่อประดับตกแต่งสถานที่อย่างที่มักเข้าใจกันโดยทั่วไป แต่ถูกใช้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมต่างๆ ต่างหาก

ในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่ผ่านมานี้ มีคำอธิบายที่นิยมแพร่หลายอยู่ในหมู่ผู้ศึกษาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะว่า ภาพเขียนสีเหล่านี้ ถูกใช้ในฐานะเป็น “ของขลัง” สำหรับช่วยในการล่าสัตว์

กลุ่มนักประวัติศาสตร์ศิลปะที่เชื่อเช่นนี้ มักจะหยิบยกเอาเหตุผลที่ว่า ในบรรดาภาพเขียนสีทั้งหลายที่พบกระจายอยู่ทั่วทั้งโลกนั้น มีอยู่หลายภาพเลยทีเดียวที่มีร่องรอยของอาวุธอย่าง ลูกธนู หรือหอก ปักอยู่ด้วยมาก่อน แน่นอนว่านี่คงเป็นพิธีกรรมที่แม่หรือพ่อมดหมอผีประกอบขึ้นมาเพื่อ “ฆ่า” สัตว์ร้ายเหล่านี้

“มนุษย์ถ้ำ” ที่เป็นบรรพชนของพวกเราเหล่านี้คงจะคิดว่า ถ้าวาดรูปสัตว์เหล่านี้ให้ดูเหมือนจริงเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้เหมือนกับว่า “พลังชีวิต” ของสัตว์ร้ายที่พวกเขากำลังจะออกล่านั้น ได้ถูกโอนถ่ายมาอยู่ที่ภาพเขียนสีเหล่านี้

แต่ “พลังชีวิต” ที่ว่านี่ไม่ใช่ “วิญญาณ” นะครับ ถ้าจะเทียบกับอะไรที่มีความหมายใกล้เคียงกันในโลกภาษาไทยก็ควรจะเป็น “ขวัญ” เสียมากกว่า เพราะท้ายที่สุดเมื่อศิลปิน หรือหมอผีวาดภาพพวกนี้สำเร็จแล้ว เจ้าสัตว์เหล่านั้นก็ยังคงปกติแข็งแรง โลดแล่นอยู่ในทุ่งหญ้าต่างๆ อยู่ดี

ดังนั้น พลังชีวิตดังกล่าวจึงคล้ายกับพลังขวัญ เพราะเชื่อกันว่า หากขวัญหลุดจากร่างกายไปก็เป็นเพียงแค่อาการ ขวัญหาย หรือขวัญหนีดีฝ่อ ไม่ถึงกับตาย แต่ถ้าเป็นวิญญาณเมื่อหลุดออกจากร่างก็รับประกันได้เลยว่า ตายแน่ 100% เต็มแบบไม่มีหักคะแนน

และแม้แต่เมื่อหมอผีได้ทำพิธีสาปแช่งด้วยการซัดอาวุธใส่ภาพเขียนสีเหล่านี้แล้ว พวกสัตว์ร้ายที่ถูกจำแลงมาอยู่ในภาพเขียนสีเหล่านี้ก็ยังคงใช้ชีวิตอย่างปกติสุขอยู่เหมือนเดิม ต้องรอจนกว่าจะมีอาวุธจริงไปกระทบต้องร่างของพวกมันนั่นแหละ วิญญาณจึงจะหลุดออกจากร่างของพวกมันไปโดยแท้

 

แต่นอกเหนือจากข้อสันนิษฐานข้างต้นแล้ว เรายังไม่พบร่องรอยของหน้าที่การใช้งานของภาพเขียนสีเหล่านี้จากกลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ ที่ยังดำรงชีวิตอยู่แบบดั้งเดิม (primitive society) ด้วย เพราะข้อมูลหลายแห่งยังบ่งชี้ว่าชนเผ่าพื้นเมืองในทวีปออสเตรเลีย ที่เรียกรวมๆ ว่า “ชาวอะบอริจิ้น” (Aborigines) ยังคงมีพิธีกรรมที่ใช้งานภาพเขียนสีอยู่

ตัวอย่างเช่น พวกอะบอริจิ้นบางเผ่าจะคัดแยกเด็กผู้ชายที่มีอายุถึงตามเกณฑ์ที่จะถือว่าโตเป็น “ผู้ใหญ่” และโตเป็น “ผู้ชาย” ได้ โดยก่อนหน้าที่จะมีอายุถึงตามเกณฑ์นี้ เด็กผู้ชายจะมีสถานภาพไม่ต่างจากเด็กผู้หญิง และเป็นลูกของแม่

ในพิธีพวกเด็กผู้ชายที่อายุถึงเกณฑ์จะต้องออกนอกชุมชนไปกับกับ “ผู้ชาย” โดยเด็กชายเหล่านั้นต้องสวมบทเป็นตัวเอกในปกรณัมของพื้นบ้าน ในขณะที่พวกผู้ใหญ่ก็สวมบทบาทเป็นตัวละครอื่นๆ

การสวมบทบาทอย่างนี้จะต้องทำตามท้องเรื่องของปกรณัมให้ดำเนินไปเรื่อยๆ จนครบถูกต้องตามเงื่อนไข ตามสถานที่เฉพาะต่างๆ ที่ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนหรือเผ่า บางสถานที่ถูกสงวนไว้เฉพาะเป็นความลับของเผ่า แต่ท้ายสุดจะมาจบลงที่ถ้ำที่มีภาพเขียนสีนั่นแหละ

ในบางเผ่ายังมีร่องรอยการเขียนสีเพิ่มเพื่อแสดงถึงการมีส่วนร่วมในพิธีกรรมอีกด้วย และการมีส่วนร่วมที่ว่าก็คือการประทับรอยฝ่ามือไว้นั่นเอง ไม่ว่าจะทำในรูปของการฉลุสี หรือเอามือจุ่มสีแล้วแสตมป์ตราลงไปบนผนังถ้ำเลยก็ตาม

และจากตัวอย่างทั้งหมดข้างต้นที่ผมเล่าให้ฟังนี้ คงจะพอทำให้เห็นภาพว่า คนโบราณเขาวาดภาพเขียนสีไว้ตามผนังถ้ำ หรือเพิงผาไปทำไมกันมากขึ้นนะครับ

 

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการผู้สนใจศึกษาเกี่ยวกับศิลปะอินเดียบางกลุ่ม อธิบายถึงความหมายของ รอยประทับรูป “ฝ่ามือ” (ไม่ว่าจะป็นการประทับด้วยเทคนิคการแสตมป์ หรือฉลุสีก็ตาม) บนฝาผนังถ้ำในรูปแบบที่แตกต่างออกไป

เพราะได้เชื่อมโยงถึงงานศิลปะในยุคหลังที่สร้างขึ้นในศาสนาพุทธ และพราหมณ์ด้วย

ท่านเหล่านี้เชื่อว่า “มุทรา” (ซึ่งหมายถึงการแสดงสัญลักษณ์ด้วยท่าทางจากมือ ไม่ว่าจะข้างเดียว หรือทั้งสองข้าง) ที่ไทยเราชอบเรียกด้วยคำศัพท์คล้ายๆ กัน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียวว่า “ปาง” (เพราะคำว่าปางหมายถึงอากัปกิริยาของร่างกายทั้งหมด ไม่ได้หมายถึงท่าทางของมือเป็นการเฉพาะ) ที่เรียกว่า “อภยมุทรา” หรือ “ปางประทานอภัย”

ที่เราคุ้นเคยกันดีน่าจะเป็นพระพุทธรูปปางประทานอภัย แต่อันที่จริงแล้วปางประทานอภัยไม่ได้เป็นปางเฉพาะของพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะใช้ร่วมกันกับศาสนาอื่นในอินเดีย และลังกาด้วย ทั้งในศาสนาพราหมณ์ และศาสนาเชนก็ด้วย

พระพุทธรูปปางอภัย ไม่ได้หมายถึงว่าพระพุทธเจ้าทรงไปให้อภัยกับใครทั้งสิ้น แต่หมายถึงทรงอวยพรให้ผู้กราบไว้บูชา “ไม่มีภัยอันตราย” เพราะคำว่า “อ-” ต่อหน้าคำนามใดๆ ย่อมแปลว่า “ไม่” ในกรณีนี้ก็คือ ทรงอวยพรให้ผู้บูชาพระองค์ไม่มีภัยใดๆ มากล้ำกราย

นักวิชาการกลุ่มนี้เชื่อมโยงท่ามือของปางประทานอภัย ซึ่งเป็นปางที่ยกฝ่ามือหันออก เข้ากับรูปรอยฝ่ามือบนผนังถ้ำ และอธิบายว่าภาพฝ่ามือแสดงถึงการปกป้องคุ้มครอง หรือความเป็นเจ้าของ คือหมายถึงการเป็นผู้พิทักษ์คุ้มครอง หรือเป็นเจ้าของสรรพสิ่งต่างๆ ที่ถูกวาดไว้เป็นภาพเขียนสีอยู่บนฝาผนัง

 

น่าสนใจว่า ภาพฉลุสีรูปฝ่ามือที่กลุ่มที่สโนว์ศึกษามีที่วางตัวเรียงรายอยู่รอบภาพควายไบซันด้วย เป็นไปได้ไหมว่า ฝูงควายไบซันเหล่านี้เป็นของที่ถูกแสดงความเป็นเจ้าของเอาไว้โดยผู้ที่ประทับรอยฝ่ามือ

และนั่นยิ่งน่าสนใจเข้าไปเมื่อสโนว์กล่าวว่า “It wasn’t just a bunch of guys out there chasing bison around.” แปลง่ายๆ ได้ใจความว่า “มันไม่มีฝ่ามือของผู้ชายที่จับจองอยู่ล้อมรอบควายไบซันเลย”

ดังนั้น จึงสามารถแปลความเป็นภาษาไทยให้ง่ายกว่าเดิมอีกครั้งก็ได้ว่า ควายไบซันเป็นทรัพย์สินที่ “ผู้หญิง” เป็นเจ้าของ หรือคุ้มครองอยู่ (แน่นอนว่า ด้วยเวทมนตร์คาถาที่สะกดเอาพลังชีวิตของควายไบซันเหล่านั้นเอาไว้ในภาพเขียนสี)

ในประเทศไทยเองก็มีภาพเขียนสีบนผนังถ้ำ หรือเพิงผา ที่มีเขียนวาดรูปฝ่ามือล้อมรอบทรัพยากรบางอย่างเอาไว้เช่นกันนะครับ

ที่สำคัญก็คือภาพเขียนสีอายุราว 2,000 ปี ที่ผาหมอนน้อย โขงเจียม จ. อุบลราชธานี ซึ่งวาดเป็นรูปนาข้าว ที่มีภาพฝ่ามือลายรอบห้อมล้อมทุ่งนาเอาไว้

ถึงแม้จะไม่เคยมีการศึกษาวิจัยใดๆ ที่ทำให้ทราบได้อย่างชัดเจนว่า ฝ่ามือที่ถูกวาดล้อมรอบทุ่งนาที่ผาหมอนน้อย เป็นภาพฝ่ามือของของผู้ชาย หรือผู้หญิง แต่เมื่อพิจารณาจากความเชื่อเกี่ยวกับผี หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ปกปักรักษา หรือคุ้มครองนาข้าวในอุษาคเนย์แล้ว ก็จะเห็นได้ว่าเป็นล้วนแล้วแต่เป็นเพศหญิงทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น แม่ข้าว หรือแม่ขวัญข้าวของไทย (ที่ต่อไปข้างหน้าจะถูกจับบวชด้วยภาษาบาลีสันสกฤตจากอินเดียจนกลายเป็นอะไรที่เรียกกันว่า พระแม่โพสพ) เมสฺรี (อ่านว่า เม-เซฺร็ย แปลว่า หญิงผู้เป็นใหญ่มีอำนาจ) ของเขมร หรือเทวีศรี (เป็นชื่อที่เรียกใหม่ในชั้นหลัง เพื่อจับบวชแม่ข้าวกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในจักรวาลแบบฮินดู ด้วยพระนามหนึ่งของพระแม่ลักษมี เทพีแห่งความงาม และความอุดมสมบูรณ์ของพวกพราหมณ์) ของชวา เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าจะให้เดาว่าฝ่ามือที่ถูกเขียนอยู่ล้อมรอบนาข้าว ที่ผาหมอนน้อย จะเป็นฝ่ามือของผู้ชาย หรือผู้หญิง ผมจึงเดาว่าควรจะเป็นของผู้หญิงมากกว่าผู้ชายนั่นแหละครับ

ภาพฝ่ามือที่ล้อมรอบนาข้าวอายุ 2,000 ปี ที่ผาหมอนน้อย จึงเป็นร่องรอยของสังคมในยุคก่อนประวัติศาสตร์ของอุษาคเนย์ ที่มีผู้หญิงเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของและผู้คุ้มครองทุ่งนา อันเป็นทรัพยากรสำคัญ ที่ต่อมาจะเหลือร่องรอยทิ้งไว้ในปัจจุบันสมัยของพวกเราในชื่อของ “พระแม่โพสพ” นั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ