เคาต์ดาวน์หุ้นไทยปี 2567 จุดพลุเป้า 1,750 จุด โจทย์ใหญ่รัฐบาล คืนชีพศรัทธานักลงทุน

รัฐบาลมีความพยายามในการส่งเสริมให้ประชาชนวางแผนทางการเงิน ผ่านการออมระยะยาว เพื่อให้ไม่เดือดร้อนในยามที่ต้องการใช้เงินฉุกเฉิน

ยกตัวอย่างภาพวิกฤตการระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเลิกจ้างงานกะทันหัน ทำให้ผู้ที่ไม่พร้อมทางการเงินเสียหลักในการดำเนินชีวิตไปหลายปี รวมถึงยังมีอีกบางส่วนที่ขณะนี้ก็ยังกลับมาตั้งหลักไม่ได้ด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้กลับมาดีขึ้นกว่าช่วงที่เกิดวิกฤตแล้ว

เมื่อรัฐบาลต้องการให้ประชาชนวางแผนการเงินมากขึ้น ก็ต้องส่งเสริมให้เข้าถึงเครื่องมือทางการเงิน ผ่านการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ ที่แบ่งออกเป็นสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ปลอดภัย อาทิ กองทุน พันธบัตร หุ้น ทองคำ หรือสินทรัพย์ดิจิทัล (ดิจิทัลแอสเซท)

ต้องยอมรับว่าการเกิดขึ้นของโควิดทำให้ภาพหลายอย่างกลับหัวกลับหาง จนยากที่จะคาดเดา ไม่เว้นแม้แต่ในภาคของการลงทุนเอง

เนื่องจากแม้ขึ้นชื่อว่าสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ ก็ถูกปัจจัยเสี่ยงส่งผลกระทบจนผันผวนหนัก และให้ผลตอบแทนที่ผิดพลาดเช่นกัน

แทบไม่ต้องนึกถึงสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นด้วยซ้ำ เนื่องจากหากประเมินภาพตั้งแต่ต้นปี 2566 จนผ่านมาเกือบจะหมดปีแล้วในอีกไม่ถึง 2 เดือนสุดท้ายนี้ ดัชนีหุ้นไทยให้ผลตอบแทนติดลบ 15.15% ทั้งที่เปิดปีมาด้วยการไต่ระดับขึ้นถึง 1678.97 จุด ในวันที่ 3 มกราคม 2566 วันเปิดทำการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เป็นวันแรก

จนล่าสุดปัจจุบัน ดัชนีเคลื่อนไหวอยู่บริเวณ 1,400 จุดเท่านั้น

รวมถึงเมื่อเกิดวิกฤตความเชื่อมั่นในประเทศ และความเสี่ยงจากภายนอกเข้ามากระทบ ก็ทำให้ดัชนีทำจุดต่ำสุดในระดับ 1,371.22 จุด เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม

ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่เกิดโควิดด้วย

 

จากเดิมนักวิเคราะห์หลายสำนักให้เป้าหมายดัชนีสูงสุดตั้งแต่ 1,600 จุด ถึง 1,800 จุดด้วยซ้ำ

แต่เพราะอะไรทำไมดัชนีถึงวิ่งไม่ไหว แถมยังปักหัวลงแบบหน้าทิ่มด้วย

ต้องบอกว่าในภาคของการลงทุน ความเชื่อมั่นมีความสำคัญสูงมาก

เมื่อความเชื่อมั่นถูกตั้งคำถามว่ามีหรือไม่มี ก็ทำให้เกิดความกังวลในการนำเงินลงทุนที่หามาด้วยความยากลำบากเข้าไปกองไว้ เพื่อหวังเห็นการงอกเงย

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด ในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (ไอเอเอ) กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือ รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่น เพราะพื้นฐานของตลาดหุ้นไทยถือว่ายังดีอยู่ อาจติดอยู่แค่นโยบายเศรษฐกิจที่ยังสร้างความมั่นใจไม่ได้ แต่เริ่มดีขึ้นต่อเนื่อง เพราะหลายนโยบายทางรัฐบาลเริ่มฟังเสียงของผู้ท้วงติงมากขึ้น อาทิ โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ที่รูปแบบเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทางที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากขึ้น

เนื่องจากพื้นฐานของหุ้นไทยที่ยังดีอยู่ในสายตาของนักวิเคราะห์จึงมองภาพปี 2567 จะต้องดีขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน

โดย “สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งในปี 2567 ซึ่งเป็นผลมาจากเสถียรภาพทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น มองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลจะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นอีก 1% จากประมาณการเดิม ทำให้คาดว่ากระแสเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้าสู่ตลาดไทยอีกครั้ง โดยเราคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ 4.1% (เทียบกับประมาณการเดิมที่ 3%) จากปี 2566 ที่ขยายตัว 2.7%

ทำให้ประเมินเป้าหมายดัชนีปี 2567 อยู่ที่ระดับ 1,750 จุด

ด้าน “อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล” CISA ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ระบุว่า แม้ดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวลงมามากในเดือนที่แล้ว แต่ยังขาดปัจจัยขับเคลื่อนที่มีนัยสำคัญในระยะสั้น โดยเฉพาะบรรยากาศการลงทุนในปัจจุบันยังถูกปกคลุมด้วยความกังวลทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจอยู่ระดับสูงนาน ทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (บอนด์ยีลด์) และดัชนีดอลลาร์สหรัฐ ปรับสูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงรอยต่อของงบประมาณปี 2567 ที่มาความล่าช้า ทำให้ขาดเม็ดเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ จึงคาดหวังการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ได้ไม่มากนัก แต่มองเป็นจังหวะทยอยสะสม และตั้งรับหุ้น เพื่อขายทำกำไรในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 เมื่อมีเม็ดเงินงบประมาณและการแจกเงินดิจิทัลไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

โดยให้เป้าหุ้นไทยปี 2567 ที่ระดับ 1,640 จุด

 

ไม่แตกต่างจาก “วิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล” กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ที่มองว่า ทิศทางตลาดหุ้นในปี 2567 มีมุมมองเป็นบวก จากมูลค่า (Valuation) ในมูลค่าทางบัญชีล่วงหน้า (Forward P/Book Value) ที่ถูกเป็นอันดับ 3 ในรอบ 15 ปี การเติบโตของจีดีพีที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเติบโตลดลง ดอกเบี้ยทั่วโลกเริ่มถึงจุดอิ่มตัว และจะปรับตัวลดลงในกลางปี 2567 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย มีกำไรต่อหุ้นที่เติบโตกว่า 15% ในปี 2567 เมื่อเปรียบเทียบติดลบ 5% ในปี 2566

หุ้นไทยจะ Outperform หุ้นโลก เนื่องจาก

1. การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะดีกว่าค่าเฉลี่ยหุ้นโลก

2. มูลค่าหุ้นไทยยังคงไม่แพงในแง่ราคาหุ้นต่อมูลค่าทางบัญชี และในเชิงส่วนต่างผลตอบแทน (Earning Yields Gap) (ส่วนกลับของ P/E กับผลตอบแทนพันธบัตร) โดยคาดการณ์ดัชนีเป้าหมายในปี 2567 ที่ระดับ 1,650 โดยอาศัยสมมุติฐานกำไรต่อหุ้น (อีพีเอส) ปี 2568 ที่ 113 บาท และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) สหรัฐ 10 ปีที่ 3.3%

“ปี 2567 นักลงทุนต่างชาติ จะขายตลาดหุ้นไทยน้อยลง เนื่องจากปี 2566 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 1.6-1.7 แสนล้านบาท หลังจากเป็นฝ่ายซื้อสุทธิกว่า 2 แสนล้านบาทในปี 2565 ถือได้ว่านักลงทุนต่างชาติเป็นฝ่ายขายสุทธิกว่า 8 แสนล้านบาทในรอบ 13 ปี ตั้งแต่การใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) เป็นต้นมา” วิศิษฐ์กล่าวทิ้งท้าย

จากเป้าหมายดัชนีที่ให้ไว้ เราจะได้เห็นในปีหน้า 2567 หรืออาจต้องร้องเพลงรอแล้วรอเล่าไปอีกปี พร้อมๆ กับเงินลงทุนที่อาจลดลงอย่างต่อเนื่อง