คำถาม คำตอบ จาก เมด อิน U.S.A. สุจิตต์ วงษ์เทศ

บทความพิเศษ

 

คำถาม คำตอบ

จาก เมด อิน U.S.A.

สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

หากไม่เริ่มต้นจากพื้นฐานแห่งความเป็น ทองปน บางระจัน ที่ชมชอบต่อโขน ต่อละครนอก ต่อละครใน

หากไม่เริ่มต้นจากนิราศจาก “ศรีสัชนาลัย” ไปยัง “อิทะกะ” ของ “ขุนเดช”

ก็ยากเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้าใจต่อความรู้สึกของ สุจิตต์ วงษ์เทศ เมื่อแรกประสบเข้ากับภาพของ “การแสดง” ในแต่ละฉากตอนของ The Hair

The Hair อันเป็นปรากฏการณ์ในทาง “วัฒนธรรม”

ทั้งยังเป็นวัฒนธรรม “ใหม่” ที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ของสิ่งที่เรียกกันว่า “ฮิปปี้” หรือ”บุปผาชน” อันวิวัฒนาการมาจาก The Beat

เป็นรูปธรรมแห่งการปะทะในทาง “วัฒนธรรม” อันแหลมคม

เป็นปรากฏการณ์อันก่ออาการ Shock อย่างใหญ่หลวงอยู่แล้วสำหรับวัฒนธรรมใหม่ในสังคมอเมริกันในยุคแห่งทศวรรษ 1960

ยิ่งอ่าน เมด อิน U.S.A. ยิ่งเข้าใจในความรู้สึก สุจิตต์ วงษ์เทศ

 

วิวัฒนาการ สังคม

ศึกษา The Hair

มันเริ่มส่ายไปส่ายมา แล้วก็พูด พูดอยู่คนเดียว เพื่อนนักเรียนไทยอธิบายว่ากำลังพูดถึงวิวัฒนาการของมนุษย์ตั้งแต่สมัยหิน

เท่านี้ผมก็เริ่มจับเค้าเอาความได้บ้าง

เพราะชินหูอยู่กับศัพท์แสงประเภทโบราณคดีอยู่แล้ว ไอ้หนุ่มเริ่มด่ามนุษย์ว่าเลวเท่าๆ กับสัตว์

รบกัน ฆ่ากัน ตายโหงตายห่า เป็นต้น

คนดูฮาออกมาดังลั่นเมื่อถูกใจบางถ้อยคำที่มันพูด ไอ้หมอนั่นปราดมาริมเวทีชี้หน้าคนดูแล้วตะคอกว่า

“หยุดหัวเราะนะ ไอไม่ได้พูดเล่นโว้ย”

คนดูก็ฮาได้อีกทีหนึ่ง ไอ้หมอนั่นพูดบ้าง ร้องเพลงบรรยายบ้างสลับกันไป โดยว่าถึงเรื่องราวมนุษย์ตั้งแต่สมัยหินมาจนสร้างสรรค์อารยธรรมต่างๆ

แล้วไฟก็สว่างพรึบขึ้น

 

ชีวิต บนเวที

ละคร กับ คน

ตัวละครออกมาเต้นแร้งเต้นกากับไอ้หนุ่มหน้ามนคนที่พูดเริ่มต้น ดนตรีแจ๊ซกระจายหนวกหูเต็มห้องในจังหวะเร่งเร้าอารมณ์

จับเรื่องเข้าสังคมอเมริกันทันที

บรรดาหนุ่มสาวละครแสดงทั้งหมด คือ ไอ้พวกที่ขนไม้ระแนง ถือค้อนตอกตะปูเป็นฉากง่ายๆ เมื่อตอนผมเข้ามานั่นเอง

มันเล่นกันง่ายๆ ดีจริงนิ พับผ่าเถอะ ผมกระซิบกับเพื่อน

เพื่อนนักเรียนไทย ตอบว่า นี่ไม่ใช่โขนกรมศิลป์นี่หว่า

เพื่อนนักเรียนไทยทำหน้าที่เป็นล่ามแปลความสำคัญให้ฟัง ผมเองก็เดาๆ จับเค้าเอาความเองบ้างอย่างสนุกสนาน

เพราะเนื้อหาของละครเป็นเรื่องที่เสียดสีสังคมอเมริกันเองทั้งสิ้น

นับแต่ความไม่มีอะไรในตัวผู้คน ความไม่มีแก่นสาร การแสวงหาคำตอบให้แก่ชีวิต คนหนุ่มสาวหาทางออกด้วยความประชดสังคม สังคมเฟะฟอนแถบวอลสตรีทและอะไรต่อมิอะไรอีกไม่มากมายซึ่งผมเดาไม่ออก

ดูไม่ทัน และฟังไม่รู้เรื่อง

 

นั่งดู The Hair

คิดถึง ศิลปากร

คิดถึงพรรคพวกที่อยู่มหาวิทยาลัยศิลปากร ไม่ว่าพวกสถาปัตย์หรือจิตรกรรมหรือมัณฑนศิลป์ เพราะไอ้พวกนี้มีความสามารถทางการแสดงและจัดการแสดงประกอบด้วยแสงสีวิจิตร

ในเรื่องเนื้อหาสาระแล้วเห็นจะไม่แพ้กัน

แต่ทางด้านเทคนิคเท่านั้นที่คนหนุ่มสาวของเราอาจจะตามเขาไม่ทัน เพราะเทคนิคเขาดีกว่ามากนัก

ฉากสุดท้ายก่อนที่จะพักครึ่งเวลา

ตัวละครทั้งหญิงและชายสอดตัวเองเข้าไปอยู่ใต้แพรสีแดงในขณะที่แสงไฟออกสีเขียวเวอริเดียน ตัวละครหญิงและชายทำท่าขยับจับจ้องอยู่ใต้แพรผืนนั้นทำให้แลเห็นความเคลื่อนไหวคล้ายคลื่นในมหาสมุทร

แล้วก็ค่อยๆ คลานออกมาจากผ้าแพรทีละคน สองคน ตามจังหวะดนตรีที่เร่าร้อน

แก้ผ้าแล้วโว้ย-ผมคิดในใจ

ตัวละครหนุ่มสาวทั้งหญิงชายเปลือยกายล่อนจ้อนออกมายืนเข้าแถวหน้าเวที ในขณะที่ปากร้องเพลงประสานเสียงแสดงความบริสุทธิ์ที่แท้จริงของมนุษย์ และถึงแม้ทุกคนจะแก้ผ้าแต่ก็ขมุกขมัวเต็มทีเพราะการเล่นแสงไฟ

ทำให้ไม่สามารถจะมองเห็น “แฮร์” ได้ชัดเจน

และไม่นานเกินสามนาที เพลงจบลง ไฟดับพรึบ ต่อจากนั้นก็เป็นการพักครึ่งเวลาสักสิบนาที

แล้วจึงเริ่มแสดงครึ่งหลัง ซึ่งมีการด่าสังคมอเมริกันแสบหัวใจมากขึ้น

 

กมล กมลตระกูล

เมด อิน U.S.A.

กมล กมลตระกูล

ทุกอย่างดำเนินไปเหมือนกับที่ กมล กมลตระกูล สรุปเอาไว้อย่างรวบรัดว่า ถ้าจะอ่านกันอย่างเผินๆ เมด อิน U.S.A. เป็นสารคดีธรรมดาๆ

บันทึกการเดินทางของคนไทยคนหนึ่งที่ได้ไปอยู่สหรัฐอเมริกา

เมื่อพบผู้คนหรือเหตุการณ์อะไรก็บันทึกไว้มาเล่าสู่กันฟัง จะเอาสาระกันจริงก็ไม่มีอะไรมาก

แต่บังเอิญคนบันทึกนี้ คือ นายสุจิตต์ วงษ์เทศ

เขาเป็นนักเสียดสีสังคม (อย่างมีหลัก) ตัวยง เขาเป็นคนมีอารมณ์ขันอย่างเลือดเย็น เขาฉลาดในการเลือกใช้ภาษาเป็นเอก

และเพราะเขาโง่ (ตามที่เขาอ้าง) เหมือนคนไทยทั่วไป

เพราะถูกอุดหู ปิดตาไม่ให้รู้ในสิ่งที่ควรรู้ และให้รู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ เมด อิน U.S.A. จึงมิใช่สารคดีท่องเที่ยวธรรมดาๆ

เนื่องจากบันทึกโดยคนโง่เป็นเรื่องธรรมดา

หรือธรรมชาติของคนโง่ย่อมมองเห็นเหตุการณ์ หรืออะไรต่อมิอะไรไม่เหมือนคนฉลาดทั่วๆ ไปเขา ความโง่เพราะต้องอยู่ในสังคมถูกอุดหูปิดตาเมื่อไปพบสังคมตรงกันข้ามแบบสหรัฐอเมริกา

ซึ่งเปิดเสรีทุกอย่างตั้งแต่เรื่องเซ็กซ์จนถึงเรื่องการเมือง

เขาจึงตระหนกตกใจเอามากๆ เป็นธรรมดา และเพราะความตระหนกตกใจนี้เขาจึงเลือกเล่าเฉพาะในสิ่งที่ทำให้เขาตระหนกตกใจ ซึ่งไม่ค่อยได้รู้ได้เห็นกันในสังคมเดิมที่เขาอยู่

นี่เองเป็นข้อดีและข้อแตกต่างของ เมด อิน U.S.A. กับสารคดีท่องเที่ยวของคนอื่นๆ

 

ตัวตน แฝงเร้น

สุจิตต์ วงษ์เทศ

ลึกๆ ลงไปแล้ว สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นนักต่อต้านสังคมตัวร้าย จะเป็นเพราะสันดานหรือความช่างคิด ช่างพิจารณา สิ่งรอบๆ ตัว

การปฏิบัติตัวอย่างไม่ค่อยมีหลักเกณฑ์และเหตุผลของผู้คนในสังคมเดียวกับเขา

สังคมสร้างเขาให้เป็นคนช่างหมั่นไส้คน

เขาเลือกต่อต้านสังคม หรือเสนอความคิดแก้ไขสังคม ธรรมเนียมและวิธีการทำงาน ฯลฯ โดยวิธีเสียดสี

และเขาเสียดสีได้เจ็บปวดยิ่งนัก

จะเห็นได้จากบทแรกใน เมด อิน U.S.A. นอกจากเสียดสีแล้วเขายังแทรกอารมณ์ขันไว้อย่างเลือดเย็นตามที่ต่างๆ ตลอดเล่ม แม้กระทั่งการตั้งชื่อเรื่องหนังสือเล่มนี้เป็นภาษาต่างด้าว

หลายคนหาว่าเขากระแดะ เหมือนๆ กับการเปลี่ยนเรียกสรรพนามตัวเองเสียใหม่ในเล่มนี้ว่า “ผม” ซึ่งเดิมทีในหนังสือเล่มอื่นๆ ที่เขาเขียน เช่น “หนุ่มหน่ายคัมภีร์” เขาใช้ว่า “กู”

แต่เขาก็สรุปให้ฟังในย่อหน้าสุดท้ายของบทแรกว่า มันเป็นผลิตผลของสังคม สังคมเห่อของ (คน) นอก การไปนอกก็เท่ากับไปเพิ่มค่าตัวให้กับตัวเอง

เพื่อกลับมาเป็นอภิสิทธิ์ชน เอาเปรียบสังคมได้อย่างสะดวกปากสะดวกกาย

 

บทบาท และภาระ

ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ถามว่า สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็น “นักเรียนนอก” หรือไม่ ก็ต้องค้นหาว่าการเดินทางไป “อิทะกะ” ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ มีเป้าหมายอะไร

หากอ่าน ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เหมือนกับเป็นเป้าหมายแห่ง “หัวใจ”

เมื่อจบปริญญาตรีสุจิตต์ก็ได้งานที่ “สยามรัฐ” ที่นี่ได้กลายเป็นสนามของปลายปากกาของเขา ครั้งนั้นเขาและ ขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งเป็นนักเขียนคู่กันสร้างความเกรียวกราวให้กับ “สยามรัฐ” ไม่น้อย

และจาก “สยามรัฐ” นั่นเองก็ได้รับการสนับสนุนให้ไปดูงานในอเมริกา 1 ปี

อเมริกาที่สุจิตต์ไปพบพานนั้นมีอิทธิพลต่อเขาอย่างมาก ในด้านชีวิตส่วนตัวเขาก็ตกลงแต่งงานในทัศนะใหม่กับคนรักเดิมจากศิลปากรที่กำลังไปเรียนปริญญาโททางมานุษยวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล

งานแต่งงานของ สุจิตต์ วงษ์เทศ และ ปรานี เจียรดิษฐอาภรณ์ เรียบง่ายอย่างน่าสนใจมีแขกผู้ใหญ่มาอวยพรแล้วก็มีเพื่อนๆ มานั่งคุยกันเป็นสักขีพยานเท่านั้น

ทั้งหมดย่อมเป็น “คำตอบ” ต่อ “คำถาม” ที่ตามมา