ฮามาส-อิสราเอล ความขัดแย้งครั้งที่ 5 (4)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

ฮามาส-อิสราเอล

ความขัดแย้งครั้งที่ 5 (4)

 

ทางเลือกของอิสราเอล

หลังการโจมตีของกลุ่มฮามาส

มีอะไรบ้าง?

การโจมตีอย่างไม่คาดคิดโดยขบวนการฮามาส ซึ่งทำให้มีชาวอิสราเอลเสียชีวิตอย่างน้อย 1,200 คนเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ต่อมาอิสราเอลได้ระดมทหารกองหนุนราว 300,000 คน และเคลื่อนย้ายทหารและอาวุธไปยังชายแดนฉนวนกาซาเพื่อเตรียมการรุก ในขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐ กล่าวว่าการตอบโต้การโจมตีของฮามาสถือเป็น “หน้าที่” ของอิสราเอล โดยสหรัฐได้ส่งการสนับสนุนอย่างเต็มที่ต่ออิสราเอล

ก่อนความขัดแย้งครั้งล่าสุดอิสราเอลได้โจมตีฉนวนกาซามาแล้วสี่ครั้งนับตั้งแต่กลุ่มฮามาสเข้ายึดดินแดนเล็กๆ ซึ่งประกบอยู่ระหว่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียนและอิสราเอลในปี 2007 แต่นั่นเป็นการโจมตีทางอากาศหรือการรุกรานช่วงสั้นๆ

ทั้งนี้ กาซามีพื้นที่เพียง 365 ตารางกิโลเมตร เท่ากับหนองจอกและมีนบุรีรวมกัน แต่มีประชากร 2.3 ล้านคน เป็นพื้นที่ที่ไม่มีการป้องกันภัยทางอากาศ และอิสราเอลสามารถทิ้งระเบิดเข้าใส่ดินแดนนี้ได้ตามต้องการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาถึงขนาดและการเข้าถล่มอิสราเอลของขบวนการฮามาส ก็จะพบว่าการโจมตีอย่างหนักหน่วงจากฝีมือของขบวนการฮามาสในครั้งนี้ได้สร้างความตกตะลึงและความหวาดหวั่นเอาไว้ในจิตใจของชาวอิสราเอล และช่องโหว่ที่ฮามาสเจาะเข้าสู่โมเดลความมั่นคงของอิสราเอล

 

ทั้งนี้ คาดหมายกันว่าในเวลานั้นการตอบสนองของอิสราเอลจะมีแต่ความรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่สงครามถูกกำหนดให้บานปลายและขยายออกไปสู่การรุกภาคพื้นดิน

โดยทางเลือกของอิสราเอลนั้นดูเหมือนจะเชื่อมโยงกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในอดีต นั่นคืออิสราเอลได้ปฏิบัติการทางทหารโดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้กลุ่มติดอาวุธอ่อนแอและถูกทำลายล้าง และให้ผลลัพธ์ที่หลากหลายตามมา

ทั้งนี้ มีนักคิดทางการเมืองจำนวนหนึ่งที่มองว่าอิสราเอลอาจจะชนะการต่อสู้ด้วยชัยชนะในระยะสั้น

แต่จะเผชิญกับความพ่ายแพ้ในระยะยาว

โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลกับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากพิจารณาจากกรณีการโจมตีเลบานอนของอิสราเอลกว่าสิบปีที่ผ่านมาซึ่งจบลงด้วยชัยชนะของกองกำลังฮิสบุลลอฮ์

ในส่วนของขบวนการฮามาสพบว่าฮามาสเป็นขบวนการที่เป็นผลพวงของการต่อต้านอิสราเอลในปี 1987 เป็นกลุ่มเคร่งศาสนาสายซุนนี สืบทอดอุดมการณ์จากขบวนการภราดรภาพมุสลิมของอียิปต์ ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านที่ปฏิบัติตามสำนักคิดชีอะฮ์ โดยขบวนการฮามาสเปิดที่ทำการในอิหร่านเมื่อปี 1993

อย่างไรก็ตาม ขบวนการนี้ได้อ่อนกำลังลงในช่วงปี 1997-1998 เนื่องจากถูกขับออกจากจอร์แดนในปี 1997 และแบ่งกลุ่มออกเป็นสองส่วนในเขตเวสต์แบงก์และดามัสกัส

 

ในการศึกครั้งนี้กองพลน้อยอัลก็อซซามของขบวนการฮามาสในปาเลสไตน์ ประกาศปฏิบัติการทางทหารครั้งใหญ่เพื่อต่อต้านอิสราเอลในชื่อปฏิบัติการ ‘พายุอัล-อักศอ (Al-Aqsa Storm)’ โดยทำการระดมยิงด้วยจรวดหลายพันลูกถล่มเป้าหมายทั้งสนามบินและเป้าหมายทางทหารในอิสราเอลตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 7 ตุลาคม เป็นต้นไป พร้อมทั้งส่งกองกำลังติดอาวุธนับร้อยคนเข้าแทรกซึมเข้าไปโจมตีในหลายเมืองทางตอนใต้ของอิสราเอล รวมทั้งคิบบุตซ์หรือแหล่งการเกษตร เบรี (Kibbutz Beeri) และเมืองคูเซฟี (Kuseife) เป็นต้น

ส่วนที่เมืองเนติฟ ฮาอาสรา (Netiv Haasara) มีรายงานว่ากลุ่มมือปืนฮามาสได้จับชาวอิสราเอลหลายคนเป็นตัวประกัน

หนึ่งในสมาชิกของกลุ่มฮามาสระบุสาเหตุการเปิดฉากปฏิบัติการโจมตีอิสราเอลดังกล่าวว่าเป็นการตอบโต้การกระทำของอิสราเอลที่บุกมัสญิดอัล-อักศอในนครเยรูซาเลม ซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิม และการปฏิบัติอันเลวร้ายต่อนักโทษปาเลสไตน์ในเรือนจำอิสราเอล ขณะที่เบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากจรวดที่กลุ่มฮามาสยิงโจมตีแล้วอย่างน้อย 1 คน บาดเจ็บ 15 คน ขณะที่มีเสียงของระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ Iron Dome ที่สกัดกั้นการโจมตียังคงดังอย่างต่อเนื่อง

ทางการอิสราเอลได้สั่งปิดสนามบินหลายแห่งในพื้นที่ทางตอนใต้และตอนกลางของประเทศ ในขณะที่กองกำลังฮิสบุลลอฮ์แห่งเลบานอนอยู่ในสถานะพร้อมที่จะเข้าสู่สนามรบหากสงครามลุกลาม

ทั้งนี้ ผู้สนับสนุนขบวนการฮามาสมาตั้งแต่ต้นอย่างอิหร่านประกาศยืนเคียงข้างปาเลสไตน์ จนถึงวันแห่งการปลดปล่อย

 

พล.ต.ซาฟาวี ที่ปรึกษาผู้นำสูงสุดของอิหร่านกล่าวว่าเราสนับสนุนปฏิบัติการอันน่ายกย่องของพายุอัล-อักศอ ด้วยพระประสงค์ของพระเจ้า เราจะอยู่เคียงข้างกับนักสู้เพื่ออิสรภาพของชาวปาเลสไตน์ จนกว่าการปลดปล่อยปาเลสไตน์และเยรูซาเลมสำเร็จ เพราะขบวนการฮามาสมีธรรมนูญการปกครองชัดเจนในการปกป้องชาวปาเลสไตน์จากการกดขี่ข่มเหง การป้องกันอัล-อักศอจากการยึดครองของกองกำลังอิสราเอล เมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้นมา การโจมตีอิสราเอลจะเกิดขึ้นทุกครั้ง ซึ่งรวมครั้งนี้ด้วยก็เป็นครั้งที่ 5

ภาพจำที่ได้รับการตอกย้ำมาตั้งแต่ปี 2021 หรือความขัดแย้ง ฮามาส-อิสราเอลครั้งที่ 4 ก็คือภาพที่กองกำลังอิสราเอลเข้าไปบุกยิงในบริเวณที่เป็นศาสนสถานสำคัญที่เรียกกันว่าหะรอม อัล-ชารีฟ มัสญิดอัล-อักศอ ในเดือนรอมฎอน

ในช่วงต้นของสงครามมุญาฮิดีนแห่งกองพันก็อซซามของฮามาสยังคงปะทะกันอย่างดุเดือดในสถานที่สู้รบทางทหารหลายแห่งภายในดินแดนยึดครอง รวมถึง : Ofakim, Sderot, Yad Mordechai, Kfar Azza, Be’eri Whitted และ Kissufim

ทันทีที่การโจมตีเริ่มขึ้น อิสราเอลรับรู้ได้ถึงการสูญเสียที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในระนาบนี้ นายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) กล่าวว่า อิสราเอลจะลงมือต่อทุกจุดและด้วยกำลังทุกอย่าง รัฐบาลจะทำทุกอย่างให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ซ้ำอีก

กิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า กลุ่มฮามาสเป็นผู้ก่ออาชญากรรมสงคราม และให้คำมั่นว่าถึงเวลาที่จะ “กวาดล้าง” โครงสร้างพื้นฐานทางทหารของขบวนการดังกล่าว

ในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงขององค์กรระหว่างประเทศได้จัดการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับความขัดแย้งดังกล่าว

Mohammad Deif ผู้นำกองกำลังฮามาสกล่าวว่า เป็นวันแห่งการรบที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเพื่อยุติการยึดครองของอิสราเอล

ความโหดร้ายทั้งหมดที่อิสราเอลกระทำต่อชาวปาเลสไตน์และต่อมัสญิดอัล-อักศอ ถ้ายึดกฎหมายระหว่างประเทศ ฝ่ายอิสราเอลต่างหากคือผู้รุกราน