จันทน์ (7)

ญาดา อารัมภีร

จันทน์ (7)

 

“นํ้ามันจันทน์” คือ น้ำมันที่กลั่นจากไม้จันทน์ มีกลิ่นหอม ทำให้ผู้สูดดมมีอารมณ์สุขสงบ ผ่อนคลายความเครียดความวิตกกังวล เป็นหนึ่งในน้ำมันหอมระเหยที่มีประวัติการใช้งานมายาวนาน ดังที่ตำราวิชาการ “สุคนธบำบัด” ของกองการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข บันทึกว่า

“ศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของการใช้น้ำมันหอมทางการแพทย์มีมากว่าห้าพันปี โดยเริ่มจากสมัยอียิปต์ จีน และอินเดียพร้อมๆ กัน

ในอียิปต์มีการใช้น้ำมันหอมระเหยเก่าแก่ คือ เมอร์ (Myrrh) และจูนิเปอร์ (Juniper) สำหรับรักษาสภาพศพ มีการใช้น้ำมันหอมระเหยเพื่อช่วยสมานแผล ใช้ในการนวด ใช้ทำน้ำหอมและใช้ประเทืองผิว

สำหรับในอินเดียมีการใช้น้ำมันหอมระเหยในศาสตร์การแพทย์อายุรเวท เช่น น้ำมันจันทน์ไม้จันทน์ (Sandalwood oil)

ในขณะที่ในประเทศจีนมีการใช้น้ำมันกุหลาบ มะลิ ขิง และคาโมมายล์ (chamomile)”

 

นํ้ามันที่กลั่นจากไม้จันทน์มีสารพัดชื่อ จะเรียกว่า ‘น้ำมันจันทน์’ ‘น้ำมันไม้จันทน์’ ‘น้ำมันจันทน์หอม’ หรือ ‘น้ำมันแก่นจันทน์’ ก็ได้ แต่ชื่อที่แพร่หลายน่าจะเป็น ‘น้ำมันจันทน์’ เพราะกล่าวถึงบ่อยๆ ในวรรณคดีไทยทั้งที่ใช้ ‘เสริมสวย’ และ ‘เสริมเสน่ห์’ ใช้ได้ทั่วถึงทั้งชายหญิง ดังจะเห็นได้จากตอนที่อิเหนาสระสรงทรงเครื่องเตรียมไปช่วยงานพระเมรุพระอัยยิกาที่เมืองหมันหยา บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” บรรยายว่า

“เมื่อนั้น ระเด่นมนตรีโอรสา

ครั้นรุ่งรางสร่างแสงสุริยา เสด็จมาสระสรงสรรพางค์

ลูบไล้สุคนธาอ่าองค์ น้ำมันจันทน์บรรจงทรงพระสาง

สอดใส่สนับเพลาพลาง ทรงภูษาแย่งอย่างลายกระบวน”

อิเหนาใช้น้ำมันจันทน์เป็นน้ำมันแต่งผม รสนิยมเดียวกับนางวิยะดาน้องสาวแท้ๆ ตอนแต่งองค์ไปเยี่ยมพี่ชาย

“ทรงปรัดผัดพักตร์ผ่องใส น้ำมันจันทน์กันไรใส่ผม

สีขี้ผึ้งวาดคิ้วขำคม ทรงภูษาเทพประนมเขียนสุวรรณ”

ที่ใช้น้ำมันจันทน์กับเส้นผมเนื่องจากสองคุณสมบัติหลัก คือ ทำให้หนังศีรษะชุ่มชื้น และช่วยปลูกผม ถ้าใช้ภาษาให้เป็นวิทยาศาสตร์ ก็คือ ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ใหม่ คุณภาพเหมือนน้ำมันมะกอกใส่ผมเพื่อให้ผมดกดำเป็นมันนั่นแหละ เพียงแต่ราคาผิดกันไกล

ตัวละครพระโอรสพระธิดาใช้น้ำมันจันทน์เป็นเครื่องสำอางเสริมสวย ด้วยเป็นของดีมีระดับเกินกว่าคนสามัญใช้กัน

 

นอกจากใช้กับเส้นผมแล้ว ยังใช้น้ำมันจันทน์ทาเนื้อตัวเป็นเครื่องหอมบำรุงผิวมาแต่สมัยสุโขทัย วรรณคดีเรื่อง “ไตรภูมิพระร่วง” กล่าวถึงน้ำมันหอมอันมีส่วนผสมของไม้จันทน์หรือแก่นจันทน์ว่าใช้ได้ทั้ง ‘คนเป็น’ และ ‘คนตาย’ ดังที่บรรยายถึงบรรดาชายชาวอุตตรกุรุทวีป มีรูปร่างหน้าตาหมดจดงดงาม เป็นหนุ่มน้อยอายุ 20 ปี ‘มิรู้แก่รู้เถ้า เขาหนุ่มอยู่ดั่งนั้นชั่วตนทุกๆ คนแล’ ผู้ชายทวีปนี้รักสวยรักงาม ใส่ใจดูแลตกแต่งร่างกายให้ดูดี ออกจะเจ้าสำราญรักความรื่นรมย์

“แลแต่งแต่ตัว เขาทากระแจะแลจวงจันทน์น้ำมันอันดี แลมีดอกไม้หอมต่างๆ กัน เอามาทัดมาทรงเหล้น แล้วก็เที่ยวไปเหล้นตามสบาย บ้างเต้นบ้างรำบ้างฟ้อนระบำบรรลือเพลงดุริยางคดนตรี บ้างดีดบ้างสี บ้างตีบ้างเป่า บ้างขับสัพพสำเนียงเสียงหมู่นักดุนจุนกันไปเดียรดาษ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

จะเห็นได้ว่า ชายชาวอุตตรกุรุทวีปทาเครื่องหอมและน้ำมันหอมหรือน้ำมันจันทน์ตามผิวกาย เพราะทำให้ผิวชุ่มชื้นนุ่มนวลไม่แตกไม่แห้งกร้าน คนเป็นก็ใช้ได้ คนตายก็ใช้ดี ดังที่บรรยายการอาบน้ำทำความสะอาดศพ แต่งตัวให้ศพ ทาเครื่องหอมและน้ำมันหอม ประดับประดาให้อย่างประณีต

“เขาจิงเอาศพนั้นอาบน้ำแลแต่งแง่ หากกระแจะแลจวงจันทน์ น้ำมันอันหอม แลนุ่งผ้าห่มผ้าให้ แล้วประดับนิด้วยเครื่องถนิมอาภรณ์ทั้งปวง”

(อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

‘นํ้ามันหอม’ ที่มีกลิ่นหอมของจันทน์ผสมอยู่ในน้ำมัน ก็คือ น้ำมันจันทน์ แม้กวีสมัยสุโขทัยจะมิได้ระบุว่า คือ ‘น้ำมันจันทน์’ แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นอย่างเดียวกัน สมัยนั้นใช้น้ำมันจันทน์ซึ่งเป็นของดีที่สุดทั้งกับ ‘คนเป็น’ และ ‘คนตาย’ เท่ากับแสดงความเคารพ ให้เกียรติว่าเสมอภาคเท่าเทียมกัน

น่าสังเกตว่าคนทั่วไปใน “ไตรภูมิพระร่วง” ใช้น้ำมันจันทน์กันแพร่หลาย ไม่จำกัดเหมือนในบทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ที่ใช้เฉพาะตัวละครชั้นสูงเท่านั้น

ในด้านการเสริมสวย น้ำมันจันทน์มีบทบาทต่อเส้นผม หนังศีรษะ ตลอดจนผิวพรรณของผู้คนนับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ทุกวันนี้ยังมีน้ำมันจันทน์หลายยี่ห้อทั้งของไทยและเทศให้ซื้อหาตามชอบใจ ไม่เพียงผิวและผมจะนุ่มนวลไม่แห้งกร้านแล้ว กลิ่นยังช่วยบรรเทาความวิตกกังวล ทำให้ใจสงบอีกด้วย

ฉบับนี้ “น้ำมันจันทน์เสริมสวย”

ฉบับหน้า “น้ำมันจันทน์เสริมเสน่ห์” •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร