วิกฤติศตวรรษที่21 : อิทธิพลของเสรีนิยมและฝ่ายซ้าย ในขบวนนักเตรียมพร้อมของพลเมือง

การเตรียมพร้อมของพลเมือง (จบ)

อิทธิพลของเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายในขบวนนักเตรียมพร้อมของพลเมือง

ขบวนนักเตรียมพร้อม เช่นในสหรัฐ จนถึงปัจจุบันมีลักษณะเอียงขวา มีแนวคิดเชิงอนุรักษนิยม ได้แก่ ความรู้สึกชาตินิยม เชื้อชาตินิยม ท้องถิ่นนิยม สนับสนุนระบบตลาดและทุนชาติ คัดค้านโลกาภิวัตน์ ต้องการรัฐบาลที่สนับสนุนอุตสาหกรรมชาติและการมีงานทำ ไม่ต้องการรัฐบาลขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่ายทางรัฐสวัสดิการสูง

แต่ในขณะเดียวกันพบว่ามีอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายอยู่ด้วย

ในด้านความคิดเสรีนิยมนั้น เห็นด้วยกับโลกาภิวัตน์ ในระดับต่างๆ ต้องการสร้างเครือข่ายตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก ต้องการรัฐบาลที่เสรี มีนโยบายเอื้อต่อคนยากจนและผู้ด้อยโอกาส การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพิ่มบทบาทของภาคประชาชน

ส่วนที่เป็นฝ่ายซ้าย ยกระดับขึ้นมาต่อต้านระบบทุนนิยม ต้องการการปฏิวัติในรูปแบบต่างๆ มีทั้งสายนักสังคมนิยมและอนาธิปไตย

การที่อิทธิพลฝ่ายซ้ายเพิ่มขึ้น (แสดงออกที่คนรุ่นสหัสวรรษในสหรัฐปัจจุบันอายุระหว่าง 17-34 ปี) ยอมรับสังคมนิยมมากขึ้น พร้อมจะอยู่ในสังคมนี้มากกว่าทุนนิยม

อิทธิพลของเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายดังกล่าว เพิ่มมากขึ้นจากสองกระแสใหญ่

กระแสหนึ่ง เกิดจากความหวาดเกรงการขยายตัวของกลุ่มขวาจัด ซึ่งเห็นกันว่าเป็นการฟื้นของลัทธิฟาสซิสต์-นาซีใหม่ แสดงออกที่ทรัมป์ได้รับชัยชนะขึ้นเป็นประธานาธิบดี

อีกกระแสหนึ่งเกิดจากการเคลื่อนไหวอย่างเป็นอิสระของฝ่ายเสรีนิยม และฝ่ายซ้ายอยู่แล้วมาบรรจบกับการเคลื่อนไหวของขบวนนักเตรียมพร้อม ได้แก่ ขบวนการสิ่งแวดล้อม เช่น สถาบันหลังคาร์บอน การเกษตรถาวร (Permaculture) มีเครือข่ายทั่วโลกรวมทั้งในประเทศไทย และขบวนเปลี่ยนผ่าน และแนวคิดการพัฒนาแนวถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง เป็นต้น

นักเตรียมพร้อมแบบเสรีนิยมและฝ่ายซ้ายยุคทรัมป์

มีการวิจารณ์แพร่หลายว่า การขึ้นเป็นประธานาธิบดีของทรัมป์มีส่วนกระตุ้นให้กลุ่มนักเตรียมพร้อมแบบเสรีนิยมจนถึงฝ่ายซ้ายขยายตัว

ก่อนหน้านั้นเมื่อโอบามาขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในปี 2009 เกิดความตื่นกลัวในหมู่นักเตรียมพร้อมฝ่ายขวาว่า โอบามาจะเป็นผู้เผด็จการแบบสังคมนิยม กระทั่งเห็นว่าเป็นคอมมิวนิสต์ นำเงินงบประมาณไปช่วยเหลือคนยากจนและคนผิวสีที่เกียจคร้าน จะทำให้รัฐบาลล่มสลาย

ควรสร้างรัฐบาลสำหรับคนคริสเตียนผิวขาว สำหรับนักเตรียมพร้อมปีกซ้ายเห็นตรงข้ามว่าทรัมป์เป็นผู้เผด็จการแบบฟาสซิสต์/นาซีใหม่ เข้าข้างพวกบรรษัท และคนรวย บีบคั้นให้คนยากจนและผู้ด้อยโอกาสทุกข์ยากยิ่งขึ้น ต้องรวมตัวกันเพื่อต่อต้านลัทธิฟาสซิสต์ใหม่ในรูปแบบต่างๆ โดยเน้นความร่วมมือกันเป็นกลุ่มหรือชุมชน

US President Donald Trump gives a speech on tax reform at the Heritage Foundation’s President’s Club Meeting at a hotel in Washington, DC, on October 17, 2017. / AFP PHOTO / Mandel NGAN

สำหรับการเคลื่อนไหวของของนักเตรียมพร้อมปีกซ้าย ที่กล่าวถึงกันได้แก่ โคลิน วอห์ (Colin Waugh) และภรรยาที่เป็นฝ่ายเสรีนิยมรู้สึกตกใจเมื่อทรัมป์ได้รับชัยชนะ และเห็นว่าเสรีภาพของเขาถูกคุกคามอย่างยิ่งจะต้องรับผิดชอบต่อสู้ด้วยตนเอง

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2016 จึงได้เปิดเพจ “นักเตรียมพร้อมเสรีนิยม” ขึ้นในเฟซบุ๊ก ซึ่งมีเข้าร่วมเป็นสมาชิกนับพันคนในเวลาอันสั้น

มีเป้าประสงค์เพื่อรักษาอุดมการณ์เสรีนิยมและเรียนรู้การเป็นนักเตรียมพร้อมที่จะช่วยให้ชุมชนรับมือกับหายนภัยได้ วอห์กล่าวว่า “กลุ่มต้อนรับบุคคลที่มีแนวคิดเป็นกลางๆ หรือเอียงซ้ายทางการเมือง ไม่รับพวกฝ่ายขวาพวกสนับสนุนทรัมป์เข้ามา” ผู้ที่เข้าร่วมในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เกิดจากความไม่ไว้วางใจในรัฐบาล และความกังวลในความปลอดภัยของตน ไปจนถึงความหวั่นเกรงว่าทรัมป์จะก่อสงครามนิวเคลียร์และทำให้เศรษฐกิจล่มสลาย

(ดูบทความของ Mathew Sedacca ชื่อ The new doomsayers taking up arms and preparing for catastrophe : American liberals ใน Quartz Media LLC 07.05.2017)

การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนากับขบวนนักเตรียมพร้อม

การเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาเป็นขบวนการเคลื่อนไหวที่ใหญ่มาก

ใหญ่กว่าขบวนนักเตรียมพร้อมเสียอีก

บางส่วนได้เข้ามาบรรจบกับขบวนนักเตรียมพร้อมเป็นแหล่งทางความรู้ความคิดและเทคนิค ให้แก่ขบวนนักเตรียมพร้อมทั่วไป โดยเฉพาะในปีกเสรีนิยมและฝ่ายซ้าย

ในที่นี้จะยกตัวอย่างกลุ่มและบุคคลสองตัวอย่างด้วยกัน

ก) สถาบันหลังคาร์บอน (Post-Carbon Institute ก่อตั้งปี 2003) มีวิสัยทัศน์ในการสร้างโลกแห่งชุมชนที่มีความคงทนต่อหายนะและมหันตภัย และปรับเปลี่ยนสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่อยู่ภายในกรอบของระบบนิเวศ (ไม่ใช่กำไร)

มีพันธกิจในการนำสังคมที่เปราะบางไปสู่สังคมที่มีความคงทน ลดความ เหลื่อมล้ำและยั่งยืนขึ้น โดยการสนองแหล่งความรู้ที่จำเป็นให้แก่บุคคลและชุมชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถรับมือกับวิกฤติที่เกี่ยวเนื่องกันทั้งทางด้านนิเวศวิทยา เศรษฐกิจ พลังงานและความเหลื่อมล้ำในศตวรษที่ 21

มีประเด็นหรือวิกฤติใหญ่ที่ต้องให้ความสนใจสูง ได้แก่

(ก) ยุคแห่งพลังงานสุดขั้ว ยุคที่สังคมต้องสนองพลังงานแบบสุดขั้ว มีค่าใช้จ่ายทางสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมสูง

(ข) การใช้ธรรมชาติสิ่งแวดล้อมเกิน จนปฏิบัติเช่นนี้ต่อไปอีกไม่ได้

(ค) การสิ้นสุดของการเติบโตทั้งภายในและภายนอกระบบเศรษฐกิจ

(ง) ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น มียุทธศาสตร์ใหญ่สามประการได้แก่

(1) สร้างความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับความเป็นจริงด้านพลังงาน และความจำเป็นในการต้องประหยัดและใช้พลังงานทางเลือก

(2) ส่งเสริมการสร้างชุมชนที่คงทน ตั้งแต่ระดับบุคคล ครัวเรือน เพื่อนบ้าน เมืองเล็ก เมืองใหญ่ให้สามารถรับมือกับอันตรายใหญ่ได้

(3) สนับสนุนการเคลื่อนไหวในการสร้างนวัตกรรม หรือการรับนวัตกรรมมาใช้โดยเร็ว ส่งเสริมผู้นำและการปฏิบัติที่เป็นแบบอย่างในการรับมือกับวิกฤติทั้งในปัจจุบันและอนาคต

สำหรับบุคคลได้แก่ ริชาร์ด ไฮน์เบิร์ก (Richard Heinberg เกิด 1950) นักหนังสือพิมพ์ นักเขียน และนักการศึกษาชาวสหรัฐ เป็นสมาชิกอาวุโสสถาบันหลังคาร์บอน เขียนหนังสือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมพลังงานกว่า 10 เล่ม

หนังสือที่มีชื่อเสียงได้แก่ “งานเลี้ยงเลิกรา” (The Party”s Over : Oil, War, and the Fate of Industrial Society, 2003) “ลดการใช้ทรัพยากร” (Powerdown : Options and Actions for a Post-Carbon World, 2004) “การสิ้นสุดของความเติบโต” (The End of Growth : Adapting to Our New Economic Reality, 2011) และ “อนาคตพลังงานหมุนเวียนของเรา” (Our Renewable Future : Laying the Path for One Hundred Percent Clean Energy, 2016 เขียนร่วมกับ เดวิด ฟริดลีย์)

ไฮน์เบิร์กได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับนโยบาย “อเมริกันเหนือชาติใด” ของทรัมป์ที่ประกาศย้ำในวันพิธีสาบานตนรับตำแหน่งที่ว่า “(นับแต่นี้) ทุกการตัดสินเกี่ยวกับการค้า การภาษี ผู้อพยพ และการต่างประเทศจะกระทำไปเพื่อผลประโยชน์ของคนงานอเมริกันและครอบครัวอเมริกัน”

Vice President Mike Pence (L) and Speaker of the House Paul Ryan (R) listen as US President Donald J. Trump (C) delivers his first address to a joint session of Congress from the floor of the House of Representatives in Washington, DC, USA, 28 February 2017. / AFP PHOTO / EPA POOL / JIM LO SCALZO

ทัศนะของ ริชาร์ด ไฮน์เบิร์ก สรุปได้ดังนี้

(ก) นโยบายอเมริกันเหนือชาติใด เป็นพลังสำคัญที่ทำให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง เพราะว่าชาวอเมริกันไม่ไว้วางใจในกระบวนโลกาภิวัตน์

(ข) แต่การปฏิบัติของทรัมป์และพวกโดยการใช้คำสั่งฝ่ายบริหาร กลับยิ่งทำให้การแตกขั้วทางการเมืองในสหรัฐที่รุนแรงอยู่แล้ว ยิ่งรุนแรงขึ้นอีก

(ค) ไฮน์เบิร์กกล่าวว่า แม้ตัวเขาเองได้เคลื่อนไหวสนับสนุนการลดการนำเข้า และย้ายการผลิตมาอยู่ในประเทศมากขึ้น แต่มีจุดหมายเพื่อลดการใช้พลังงานและวัสดุลงก่อให้เกิดความยั่งยืนเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการเลิกนโยบายเน้นการเติบโต เขายังเห็นต่อไปว่า การย้ายการผลิตมาสู่ท้องถิ่น ต้องนำหรือกระทำโดยท้องถิ่นเอง เพื่อเพิ่มอำนาจของท้องถิ่นในการตัดสินใจและการใช้ทรัพยากร รัฐบาลเป็นเพียงผู้สนับสนุน ไม่ใช่มาลงมือนำทำเสียเอง

(ง) เขาเห็นว่าสิ่งที่ทรัมป์สนใจจริงๆ ไม่ใช่ร้านค้าปลีกและการผลิตเล็กๆ หรือคนเล็กๆ หากแต่เป็นบรรษัทใหญ่ เครือข่ายค้าปลีกที่ครอบคลุมทั่วประเทศ บริษัทนำเข้าขนาดใหญ่ นโยบายอเมริกันก่อนชาติใด แท้จริงเป็นนโยบายบรรษัทและธนาคารใหญ่เหนือสิ่งใด

(จ) นักเปลี่ยนผ่านและผู้ที่ต้องการฟื้นฐานการผลิตในอเมริกาอย่างจริงจัง ควรต่อต้านนโยบายของทรัมป์ดังกล่าว และมองลึกให้เห็นความจริงว่า แท้จริงแล้วทรัมป์เป็นประธานาธิบดีที่การผลิตน้ำมันถึงขีดสูงสุด ไม่สามารถสร้างความเติบโตได้อย่างที่สัญญา (ดูบทสัมภาษณ์โดย Rob Hopkins ชื่อ Richard Heinberg on “American First” ใน transitionsnetwork.org 06.02.2017)

การเคลื่อนไหวในกลุ่มนี้ ที่มีเครือข่ายทั่วโลก เช่น การเกษตรและวัฒนธรรมถาวร (Permaculture) และขบวนการเปลี่ยนผ่าน (Transition Movement)

ข) แนวคิดการพัฒนาที่ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง บุคคลโดดเด่นได้แก่ เดวิด คอร์เทน (David Korten เกิด 1937) เป็นนักวิชาการและนักเคลื่อนไหวชาวสหรัฐ เคยทำงานในองค์กรที่ช่วยเหลือการพัฒนาในประเทศโลกที่สาม ได้แก่ องค์การเพื่อการพัฒนาของสหรัฐ (ยูเสด) เป็นต้น จากประสบการณ์เขาเห็นว่าการพัฒนาภายใต้การช่วยเหลือดังกล่าวมีปัญหามาก เนื่องจากละเลยภาคประชาสังคมและประชาชน ซึ่งจะนำมาสู่วิกฤติโลกในที่สุด เขาเสนอแนวคิดการพัฒนาที่ประชาชนเป็นศูนย์กลางขึ้น เน้นความยั่งยืน การมีส่วนร่วมของประชาชนและความเป็นธรรม งานเขียนสำคัญได้แก่ “เมื่อบรรษัทครองโลก” (When Corporations Rule the World,1995) และ “จุดพลิกผันใหญ่” (The Great Turning Point : From Empire to Earth Community, เผยแพร่ครั้งแรก 2006) ต้องการสร้างชุมชนโลกขึ้นหลังยุคบรรษัท

ในช่วงทศวรรษ 1990 แนวคิดของเขาได้รับการยอมรับจนถึงระดับองค์การสหประชาชาติ เช่น โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นดีพี) จนถึงสร้างดัชนีการพัฒนามนุษย์ขึ้นมา แต่การปฏิบัติได้ผลอย่างจำกัด การพัฒนาในโลกก็ยังคงเป็นไปอย่างไร้ยั่งยืน และความเหลื่อมล้ำขยายตัว เป็นต้น

อนาคตขบวนนักเตรียมพร้อมจะเป็นอย่างไร

อนาคตของขบวนการนักเตรียมพร้อมสรุปได้ดังนี้

ก) มีแนวโน้มขยายตัวต่อไป เนื่องจากแรงกดดันจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจ-การเมือง ทำให้ผู้คนทั้งหลายต้องเตรียมพร้อมในระดับต่างๆ

ข) ความคิดแย้งทางความคิด และค่านิยมขวา-ซ้ายในหมู่นักเตรียมพร้อม ยังไม่ชัดเจนว่าจะลงเอยอย่างไร ควรติดตามดูต่อไป

ค) ไม่ว่าความขัดแย้งลงเอยอย่างไร ขบวนนักเตรียมพร้อมที่เติบใหญ่ ได้ช่วยให้เข้าใจความสำคัญของชุมชนหมู่บ้านชัดเจนขึ้น นั่นคือก่อนนั้นกล่าวว่า “อนาคตอยู่ที่ชุมชน”

ในปัจจุบันต้องกล่าวขยายความว่า “อนาคตอยู่ที่ชุมชนที่เตรียมพร้อม”