เศรษฐา ดีเดย์ ทุบโต๊ะแจกเงินดิจิทัล 1 หมื่น ฝ่าด่าน ฝ่ายค้าน-องค์กรอิสระ

Thailand's new Prime Minister Srettha Thavisin meets with the media at the Pheu Thai Party headquarters in Bangkok on August 23, 2023. Thai King Maha Vajiralongkorn appointed former property mogul Srettha Thavisin as the country's new prime minister on August 23. (Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP)

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet กาปฏิทิน “ดีเดย์” วันที่ 10 พฤศจิกายน เปิดเวทีตอบทุกคำถาม กับนโยบาย flag ship ของรัฐบาล

หลังกลายเป็น “นโยบายตำบลกระสุนตก” มากกว่าสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่าจะเป็นนโยบายกระชากเศรษฐกิจให้พลิกกลับมาอยู่แดนบวก

สำทับกับตามโพลออนไลน์ของ มติชน X เดลินิวส์ สะท้อนว่าประชาชนต้องการแก้ปัญหาปากท้อง ลดค่าครองชีพ แก้หนี้ครัวเรือน มาก่อนนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

เช่นเดียวกับช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ พรรคก้าวไกล-ฝ่ายค้าน ไม่เว้นองค์กรอิสระ ต่างตั้งข้อสังเกตช่องโหว่ ทั้งที่มางบประมาณ ความคุ้มค่าโครงการ

 

เริ่มจาก 99 นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ออกแถลงการณ์ร่วม เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก “นโยบายแจกเงิน digital 10,000 บาท” เพราะเป็นนโยบาย “ได้ไม่คุ้มเสีย”

ต่อมา นางวิรังรอง ทัพพะรังสี ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการปฏิรูปประเทศ ก็ยื่นเรื่องถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมความเห็นนักวิชาการ 99 คน ขอให้วินิจฉัยพร้อมส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครอง วินิจฉัยว่านโยบายดังกล่าวขัดต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เงินตรา พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง บทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และบทบัญญัติในส่วนของหน้าที่ของรัฐหรือไม่

ยังมีตัวละครฝ่ายตรงข้ามกับพรรคเพื่อไทย เช่น นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หัวหน้าพรรคไทยภักดี รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. ยื่นร้องเพิ่มต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ระงับยับยั้งโครงการ-ตรวจสอบว่าโครงการดังกล่าวมีปัญหาเรื่องความมิชอบด้วยกฎหมาย ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ผู้ตรวจการแผ่นดินเด้งรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงว่าเข้าข่ายขัดต่อกฎหมายหรือไม่

อีกฟากหนึ่ง คณะกรรมการเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต ของ ป.ป.ช. มีการประชุมเมื่อวันที่ 21 กันยายน ได้พิจารณารายงานการเฝ้าระวังการทุจริต โครงการดิจิทัลวอลเล็ต พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการนำเกณฑ์ชี้วัดความเสี่ยงฯ มาพิจารณาดำเนินการวิเคราะห์ว่าควรมีหนังสือสอบถามเกี่ยวกับนโยบายการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ไปยังหน่วยงานใดบ้าง

ก่อนจะนำมาสู่การที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช.ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท โดยให้เชิญนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการเงิน ด้านเศรษฐศาสตร์ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาร่วมเป็นคณะกรรมการ

24 ตุลาคม ป.ป.ช.มีมติแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet’ พร้อมทั้งตั้ง “สุภา ปิยะจิตติ” กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานฯ พร้อมด้วยองคาพยพ 31 คน

ทั้งนี้ องคาพยพ อาทิ รศ.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รศ.สิริลักษณา คอมันตร์ รศ.อัจนา ไวความดี รศ.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช.

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือผู้แทน อัยการสูงสุด หรือผู้แทน เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน หรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือผู้แทน เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือผู้แทน ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย หรือผู้แทน ประธานสภาอุตสาหกรรม หรือผู้แทน ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หรือผู้แทน

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

นายภูมิศิริ ดำรงวุฒิ นางสาวภาณี เอี้ยวสกุล นายสุทธินันท์ สาริมาน รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่รับผิดชอบการปฏิบัติราชการของส่วนราชการในกลุ่มภารกิจป้องกันการทุจริต ผู้อำนวยการสำนักมาตรการเชิงรุกและนวัตกรรม และผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสภาวการณ์ทุจริต เป็นกรรมการและเลขานุการ

สำคัญคือ ชื่อของประธาน “สุภา” หัวขบวนตรวจสอบเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นที่รับรู้กันดีในพรรคเพื่อไทย เคยเป็นอดีตรองปลัดกระทรวงการคลัง และอดีตประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว

และที่น่าสนใจคือ กกต.ก็กระโดดร่วมเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้วย

เปิดใจเลขาฯ กกต. 'แสวง บุญมี' เรามี 3 เจ้านาย แนะนักการเมือง  'ตั้งโจทย์ให้ถูก' - มติชนสุดสัปดาห์

“แสวง บุญมี” เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า ในช่วงเลือกตั้งพรรคการเมืองจะเสนอนโยบายที่จะต้องใช้จ่ายเงินต้องชี้แจงข้อมูลให้ครบ 3 เงื่อนไขซึ่ง 3 เงื่อนไข ประกอบด้วย 1.แหล่งที่มาของเงิน 2.ประโยชน์ที่จะได้รับ 3.ความเสี่ยงของนโยบายนั้นๆ ซึ่ง กกต.ไม่มีอำนาจที่จะไปอนุญาตให้ใครหาเสียงได้ หรือไม่ได้ แต่ขอให้พรรคการเมืองจัดทำข้อมูลให้ครบใน 3 เงื่อนไข เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะออกเสียงลงคะแนนให้หรือไม่

“ถ้านโยบายนั้นจะทำให้การเงินการคลังของประเทศเสียหาย ก็จะมีรัฐธรรมนูญที่ให้อำนาจตามมาตรา 245 โดยระบุว่าให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำความเห็น ถ้าพบว่านโยบายจะสร้างความเสียหายต่อการเงินการคลังของประเทศ ให้หารือร่วมกันกับ กกต. และ ป.ป.ช แต่ถ้าดำเนินการนโยบายนั้นๆ แล้วเกิดการทุจริต ก็จะเป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช.ในการตรวจสอบ ซึ่งกฎหมายออกแบบมาอย่างถูกต้องครอบคลุมแล้ว

ประชาชนต้องดูว่า 3 เงื่อนไขว่าประชาชนจะเลือกคุณไหม มันเสี่ยงหรือคุ้มค่าหรือไม่ แล้วก็ไปโหวต ถ้าโหวตไม่ผ่านก็ไม่ผ่านตั้งแต่ประชาชน ถ้าผ่านด่านประชาชนแล้วก็จะต้องถึงด่านรัฐธรรมนูญต่อ แล้วมาด่าน ป.ป.ช.ต่อไป ระบบวางไว้แบบนี้ ย้ำว่า กกต.ทำตามกฎหมาย เราไม่ได้ทำตามความรู้สึกคน” แสวงกล่าว

 

นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท กำลังถูกรุมตรวจสอบอย่างเข้มข้นทางการเมือง หากเดินเกมพลาด อาจพังทั้งกระดาน

ดังนั้น วันที่ 10 พฤศจิกายน อาจกลายเป็นวันเดิมพันของนโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และของ “เศรษฐา ทวีสิน”

มีการคาดว่าในการประชุม บอร์ดเงินดิจิทัลชุดใหญ่จะมีข้อสรุป ทั้งแหล่งที่มาของเงินที่ใช้ในโครงการ ตามที่ “จุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์” รมช.คลัง เปิดเผยว่า เม็ดเงินที่จะมีการใช้จ่ายจำนวนแสนล้านมาจาก การจัดสรรงบประมาณในแต่ละปี รัฐบาลจะจัดทำเป็นงบผูกพัน เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนแหล่งเงิน

ขณะที่เกณฑ์การแจกเงินแต่ละกลุ่มที่มีสิทธิจะได้เงินดิจิทัล 10,000 อาจแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม

1. เฉพาะกลุ่มที่เคยลงทะเบียนคนจน จำนวน 15-16 ล้านคน โดยจะต้องใช้งบประมาณ 150,000-160,000 ล้านบาท

2. กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือน จำนวน 43 ล้านคน และมีเงินฝากในบัญชีเกิน 1 แสนบาท ต้องใช้งบประมาณ 430,000 ล้านบาท

3. กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 50,000 บาทต่อเดือน จำนวน 49 ล้านคน และมีเงินฝากในบัญชีเกิน 5 แสนบาท ต้องใช้งบประมาณ 490,000 ล้านบาท

ขณะที่รัศมีการใช้จ่าย จากตอนหาเสียงเลือกตั้ง กำหนดไว้ 4 กิโลเมตร จากทะเบียนบ้าน จะขยับเป็นการใช้จ่ายภายในอำเภอ

แต่ข้อสรุปทั้งหมด บอร์ดดิจิทัล ชุดใหญ่ที่มี “เศรษฐา” เป็นประธาน จะเป็นผู้ “ทุบโต๊ะ”

 

“เศรษฐา” ปลุกเร้า ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่นั่งประชุมในห้องประชุมชั้น 2 ของพรรค ช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันที่ 7 พฤศจิกายน ว่า

“ขอฝาก ส.ส.ให้ช่วยกันโปรโมตในโซเชียลด้วย และคิดว่าเป็นเรื่องที่ดี ประชาชนน่าจะมีความสุข”

เช่นเดียวกับ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย คนใหม่ป้ายแดง “แพทองธาร ชินวัตร” กล่าวย้ำกับ ส.ส.ว่า “ย้ำอีกครั้งเรื่องดิจิทัลวอลเล็ต ขอให้ ส.ส. รวมถึงผู้ช่วย ส.ส.ให้เข้ามาช่วยสื่อสารข้อความที่สำคัญของพรรคและรัฐบาลว่าได้ทำอะไรไปแล้วบ้างกับประชาชนในโซเชียลให้รับรู้ได้มากขึ้น”

นี่คือก้าวสำคัญ และเดิมพันครั้งใหญ่ของ พรรคเพื่อไทย และรวมถึงรัฐบาล “เศรษฐา” ซึ่งกำลังถูกจับตา เกาะติดมากที่สุดในเวลานี้