โลงหิน ‘ร่างเสมือน’ ในศาสนาผีอุษาคเนย์ ที่ยังใช้สืบเนื่องมาจนสมัยรับศาสนาจากอินเดียแล้ว

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ที่วัดชะโหงก ในเขตเมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชานั้น มีกลุ่ม “โลงหิน” จำนวนมากที่ถูกเคลื่อนย้ายจากที่อื่น (ซึ่งไม่รู้ว่านำมาจากที่ไหน? และน่าเชื่อว่า อาจจะมีที่มาจากหลากหลายสถานที่) แล้วนำมาเก็บรวบรวมเอาไว้ด้วยกันที่บริเวณด้านหลังวัด

กลุ่มโลงหินเหล่านี้ มีรูปทรงคล้ายกล่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ที่มีคิ้วบัวประดับอยู่ที่ทั้งขอบด้านบน และด้านล่างของโลงหิน ลักษณะเช่นนี้คล้ายคลึงกับโลงหินที่พบที่ปราสาทเบงเมเลีย ประเทศกัมพูชา ซึ่งสร้างขึ้นในช่วงราว พ.ศ.1650 ใกล้เคียงกับช่วงเวลาที่มีการสร้างปราสาทนครวัด

แต่นอกจากโลงหินนี้แล้ว ยังมีการพบโลงหินที่มีลวดลายประดับอย่างวิจิตรมากกว่าที่ปราสาทบันทายสำเหร่ ประเทศกัมพูชา ซึ่งก็กำหนดอายุได้อยู่ในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันกับยุคสมัยที่มีการสร้างปราสาทเบงเมเลียนั่นแหละครับ

จะเห็นได้ว่า ปราสาทที่พบโลงหินเหล่านี้ทั้งสองแห่งคือ ปราสาทเบงเมเลีย และปราสาทบันทายสำเหร่นั้น ต่างก็มีอายุอยู่ในช่วงใกล้เคียงกับการสร้างปราสาทนครวัด

ดังนั้น ถ้าหากว่า โลงหินที่พบในปราสาททั้งสองแห่งดังกล่าว จะถูกสร้างขึ้นพร้อมกันในคราวเดียวกับการสร้างปราสาท เราก็อาจจะกำหนดอายุของโลงหินทั้งสองชิ้นนี้ไว้ในช่วงราว พ.ศ.1650 ด้วยเช่นกัน

และนั่นก็หมายความด้วยว่า กลุ่มโลงหินจำนวนมากที่ถูกรวบรวมมาเก็บไว้ที่หลังวัดชะโหงก ก็อาจจะมีอายุสมัยอยู่ใกล้เคียงกันด้วย

 

ควรสังเกตด้วยว่า ปราสาทนครวัดนั้นเป็นเทวาลัยที่สร้างขึ้นใน “ลัทธิเทวราช” ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ซึ่งมีพิธีกรรมสำคัญ คือพิธีศพของกษัตริย์ อันเป็นการสร้างสัญลักษณ์ของเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ตามความเชื่อของทั้งศาสนาพราหมณ์-ฮินดู และศาสนาพุทธ

โดยแสดงออกผ่านทางการสร้าง “ปราสาท” ที่ใช้ประดิษฐานรูปเคารพคือ “ศิวลึงค์” (แน่นอนว่า อาจเป็นรูปพระนารายณ์ หรือพระพุทธเจ้าก็ได้ แล้วแต่ว่ากษัตริย์องค์นั้นจะเลือกนับถือลัทธินิกายใดเป็นสำคัญ) ที่กษัตริย์ผู้ล่วงลับจะกลับเข้าไปรวมเข้ากับเทพเจ้า ผ่านทางรูปเคารพประธานในปราสาทหลังนั้น เพื่อให้อำนาจแห่งชีวิตที่ช่วยสร้างความมั่นคง และความอุดมสมบูรณ์ให้กับชุมชน หรือราชอาณาจักร

ในกรณีของปราสาทนครวัดนั้น มีรูปเคารพประธานเป็นรูปพระวิษณุ หรือที่เรียกอีกอย่างว่า พระนารายณ์ อันเป็นเทวรูปที่ซึ่งพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ผู้สร้างปราสาทหลังนี้ จะไปรวมเข้ากับพระวิษณุเมื่อสิ้นพระชนม์ชีพแล้วในนามของ “บรมวิษณุโลก” อันมีปราสาทนครวัด (ซึ่งก็มีชื่อตามจารึกว่า บรมวิษณุโลก เหมือนกัน) เป็นทิพยวิมานของพระองค์

ดังนั้น จึงมีเคยมีปราชญ์ควงศัพท์เรียกปราสาทเชมรโบราณเหล่านี้ว่า “มฤตกาลัย” คือ “ศาสนสถานที่สร้างขึ้นเพื่อพิธีศพ” เลยทีเดียว

ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า ปราสาทเบงเมเลีย และปราสาทบันทายสำเหร่ สร้างขึ้นเพื่อพิธีศพในทำนองเดียวกับปราสาทนครววัด หรือปราสาทที่สร้างขึ้นในลัทธิเทวราชหลังอื่นๆ หรือไม่?

แต่จากการที่ค้นพบ “โลงหิน” ตั้งอยู่ในปราสาททั้งสองหลังนี้ ก็จึงทำให้มีผู้สันนิษฐานว่า มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งยวดเลยทีเดียวว่า ปราสาทเหล่านี้ก็คงจะสร้างขึ้นเพื่อพิธีกรรมในทำนองเดียวกันนี้

ซึ่งนั่นก็เป็นเพราะเคยมีผู้สันนิษฐานเอาไว้เมื่อนานมาแล้วว่า “โลงหิน” พวกนี้คือ “โลงศพ” จึงทำให้มีผู้สันนิษญานว่า ปราสาทที่ประดิษฐานโลงหินเหล่านี้ไว้เป็นมฤตกาลัยเช่นกันนั่นเอง

กลุ่มโลงหินที่ถูกรวบรวมไว้ที่บริเวณหลังวัดชะโหงก ประเทศกัมพูชา (ภาพถ่ายโดย รศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล)

ข้อสันนิษฐานข้างต้นนี้ มีทั้งผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไป

เช่น โลงหินที่ปราสาทบันทายสำเหร่นั้น มีรูอยู่ที่ทั้งด้านบน และด้านล่างของโลงหิน จึงไม่ควรใช้บรรจุศพ อีกทั้งยังไม่เคยพบหลักฐานเกี่ยวกับศพในโลงเหล่านี้ด้วย

ในขณะที่บางท่านกลับสันนิษฐานว่า รูบนโลงหินที่ปราสาทบันทายสำเหร่นั้นทำหน้าที่คล้ายท่อพระบุพโพของโกศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โลงหินเหล่านี้ยังชวนให้นึกถึงกล่องหิน อายุ 3,000 ปี ที่แหล่งโบราณคดีบ้านวังประจบ จ. ตาก โดยแม้ว่ากล่องหินที่วังประจบนั้น จะประกอบขึ้นจากการนำแผ่นหินหลายแผ่นมาเรียงต่อกันเป็นรูปทรงคล้ายกล่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า แตกต่างจากกลุ่มโลงหินที่พบในกัมพูชา ซึ่งเป็นการแกะสลักหินจนมีรูปทรงคล้ายกล่อง

แต่กลุ่มโลงหินเหล่านี้ก็ล้วนแล้วแต่มีผู้สันนิษฐานว่า เกี่ยวข้องกับกับพิธีศพเหมือนกันไปหมดทั้งสิ้น

ควรสังเกตด้วยว่า ในศาสนาผีดั้งเดิมของอุษาคเนย์นั้น มีความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับคติการนับถือหิน ด้วยการนำหินมาแกะสลัก หรือจัดวางในลักษณะที่แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่

ซึ่งหลายครั้งเลยทีเดียวก็เกี่ยวข้องกับการจัดการกับศพ หรือความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องหลังความตาย เช่น ทุ่งไหหิน แขวงเชียงขวาง และสวนหินตั้ง ใกล้เมืองซำเหนือ แขวงหัวพัน ในประเทศลาว ที่มีการค้นพบกระดูกมนุษย์ถูกฝังร่วมอยู่กับหินตั้ง (standing stone) เหล่านี้

 

ในงานสำรวจของ พระวิภาคภูวดล (James Fitzroy McCarthy) เจ้ากรมแผนที่คนแรกของสยามเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อเรือน พ.ศ.2427 และ พ.ศ.2436 มีข้อมูลระบุว่า ท่านได้ลองขุดตรวจดูข้างใต้ไหหินบางชิ้น พบว่าบริเวณโดยรอบของไหหินเหล่านี้ มีร่องรอยกิจกรรมบางอย่างเนื่องจากมีการฝังวัตถุมีค่าอย่าง ภาชนะที่บรรจุดินเหนียว และลูกปัดอำพัน กระพรวน

ที่น่าสนใจคือ พบโกศบรรจุกระดูกด้วย ในรายงานสำรวจที่ว่ายังระบุอีกด้วยว่า บริเวณไหหินเหล่านี้มีร่องรอยการถูกขุดมาก่อนสมัยของท่านแล้ว

พ.ศ.2473 มาดแลน โกลานี (Madeleine Golani) นักสำรวจสาว (ในสมัยนั้น) ชาวฝรั่งเศส ได้ทำการศึกษา และมีขุดตรวจบริเวณทุ่งไหหิน จนได้ตีพิมพ์ผลงานชื่อ Megalithes du Haut-Laos (วัฒนธรรมหินใหญ่ในประเทศลาวตอนบน) ขึ้นมาเมื่อ พ.ศ.2478 ได้สรุปว่า ไหหินเหล่านี้คงจะสร้างขึ้นมาเมื่อสมัยก่อนรับวัฒนธรรมศาสนาจากชมพูทวีปเมื่อราว 3,000 ปีมาแล้ว

โดยน่าจะเกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเกี่ยวกับศพ หรือความตาย เพราะได้มีการค้นพบโครงกระดูกมนุษย์ หรือเครื่องมือเครื่องใช้อยู่ในบริเวณโดยรอบ ซึ่งสัมพันธ์อยู่กับไหหินเหล่านี้

ไหหินเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมเรื่องความตายอย่างที่โกลานีเสนออย่างไม่ต้องสงสัย เพราะหลักฐานจากการสำรวจข้อมูลโดยละเอียดเมื่อ พ.ศ.2559 ของ ผศ.ดร.ดูกัลด์ โอ’ไรลีย์ (Dougald O’Reiley) และทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุว่า ไหหินเหล่านี้เกี่ยวข้องกับประเพณีการฝังศพครั้งที่สองถึง 3 รูปแบบ ได้แก่

1) การบรรจุกระดูกไว้ในไห แล้วเอาแผ่นหินปูนวางปิดปากไหไว้

2) บรรจุกระดูกไว้ในภาชนะเคลือบแล้วฝังไว้บริเวณข้างใต้ไห

และ 3) ฝังศพไว้ในพื้นดินบริเวณข้างใต้ไหหิน

ในขณะที่กลุ่มหินตั้งที่สวนหินตั้งนั้น ถึงแม้ว่าจะมีการสลักหิน และจัดวางในรูปแบบที่ต่างจากทุ่งไหหิน แต่ก็มีข้อมูลว่ามีการพบกระดูกมนุษย์ฝังไว้ที่บริเวณใกล้หินตั้งไม่ต่างกัน โดยน่าสนใจด้วยว่า กระดูกมนุษย์ที่พบเหล่านี้เกิดจากการจัดการในประเพณีการฝังศพครั้งที่สอง (secondary burial)

ไม่ใช่การฝังศพทั้งร่างลงไปใต้หินใหญ่ หรือหินตั้งโดยตรง

ดังนั้น บรรดากลุ่ม “โลงหิน” ที่พบในปราสาทเขมรหลังต่างๆ จึงอาจจะไม่ใช่โกศ หรือโลงศพ ที่ใช้สำหรับบรรจุศพตั้งแต่เมื่อแรกเสียชีวิต แต่ถูกใช้ในการจัดการกับศพในเชิงพิธีกรรม หลังผ่านไปสักระยะเวลาหนึ่ง อย่างที่เรียกว่า “ประเพณีฝังศพครั้งที่สอง” ก็ได้นะครับ

 

ร่องรอยที่สำคัญอีกอย่างเกี่ยวกับคติการนับถือหิน และพิธีศพยังพบอยู่ในความเชื่อของชาวจาม บางกลุ่มคือพวกบาจาม (หมายถึงชาวจาม ที่นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู) ที่อาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเวียดนาม

เช่น ที่เขตเมืองนิงถ่วน (Ninh Thuận) ที่ยังมีการทำพิธีฝังศพครั้งที่สอง เพื่อนำขวัญของคนตาย ไปรวมเข้ากับพลังงานของผีบรรพชนในหินใหญ่ที่เรียกว่า “กุต”

กล่าวโดยสรุป “พิธีกุต” ก็คือส่วนหนึ่ง “พิธีการทำศพ” คือประเพณีการฝังศพครั้งที่ 2 แต่ไม่ได้หมายถึงพิธีกรรมของผู้ตายที่เป็นปัจเจกบุคคลนะครับ เพราะใช้เรียกพิธีกรรมที่เกี่ยวของกับผู้ตายในตระกูลทุกคน ที่ได้ผ่านการจัดการกับศพคือเผาไปแล้ว จนมีฐานะเป็น “ผีบรรพชน” ร่วมกันทั้งหมด โดยจะไปรวมกันเป็นพลังของบรรพชนรวมกันอยู่ที่หินใหญ่ ซึ่งก็ถูกเรียกว่า “กุต” เหมือนกับชื่อของพิธีกรรม

หินใหญ่ ที่ถูกเรียกว่า “กุต” นั้น จึงเปรียบเป็นเหมือน “ร่างเสมือน” (substitute body) คือร่างกายจำแลงหลังความตายของผีบรรพชนของพวกตนเอง ที่มีไว้ให้คนเป็นใช้สำหรับเซ่นไหว้ เพราะสามารถให้คุณ ให้โทษได้ จึงต้องเซ่นให้ดี และพลีให้ถูก โดยเฉพาะในพิธีกรรมเพื่อความอุดมสมบูรณ์ (fertility rite) ทั้งหลาย

แต่ร่างเสมือนนั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นหินใหญ่เสมอไป ในหลายครั้งก็ใช้หินตั้งประเภท “เนินหิน” (cairn) เป็นร่างเสมือนอยู่บ่อยครั้ง โดยมีหินตั้งประเภทเนินหินของพวกอังคามี นาคา (Angami Naga, ชาวนาคากลุ่มหนึ่ง) กับเนินหินที่ลาเคอร์ส (Lakhers) ของพวกนาคาอีกกลุ่ม ในแคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย และเนินหินที่เกาะนีอาส (Nias Island) ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งมีร่องรอยความเชื่อว่า ทำหน้าที่เหมือนเป็น “ร่างกาย” ของหัวหน้าเผ่าหรือชุมชนที่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นตัวอย่างสำคัญ

และนี่จึงทำให้เป็นไปได้เช่นกันว่า กลุ่ม “โลงหิน” ที่พบที่วัดชะโหงก และรวมถึงโลงหินอื่นๆ ที่พบในปราสาทของประเทศกัมพูชานั้น จะเกี่ยวข้องกับพิธีศพ และควรจะเกี่ยวข้องกับประเพณีการฝังศพครั้งที่สอง โดยมีโลงหินเป็นที่สถิตของขวัญอันเป็นพลังของผีบรรพชน คือเป็น “ร่างเสมือน” ของผีบรรพชน ในคราบการรวมเข้ากับเทพเจ้าในพราหมณ์-ฮินดู หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาแบบมหายาน ตามความเชื่อของ “ลัทธิเทวราช” ที่เจริญอยู่ในวัฒนธรรมเขมรโบราณนั่นเอง •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ