แก้รัฐธรรมนูญรอบใหม่ : ยิ่งกว่าค่ายกล 7 ชั้น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ | สุทธิชัย หยุ่น

 

แก้รัฐธรรมนูญรอบใหม่

: ยิ่งกว่าค่ายกล 7 ชั้น

 

คนไทยมีความหวังว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ “ให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น” รอบใหม่นี้แค่ไหน?

จากการตั้งวงวิเคราะห์เมื่อไม่นานมานี้ ผมพอจะสรุปได้สั้นๆ ว่า

“ไม่ง่ายเลย”

ไม่ว่าจะแก้บางมาตรา…หรือแก้ทั้งฉบับ

เราจะได้ยินคำว่า “ต้องยอมรับความจริง”

และ “อย่าหักด้ามพร้าด้วยหัวเข่า”

อีกทั้งยังจะเห็นความ “พยายามเชื่อมต่อทุกส่วนเพื่อให้ยอมประนีประนอมกันในหลายๆ ประเด็นที่ถกแถลงกันมาตลอด…และยังถกแถลงกันต่อไป”

มีคำถามทันทีที่มีการตั้ง “คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ” ที่มีคุณภูมิธรรม เวชยชัย แห่งพรรคเพื่อไทย เป็นประธานว่าจะทำจริงหรือเป็นเพียง “การซื้อเวลา”

พอมีการตั้งคณะกรรมการ 35 คน ซึ่งรวมถึงนักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญหลายท่านก็มีคำถามตามมาอีกว่าท่านจะถูก “ใช้เป็นเครื่องมือ” เพื่อให้การ “แก้ไขรัฐธรรมนูญ” เป็นเพียง “พิธีกรรม” ที่จะไปไม่ถึงไหนอีกหรือไม่?

มีคำถามอีกว่าจากการประชุมรอบแรกๆ นั้น กรรมการหลายท่านเหล่านี้รู้สึกว่ามี “ธง” วางไว้ล่วงหน้าหรือไม่

และเมื่อพรรคก้าวไกลไม่ยอมส่งตัวแทนเข้าร่วม แปลว่าจะยิ่งทำให้กระบวนนี้กลายเป็น “เกมการเมือง” ที่ไปไม่ถึงไหนอีกหรือเปล่า?

อีกคำถามหนึ่งก็คือว่าถ้าจะแก้กันจริง จะเสร็จทันการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้าหรือไม่?

ตารางที่ 1 : สถานะและประมาณการการคลัง แผนการคลังระยะปานกลาง (พ.ศ.2567-2570) ที่ผ่านมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ.2565

ทั้งหมดนี้สะท้อนถึงความระแวงของคนไทยทั่วไปต่อความเคลื่อนไหวของนักการเมืองที่ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอด

แต่น้อยคนจะเชื่อใน “ความจริงใจ” ที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ปัจจุบันที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่ามีเนื้อหาที่เขียนขึ้นมาเพื่อเอื้อต่อประโยชน์ของกลุ่มอำนาจเก่าทั้งสิ้น

เพื่อเจาะลึกลงไปในประเด็นต่างๆ ที่เป็นคำถามของคนไทยวันนี้ในเรื่องนี้ ผมจึงตั้งวงเสวนากับ 2 ท่านที่อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้

และหนึ่งท่านที่ไม่ยอมเข้าร่วมคณะกรรมการฯ

ซึ่งก็ได้แก่ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, พริษฐ์ (ไอติม) วัชรสินธุ แห่งพรรคก้าวไกล และนิกร จำนง จากพรรคชาติไทยพัฒนา, โฆษกคณะกรรมการฯ

เปิดเวทีซักถามในรายการ “ตอบโจทย์” ทาง ThaiPBS เมื่อเร็วๆ นี้

ซึ่งได้เนื้อหาใจความหลากหลายพอสมควร

เพราะหัวใจของคำถามที่ต้องแสวงหาคำตอบคือ

จะต้องทำประชามติกี่ครั้ง?

จะตั้งคำถามประกอบการทำประชามติว่าอย่างไร?

จะแก้ทั้งฉบับหรือแก้เป็นรายมาตรา?

จะระบุให้มีการยกเว้นไม่แก้มาตรา 1 และ 2 หรือไม่?

จะเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ทั้งหมดหรือบางส่วน?

จะแก้ไขเสร็จพร้อมประกาศใช้ทันการเลือกตั้งทั่วไปใน 4 ปีข้างหน้า (ถ้าไม่มีการยุบสภาเลือกตั้งใหม่เสียก่อน) หรือไม่?

ตารางที่ 2 : สถานะและประมาณการการคลัง แผนการคลังระยะปานกลาง (พ.ศ.2567-2570) ฉบับทบทวน ที่ผ่านมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อวันที่ 13 กันยายน พ.ศ.2566

ถามอาจารย์สิริพรรณว่ากลัวจะถูกมองว่าเป็นนักวิชาการที่ถูกนักการเมืองใช้เป็นเครื่องมือซื้อเวลาหรือเปล่า

“ส่วนตัวมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นี้มีปัญหาทั้งที่มาคือร่างโดย คสช. และมีปัญหาที่เนื้อหาที่มุ่งเน้นจะรักษาอำนาจของระบอบของคนที่ร่างขึ้นมาอย่างมาก

“เราใช้กันมา 9-10 ปี พบว่าได้สร้างปัญหาเยอะแยะ ดังนั้น ถ้ายังใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต่อไปปัญหาต่างๆ ก็ยิ่งจะงอกมากขึ้น จึงมองว่าเราจะมีโอกาสอะไรที่จะไปมีส่วนร่วมในการสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญใหม่ซึ่งจะเป็นการวางโครงสร้างทางการเมือง สถาบันทางการเมืองและกระบวนการทางการเมืองที่ตอบโจทย์ประชาชนมากขึ้น

“ก็จึงถามตัวเองว่าจะนั่งวิจารณ์อยู่หรือมีส่วนในกระบวนการนี้ ต้องบอกจริงๆ ว่าพอเข้าไปเราเห็นความตั้งใจ ความจริงใจที่จะทำให้กระบวนการนี้เสร็จเร็วขึ้น

“ที่สำคัญ ถ้ามองในแง่พรรคเพื่อไทย ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะตั้งคำถามได้ แต่ถ้าเราดูพรรคเพื่อไทยเจอกับสิ่งที่รัฐธรรมนูญเขียนขึ้นมาตั้งแต่ระยะแรกก็เพื่อมาสกัดเพื่อไทย แต่พอแก้เสร็จก็กลายเป็นสกัดก้าวไกล สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง เราก็คิดว่าเพื่อไทยเข็ดกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้

“ในอีกแง่หนึ่ง ต้องถือว่าพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตลอดตั้งแต่สมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนถึงช่วงเลือกตั้ง ดังนั้น ถ้าเพื่อไทยไม่รักษาคำสัญญาที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ในทางการเมืองเพื่อไทยจะเจอโจทย์ใหญ่

“ถ้าแก้ให้เสร็จก็เป็นเหมือนทุ่นที่เพื่อไทยจะคอยเกาะได้สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า”

ดังนั้น อาจารย์สิริพรรณจึงหวังว่านี่ไม่ใช่ความพยายามที่จะยื้อเวลาของเพื่อไทย

ตารางที่ 3 : การเปรียบเทียบตัวเลข GDP ประเทศไทยและการพยากรณ์โดยแผนการคลังระยะปานกลางแต่ละฉบับ
ที่มา : ธนาคารโลก และ กระทรวงการคลัง

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน “ยิ่งกว่าค่ายกล 7 ชั้น” ซึ่งแปลว่าแก้ยากมาก

“เราอาจจะคิดว่าประชาชนอยากจะแก้ไขมาก และมีพลังประชาชนหนุน ในความเป็นจริงมีรายละเอียดมากมายที่ต้องทำ”

โจทย์ของคณะกรรมการที่ตั้งเอาไว้นั้นจะให้งานเสร็จภายในเดือนมีนาคมปีหน้า

ซึ่งจะมีความชัดเจนขึ้นว่าจะทำประชามติอย่างไร จะเดินหน้าอย่างไร

คุณภูมิธรรมในฐานะประธานกรรมการบอกว่าจะใช้เวลา 4 ปี “เชื่อว่าจะเสร็จก่อน…ให้ทันเลือกตั้งครั้งหน้า”

นั่นหมายความว่ากฎหมายลูกจะต้องเสร็จทันด้วย

 

คุณพริษฐ์เห็นว่าปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้อยู่ที่ระบบเลือกตั้ง

“แต่มันคือกลไกที่ถูกฝังไว้เพื่อใช้ในการสืบทอดอำนาจหรือรักษาอำนาจของคนที่เชื่อมโยงกับระบอบเดิม ไม่ว่าจะเป็นวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและมีอำนาจสูง ไม่ว่าจะเป็นองค์กรอิสระและมีกระบวนการสรรหาที่ขาดการยึดโยงกับประชาชน”

“และยุทธศาสตร์ 20 ปีที่อาจถูกหยิบยกขึ้นมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้”

คำถามคือทำไมก้าวไกลไม่ส่งตัวแทนมาร่วม?

“บอกตรงๆ ว่าเราเชื่อว่าไม่จำเป็นที่เราจะเข้าร่วม เพราะมีความชัดเจนจากพรรคเพื่อไทยมาตลอดว่าจะเป็นคนผลักดันเรื่องนี้แน่นอน

“ข้อสองคือกรอบของหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ เช่น บอกว่าจะศึกษาว่า สสร.จะมีกี่คน จะใช้เวลาสัก 6 เดือนหรือ 9 เดือนหรือ 1 ปี เราพอจะรับได้ แต่อยากให้ยืนยันกรอบเวลา”

ผมยกตัวอย่างว่าพรรคก้าวไกลเรียกร้องให้มีการเลือกตั้ง สสร. ทั้งหมดแต่ดูเหมือนจะรู้ล่วงหน้าว่าคณะกรรมการชุดนี้ไม่เอาด้วย จึงถอยห่างออกมาดีกว่า

ก้าวไกลไม่กลัวถูกมองว่าเงื่อนไขเยอะเกินไป ถ้ามีประเด็นอะไรที่เห็นต่างก็ควรเข้ามาร่วมถกแถลงในคณะกรรมการ ไม่ควรจะไม่เข้าร่วมเลย ใช่หรือไม่?

“เราพร้อมจะคุยรายละเอียด แต่เราอยากให้ตกลงกันในหลักการสำคัญก่อน เช่น สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งความจริงรัฐสภาเคยโหวตเห็นชอบมาก่อนแล้วเหมือนกัน

“ที่เรากังวลข้อสามคือหากมีการลงมติในคณะกรรมการ เราเกรงว่าตัวเลขที่ลงมตินั้นอาจจะถูกนำไปสู่การตีความผิดได้”

เช่น สมมุติว่า 70% ของคณะกรรมการโหวตว่า สสร.ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด นั่นไม่ได้หมายความว่าเป็น 70% ของตัวแทนประชาชน

เพราะเมื่อเป็นกลไกที่รัฐตั้ง จำนวนสมาชิกของคณะกรรมการก็ไม่ได้ล้อไปตามสัดส่วนของพรรคการเมืองหรือสัดส่วนของความคิดเห็นที่อยู่ในสังคม

“เราอาจจะไม่เข้าร่วมกรรมการ แต่เรายินดีให้ความเห็นเต็มที่ครับ” คุณไอติมยืนยัน

 

ถามคุณนิกรว่าคณะกรรมการชุดนี้มี “ธง” ล่วงหน้าหรือเปล่าว่าจะให้จบอย่างไร

“ผมเป็นโฆษก คำถามแรกคือถ้ามีการเมืองเกี่ยวด้วยทำไมต้องเป็นผม ทำไมไม่ใช่คนของเพื่อไทย? ผมก็ถามคุณภูมิธรรมว่าทำไมเลือกผมเป็นโฆษก ประธานตอบว่าให้คุณนิกรเป็นโฆษกดีแล้วจะได้ไปถูกทางเพราะเคยทำมาก่อนแล้ว”

คุณนิกรไม่เชื่อว่ามีความต้องการถ่วงเวลา

“คณะกรรมการชุดนี้ไม่ได้มาออกแบบ สสร.นะครับ เพราะเรื่อง สสร.เป็นเรื่องของกรรมาธิการของสภา

“คณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่กำหนดแนวทาง เป็น navigator คือทำแผนที่ว่าจะไปทางไหนจึงจะถูกทิศและเพื่อไปให้ถึง”

คณะกรรมการชุดนี้จะทำอย่างไรให้ประชามติต้องผ่าน

คุณนิกรเสริมว่า “ผมอยู่ในคณะกรรมการเดิมเรื่องนี้เรื่องจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง เราถกเถียงกันอย่างมาก

“เราเห็นว่าคำถามแรกคือตามมาตรา 256 ทำประชามติครั้งหนึ่ง

“เดิมคิดว่าการทำประชามติครั้งแรกไม่จำเป็น แต่ครั้งที่สองจำเป็นจะได้รู้ว่าจะแก้ทั้งหมด

“และทำประชามติอีกครั้งถามประชาชนก่อนทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญ

“พอเรายื่นไปตามข้อเสนอของคณะกรรมการ ท่านก็ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยไม่มีหมวด 1 และหมวด 2 และโดยมี 256 และมี สสร. แต่มีคำวินิจฉัยว่าจะต้องไปถามประชาชนก่อน ก็จึงค้างอยู่จนถึงวันนี้”

จึงต้องมาพิจารณาว่าเราจะทำประชามติ 2 ครั้งหรือ 3 ครั้งเพื่อให้เป็นการตัดสินใจใกล้เคียงกับที่ประชาชนต้องการมากที่สุด

(สัปดาห์หน้า : หรือกลัวว่าถ้าเลือก สสร.ทั้งหมด พรรคก้าวไกลจะยึด สสร.?)