นับถอยหลัง ‘รถทัวร์ไทย’ ลมหายใจเริ่มรวยริน ปิดฉาก ‘ธุรกิจครอบครัว’ สู่มือ ‘นายทุน’

หลังเจอศึกหลายด้านมานานหลายปี ไม่ว่าโลว์คอสต์แอร์ไลน์ที่เข้ามาแย่งตลาด วิกฤตโควิด-19 ที่กระหน่ำหนักหน่วงกว่า 2 ปี และพฤติกรรมคนไทยหันไปใช้รถยนต์ส่วนตัวมากขึ้น

ทำให้ธุรกิจรถทัวร์หรือรถโดยสารวิ่งประจำทาง จากเคย “รุ่งเรือง” กลายเป็น “ธุรกิจอัสดง” ไปโดยปริยาย

วันนี้แม้ธุรกิจจะยังไม่ล่มสลายหรือสูญพันธุ์ แต่มีหลายบริษัทเริ่มหายใจรวยริน โดยเฉพาะรายเล็กที่สายป่านไม่ยาวพอจะนำพาธุรกิจให้ไปต่อได้ เตรียมนับถอยหลัง “ซัตดาวน์ธุรกิจ” ควบรวมรายใหญ่หรือขายต่อทรัพย์สินให้กับบิ๊กทุนเงินหนา

อย่าง “สยามเฟิสท์ทัวร์” เจ้าตลาดสายเหนือ ขายธุรกิจให้กับ “สมบัติทัวร์” ก่อนจะประกาศเดินหน้าหาน่านน้ำใหม่ มุ่งสู่ธุรกิจโลจิสติกส์อย่างเต็มตัวเมื่อปี 2562 ที่ผ่านมา

ขณะที่เจ้าแม่รถทัวร์ไทย “เจ๊เกียว-นางสุจินดา เชิดชัย” ยังออกมาตัดพ้ออยากจะขายกิจการเดินรถ ธุรกิจที่ปลุกปั้นมากว่า 60 ปี ใจจะขาด พลันที่วิกฤตถาโถม ขาดทุน ไร้คนสืบทอดกิจการ

แต่จากวันนั้นจนถึงวันนี้ ยังไม่มีนายทุนรายไหน ยอมทุ่มเงินก้อนโตรับช่วงธุรกิจเดินรถของ “เจ๊เกียว” เพราะทุกคนรู้อยู่เต็มอก สภาพตลาดธุรกิจรถทัวร์ในวันนี้ ไม่ได้สดใสเหมือนวันวานอีกต่อไปแล้ว

 

ล่าสุด กรณี “นครชัยแอร์” ธุรกิจของครอบครัว “วงศ์เบญจรัตน์” ที่เปิดให้บริการมากว่า 36 ปี นับจากปี 2529 จนปัจจุบันขยายอาณาจักรเส้นทางครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ ภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคตะวันออก เมื่อวันหนึ่งถึงจุดอิ่มตัว ก็ต้องยอมถอดใจขายต่อให้กับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือบีทีเอส นายทุนรายใหม่

เป็นการเปลี่ยนผ่านไปพร้อมกับประกาศขายทรัพย์สินที่ดินและอาคารสิ่งปลูกสร้างพร้อมผู้เช่า ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จำนวน 16 รายการ มูลค่า 4,369.7 ล้านบาท

ขณะที่ “บีทีเอส” ปัจจุบันไม่ได้มีเฉพาะธุรกิจรถไฟฟ้า ยังมีแตกหน่อธุรกิจใหม่ออกมาอีกมากมาย ซึ่งการที่ “บีทีเอส” ยอมทุ่มเงินก้อนใหญ่เข้าซื้อธุรกิจเดินรถของนครชัยแอร์ เพื่อเติมพอร์ตในกลุ่มธุรกิจ MOVE ให้ครบโหมด บก-ราง-น้ำ-อากาศ

จะว่าไปแล้วดีลการซื้อขายระหว่าง “บีทีเอสกับนครชัยแอร์” มีการเดินหน้ามาอย่างต่อเนื่อง หลังจากโควิดเริ่มคลี่คลาย แต่ในห้วงเวลานั้นเป็นการรับรู้แค่วงใน แต่ไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้างมากนัก เนื่องจากดีลยังไม่สะเด็ดน้ำ จนล่าสุดประกาศโครงสร้างผู้บริหารใหม่ นำไปสู่คำตอบที่ชัดเจนว่า “นครชัยแอร์” จากธุรกิจครอบครัวที่ปลุกปั้นมากว่า 3 ทศวรรษ ได้เปลี่ยนผ่านไปสู่นายทุนรายใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

หลัง “บีทีเอส” ส่งผู้บริหารนั่งคุมทัพในนครชัยแอร์อย่างเป็นทางการ ประกอบด้วย พล.ร.อ.นวพล ดำรงพงศ์ ประธานกรรมการ นายนพดล นิ่มพัชราวุธ กรรมการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร นายธเนษฐ โลจนะโกสินทร์ กรรมการ ผู้อำนวยการสายงานการเดินรถ และนางศุภรานันท์ ตันวิรัช กรรมการผู้อำนวยการสายงานการเงิน…แม้ยังไม่ใช่ตัวจริงเสียงจริงก็ตาม

สำหรับการซื้อขายในครั้งนี้ ทาง “บีทีเอส” ซื้อเฉพาะธุรกิจเดินรถ ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เป้าหมายเพื่อนำมาต่อยอดธุรกิจของบีทีเอสในกลุ่มธุรกิจ MOVE ตามวิชั่นของบริษัทที่ต้องการทำธุรกิจให้ครอบคลุมและครบทุกมิติมากขึ้น

ผู้บริหาร “บีทีเอส” มองว่าแม้ธุรกิจรถทัวร์จะเริ่มอัสดง เพราะสู้สายการบินโลว์คอสต์ที่มาแย่งตลาดไม่ได้ แต่มองว่ายังมีช่องว่างของตลาดให้เข้าไปเจาะ และยังเชื่อมั่นว่า “ธุรกิจรถทัวร์” ด้วยตัวของมันเอง ยังไม่อิ่มตัว แต่การแข่งขันยังสู้โหมดอื่นไม่ได้ จึงต้องฉีกไปเจาะตลาดอื่นแทน

 

สุดท้ายแล้วธุรกิจรถทัวร์ของประเทศไทยจะยังไปต่อได้หรือไม่ คงไม่มีใครสะท้อนภาพได้ชัดเจนเท่า “พิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์” นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย ระบุไว้ว่า ปัจจุบันธุรกิจรถโดยสารยังประสบปัญหาทางธุรกิจและขาดทุน เนื่องจากยังไม่ฟื้นตัว ยิ่งนับวันธุรกิจมีแต่ถอยหลังลงคลอง และไม่ใช่ยุคสมัยของธุรกิจนี้แล้ว

ผู้ประกอบการที่ไม่มีเงินทุนมากพอจะทำธุรกิจต่อ ทำให้ที่ผ่านมามีเลิกกิจการไปจำนวนมาก โดยเฉพาะรถโดยสารวิ่งสายยาวระยะทางเกิน 400 กิโลเมตร ปิดตัวไปแล้วกว่า 50% แต่ก็มีบางรายที่เปลี่ยนมือไปสู่รายใหม่

ส่วนที่ยังเหลือได้มีการลดจำนวนเที่ยววิ่งลงกว่า 50% เนื่องจากมีผู้โดยสารใช้บริการน้อย ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย ซึ่งการจะนำรถในแต่ละคันออกวิ่ง ต้องมีพนักงานและค่าน้ำมัน ขณะที่ในบางเส้นทางผู้โดยสารหันไปนั่งสายการบินโลว์คอสต์แทน เพราะสะดวกรวดเร็ว

ขณะที่รถโดยสารวิ่งระยะทางสั้นไม่เกิน 200 กิโลเมตร มียกเลิกการบริการไปหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคใต้ หลังจากมีรถตู้โดยสารมาวิ่งให้บริการ

 

ขณะที่ “สุเมธ องกิตติกุล” ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ประเมินว่า แม้บริษัทธุรกิจเดินรถโดยสารจะมีล้มหายไปบ้าง แต่มีรายใหม่เข้ามา จึงมองว่าธุรกิจรถทัวร์ยังไปได้ เพราะยังมีตลาดเฉพาะ ปัจจุบันที่ยังคงอยู่ส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ อย่างเช่น นครชัยแอร์ สมบัติทัวร์ ขณะที่รายเล็กๆ อาจจะค่อนข้างแย่ เนื่องจากบางเส้นทางมีคู่แข่งอย่างโลว์คอสต์แอร์ไลน์มาแย่งตลาด

ปัญหาของธุรกิจรถโดยสารคืออัตราค่าโดยสาร ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีการปรับอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ ค่าแรง ค่าน้ำมัน รวมถึงสร้างโครงสร้างสถานี และกำหนดเส้นทางวิ่งให้เข้าถึงลูกค้า ขณะเดียวกันผู้ประกอบการก็ต้องปรับตัวและการบริการให้ตอบโจทย์มากขึ้นด้วย

ยังคงต้องจับตาถึงการเปลี่ยนผ่านธุรกิจรถทัวร์ไทย จาก “นครชัยแอร์”…ใครจะเป็นรายต่อไป