ก่อนจะเป็นลานคนเมือง : จากศูนย์กลางพระนครศักดิ์สิทธิ์ สู่พื้นที่ลานประชาชน (3)

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด | ชาตรี ประกิตนนทการ

 

ก่อนจะเป็นลานคนเมือง

: จากศูนย์กลางพระนครศักดิ์สิทธิ์

สู่พื้นที่ลานประชาชน (3)

 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าให้พระยาอนุมานราชธนฟังว่า ในคราวย้ายเสาชิงช้า รัชกาลที่ 5 มีพระราชปรารภในที่ประชุมเสนาบดีสภาว่า เมื่อรื้อเสาชิงช้าแล้วควรย้ายไปตั้งยังที่อื่น หรือควรล้มเลิกพระราชพิธีโล้ชิงช้าเสียทีเดียว ถ้าเห็นว่าควรเลิกก็ไม่จำเป็นต้องสร้างขึ้นใหม่

ที่ประชุมมีความเห็นแยกออกเป็นสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าพิธีดังกล่าวเป็นเรื่องไสยศาสตร์ ไม่ใช่พิธีในพระพุทธศาสนา จึงเห็นสมควรยกเลิกเสีย

อีกฝ่ายเห็นว่ายังไม่สมควรเลิก เพราะเป็นประเพณีที่มีสืบมาแต่โบราณแล้ว แม้จะคงมีพิธีไว้อย่างดั้งเดิมก็ไม่เป็นที่เสียหายแต่อย่างไร

รัชกาลที่ 5 ทรงมีความเห็นคล้อยตามแนวทางหลังโดยเห็นว่ายังไม่ควรเลิกเสียทีเดียว อย่างน้อยเพื่อเปิดโอกาสให้ราษฎรได้มีงานรื่นเริงกันอีกปีละสองครั้ง

ดังนั้น จึงมีพระราชดำริให้รื้อย้ายเสาชิงช้าแทนการรื้อทิ้ง

ภาพมุมสูงตลาดเสาชิงช้าที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

อย่างไรก็ตาม แม้เสาชิงช้าจะยังคงถูกใช้ประกอบพระราชพิธีเช่นเดิม แต่การเลือกตำแหน่งที่ตั้ง ณ กึ่งกลางถนนบำรุงเมือง ที่เมื่อมองทอดสายตามาจากถนนจะมองเห็นเสาชิงช้าตั้งอยู่เป็นจุดหมายตาอย่างโดดเด่น ก็ชวนให้คิดว่า บทบาทเสาชิงช้าคงมิได้ทำหน้าที่ในเชิงพิธีกรรมแบบจารีตอย่างเดียว

แต่คงมีบทบาทใหม่ของการเป็นจุดหมายตา (landmark) ตามลักษณะการออกแบบวางผังเมืองในยุโรปที่นิยมมีอนุสาวรีย์หรือสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ตั้งอยู่กลางถนนสายสำคัญ รวมอยู่ด้วย

สอดคล้องเป็นอย่างดีกับการปรับภูมิทัศน์ขนานใหญ่ตามแบบอย่างตะวันตกที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีของรัชกาลที่ 5 ทั้งการสร้างโรงแก๊สที่ต่อมารื้อสร้างใหม่เป็นตลาดเสาชิงช้าขนาดใหญ่ที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก

การขยายถนนบำรุงเมืองพร้อมทั้งสร้างตึกแถวแบบตะวันตกสองข้างถนน

การวางแนวรถรางที่พาดผ่านบริเวณเสาชิงช้า ตลอดจนการสร้างสะพานข้ามคลองวัดสุทัศน์ด้วยรูปแบบศิลปกรรมตะวันตก ฯลฯ

ภาพมุมสูงอาคารเทศบาลนครกรุงเทพฯ หลังแรก สร้างขึ้นราวกลางทศวรรษ 2480
ที่มา : สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

เมื่อมีการสร้างตลาดเสาชิงช้าใหม่ขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 (รวมถึงความเจริญสมัยใหม่อีกหลายอย่างตามที่กล่าวมา) ได้ส่งผลให้บรรดาพ่อค้าชาวจีนและชาวตะวันตกต่างพากันเข้ามาตั้งร้านค้าในบริเวณนี้เพิ่มมากขึ้น จนทำให้ลักษณะการค้าในพื้นที่เปลี่ยนแปลงไป

จากตลาดสินค้าแบบโบราณมาสู่ตลาดสินค้าแบบสมัยใหม่

ตามหลักฐานที่หลงเหลืออยู่ ตลาดเสาชิงช้ามีการออกแบบพื้นที่ภายในอย่างสมัยใหม่ มีการติดดวงโคมไฟฟ้าส่องสว่าง นอกจากนี้ ภายในตลาดยังมีโรงบ่อนเบี้ย เรียกกันว่าโรงบ่อนตลาดเสาชิงช้า ซึ่งในสมัยนั้นอนุญาตให้เล่นตั้งแต่เวลาโมงเช้าจนถึงเวลา 5 ทุ่ม และในช่วงเวลาที่เล่นนั้นให้มีตำรวจประจำอยู่ทุกบ่อน เพื่อไม่ให้จีนผู้เป็นเจ้าของบ่อนโกงผู้มาเล่น

ทั้งหมดที่กล่าวมา เราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนของบทบาทหน้าที่ทางสังคมของพื้นที่ย่านนี้ จากเดิมที่เคยเป็นศูนย์กลางอันศักดิ์สิทธิ์ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา มาสู่พื้นที่ทางเศรษฐกิจการค้าที่สำคัญกลางพระนคร

ย่านตลาดเสาชิงช้าทำหน้าที่เป็นแหล่งพาณิชยกรรมที่สำคัญของพระนครต่อเนื่องมาจนกระทั่ง พ.ศ.2484 สมัยที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงได้เริ่มเข้าสู่ความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง

แบบร่างอาคารเทศบาลนครกรุงเทพฯ พ.ศ.2498 โดย ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร
ที่มา : หนังสือ งานสถาปัตยกรรมของ ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร ที่เกี่ยวกับการก่อสร้างต่อเติมและบูรณะพระราชมณเฑียร

การเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นขึ้นภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยรัฐบาลได้จัดระเบียบบริหารราชการแผ่นดินขึ้นใหม่ เป็นราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค และราชการส่วนท้องถิ่น ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดินแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2476

จากระเบียบข้างต้น ในส่วนของพื้นที่กรุงเทพฯ ได้มีการออกพระราชบัญญัติจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพฯ ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2479 จนนำมาสู่การจัดตั้งเทศบาลนครกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2480

เทศบาลนครกรุงเทพฯ เริ่มเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการ วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2480 โดยเช่าบ้านของ คุณหญิงลิ้นจี่ สุริยานุวัติ ที่ถนนกรุงเกษมเป็นสำนักงาน มีพลเอกเจ้าพระยารามราฆพ เป็นนายกเทศมนตรีคนแรก

ต่อมาใน พ.ศ.2482 พระยาประชากิจกรจักร์ (ชุบ โอสถานนท์) นายกเทศมนตรีเทศบาลกรุงเทพมหานครในขณะนั้น ได้ยื่นเสนอต่อจอมพล ป.พิบูลสงคราม ขอย้ายที่ทำการเทศบาลไปยังสถานที่แห่งใหม่ โดยพระยาประชากิจกรจักร์มีความเห็นว่า ตึกแถวรอบบริเวณตลาดเสาชิงช้าและตัวตลาดเสาชิงช้าเป็นสถานที่ที่เหมาะสมที่สุด

รัฐบาลเห็นชอบกับข้อเสนอนี้ และทำให้ในราวเดือนมกราคม พ.ศ.2484 ได้มีการย้ายสำนักงานเทศบาล จากถนนกรุงเกษมมาตั้งที่ตลาดเสาชิงช้าเป็นการถาวร ซึ่งส่งผลทำให้ต้องยกเลิกตลาดเสาชิงช้า

และในเวลาต่อมาต้องมีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน โดยเปลี่ยนชื่อผู้เป็นเจ้าของจากรัชกาลที่ 6 มาเป็นสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

 

การยกเลิกตลาดเสาชิงช้า ได้มีการปรับสภาพพื้นที่เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งานใหม่หลายอย่าง เช่น การสร้างอาคารที่ทำการเทศบาลขึ้นมาใหม่ รื้อตึกแถวที่เคยเป็นตลาดออกไปบางส่วน (ส่วนที่หันหน้าเข้าหาถนนบำรุงเมืองและวัดสุทัศนเทพวราราม) โดยตึกแถวส่วนที่เหลือจะถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานเป็นที่ทำการของเทศบาลนครกรุงเทพฯ ตลอดจนการปรับภูมิทัศน์พื้นที่ตลาดเดิมที่ถูกรื้อทิ้งไปให้เปลี่ยนกลายมาเป็นลานขนาดใหญ่หน้าเทศบาล (ดูภาพประกอบ)

อย่างไรก็ตาม ในสมัย พล.อ.มังกร พรหมโยธี เป็นนายกเทศมนตรี มีความเห็นว่าที่ทำการของเทศบาลแออัดเกินไป เพราะอาคารที่ทำการที่สร้างขึ้นตั้งแต่ราวกลางทศวรรษ 2480 นั้นมีขนาดที่เล็กเกินไป ส่วนตึกแถวตลาดเสาชิงช้าเดิมที่ถูกปรับมาใช้เป็นที่ทำงานก็มีสภาพทรุดโทรมและมิได้ถูกออกแบบเพื่อเป็นสำนักงาน

ดังนั้น ในราวปี พ.ศ.2497-2498 เทศบาลนครกรุงเทพฯ จึงได้เริ่มโครงการก่อสร้างที่ทำการแห่งใหม่ที่มีขนาดใหญ่และมีพื้นที่ใช้งานเพียงพอ โดยมอบหมายให้ ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร สถาปนิกพิเศษกรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบศาลาว่าการเทศบาลนครกรุงเทพฯ หลังใหม่

การออกแบบในคราวนั้นเป็นไปอย่างเร่งด่วน เมื่อแบบเสร็จก็ประกอบหุ่นจำลองขออนุมัติสร้างจากรัฐบาล และได้รับความเห็นชอบพร้อมทั้งมีการวางศิลาฤกษ์อาคารเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2499 โดยมีจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี

แบบที่ ม.จ.สมัยเฉลิม กฤดากร ออกแบบไว้มีลักษณะที่สำคัญคือ

1. มีห้องประชุมสภาเทศบาลซึ่งเป็นแบบหลังคาสูงใหญ่

2. มีสัญลักษณ์ของเทศบาลนครกรุงเทพฯ คือ พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ

3. สถานที่ทำการของเทศบาลเป็นอาคารสูง 4 ชั้น สร้างเชื่อมกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม พื้นที่ตรงกลางเว้นเป็นลานกลาง และมีสนามทางด้านหน้า ชั้นล่างของอาคารเป็นที่จอดรถ

4. มีหอสูงตามสมัยนิยม สำหรับสังเกตการณ์เพื่อดูแลรักษาและตรวจตราบริเวณโดยรอบได้สะดวก พร้อมทั้งออกแบบให้มีนาฬิกาติดไว้ด้วยเพื่อเป็นประโยชน์แก่สาธารณะ

ที่น่าสนใจคือ นอกจากหอนาฬิกา ยังมีที่ดูดาวชมวิวทิวทัศน์ สถานที่จำหน่ายกล้องส่องทางไกล สถานีโทรทัศน์ สถานีวิทยุ ภัตตาคารขนาดย่อม ที่ทำการออมสินและแลกเงิน ห้องสมุดส่งเสริมการท่องเที่ยว ฯลฯ

 

อย่างไรก็ตาม ในรัฐบาลสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้มีการตัดลดงบประมาณการก่อสร้างลง ซึ่งทำให้อาคารในส่วนหอนาฬิกาไม่ได้รับการก่อสร้างตามแบบแรกที่ออกแบบเอาไว้ (ไม่ได้สร้างจวบจนปัจจุบัน)

อาคารศาลาเทศบาลนครกรุงเทพฯ ที่ถูกปรับแก้ไขแบบเหลือเพียงส่วนสำนักงาน มีการทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2502 โดยมี พล.อ.ประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ณ ขณะนั้น ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีเปิด

กล่าวได้ว่า การเกิดขึ้นของโครงการก่อสร้างอาคารศาลาเทศบาลนครกรุงเทพฯ ที่ริเริมมาตั้งแต่ยุคคณะราษฎรในราวกลางทศวรรษ 2480 ได้เข้ามาเปลี่ยนโฉมหน้าและความหมายของพื้นที่บริเวณนี้อีกครั้ง

จากพื้นที่ย่านพาณิชยกรรมแบบสมัยใหม่ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่การเป็นพื้นที่ราชการขนาดใหญ่กลางพระนครในสมัยประชาธิปไตย