จันทน์ (6)

ญาดา อารัมภีร
“พลายแก้วมาหานางพิมที่ไร่ฝ้าย” จิตรกรรมฝาผนังเล่าเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ที่ระเบียงคดรอบวิหารหลวงพ่อโต วัดป่าเลไลยก์ จังหวัดสุพรรณบุรี จิตรกรผู้วาดภาพ เมืองสิงห์ จันทร์ฉาย เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖

รัชกาลที่ 2 ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ทรงพระนิพนธ์ถึงพระอัครมเหสี กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ (หรือสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด ในตอนนั้น) ไว้ใน “กาพย์เห่ครวญเข้ากับนักขัตฤกษ์” ว่า

“หวนเห็นหีบหมากเจ้า จัดเจียน มาแม่

พลูจีบต่อยอดเนียน น่าเคี้ยว

กลี่กล่องกระวานเขียน มือยี่ ปุ่นเอย

บุหรี่ใส่กล่องเงี้ยว ลอบให้เหลือหาญ ฯ

หมากเจียนเจ้างามปลอด พลูต่อยอดน่าเอ็นดู

กระวานอีกกานพลู บุหรี่ให้ใจเหลือหาญ”

ตัวอย่างข้างต้นสะท้อนภาพสมัยรัตนโกสินทร์ไม่มีบุหรี่สำเร็จรูปขายเป็นซองๆ อย่างสมัยนี้ แม้สตรีระดับเจ้านายชั้นสูงมากด้วยข้าทาสบริวารใช้สอย ยังตระเตรียมหมากพลูและบุหรี่เอง โดยนำวัสดุจากธรรมชาติมาทำบุหรี่ทั้งใบที่ใช้มวนและตัวยาสูบภายใน ทั้งยังแอบให้บุหรี่แก่ชายคนรักเป็นของแทนใจ

ดังข้อความว่า “บุหรี่ใส่กล่องเงี้ยว ลอบให้เหลือหาญ”

 

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เล่าถึง ‘บุหรี่’ หนึ่งในสินค้าซื้อง่ายขายคล่องที่นางแก้วกิริยาใช้ทำมาหากินระหว่างขุนแผนติดคุก

“ซื้อขายวายล่องแต่ของถูก ลูกไม้ขนมส้มลิ้นจี่

ร้านชำทำฉลากหมากฝาดดี ยาบุหรี่เพชรบูรณ์ใบตองนวล”

ทั้งใบตองนวลที่ใช้มวนบุหรี่และใบยาสูบรสเด็ดของเพชรบูรณ์ เมื่อประกอบกันก็ลงตัวเป็นสินค้าบุหรี่ชั้นดี

นอกจากมวนบุหรี่ด้วยใบตองนวล ยังมีกลีบบัวหลวงและใบจาก ฯลฯ ‘ใบจาก’ นั้นคงจะเป็นที่นิยม ดังที่บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” บรรยายภาพบรรดานางข้าหลวง เมื่อรู้ว่าจะต้องตามเสด็จจินตะหราเจ้านายไปชมสวน ก็ถือโอกาสบรรจงทำบุหรี่ไปฝากคนรักเพื่อสื่อความในใจ

“มวนบุหรี่ใบจากใส่จันทน์ หวังจะไปให้กันที่กลางทาง”

น่าสังเกตว่า ‘บุหรี่ใส่จันทน์’ นิยมกันทั่วหน้าไม่ว่าจะเป็นนางข้าหลวง ข้าราชบริพารในวัง หรือแม้แต่เจ้านายเองก็ตาม ดังที่กวีบรรยายถึงอิเหนาตอนแต่งองค์ว่า

“ทรงภูษาฉีกวิลาศชาดดอกดี พวงมาลีสวมหัตถ์ทัดยาดม

ทรงบุหรี่ใส่จันทน์ประจงจุด แล้ววางชุดลงไว้ในพานถม

เสด็จออกจากห้องพระบรรทม หวังชมจินตะหราพลางคลาไคล”

ตัวละครเจ้านายหนุ่มๆ เช่น ‘อิเหนา’ หรือเจ้านายแก่ๆ แต่ยังมีไฟ เช่น ‘ท้าวสันนุราช’ ล้วนสูบบุหรี่ใส่จันทน์ทั้งสิ้น ดังจะเห็นได้จากบทละครนอกเรื่อง “คาวี” รัชกาลที่ 2 ทรงเล่าถึงกษัตริย์ชราพึ่งพาหมอเสน่ห์จีบนางจันท์สุดา ชายาพระคาวี ด้วยการ

“กินหมากดิบหยิบขี้ผึ้งเสกสี สูบบุหรี่ใส่จันทน์ควันโขมง”

ผลคือถูกสาวคราวลูกด่าไม่เว้นวรรค กระทืบเท้าโยนข้าวของ ฯลฯ จนท้าวสันนุราชถึงกับท้อแท้รำพันว่า ‘ขี้เกียจเกี้ยวรับแพ้แล้วแม่คุณ”

 

นอกจากนี้ นิทานคำกลอนเรื่อง “ลักษณวงศ์” ให้ภาพของพระลักษณวงศ์แอบมองสาวชาววังที่ใช้วาจาท่าทีหยอกกันฉันชู้สาว และอิ่มเอมใจกับการแตะเนื้อต้องตัวจับต้องของสงวน

“หยิบบุหรี่ยื่นส่งให้นงนุช แม่ไปจุดให้ทีเถิดพี่จ๋า

บ้างเล่นงูกินหางกลางชลา ล้วนแต่ผ้าพันเอวไม่อายกัน

บ้างก็เล่นปะเปิงมือปะอก พูดตลกเจรจาเป็นน่าขัน

บ้างเรียกร้องน้องสูบบุหรี่จันทน์ ประทานฉันเถิดแม่ฉิมอย่ายิ้มเยาะ

บุหรี่จันทน์เห็นแววอยู่แล้วแม่ กระนั้นแน่ฉันทายให้ถูกเปาะ

บ้างเดินชักจังหน่องทำนองเพราะ แล้วกระเดาะลิ้นล่อหัวร่อกัน

บ้างเข้าฉุดแขนชักเล่นสักซ้าว มือใครยาวสาวสอดเอาสองถัน

บ้างก็เล่นปิดตาเที่ยวหากัน พอไล่ทันกอดคอหัวร่อดัง”

บรรดาตัวอย่างที่กล่าวมายืนยันว่า ‘บุหรี่จันทน์’ หรือ ‘บุหรี่ใส่จันทน์’ ในรั้วในวังนิยมกันแพร่หลายทั้งชายหญิง แม้พระธิดาฝาแฝดของพระอภัยมณีและนางสุวรรณมาลีก็ยังมวนบุหรี่ผสมจันทน์ และเจียนหมากด้วยตัวเอง นิทานคำกลอนเรื่อง “พระอภัยมณี” เล่าถึงสร้อยสุวรรณและจันทร์สุดา สองแรงแข็งขันช่วยกัน “ปรนนิบัติพระหัสไชย” ดังนี้

“บุหรี่นางช่างพันเจือจันทน์ขจร พระศรีเจียนเซี่ยนอ่อนซอยซ้อนซับ”

 

‘จันทน์’ เป็นไม้มีแก่นหอม เมื่อนำมาฝนปรุงกับใบยาในบุหรี่ คงไม่เพียงเพิ่มรสชาติการสูบให้เกิดกลิ่นหอมชื่นใจเท่านั้น น่าจะเอื้อประโยชน์ด้าน ‘สุคนธบำบัด’ หรือ ‘กลิ่นบำบัด’ ใช้กลิ่นหอมรักษาโรค ดังที่ตำราวิชาการ “สุคนธบำบัด” ของกองการแพทย์ทางเลือก กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ระบุถึงประวัติความเป็นมาของสุคนธบำบัดไว้ตอนหนึ่งว่า

“ศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของการใช้น้ำมันหอมทางการแพทย์มีมากว่าห้าพันปี โดยเริ่มจากสมัยอียิปต์ จีน และอินเดียพร้อมๆ กัน สำหรับในอินเดียมีการใช้น้ำมันหอมระเหยในศาสตร์การแพทย์อายุรเวท เช่น น้ำมันไม้จันทน์ (Sandalwood oil )”

นอกจากนี้ “ไทยรัฐออนไลน์” วันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2566 เล่าถึงสรรพคุณน้ำมันหอมระเหยจากไม้มงคลที่นิยมในประเทศไทยไว้ว่า

“กลิ่นหอมจากไม้แก่นจันทน์ สามารถทำให้ผู้ได้กลิ่น หรือผู้ใช้น้ำมันหอมระเหยลดความเครียดได้ และทำให้สงบ เสริมสร้างสมาธิได้ดี”

จึงไม่น่าแปลกที่ ‘บุหรี่ใส่จันทน์’ มีบันทึกไว้ในวรรณคดีสมัยรัตนโกสินทร์ ตัวละครนอกจากสูบไปหอมไป ยังเพลินอารมณ์ รู้สึกผ่อนคลาย ใจสงบสุข ไม่ฟุ้งซ่าน เป็นภาพสะท้อนความนิยมของสังคมชาววังสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

ฉบับนี้ จันทน์เพลินอารมณ์ ฉบับหน้า เสน่ห์น้ำมันจันทน์ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร