คณะทหารหนุ่ม (64) | คณะปฏิวัติ 2524 เล่าเหตุการณ์ช่วงปฏิวัติ

ประชุมนายธนาคาร…

1 เมษายน เวลา 08.30 น.

“2 นายพลเป็นนายกฯ” ของ “วิเทศกรณีย์” สมบูรณ์ คนฉลาด บันทึกว่า…

คณะปฏิวัติได้เรียกปลัดกระทรวงทบวงกรมให้มารายงานตัวต่อคณะปฏิวัติ โดยมี ม.ร.ว.เกษมสโมสร เกษมศรี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ นายชาญชัย ลี้ถาวร ปลัดกระทรวงการคลัง นายแพทย์บุญสม มาร์ติน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ฯลฯ และยังได้เรียกให้บรรดาพ่อค้า นายธนาคารและประธาน ตลอดจนเลขาฯ หอการค้ามารายงานตัวต่อหัวหน้าคณะปฏิวัติที่สโมสรกองทัพบก สี่เสาเทเวศร์ ผู้จัดการธนาคาร ประธานหรือเลขาธิการหอการค้าที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ ได้เข้าพบหัวหน้าคณะปฏิวัติเมื่อเวลา 08.30 น. ของวันที่ 1 เมษายน

หัวหน้าคณะปฏิวัติได้ชี้แจงให้ทราบว่า

1. ขอให้บรรดาธนาคารทั้งหมดและผู้ประกอบการค้าทั้งหลายดำเนินธุรกิจปกติ โดยขอให้อย่าได้ดำเนินการใดๆ ที่ก่อให้เกิดผลเสียหายต่อประเทศชาติและเศรษฐกิจของชาติโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับธนาคารพาณิชย์นั้นให้กวดขันในเรื่องการโอนเงินตราออกนอกประเทศ โดยเฉพาะเป็นการโอนซึ่งมิใช่เป็นทางการค้าปกติโดยเด็ดขาด

2. ขอให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยเครดิตตามปกติและให้งดเว้นการปล่อยเครดิตเพื่อการกักตุนสินค้าหรือเพื่อการใดๆ ที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและประชาชน

3. คณะปฏิวัติจะร่วมมือกับทุกฝ่ายอย่างเต็มที่เพื่อให้เศรษฐกิจของชาติดำเนินไปตามปกติและเจริญก้าวหน้าสืบไป

ส่วนโครงการเศรษฐกิจของคณะปฏิวัตินั้นคณะปฏิวัติจะได้แถลงให้ทราบต่อไป

คณะผู้เข้าร่วมประชุมได้รับทราบและเข้าใจเจตนารมณ์ของคณะปฏิวัติโดยยินดีให้ความร่วมมือตามที่คณะปฏิวัติขอร้องโดยทั่วกัน

ต่อมาคณะปฏิวัติพร้อมด้วยผู้นำหน่วยระดับกองพัน จำนวน 42 กองพันได้ร่วมกันชี้แจงวัตถุประสงค์ของการปฏิวัติทางสถานีโทรทัศน์โดยมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ

 

1 เมษายน พ.ศ.2524 นครราชสีมา

หลังจากคณะทหารหนุ่มตัดสินใจยึดอำนาจเมื่อเวลา 02.00 น.ของเช้าวันที่ 1 เมษายน โดยมี พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติแล้ว ตอนสาย คณะปฏิวัติจึงได้ทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จพระราชดำเนินไปจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้ง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก เล่าว่า…

“ขณะที่เราคอยรับเสด็จอยู่ ก็ได้ยินคณะปฏิวัติสั่งให้แม่ทัพภาคไปรายงานตัว ให้ผมกับ พล.อ.เปรมไปรายงานตัว ผมไม่ไปเพราะผมไม่ใช่แม่ทัพ เสร็จแล้วเขาต่อสาย เขาวิทยุเรียกถึง พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ให้ไปงานรายงานตัวโดยด่วน ผมก็ไม่ไป ถ้าไปถูกจับตัวแน่ พอไม่ไป เขาก็ปลดผมเลย เป็นคำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 15 ให้ปลด พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ออกจากประจำการโดยไม่มีเบี้ยหวัดฐานขัดคำสั่งอย่างร้ายแรง ผมยอมไม่ได้ ผมก็ต้องต่อสู้”

อย่างไรก็ตาม คำสั่งปลด พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งมีการประกาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยให้ประชาชนได้ทราบโดยทั่วกันครั้งนี้ กลับกลายเป็นสัญญาณบอกเหตุว่า การยึดอำนาจของคณะทหารหนุ่มอาจไม่ราบรื่น ดังคำกล่าวของ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก

“คำสั่งคณะปฏิวัติฉบับที่ 15 ให้ปลด พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ออกจากราชการไม่มีเบี้ยหวัดนั้น คนในกรุงเทพฯ ก็รู้ว่าใครทรยศต่อ พล.อ.เปรม เรื่องไม่จริงทั้งนั้น เพราะว่าถ้า พล.อ.เปรม ลาออก ทำไม พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ต้องถูกปลด ไม่เข้าใจเลย เขาวางแผนไม่รอบคอบก็เหมือนกับประกาศให้เขารู้เลยว่า พล.อ.เปรม ไม่ได้เอาด้วย”

 

รัฐบาลตั้งหลัก

พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก เล่าต่อไปว่า…

“เมื่อท่านได้มาประทับที่นี่แล้ว ผมก็เริ่มวางแผนที่จะส่งเสียงผู้บัญชาการทหารบกให้ประชาชนทราบ เพราะเขาไม่รู้ว่าท่านลาออกจริงหรือไม่ เราเริ่มอัดเสียงผู้บัญชาการทหารบกออกอากาศทุกแห่งในภาคอีสาน และก็พยายามส่งข้อความนี้ไปให้ออกอากาศที่กรุงเทพฯ ในเช้าวันที่ 2 (หมายถึง 1 เมษายน) เสียงของผู้บัญชาการทหารบกก็เริ่มแพร่ออกในกรุงเทพฯ และเราก็ได้เอาเครื่องบินกระจายเสียงและทิ้งใบปลิวในกรุงเทพฯ คนที่หวังดีซึ่งเก็บใบปลิวได้เขาก็ไปอัดสำเนาต่อแจกจ่ายกันใหญ่ พวกธนาคารก็แจกจ่ายกันใหญ่”

“เป็นอันว่ากรุงเทพฯ ทราบแล้วว่า พล.อ.เปรม ไม่ได้ลาออก”

 

ชวลิตถึงนครราชสีมา

“โลกสีขาวของ พล.อ.วลิต ยงใจยุทธ” โดย บุญกรม ดงบังสถาน ถ่ายทอดคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เมื่อเดินทางถึงค่ายสุรนารี นครราชสีมา แล้วเข้าร่วมปฏิบัติงานในกองอำนวยการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ในเช้าวันที่ 1 เมษายน ไว้ดังนี้

“ผมก็นั่งร่างแถลงการณ์ว่าการกระทำของคณะปฏิวัติครั้งนี้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพอะไรอย่างไร แล้วให้ พล.ต.ต.สำเริง แสงวิรุฬ ตอนนั้นมียศเป็นพันตำรวจเอก ไปเปิดโรงพิมพ์ที่โคราช พิมพ์เป็นแสนใบเลย พอเช้าก็ให้นักบินเอามาโปรย ทำให้พวกนั้นโกรธกันใหญ่”

“ตอนกลางคืนออกทีวี เราเริ่มทำงานตั้งแต่คืนนั้น (1 เมษายน) ส่วนมากทำงานกันทางปฏิบัติการจิตวิทยา แล้วก็เรียกหน่วยมาประชุมกันที่กองทัพภาคที่ 2 พี่อาทิตย์ก็อยู่ พี่หาญไปแล้วเราเรียกมาหมด ‘หมู’ พล.ต.ชัยชนะ ธารีฉัตร (ยศขณะนั้น) หรือผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เราเรียกมารายงานตัวหมด เขาก็ค่อยๆ ทยอยกันมาเรื่อยๆ”

 

AIR WAR

เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี สถาปนากองอำนวยการร่วมรักษาความสงบแห่งชาติขึ้นแล้ว จากนั้นก็ได้ออกแถลงการณ์และคำสั่งขึ้นหลายฉบับ โดยชี้แจงว่ามิได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือผู้บัญชาการทหารบกแต่อย่างใด และว่า ผู้ทำการกบฏนั้นไม่ประสงค์ดีต่อประเทศชาติบ้านเมือง ก่อให้เกิดความวุ่นวายระส่ำระสายขึ้นทั่วประเทศ และทำให้เกิดความไม่สงบสันติขึ้นภายในประเทศ ได้กระทำไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ขออย่าให้ประชาชนให้การสนับสนุนและร่วมมือด้วยเป็นอันขาด และในตอนท้ายยังกล่าวอีกด้วยว่า ขอให้พี่น้องทหารอันเป็นที่รักทั้งหลายจงกลับคืนไปหน่วยที่ตั้งเสียโดยเร็ว ทางรัฐบาลจะไม่เอาผิดกับผู้ที่กลับตัวกลับใจและกลับคืนเข้าสู่กรมกองของตน

ตลอดบ่ายของวันที่ 1 เมษายน ทั้งสองฝ่ายต่างใช้สื่อวิทยุเป็นเครื่องมือหลักออกแถลงการณ์และคำชี้แจงต่างๆ เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้ามและสร้างความชอบธรรมให้แก่ฝ่ายตน

ต่อมาตอนบ่าย เพื่อยืนยันความเข้มแข็งและเหนือกว่าของฝ่ายคณะปฏิวัติซึ่งใช้กำลังควบคุมกรุงเทพฯ ไว้แล้วอย่างเบ็ดเสร็จ คณะปฏิวัติพร้อมด้วยผู้นำหน่วยทหารระดับกองพันซึ่งอ้างว่ามีจำนวนถึง 42 กองพันจึงได้ร่วมกันปรากฏตัวทางโทรทัศน์ ชี้แจงวัตถุประสงค์ของการปฏิวัติโดยมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ

 

คณะปฏิวัติให้สัมภาษณ์

ตอนบ่าย พล.อ.สัณห์ จิตรปฏิมา ได้ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ที่หอประชุมกองทัพบกโดยมี พล.อ.เสริม ณ นคร พล.ท.วศิน อิศรางกูร ณ อยุธยา ร่วมด้วย ที่หอประชุมกองทัพบกอันเป็นกองบัญชาการของคณะปฏิวัติ ซึ่ง “วิเทศกรณีย์” ได้บันทึกคำให้สัมภาษณ์ไว้โดยละเอียดดังนี้

ผู้สื่อข่าว : พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ตั้งกองบัญชาการขึ้นมาต่อต้านที่ค่ายสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา จะดำเนินการอย่างไร

พล.ท.วศิน : ทางคณะปฏิวัติจะไม่ดำเนินการต่อกลุ่มไหน เราทราบโดยตลอดเวลาว่า ท่าน พล.อ.เปรมอยู่ที่นั่น

ผู้สื่อข่าว : ทาง พล.อ.เปรมจะเคลื่อนกำลังเข้ามากรุงเทพฯ คณะปฏิวัติจะทำอย่างไร

พล.ท.วศิน : ผมว่าไม่เคลื่อน

ผู้สื่อข่าว : จะได้มีการเจรจากันระหว่างกลุ่มคณะปฏิวัติกับกลุ่ม พล.อ.เปรมหรือไม่

พล.อ.สัณห์ : เราทำเพื่อประชาชนที่เข้าไปแก้ปัญหาหลักๆ แล้วต่อไปก็จะให้มีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ฉะนั้น ทางเราทำเพื่อประชาชนส่วนรวม ขณะนี้ทางคณะปฏิวัติกำลังร่างประกาศคณะปฏิวัติที่ยกเลิกกฎหมายต่ออายุ ผบ.ทบ. ในฐานะที่เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติก็จะแสดงความจริงใจต่อประชาชนเกี่ยวกับกฎหมายต่ออายุราชการ ผมปีเดียวก็ไป ต่อไปเมื่อสิ่งที่ทำมานี้ก็มอบให้กับพี่น้องประชาชน

ผู้สื่อข่าว : ถ้าจะมีข้อขอร้องจะมีการต่ออายุหรือไม่

พล.อ.สัณห์ : ไม่ยอมต่อ เพราะผมเป็นคนยกเลิกกฎหมายเอง

ผู้สื่อข่าว : ทางด้าน พล.อ.เปรม แถลงออกว่า การปฏิวัติครั้งนี้เพื่อต้องการล้มล้างราชบัลลังก์ใช่หรือไม่ และทางท่านจะแก้ตัวอย่างไร

พล.อ.สัณห์ : เราทำเพื่อใคร

พล.ท.วศิน : คณะปฏิวัติต้องการให้มีระบอบประชาธิปไตยภายใต้พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่สูงส่ง

ผู้สื่อข่าว : ก่อนการปฏิวัติได้กราบบังคมทูลเรื่องนี้หรือไม่

พล.ท.วศิน : ในวันแรกที่ทำการปฏิวัติ ทางเราก็กราบบังคมทูลไปแล้วเป็นลายลักษณ์อักษร

พล.อ.สัณห์ : เรารู้สึกไม่สบายใจอยู่ที่ว่าองค์พระมหากษัตริย์ท่านทรงอยู่สูง พรรคการเมืองทะเลาะกันไปหรืออะไรก็อย่าให้กระทบกระเทือนถึงพระองค์ท่าน ใครจะเป็นรัฐบาลก็ไปกราบบังคมทูลว่าได้รับเลือกตั้งมาด้วยเสียงมากที่สุด แล้วในเรื่องของการปฏิวัติ ทหารเคยทำมาหลายครั้ง เมื่อเรียบร้อยแล้วก็ไปกราบบังคมทูลพระองค์ท่าน มิเป็นการบังควรที่จะดึงเอาสถาบันของพระองค์ท่านลงมา เรื่องนี้ฟังดูแล้วรู้สึกเจ็บช้ำน้ำใจเป็นที่สุด

สถาบันพระมหากษัตริย์ใครไปแตะต้องไม่ได้ พวกเราเป็นอย่างนี้แล้ว ทำไมเขาจึงได้แตะต้องพระองค์ท่านลงมา