ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก : (10) แก้วิกฤตทุนนิยมโลกโดยลดเหลื่อมล้ำในอเมริกาและจีน

เกษียร เตชะพีระ

ศาสตราจารย์ โฮเฟิง หง ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การเมืองของจีนและโลก สังกัดมหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ชี้ไว้ในบทสัมภาษณ์เมื่อต้นปี 2022 ว่า ปมเงื่อนของการแก้ไขการแก่งแย่งแข่งขันกันระหว่างสหรัฐกับจีนอย่างยั่งยืน อยู่ที่ทั้งสองอภิมหาอำนาจต่างต้องกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ในประเทศของตน (https://thedigradio.com/podcast/clash-of-empires-w-ho-fung-hung/) ดังต่อไปนี้

แดเนียล เดนเวอร์ : อาจารย์หงครับ คุณเถียงว่าทางแก้ไขการแก่งแย่งแข่งขันระหว่างสหรัฐกับจีนอย่างยั่งยืนที่สุดได้แก่การที่ทั้งสหรัฐกับจีนต่างต้องดำเนินการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจขนานใหญ่ในประเทศของตนนั่นเอง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นครับ?

โฮเฟิง หง : สำหรับจีนนั้น ต้นตอหนึ่งของความขัดแย้งคือการที่บรรดาบริษัทจีน ทั้งที่เป็นของเอกชนเอย ที่มีเส้นสายทางการเมืองเอย และที่เป็นของรัฐเอย ล้วนได้กำไรตกต่ำลงและมีสมรรถภาพล้นเกินครับ ฉะนั้น เพื่อเอาตัวรอดพวกเขาจำต้องบีบคั้นบรรษัทอื่นๆ ให้ออกไปจากตลาดในประเทศและตลาดโพ้นทะเล ทว่า นี่ก็ใช่จะเป็นสถานการณ์ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้นะครับ

ถ้าหากเมื่อปี 2008 (ครั้งเกิดวิกฤตซับไพรม์ในตะวันตก ส่งผลให้เศรษฐกิจถดถอยใหญ่ทั่วโลก ดู เกษียร เตชะพีระ, เศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ : ความรุ่งเรืองและล่มจมของเสรีนิยมใหม่/โลกาภิวัตน์, 2555) รัฐบาลจีนได้ใช้การกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ (โดยเพิ่มรายได้ครัวเรือนในประเทศ แทนที่จะทุ่มเทปล่อยกู้ให้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนานใหญ่เป็นหลัก ดู https://thediplomat.com/2011/07/chinas-ticking-debt-bomb/) ละก็ อุปสงค์ที่ว่าคงได้ขยายตัวออกไปแล้วล่ะครับ และถ้าหากตลาดมหาชนในประเทศขยายตัวอีกครั้งละก็ ขนมเปี๊ยะคงจะก้อนใหญ่โตขึ้นอีกครั้งเช่นกัน

ในกรณีสมมุตินั้น บริษัทจีนทั้งหลายก็ไม่จำต้องบีบคั้นบรรดาบริษัทต่างชาติเพื่อให้ตัวเองเติบโตและฟื้นคืนกำไรของตน และความกระหายของบริษัทจีนที่ใคร่จะส่งออกทุนไปโพ้นทะเลเพื่อมองหาเขตอิทธิพลใหม่ๆ และแหล่งทำกำไรใหม่ๆ ก็คงจะลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย

ในกรณีที่ว่านั้น ความขัดแย้งระหว่างบริษัทจากประเทศต่างๆ ก็คงจะลดน้อยถอยลงครับ ฉะนั้น ก็จะเห็นได้นะครับว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจกับอัตรากำไรให้กลับคืนมาโดยผ่านยุทธศาสตร์การผลักดันส่งเสริมรายได้แบบเคนส์ (หมายถึง John Maynard Keynes, 1883-1946, นักเศรษฐศาสตร์ทรงอิทธิพลที่สุดของบริเตนใหญ่ในศตวรรษที่ 20 เขาปฏิวัติเศรษฐศาสตร์มหภาคและนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลต่างๆ เพื่อแก้ไขวิกฤตช่วงหลังเศรษฐกิจทุนนิยมตกต่ำใหญ่ทั่วโลกในทศวรรษที่ 1930 และสงครามโลกครั้งที่สอง)

ย่อมสามารถจะช่วยบรรเทาความขัดแย้งทางสากลลงด้วย

การ์ตูนสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสหรัฐกับจีน แสดงรายได้ต่อปีเป็น US$ ของคนรวยสุด 1%, คนรวยสุด 10%, คนจน 50% ของสองประเทศในปี 2022 โดยรายได้เฉลี่ยต่อปีของคนทั่วโลกอยู่ที่ $23,870 https://twitter.com/indiainpixels

ตรรกะเดียวกันนี้ก็ประยุกต์ใช้ได้กับสหรัฐด้วยนะครับ สหรัฐก็เหมือนประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อีกมากหลายตรงกระหายใคร่ส่งออกทุนไปจีนและที่อื่นๆ ในโลกกำลังพัฒนา อันเป็นผลมาจากกำไรตกต่ำลงและวิกฤตอันยาวนานของทศวรรษที่ 1970 การณ์นี้ทำให้บรรษัทอเมริกันทั้งหลายต้องแข่งขันกับบรรษัทจีน ในตลาดจีนและตลาดอื่นๆ ครับ ทั้งหมดนี้ก็เนื่องจากความเหลื่อมล้ำมหาศาลในสหรัฐเองและการที่สหรัฐขาดแคลนอุปสงค์ที่มีประสิทธิผลโดยสัมพัทธ์กับสมรรถภาพการผลิตของตน นี่ผลักดันบรรดาบรรษัทอเมริกันให้ต้องส่งออกทุนและแข่งขันกับเหล่าบริษัทจีนในโลกกำลังพัฒนาไงล่ะครับ

ก็อีกนั่นแหละครับ ถ้าหากเกิดการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญในสหรัฐละก็ บริษัทสหรัฐทั้งหลายย่อมสามารถฟื้นคืนกำไรได้ในประเทศตนแทนที่จะต้องออกไปยังจีนและเหล่าประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ

ผมต้องขอออกตัวไว้ก่อนนะครับว่าผมไม่ได้กำลังพูดว่าบริษัทอเมริกันพวกนั้นจะไม่ออกไปลงทุนทำมาค้าขายนอกประเทศเอาเลย เพราะถึงไงพวกเขาก็ยังคงจะออกไปอยู่ดี ชั่วแต่ว่าความกระหายใคร่ออกไปลงทุนภายนอกและนัยสำคัญของมันจะลดต่ำลง

บรรษัททั้งหลายจะเพ่งเล็งรวมศูนย์ที่ตลาดในประเทศมากขึ้น แต่ตลาดในประเทศที่ว่าต้องได้รับการผลักดันส่งเสริมโดยผ่านการกระจายรายได้ครับ

 

ปัญหาท้ายที่สุดทั้งในจีนและสหรัฐก็คือรายได้ครัวเรือนไม่ค่อยเติบใหญ่ขึ้นโดยสัมพัทธ์กับจีดีพีนั่นเองครับ จีดีพีน่ะเติบโตเร็วมาก รายได้ครัวเรือนก็เติบโตด้วยเช่นกันแต่ในอัตราที่ล่าช้ากว่าจีดีพีและสมรรถภาพการผลิตอักโข สถานการณ์มันไม่เหมือนกับสมัยทศวรรษที่ 1950 และ 1960 ซึ่งเป็นยุคทองของลัทธิเคนส์ ตอนนั้นรายได้ครัวเรือนเอาเข้าจริงเติบโตในจังหวะก้าวเดียวกันกับจีดีพีและสมรรถภาพการผลิตนะครับ แต่มาเดี๋ยวนี้เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่สมรรถภาพการผลิตล้นเกินโดยตลอด ซึ่งผลักดันให้ต้องส่งออกทุนและไปแสวงหาแหล่งทำกำไรใหม่ๆ ทั่วโลก บรรษัทเหล่านี้ก็เลยเกิดปะทะกัน นำไปสู่การแก่งแย่งแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ในทุกวันนี้แหละครับ

แดเนียล เดนเวอร์ : แล้วอะไรเป็นอุปสรรคของการกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจในจีนล่ะครับอาจารย์? และจีนได้เริ่มดำเนินการปรับย้ายประเภทที่ว่านี้แล้วหรือยังครับ อย่างที่มีระเบียบวาระที่เรียกว่า “ความไพบูลย์ร่วมกัน” (共同富裕 ก้งถงฟู่อวี้) ซึ่งริเริ่มขึ้นหลังวิกฤตการเงินปี 2015 นั่นน่ะครับ (ดู https://www.matichonweekly.com/column/article_564239)?

โฮเฟิง หง : คำขวัญ “ความไพบูลย์ร่วมกัน” นี่ต้องฟังหูไว้หูนะครับ เพราะตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา ฝ่ายนำจีนมักพูดเป็นพักๆ อยู่เสมอแหละครับถึงความจำเป็นต้องกระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างอุปสงค์การบริโภคในประเทศขึ้นมาแล้วจีนจะได้พึ่งพาอุปสงค์ ตลาดและเงินทุนต่างชาติน้อยลง

พวกเขามีคำขวัญแตกต่างกันไปในช่วงเวลาต่างๆ กันครับ ตั้งแต่พัฒนาภาคตะวันตกบ้างล่ะ ซึ่งหมายถึงดินแดนด้านในภาคตะวันตกที่ด้อยพัฒนาของจีน ไปจนถึงการวิพากษ์ระบบเศรษฐกิจที่ไม่ประสานงานกันและเสียดุลบ้างล่ะ โดยอดีตนายกรัฐมนตรีเหวิน เจียเป่า สักสิบยี่สิบปีก่อน พวกเขาแสดงการตระหนักรับความจำเป็นที่จะต้อง กระจายความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจเป็นครั้งคราว แต่แล้วมันก็กลายเป็นแค่คำขวัญไปเสียทุกทีและไม่ได้ทำอะไรกันเลย

ในที่สุดแล้วเรื่องนั้นน่ะมันเกี่ยวข้องกันมากกับกลุ่มผลประโยชน์เชิงสถาบันที่มีส่วนได้เสียอยู่ในรัฐ-พรรคครับ กล่าวคือ กิจการอุตสาหกรรมทั้งหลายกับพวกนักพัฒนานี่น่ะมีตัวแทนเชิงสถาบันอยู่ในระบบการเมือง ขณะที่ชาวนากับกรรมกรไม่มีตัวแทนอยู่ในระบบเพียงพอ นอกจากนี้ก็ยังไม่มีองค์การชาวนาหรือองค์การแรงงานที่เป็นอิสระด้วยอีกต่างหาก ฉะนั้น แม้ในยามที่ฝ่ายนำเบื้องบนมีความคิดเข้าทีเรื่องกระจายความมั่งคั่ง

แต่กระนั้นกลุ่มผลประโยชน์ที่มีส่วนได้เสียก็จะขัดขวางไว้ไม่ให้ทำอยู่ดี

 

มันก็อีหรอบเดียวกับการพร่ำพูดเรื่องจะลดสมรรถภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังถ่านหินนั่นแหละครับ มีคำขวัญที่ดีงามมากเกี่ยวกับการทำเรื่องนี้ แต่กลุ่มผลประโยชน์ที่มีส่วนได้เสียกับโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน รวมทั้งมณฑลต่างๆ ที่พึ่งพาถ่านหินก็เข้มแข็งเสียจนกระทั่งมันยากจะเปลี่ยนย้ายออกมาได้อย่างที่ทางการจีนโฆษณาไว้

ในกรณีสหรัฐ ถึงจะเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่เอาเข้าจริงวิถีทางซึ่งกลุ่มผลประโยชน์ที่มีส่วนได้เสียเข้ายึดกุมกระบวนการทางการเมืองมันก็ละม้ายคล้ายกันกับจีนนั่นแหละครับ จะเห็นได้ว่าแม้ชาวพรรคเดโมแครตจะอยากทำให้เศรษฐกิจเป็นสีเขียวหรือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น แต่กระนั้นพื้นที่ซึ่งพึ่งพาถ่านหินอย่างรัฐเวสต์เวอร์จิเนียก็มีกลุ่มผลประโยชน์ที่คอยถ่วงให้การเปลี่ยนผ่านไปใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น

สหรัฐกับจีนมีระบบการเมืองต่างกันนะครับ แต่ทั้งสองประเทศก็พบว่าการพูดเรื่องอำนวยความสะดวกแก่การกระจายความมั่งคั่งน่ะง่ายกว่าทำมันให้สำเร็จในทางเป็นจริง

ดังนั้น คำขวัญเรื่อง “ความไพบูลย์ร่วมกัน” ก็เป็นแค่ความพยายามอีกครั้งหนึ่งที่ฝ่ายนำจีนจะพูดถึงความสำคัญของการกระจายความมั่งคั่ง เหมือนอย่างที่เราได้เห็นซ้ำแล้วซ้ำเล่าในรอบยี่สิบหรือสามสิบปีที่ผ่านมานั่นเองครับ

แต่มีทางเป็นไปได้มากที่มันจะลงเอยเหมือนหนก่อนๆ กล่าวคือ เป็นแค่คำขวัญเท่านั้น สุดท้ายแล้วก็บรรลุอะไรไม่ได้มากอยู่ดี

(ต่อสัปดาห์หน้า)