ลุงสีเป็นเหตุ : ซีโร่-โควิดกับความไพบูลย์ร่วมกัน (1)/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

ลุงสีเป็นเหตุ

: ซีโร่-โควิดกับความไพบูลย์ร่วมกัน (1)

 

มูลเหตุที่ทำไมในระยะหลังนี้ “ตึ่งซัวหั่งเช้งม่อ” (ตลาดจีนไม่สู้ดี) นั้น? นิตยสาร The Economist ฉบับประจำวันที่ 28 พฤษภาคมศกนี้ – ซึ่งจ่าหน้าปกด้วยข้อความ “จีนชะลอลง : ความยุ่งยากจากตัวแบบเศรษฐกิจใหม่ของสี” – สรุปว่าเป็นเพราะแนวนโยบายใหญ่ 2 ประการของประธานาธิบดีสีจิ้นผิงได้แก่นโยบายสาธารณสุขซีโร่-โควิด (https://www.voanews.com/a/china-s-xi-bets-it-all-on-zero-covid-policy-/6576000.html) และแนวทางเศรษฐกิจ “ความไพบูลย์ร่วมกัน” (共同富裕 https://www.matichonweekly.com/column/article_483056)

สีจิ้นผิงบังคับใช้นโยบายซีโร่-โควิดทั่วประเทศจีนอย่างเข้มงวดต่อเนื่องมา 28 เดือนแล้วด้วยหวั่นวิตกว่าการเปิดประเทศจะทำให้คลื่นคนจีนแห่กันออกเดินทางและแพร่เชื้อโควิดกระจายกว้างจนผู้คนล้มตายหลายล้าน

แม้จะมีเหตุผลดี แต่ข้อน่าเสียดายคือรัฐบาลจีนกลับปล่อยให้เวลาล้ำค่าซึ่งแลกมาด้วยภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจราคาแพงนี้ผ่านเลยไปเปล่าๆ ไม่ช่วงชิงผลักดันมาตรการป้องกันแก้ไขอื่นๆ ออกมาเป็นชิ้นเป็นอัน

ดังปรากฏว่าจนทุกวันนี้ผู้เฒ่าชาวจีนอายุกว่า 60 ปีขึ้นไปที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนแอนตี้โควิดเข็มสามมีถึง 100 ล้านคน มิหนำซ้ำจีนยังปัดปฏิเสธไม่ยอมนำเข้าวัคซีน mRNA อย่างไฟเซอร์หรือโมเดอร์นาของฝรั่งอั่งม้อ ซึ่งมีประสิทธิศักย์สูงกว่ามาใช้ด้วย

ตรงกันข้าม ดูเหมือนจีนวางแผนจะกัดฟันยืนระยะนโยบายซีโร่-โควิดเหยียดต่อถึงปีหน้า โดยยอมแลกกับความปั่นป่วนโกลาหลของสายโซ่อุปทานและหั่งเช้งม่อต่อไป (https://www.voanews.com/a/china-s-strict-zero-covid-policy-creates-supply-chain-chaos-/6591227.html; https://www.voanews.com/a/china-faces-grim-economic-prospects-experts-say-/6569740.html)

กระทั่งถอนตัวไม่รับเป็นเจ้าภาพฟุตบอลเอเชี่ยนคัพกลางปี 2023 และว่ากันว่าอาจจัดตั้งบรรดาสถานีตรวจเชื้อและหน่วยสวอปจมูกประจำการขึ้นมาเป็นการถาวรด้วยซ้ำ

ในสภาพที่เชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอนติดง่ายแพร่เร็วกว่าก่อนเช่นนี้ การแพร่ระบาดเป็นหย่อมๆ และปิดเมืองน้อยใหญ่ของจีนเป็นพักๆ ย่อมยากจะหลีกเลี่ยงได้ แต่ความที่นโยบายซีโร่-โควิดผูกติดกับการนำเด็ดขาดรวมศูนย์เหนือรัฐ-พรรคอย่างยืนยาวของสีจิ้นผิงก็ทำให้เปลี่ยนแปลงมันยากและห้ามวิจารณ์

ส่วนแนวทางเศรษฐกิจ “ความไพบูลย์ร่วมกัน” ของลุงสีซึ่งป่าวร้องว่าเป็น “แนวคิดการพัฒนาใหม่” นั้นก็มุ่งรับมือแก้ไข “ความเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนในรอบศตวรรษ” อาทิ ความเหลื่อมล้ำถ่างกว้าง หนี้สินพอกพูนเป็นภูเขาเลากาและธุรกิจผูกขาดรายใหญ่ในประเทศ รวมทั้งความขัดแย้งแตกแยกทางเศรษฐกิจการค้าและการเมืองระหว่างจีน-อเมริกัน เพื่อประกันให้คนจีนได้เสพรับดอกผลของการพัฒนาเศรษฐกิจทั่วถึงและเท่าเทียมกันยิ่งขึ้น และจีนยังคงครอบงำเทคโนโลยีใหม่ๆ อีกทั้งแข็งแกร่งต้านทานแซงก์ชั่นทางการค้าของตะวันตกได้ในระดับสากล

เป้าหมายเหล่านี้มีเหตุผลสมควร ทว่า ลุงสียืนกรานให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนนำทุกๆ ด้าน และการดำเนินแนวทางดังกล่าวเหล่านี้มีลักษณะไล่ล่าเอาผิดและไม่แน่นอนคงเส้นคงวาในทางปฏิบัติ

เช่น กระแสการลงโทษเรียกค่าปรับ การออกกฎระเบียบใหม่และการกวาดล้างตัวบุคคลเป็นพายุบุแคมได้ทำให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่มีพลวัตและประกอบสร้าง GDP ให้ถึง 8% มีอันชะงักงัน

ส่วนการปราบปรามกวาดล้างภาคพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างเหี้ยมเกรียมแต่ไม่ถ้วนตลอดก็ทำให้ภาคส่วนเศรษฐกิจสำคัญที่คิดเป็นกว่าหนึ่งในห้าของ GDP นี้ขัดสนเงินทุน ส่งผลให้ยอดขายที่อยู่อาศัยตกฮวบลงถึง 47% ในเดือนเมษายนศกนี้เมื่อเทียบกับปีก่อน

เหล่านี้ส่งผลเสียหายต่อแรงจูงใจของภาคเอกชนของจีนซึ่งเป็นส่วนที่มีผลิตภาพสูงสุดของเศรษฐกิจในสภาพที่เหล่าเจ้าสัวธุรกิจเทคโนโลยีพากันอกสั่นขวัญแขวนไม่แน่ใจชะตากรรมตนเอง (ถ้าขนาดแจ๊ก หม่า ยังโดนเล่นงานได้ อั๊วจะรอดเหรอ?)

เงินทุนจึงไหลเทออกจากตลาดการเงินจีนต่างๆ ขนานใหญ่ ต้นทุนการหาเงินทุนสูงขึ้น – ดังปรากฏว่าหุ้นจีนค้าขายกันในราคาลดต่ำกว่าหุ้นอเมริกันถึง 45% บรรดานักลงทุนและผู้ประกอบการต่างหันมาดีดลูกคิดรางแก้วกันใหม่ ด้วยเกรงว่ากำไรการเงินของธุรกิจตนจะถูกตรึงติดเพดานที่กำหนดโดยพรรคซึ่งหวาดระแวงว่าภาคเอกชนจะมีทรัพย์สินและอำนาจมากไป

พวกนักร่วมลงทุน (venture capitalists) ก็หันไปเล่นกับธุรกิจที่ได้การอุดหนุนจากรัฐมากที่สุด แทนที่จะเล่นกับไอเดียที่เข้าท่าที่สุด

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปีของการพัฒนาทุนนิยมจีนที่ไม่มีภาคส่วนสำคัญใดในระบบเศรษฐกิจกำลังปฏิรูปเปิดเสรียิ่งขึ้นเลย ซึ่งย่อมส่งผลบั่นทอนการเติบโตทางเศรษฐกิจลง

 

แน่นอน จีนมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่โตและประณีตพิสดารเกินกว่าที่บรรษัทข้ามชาติใดจะละเลยทิ้งไปได้ แต่แนวโน้มดังที่เป็นอยู่ย่อมส่งผลให้บรรษัทเหล่านี้จำนวนมากขึ้นหาทางปรับเปลี่ยนดุลของสายโซ่อุปทานให้ห่างจากจีนออกไป ดังที่แอปเปิลกำลังทำ (https://asia.nikkei.com/Spotlight/Supply-Chain/Apple-to-shift-iPad-capacity-to-Vietnam-amid-China-supply-chain-woes)

วิธีรับมือหั่งเช้งม่อของรัฐบาลสีจิ้นผิงคือเตรียมออกโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจมหึมามาอีกเพื่อพยุงให้ตัวเลขการเติบโตเศรษฐกิจทางการปีนี้บรรลุเป้า 5.5% ที่ตั้งไว้

ดังที่นายกฯ หลี่เค่อเฉียงออกมาเรียกระดมบรรดาเจ้าหน้าที่รัฐ-พรรคทั้งหลายเมื่อ 19 พฤษภาคมศกนี้ให้ “ปฏิบัติการอย่างเด็ดขาด” เพื่อฟื้นฟูการเติบโต

พร้อมกับธนาคารชาติจีนก็หั่นอัตราดอกเบี้ยจำนองอสังหาริมทรัพย์ลง คาดว่าก้าวต่อไปน่าจะเป็นการออกพันธบัตรรัฐบาลเพื่อระดมเงินมาดำเนินโครงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐขนานใหญ่

แต่การเพิ่มกองหนี้เป็นภูเขาเลากากับสร้างตึกราม ถนนหนทางคอนกรีตเป็นหลายๆ ตารางกิโลเมตร จะเกาถูกที่คัน (นโยบายซีโร่-โควิดกับแนวทางเศรษฐกิจความไพบูลย์ร่วมกัน) หรือ?

แนวทางของลุงสีนั้นมุ่งขยายขอบเขตเศรษฐกิจภาครัฐ – ซึ่งเป็นภาคส่วนที่มีผลิตภาพต่ำสุดในระบบเศรษฐกิจ จริงอยู่นโยบายอุตสาหกรรมของจีนประสบความสำเร็จอันน่าเกรงขาม เช่น ทำให้จีนครองฐานะครอบงำในด้านการผลิตแบตเตอรี่ขั้นสูง ลุงสีย่อมคาดหวังว่าเทคโนโลยีกับเหล่ากองทุนภาครัฐใหม่ๆ จะช่วยให้กระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจยืดหยุ่นคล่องตัวขึ้น

แต่ความล้มเหลวของนโยบายอุตสาหกรรมอย่างโครงการฟื้นฟูพัฒนาเขตอุตสาหกรรมเหล็กกล้าและถ่านหินเก่าทางอีสานของจีนและการทุ่มเงินอุดหนุนการผลิตไมโครชิพในประเทศ ก็เป็นข้อเตือนใจที่ไม่ควรลืม (https://www.axios.com/2019/09/12/northeast-china-rust-belt & https://www.europeanguanxi.com/post/china-s-big-challenge-the-semiconductor-industry)

ข่าวที่น่าจะดีกว่ามาจากสำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่นเมื่อกลางเดือนเมษายนศกนี้คือจีนตัดสินใจระงับการโปรโมตแนวทางเศรษฐกิจ “ความไพบูลย์ร่วมกัน” ของลุงสีอย่างเต็มที่โดยเฉพาะด้านในประเทศไว้ก่อนชั่วคราว เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอลงท่ามกลางโควิด-19 กลับมาระบาด

(https://www.aa.com.tr/en/asia-pacific/chinese-presidents-common-prosperity-initiative-hits-snag-report/2566569)