นายกฯ เปิดเกมรุก ช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล “ปานปรีย์” บินหารือชาติอาหรับ “ทีมวันนอร์” เจรจา “ฮามาส” มีข่าวดี

สงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มติดอาวุธฮามาสดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 ยังไม่มีแนวโน้มที่จะจบลง

ทำให้สถานการณ์ของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในประเทศอิสราเอลยังคงน่าเป็นห่วง จากแรงงานทั้งหมด 29,900 คน ยังอยู่ในประเทศอิสราเอล 21,535 คน กลับประเทศไทยแล้ว 8,331 คน ถูกจับเป็นตัวประกัน 23 ราย บาดเจ็บ 18 ราย เสียชีวิต 34 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2566)

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ว่า ที่ประชุม ครม.ได้มีการพูดคุยกันถึงการช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล โดยมีรายงานจากฝ่ายความมั่นคง และสถานทูตไทยประจำอิสราเอล ทราบว่าการต่อสู้ไม่ได้เบาบางลงไป แต่กลับทวีความเข้มข้นขึ้น และมีปฏิบัติการภาคพื้นดินอย่างต่อเนื่อง ความอันตรายยังมีอยู่มาก

เรายืนยันอยากให้พี่น้องคนไทยกลับมา ซึ่งต้องมีการปฏิบัติการเชิงรุก เพราะรู้ว่าการที่พี่น้องไม่กลับมาเพราะอะไร เพราะเป็นเรื่องการเงิน ซึ่งตนเคยเรียนไปแล้วคร่าวๆ ว่าเรามีมาตรการช่วยเหลืออย่างไร โดยหลักๆ มี 2 เรื่อง คือ แรงงานที่กลับมาแล้ว ที่กำลังจะกลับมา และที่จะกลับมาในอนาคต จะได้เงินชดเชยคนละ 5 หมื่นบาท ตรงนี้ได้แน่ๆ และจะได้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำระยะยาว คนละไม่เกิน 150,000 บาท เผื่อใครที่ไปกู้มาและต้องทำงานผ่อนใช้

ส่วนเรื่องการช่วยชาวไทยที่ถูกกลุ่มฮามาสจับตัวไปนั้น ได้มอบหมายนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปรัฐกาตาร์และสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์

โดยรับทราบข้อมูลจากทุกฝ่ายที่ได้ให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือเจรจากับกลุ่มชนที่จับคนไทยเป็นตัวประกัน ไม่ว่าจะเป็นการประสานจากนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือหน่วยงานอื่นๆ

คิดว่าเพื่อเป็นการลดความสับสน ตรงนี้นายปานปรีย์จึงได้บินไปเจรจาที่หน้างานด้วยตัวเอง ก็จะช่วยเหลือได้มาก

 

ด้านนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยก่อนเดินทางเยือนรัฐกาตาร์และสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ว่า มีกำหนดพบหารือกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศกาตาร์ ในวันที่ 31 ตุลาคม 2566 ที่กรุงโดฮา และพบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์ ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่กรุงไคโร

นายปานปรีย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการโทรศัพท์หารือและชี้แจงไปหลายครั้งแล้ว ไม่ว่าจะผ่านสื่อ หรือผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ รวมถึงผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ประสานงานว่าอยากให้มีการปล่อยตัวคนไทยโดยเร็ว เพราะเป็นผู้ที่เข้าไปทำมาหากิน และไม่ได้มีความขัดแย้งกับผู้ใด ความตั้งใจของไทยคืออยากให้มีการปล่อยตัวประกันโดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ไม่มีใครทราบว่าตัวประกันทั้งหมดอยู่ที่บริเวณไหน อยู่ในประเทศใด และอยู่ในหรือนอกฉนวนกาซาหรือไม่ แต่ในส่วนของรัฐบาลไทยเราเปิดการเจรจาทุกช่องทางที่มีอยู่ที่จะสามารถประสานกับฮามาสได้เพื่อขอให้เขาปล่อยตัวประกันโดยเร็วที่สุด

ต่อมา กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับเชค มุฮัมมัด บิน อับดุรเราะฮ์มาน บิน ญาสซิม อาล ษานี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของรัฐกาตาร์ ที่กรุงโดฮา โดยมี ดร.มุฮัมมัด บิน อับดุลอะซีซ อาล คุลัยฟี รัฐมนตรีแห่งรัฐ รัฐกาตาร์ ร่วมการหารือด้วย

โดยฝ่ายไทยได้ขอรับการสนับสนุนจากกาตาร์เพื่อช่วยให้มีการปล่อยตัวคนไทยและคนชาติอื่นที่ถูกจับเป็นตัวประกันโดยเร็วที่สุด

ซึ่งกาตาร์ยินดีและรับจะช่วยดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยกาตาร์ยืนยันว่าคนไทยไม่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง และเห็นว่าจะเป็นตัวประกันต่างชาติกลุ่มแรกๆ ที่ได้รับการปล่อยตัว ทั้งนี้ การสู้รบที่ยังดำรงอยู่ เป็นอุปสรรคสำคัญของการดำเนินการ

นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับ ดร.ฮุซัยน์ อะมีร อับดุลลอฮิยอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสาธารณรัฐอิสลามอิหร่าน ณ กรุงโดฮา รัฐกาตาร์ โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแสดงความยินดีที่ได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศอิหร่านขณะที่ทั้งสองฝ่ายเยือนกาตาร์ช่วงเดียวกัน

ทั้งสองฝ่ายแสดงความห่วงกังวลต่อสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลและกาซา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อพลเรือนผู้บริสุทธิ์

ในการนี้ ฝ่ายไทยขอรับการสนับสนุนจากอิหร่านให้มีการปล่อยตัวคนไทยที่ถูกจับเป็นตัวประกัน ซึ่งฝ่ายอิหร่านรับจะให้การสนับสนุนอย่างเต็มความสามารถ

 

ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นายซัยยิดสุไลมาน ฮูซัยนี ผู้นำศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์แห่งประเทศไทย เปิดเผยเกี่ยวกับการเจรจาช่วยเหลือตัวประกันไทยในอิสราเอลว่า คณะเจรจานำโดยนายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษานายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับเกียรติจากที่ปรึกษาประธานาธิบดีอิหร่าน เป็นเจ้าภาพในการเจรจาระหว่างตัวแทนไทยกับฮามาส ซึ่งมีบุคคลสำคัญหลายท่านเข้าร่วมประชุมด้วย

อาทิ อยาตุลลอฮ์ อัคตารี ที่ปรึกษาประธานาธิบดีและประธานสมัชชาองค์การปาเลสไตน์แห่งสำนักประธานาธิบดีอิหร่าน ดร.ระมีฮียาน เลขาธิการใหญ่องค์การช่วยเหลือประชาชาติปาเลสไตน์แห่งชาติ และ ดร.รูวัยรอน ประธานสมาพันธ์พิทักษ์เยาวชนปาเลสไตน์และต่อต้านอิสราเอลแห่งชาติ

การเจรจาคืบหน้าเป็นอย่างมาก ถึงขั้นตอนของรายละเอียดและเงื่อนไขการปล่อยตัวแล้ว

ต่อมา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2566 ที่รัฐสภา นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ได้พบตัวแทนฝ่ายฮามาสและตัวแทนฝ่ายอิหร่าน ได้คุยประมาณ 2 ชั่วโมง ได้บอกว่าแรงงานคนไทยไม่เกี่ยวข้องกับการต่อสู้ โดยฝ่ายนั้นได้บอกว่าให้ช่วยแจ้งกับญาติแรงงานว่าได้ดูแลชีวิตแรงงานเป็นอย่างดี แต่หากกำหนดวัน เวลาที่จะปล่อยตัวเกรงว่าจะมีระเบิดมาจากฝ่ายศัตรูจะทำให้เกิดอันตราย จึงรอจังหวะที่เหมาะสมแล้วจะปล่อยตัวประกันทันที โดยขอไม่บอกเวลา คงไม่นานเกินรอ โดยอยากให้ปล่อยทางอิหร่าน

“เขาให้คำมั่นสัญญา จะให้คนไทยที่เป็นตัวประกันกลับมาแล้วพูดว่าฮามาสโหดร้ายจริงหรือไม่ หลังอยู่ด้วยมาหลายสิบวัน ได้รับผลกระทบอะไรบ้าง อยากให้มาออกสื่อ นี่คือความปรารถนาของเขา ยืนยันจะให้คนไทยทั้งหมดที่ถูกกักตัวไว้อยู่อย่างปลอดภัย และกลับมาประเทศหาครอบครัวอย่างมีความสุข คือที่เขารับปากกับผมและอยากให้ปล่อยตัวประกันออกมาทางอิหร่าน ซึ่งนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา อาจจะเดินทางไปรับด้วยตัวเอง เพื่อจะได้ขอบคุณอิหร่านที่ช่วยปล่อยตัว”นายอารีเพ็ญกล่าว

 

ขณะที่อีกประเด็นใหญ่รอบสัปดาห์ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานชาวไทยนั้น เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 นายกิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรอิสราเอลประจำสหประชาชาติ ได้เปิดคลิปวิดีโอสั้นๆ ที่อ้างว่าเป็นเหตุการณ์ที่นักรบฮามาสพยายามจะตัดศีรษะของตัวประกันรายหนึ่งที่ถูกจับตัวไว้ ซึ่งถูกระบุว่าเป็นแรงงานไทยด้วยอุปกรณ์ทำสวน ในระหว่างกองกำลังฮามาสบุกโจมตีอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม มาเปิดแสดงให้ดูกลางที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (ยูเอ็นจีเอ) ซึ่งประกอบด้วยชาติสมาชิก 193 ประเทศ

ทำให้กระทรวงการต่างประเทศออกท่าทีต่อกรณีดังกล่าว ความว่า

“ตามที่เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมสหประชาชาติได้มีการแสดงคลิปภาพของเหยื่อที่ถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหด โดยอ้างว่าเป็นคนไทยนั้น ภาพการสังหารดังกล่าวได้สร้างความสะเทือนใจอย่างยิ่ง ไม่ใช่เฉพาะต่อประชาชนคนไทยเท่านั้น แต่ต่อคนทั่วโลกด้วย

กระทรวงการต่างประเทศรู้สึกสะเทือนใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้เห็นรายงานคลิปภาพของเหยื่อ และไม่เห็นด้วยกับการเผยแพร่ภาพที่ไม่คำนึงถึงและไม่เคารพต่อผู้เสียชีวิตและครอบครัว

กระทรวงการต่างประเทศประณามการเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะกระทำต่อคนชาติใด โดยฝ่ายใด และด้วยเหตุผลใดก็ตาม”

แม้ว่าจะมีความคืบหน้าออกมาอยู่เป็นระยะ แต่ภารกิจพาคนไทยกลับจากอิสราเอลยังไม่จบ จนกว่าคนไทยทุกคนจะได้กลับบ้านอย่างปลอดภัย