ธรรมเนียมการจูบมือ มีรากเหง้ามาจากพิธีถวายตัวต่อกษัตริย์ ในยุคกลางของยุโรป

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ภาพที่คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี บรรจงจุมพิตลงบนมือของคุณอุ๊งอิ๊ง แพทองธาร ชินวัตร นัยว่าเป็นการให้เกียรติ และแสดงความยินดีที่ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่เพิ่งผ่านมานี้ ทำให้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากมายเลยนะครับ

และในบรรดาเสียงวิจารณ์เหล่านั้น เสียงที่ผมสนใจมากที่สุดเป็นเสียงของนักประวัติศาสตร์ พ่วงตำแหน่งอินฟลูเอนเซอร์คนสำคัญอย่าง อ.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่ได้เปรียบเทียบภาพเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ากับภาพยนตร์เรื่อง The Godfather ซึ่งเป็นหนึ่งในภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันที่ถูกยกย่องให้เป็นงานระดับขึ้นหิ้ง ที่เล่าถึงแวดวง และครอบครัวมาเฟียเชื้อสายอิตาลี ผลงานกำกับการแสดงของ ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา (Francis Ford Coppola) ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ.2515

กล่าวโดยสรุป อ.สมศักดิ์ระบุว่า การจุมพิตลงบนมือนั้น เป็นสัญลักษณ์ของการยอมรับในอำนาจของ “ก๊อดฟาเธอร์” แม้ว่าตัวก๊อดฟาเธอร์จะมีอายุอ่อนกว่าตนเองเพียงไรก็ตาม คือเป็นการแสดงว่า พวกข้าฯ ยอมรับในอำนาจของท่านแล้ว โดยได้อ้างถึงฉากในภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวไว้ว่า

“…อย่างฉากสุดท้ายของ The Godfather นางเอก (เคย์) พยายามคาดคั้นพระเอกว่าได้สั่งการฆ่าพี่เขยตัวเองหรือไม่ พระเอกก็ปฏิเสธ แต่แล้วบรรดาลูกน้องที่ไปปฏิบัติหน้าที่และบรรดาสมุนที่ไม่เคยให้ความเคารพพระเอกก็ทยอยมาพบพระเอก แล้วทำท่าจูบมือ นางเอกเห็นเข้า ก็เลยรู้ว่าพระเอกโกหก และพระเอกได้กลายเป็นก๊อดฟาเธอร์จริงๆ แล้ว…” (ข้อความจากบัญชีเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม พ.ศ.2566)

และ อ.สมศักดิ์ ก็เชื่อในข้อสมมุติฐานของตนเองถึงขนาดที่เขียนคำอธิบายภาพการที่คุณเศรษฐาจูบลงบนมือของคุณแพทองธารว่า “Oh! Godmother!” (ข้อความจากบัญชีเฟซบุ๊ก Somsak Jeamteerasakul เผยแพร่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2566) เลยก็แล้วกัน

 

แต่เปล่าหรอกนะครับ ผมไม่ได้สนใจเรื่องนี้ในแง่ว่า การที่คุณเศรษฐาบรรจงจูบลงไปที่มือของหัวหน้าพรรคเพื่อไทยหมาดๆ อย่างคุณแพทองธารนั้น จะมีนัยยะเป็นอย่างที่ อ.สมศักดิ์ตั้งข้อสังเกตไว้หรือไม่?

อันที่จริงแล้ว สิ่งที่ผมสนใจมากกว่าก็คือเรื่องที่ว่า ทำไมในภาพยนตร์ และนิยาย อันเป็นที่มาของบทภาพยนตร์เรื่อง The Godfather นั้น จึงระบุว่า การจุมพิตลงบนมือเป็นสัญลักษณ์แสดงความเคารพนับถือหัวหน้าของพวกตนเอง ตามธรรมเนียมปฏิบัติของกลุ่มมาเฟียอิตาลีต่างหาก (ผมไม่แน่ใจนักว่า ธรรมเนียมอย่างนี้มีการปฏิบัติจริงในกลุ่มมาเฟียในอิตาลีหรือเปล่า?)

เพราะในแง่มุมที่รู้จักกันโดยทั่วไปนั้น “การจูบมือ” ที่เรียกกันทั่วไปในโลกภาษาอังกฤษว่า “hand-kissing” นั้น เป็นรูปแบบการทักทายที่มีที่มาจากโลกตะวันตก โดยสื่อถึงความสุภาพ, ความชื่นชม, ความสิเน่หา, ความเคารพ หรือแม้กระทั่งความจงรักภักดีที่ผู้มอบจุมพิตมีต่อผู้ที่รับจุมพิตนั้นเอาไว้ด้วยหลังมือของตนเอง ซึ่งโดยมากแล้ว มักจะเป็นการแสดงความเคารพที่สุภาพบุรุษกระทำต่อสุภาพสตรี (โดยมารยาทแล้วก็มักจะไม่ได้สัมผัสริมฝีปากลงไปที่มือจริงๆ เป็นเพียงการทำท่าทางเชิงสัญลักษณ์เท่านั้นเอง)

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้ แม้แต่ในโลกตะวันตกเอง การจุมพิตลงบนมือไม่ใช่สิ่งที่จะกระทำกันในโอกาสปกติทั่วไปนัก แต่มักจะปรากฏในกลุ่มชนชั้นสูงของฝ่ายอนุรักษนิยม หรือในบริบททางการทูตเสียมากกว่า

เพราะรูปแบบของการทักทายได้เปลี่ยนแปลงเป็นการหอมแก้ม หรือจับมือกันแทนเป็นส่วนใหญ่แล้ว

 

ในบางชาติซึ่งไม่ได้มีวัฒนธรรมร่วมกับชาวตะวันตกมาแต่ดั้งเดิม เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และบรูไน นั้น แต่กลับมีธรรมเนียมการทักทายด้วยการจูบมืออยู่ ซึ่งจะกระทำเฉพาะต่อผู้ที่มีอาวุโสมากกว่า โดยไม่จำกัดเพศ แต่โดยส่วนใหญ่มักจะกระทำกันเฉพาะกับญาติสนิท และผู้ที่ตนเองนับว่าเป็นครูเท่านั้น

ธรรมเนียมดังกล่าว น่าจะมีที่มาจากศาสนาอิสลาม เพราะมีหลักฐานการทำความเคารพต่อผู้มีฐานะสูงกว่าด้วยการจุมพิตลงไปที่มือ ที่เรียกว่า “ตักบิล” (taqbil) ในแถบพื้นที่ทางตะวันออกของประเทศเยเมนปัจจุบัน มาอย่างน้อยก็ตั้งแต่ในช่วง พ.ศ.1150 แล้ว

โดยธรรมเนียมแบบเดียวกันนี้ ในปัจจุบันยังมีการปฏิบัติอยู่ในชาติมุสลิมอย่างน้อยอีก 2 ชาติ คือ ตุรกี และโซมาเลีย

ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้อีกอย่างหนี่งก็คือ การที่ในปัจจุบันยังมีคำทักทายในหลากหลายพื้นที่ซึ่งแสดงให้เห็นถึงร่องรอยของการทักทายด้วยการจูบมือ เช่น ในประเทศฮังการีจะมีคำทักทายว่า “kezicsókolom” ซึ่งแปลตรงตัวว่า “ฉันจูบมือของคุณ”

แต่หลายครั้งก็มักจะพูดสั้นๆ ว่า “csókolom” ที่แปลว่า “ฉันจูบมัน”

เช่นเดียวกับที่ในประเทศโรมาเนีย ที่ยังมีธรรมเนียมการทักทายผู้หญิงที่พบเจอกันเป็นครั้งแรกด้วยสำนวนที่ว่า “sarut mana” หรือที่หลายครั้งออกเสียงสั้นลงว่า “saru-mana” ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่แปลว่า “ฉันจุมพิตลงบนมือของคุณ”

ที่สำคัญก็คือ ทางตอนใต้ของประเทศอิตาลี โดยเฉพาะในแคว้นซิซิลี ที่อยู่ทางใต้สุดของประเทศอิตาลีนั้น ก็ยังมีการใช้สำนวนการทักทายในทำนองนี้เหลืออยู่ โดยจะทักทายกันเป็นภาษาอิตาลีว่า “bacio le mani” ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยตรงตัวได้ว่า “ฉันจูบมือ”

ทั้งในภาพยนตร์และนิยายเรื่อง The Godfather นั้น ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ครอบครัวคอร์เลโอเน อันเป็นครอบครัวมาเฟียหลักในท้องเรื่องนั้น อพยพมาจากเมืองที่มีชื่อว่า คอร์เลโอเน ชื่อเดียวกับชื่อสกุลของพวกตนเอง โดยเมืองนี้เป็นเมืองเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเมืองปาแลร์โม ในเกาะซิซิลี ซึ่งก็คือสถานที่ที่มีสำนวนการทักทายกันว่า “ฉันจูบมือ” อยู่จนกระทั่งในปัจจุบันนี้นี่แหละ

 

จากข้อมูลต่างๆ ที่ผมยกมาให้อ่านกันข้างต้นนี้ จะเห็นได้ถึงรองรอยของการทักทายกันด้วยการจูบมือที่ในสมัยหนึ่งน่าจะเป็นการทักทายที่ใช้ต่อผู้ที่มีเกียรติ หรืออาวุโสกว่า และแน่นอนว่ารวมถึงใช้ทักทายกับสุภาพสตรีด้วย ในโลกทางเบื้องทิศตะวันตกของภูมิภาคอุษาคเนย์ โดยมีใช้ทั้งในกลุ่มของชาวคริสต์ และมุสลิมเลยนะครับ

อย่างไรก็ตาม มีร่องรอยด้วยว่าธรรมเนียมการจูบมือนี้ ถูกใช้ในฐานะเป็นพระราชพิธีของราชสำนักอังกฤษที่เรียกว่า “kissing hands” (แม้ว่าจะแปลว่า “การจูบมือ” เหมือนกัน แต่ก็เรียกต่างจากการจูบมืออย่างปกติคือ “hand-kissing” อย่างน่าสนใจ)

ซึ่งก็คือพระราชพิธีที่ผู้เข้ารับตำแหน่งสำคัญของประเทศสหราชอาณาจักร เช่น นายกรัฐมนตรี กงสุลประจำดินแดนต่างๆ และเสนาบดีใหญ่ (Secretary of State) อันเป็นตำแหน่งสูงสุดของรัฐบาลสหราชอาณาจักร จะต้องเข้าไปจุมพิตพระหัตถ์ของประมุขแห่งสหราชอาณาจักรในขณะนั้น

เพื่อเป็นสัญลักษณ์แสดงให้เห็นถึงความจงรักภักดีของตนเองที่มีต่อกษัตริย์ หรือพระราชินี ผู้เป็นประมุขแห่งรัฐ รวมไปถึงราชวงศ์ของพระองค์ด้วย

 

ผมไม่แน่ใจนักว่า “พระราชพิธีจุมพิตพระหัตถ์” ที่ว่านี้ เก่าแก่เพียงไร เท่าที่สอบค้นได้มีบันทึกเพียงว่า อย่างน้อยก็มีมาตั้งแต่รัชสมัยของพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่ 7 (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2444-2453) เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม พระราชพิธีดังกล่าวก็ชวนให้นึกถึงธรรมเนียมเก่าแก่ของราชสำนักยุโรปในช่วงยุคกลาง (ราวช่วงระหว่าง พ.ศ.950-1950) ซึ่งปกครองกันในระบอบเจ้าขุนมูลนาย หรือบางทีก็เรียกระบอบศักดินาสวามิภักดิ์ (Feudalism)

ซึ่งเจ้าขุนมูลนายผู้เป็นเจ้าผู้ครองที่ดิน จะต้องทำการสัตย์สาบานเป็นบริวาร (vassel) ต่อประมุข ผู้ทำหน้าที่พิทักษ์และรักษาความยุติธรรมให้แก่ข้าใต้การปกครอง

พิธีของการมอบสัตย์สาบานในสมัยนั้น กระทำโดยให้เจ้าผู้ครองที่ดินนั่งคุกเข่าข้างหนึ่งลง ประสานมือทั้งสองเข้าด้วยกันแล้วชูขึ้น (ในทำนองเดียวกับท่าสวดวิงวอนต่อพระเจ้าของคริสต์ชนในปัจจุบัน)

กษัตริย์จะประสานมือทั้งสองข้างของเจ้าผู้ครองที่ดินไว้ จากนั้นเจ้าที่ดินก็จะปฏิญาณตนเป็นข้ารับใช้ของกษัตริย์ เมื่อปฏิญาณเสร็จแล้ว เจ้าที่ดินจะยืนขึ้น แล้วทั้งคู่ก็จะจุมพิตกัน

แน่นอนว่า พิธีกรรมโบราณที่ว่านี่ไม่ได้เป็นการจุมพิตเข้าพระหัตถ์ของกษัตริย์ เหมือนอย่างพระราชพิธีของราชสำนักอังกฤษในปัจจุบันนี้ แต่หากพิจารณาถึงรายละเอียดต่างๆ ในพิธีกรรมทั้งสองอย่างนี้ ก็จะเห็นถึงร่องรอยที่เกี่ยวข้องกันอยู่มาก

เช่น ในพระราชพิธีจุมพิตพระหัตถ์นั้น ผู้ทำการจุมพิตต้องนั่งในท่าคุกเข่าข้างหนึ่งลงเช่นกัน

และควรสังเกตด้วยว่า ตำแหน่งต่างๆ ที่ต้องเข้าทำพระราชพิธีจุมพิตพระหัตถ์ของราชวงศ์อังกฤษนั้น ก็คือ “เจ้าผู้ครองที่ดิน” ในรูปแบบใหม่ของโลกในสมัยหลังจากยุคกลางของยุโรปนั่นเอง

 

น่าสนใจด้วยว่า เมื่อพูดถึงวัฒนธรรมของพวกฝรั่งแล้ว ก็มีอยู่หลายครั้งที่ “การจูบ” ก็ไปเกี่ยวข้องกับพิธีกรรม หรือความศักดิ์สิทธิ์ในพระศาสนาของพวกเขา โดยเฉพาะในศาสนาคริสต์ ตัวอย่างเช่น ในพระคัมภีร์ (ไบเบิล แปลตรงตัวว่า พระคัมภีร์) ภาคพันธสัญญาเดิม (The Old Testament) บทปฐมกาล (Genesis) พระเป็นเจ้าทรงสร้างมนุษย์ขึ้นมาด้วยฝุ่นดิน โดยใช้พระฉายาลักษณ์ของพระองค์เป็นแบบ จากนั้นพระองค์ก็มอบ “ชีวิต” ให้แก่มนุษย์ด้วย “จุมพิต” ของพระองค์

ดังนั้น ตามความเชื่อในคริสต์ศาสนา ชีวิตของมนุษย์จึงเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าประทานมาให้ จาก “ลมหายใจ” ของพระองค์ จึงไม่แปลกอะไรเลยที่คำว่า “ruah” ในภาษาฮิบรู หรือคำว่า “pneuma” ในภาษากรีกโบราณจะมีความหมายแปลได้ทั้งคำว่า “ลมหายใจ” “วิญญาณ” และ “ชีวิต”

และนี่ก็ทำให้ปราชญ์และนักวิชาการของโลกตะวันตกหลายคนเลยทีเดียว ที่อธิบายว่าในภาษาสัญลักษณ์เชิงอุดมคติของโลกตะวันตกนั้น “จุมพิต” หรือ “การจูบ” คือการติดต่อ ประสาน หรือแม้กระทั่งแลกเปลี่ยนระหว่างร่างกายต่อร่างกาย จิตใจต่อจิตใจ รวมไปถึงวิญญาณถึงวิญญาณของคนทั้งสอง

เล่ามาถึงตรงนี้แล้ว ผมก็ยังไม่แน่ใจอยู่ดีว่า พวกมาเฟียในแคว้นซิซิลี ซึ่งทักทายกันด้วยสำนวนที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ฉันจูบมือ” นั้น มีธรรมเนียมการจุมพิตมือของหัวหน้าอย่างที่ในภาพยนตร์ หรือนิยายเรื่อง The Godfather หรือเปล่า? แต่น่าเชื่อว่า ถ้ามีอยู่จริง (หรืออย่างน้อยก็หมายถึงไอเดียที่ถูกนำไปใช้ในนิยาย) ก็คงมีที่มาจากธรรมเนียมการจุมพิตพระหัตถ์ของประมุข ที่มีรากเหง้ามาตั้งแต่ยุคกลางของยุโรปนั่นแหละครับ •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ