ฮามาส-อิสราเอล ความขัดแย้งครั้งที่ 5 (1)

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม | จรัญ มะลูลีม

 

ฮามาส-อิสราเอล

ความขัดแย้งครั้งที่ 5 (1)

 

ผมขอเริ่มต้นความขัดแย้งปาเลสไตน์-ฮามาส ด้วยการยกเอาคำพูดของศาสตราจารย์ชาวยิว นอร์แมน ฟินเกลสไตน์ เจัาของผลงาน Holocaust Industry ที่พูดเสียดเย้ยที่มาที่ไปของรัฐอิสราเอลเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า ฉันคืออิสราเอล

ฉันมายัง “แผ่นดินที่ไร้ผู้คนเพื่อผู้คนที่ไร้แผ่นดิน” แห่งนี้ ผู้คนเหล่านั้นที่บังเอิญอยู่มาก่อน ไม่มีสิทธิอยู่ที่นี่ และพวกของฉันแสดงให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาต้องจากไปหรือไม่ก็ตายเสีย โดยการทำลายหมู่บ้านชาวปาเลสไตน์ 400 แห่ง

และทำลายล้างประวัติศาสตร์ของพวกเขา

 

ฉันคืออิสราเอล

พวกของฉันบางคนก่อเหตุสังหารหมู่และต่อมาได้กลายเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อเป็นตัวแทนของฉัน ในปี 1948 เมนาเฮม เบกิน เป็นผู้นำหน่วยที่สังหารชาวบ้าน ดิร ยาซีน รวมถึงผู้หญิงและเด็ก 100 คน ในปี 1953 แอเรียล ชารอน เป็นผู้นำในการสังหารชาวบ้านกิบยะฮ์ และในปี 1982 ได้เปิดประตูให้พันธมิตรของเราเข้าไปเข่นฆ่า 2,000 ศพในค่ายผู้ลี้ภัยซอบราและชาตีลา

ฉันคืออิสราเอล

ฉันก่อร่างสร้างตัวขึ้นในปี 1948 จากร้อยละ 78 ของดินแดนปาเลสไตน์ ขับไล่เจ้าของเดิมออกไปแล้วแทนที่พวกเขาด้วยชาวยิวจากยุโรปและส่วนอื่นๆ ของโลก แม้ว่าชาวพื้นเมืองที่ครอบครัวอาศัยอยู่บนดินแดนแห่งนี้เป็นเวลาหลายพันปีจะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับ แต่ชาวยิวจากทั่วโลกกลับได้รับการต้อนรับสู่การเป็นพลเมืองในทันที

ฉันคืออิสราเอล

ในปี 1967 ฉันได้กลืนกินดินแดนที่เหลือของปาเลสไตน์-เยรูซาเลมตะวันออก เวสต์แบงก์ และฉนวนกาซา-และให้ชาวเมืองเดิมอยู่ภายใต้การปกครองอันกดขี่ของทหาร ถูกควบคุมและหยามเหยียดในทุกแง่มุมของชีวิตประจำวัน ในที่สุดพวกเขาได้รับรู้ว่าพวกเขาไม่อาจอยู่ในบ้านเกิดของตนเองได้

และต้องไปอยู่ร่วมกับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์อีกหลายล้านคนที่ค่ายอพยพในเลบานอนและจอร์แดน

 

ฉันคืออิสราเอล

ฉันมีอำนาจในการควบคุมนโยบายของสหรัฐอเมริกา คณะกรรมการกิจการสาธารณะอเมริกันอิสราเอลของฉันสามารถสร้างหรือทำลายนักการเมืองคนใดก็ได้ที่คณะกรรมการเลือก และอย่างที่คุณเห็น พวกเขาแข่งขันกันเพื่อเอาใจฉัน กองทัพทั้งมวลของโลกไร้อำนาจที่จะต่อต้านฉัน รวมถึงสหประชาชาติ เนื่องจากฉันมีสิทธิยับยั้งจากสหรัฐอเมริกาที่จะขัดขวางการประณามอาชญากรรมสงครามของฉัน อย่างที่ชารอนประกาศอย่างลำพองว่า “เราบงการสหรัฐอเมริกา”

ฉันคืออิสราเอล

ฉันมีอิทธิพลต่อสื่อกระแสหลักของอสหรัฐเมริกาด้วย และคุณจะพบข่าวที่ปรับให้เหมาะกับฉันเสมอ ฉันได้ลงทุนหลายล้านดอลลาร์ในด้านการประชาสัมพันธ์ ได้ทำงานที่ยอดเยี่ยมในการส่งเสริมการโฆษณาชวนเชื่อของฉัน ดูแหล่งข่าวต่างประเทศอื่นๆ แล้วคุณจะเห็น

ฉันคืออิสราเอล

พวกคุณชาวปาเลสไตน์ต้องการเจรจา “สันติภาพ” งั้นหรือ? แต่คุณไม่ได้ฉลาดเท่าฉัน ฉันจะเจรจา แต่จะยอมให้คุณมีอย่างมากแค่หน่วยการปกครองระดับเทศบาล ในขณะที่ฉันควบคุมดูแลเขตแดน น่านน้ำของคุณ น่านฟ้าของคุณ และสิ่งอื่นที่สำคัญ ในขณะที่เรา “เจรจา” ฉันจะกลืนกินยอดเขาของคุณและเสริมด้วยการตั้งถิ่นฐานโดยประชากรหัวรุนแรงสุดโต่งที่สุดของฉันที่ติดอาวุธเพียบพร้อม การตั้งถิ่นฐานเหล่านี้จะเชื่อมต่อกับถนนที่คุณไม่สามารถใช้ได้ และคุณจะถูกคุมขังตีกรอบให้อยู่ในแผ่นดินแคบๆ ที่ล้อมรอบด้วยจุดตรวจในทุกทิศทาง

ฉันคืออิสราเอล

ฉันมีกองทัพที่แข็งแกร่งที่สุดอันดับสี่ของโลก มีอาวุธนิวเคลียร์ เด็กๆ ของคุณกล้าดียังไงที่เผชิญหน้ากับการกดขี่ของฉันด้วยก้อนหิน คุณไม่รู้หรือว่าทหารของฉันจะไม่ลังเลใจที่จะระเบิดหัวของพวกเขา? ใน 17 เดือน ฉันได้สังหารพวกคุณไป 900 คน และทำให้บาดเจ็บ 17,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลเรือน และฉันได้รับมอบอำนาจให้ดำเนินการต่อ โดยการนิ่งเงียบและเฉยเมยของประชาคมระหว่างประเทศ

ฉันคืออิสราเอล

คุณต้องการอิสรภาพ? ฉันมีกระสุน รถถัง ขีปนาวุธ อาปาเช่ และเอฟ-16 ที่จะกำจัดคุณ ฉันได้ล้อมเมืองของคุณ ยึดที่ดินของคุณ ถอนรากต้นไม้ของคุณ รื้อถอนบ้านของคุณ และคุณยังต้องการอิสรภาพอีกหรือ? คุณไม่ได้ยินหรอกหรือ?

คุณจะไม่มีวันได้รับสันติภาพหรืออิสรภาพ

 

เพราะฉันคืออิสราเอล

สงครามอาหรับอิสราเอลครั้งแรกในปี 1948 อิสราเอลได้เข้ายึดครึ่งหนึ่งที่เป็นส่วนตะวันตกของนครเยรูซาเลมในขณะที่จอร์แดนได้ปกครองส่วนตะวันออก รวมทั้งนครเก่าที่มีหะรอม อัล-ชะรีฟ หรือพื้นที่แห่งความสูงส่ง (Noble Sanctuary) นั่นคือมัสญิด อัล-อักศอที่มีความศักดิ์สิทธิ์อันดับ 3 ของอิสลาม และโดมแห่งศิลา (Done of the Rock) ที่อยู่ติดกับหะรอมอัลชะรีฟตั้งอยู่

กำแพงร้องไห้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่เหลือของวิหารแหล่งที่สองของชาวยิว อันเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาจูดาห์ (Judaism)

อิสราเอลได้เข้าครอบครองนครเยรูซาเลมตะวันออกจากจอร์แดนในปี 1967 ที่เรียกกันว่าสงครามหกวัน และเข้าครองพื้นที่นี้ในเวลาต่อมา

นับตั้งแต่ผนวกดินแดนดังกล่าวมาเป็นของตนแล้วอิสราเอลก็ได้ขยายพื้นที่ที่เป็นที่อยู่อาศัยในนครเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งเวลานี้เป็นที่อยู่ของชาวยิว 220,000 คน

 

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการนำเสนอฉากทัศน์ที่ผ่านมาของดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกเข้ายึดครองมาตั้งแต่ปี 1948 และมีการประกาศตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นในดินแดนชาวปาเลสไตน์ที่ต้องพบกับความอาดูรสูญสิ้น และกลายเป็นผู้คนที่ไร้ที่อยู่ในเวลาต่อมา

ความรุนแรงก่อนหน้าความขัดแย้งในเวลานี้ ซึ่งถือว่าเลวร้ายที่สุดในนครเยรูซาเลมได้พิสูจน์ให้เห็นมาแล้วเป็นทศวรรษ เมื่อฝ่ายบริหารเปิดทางให้ผู้อาศัยชาวยิวเข้ามาแทนที่ชาวอาหรับภายใต้กฎหมายของชาวยิว

แผนการบังคับให้ออกจากที่อยู่อาศัยถูกเรียกโดยสหประชาชาติว่าเป็น “อาชญากรรมสงคราม” ในเมื่อมันเป็นการทำตามอำเภอใจ และไม่มีกฎหมายใดคุ้มครองพลเรือนปาเลสไตน์ในดินแดนที่อิสราเอลเข้ายึดครอง

นับตั้งแต่ต้นมาแล้วที่ชาวปาเลสไตน์รู้สึกถึงการคุกคามที่มาจากโครงการต่างๆ ของชาวยิวที่พยายามขยายการมีอยู่ของชาวยิวต่อไปผ่านกิจการต่างๆ อย่างเช่น การตั้งชื่อสถานที่ใหม่ การเข้ายึดครองดินแดนต่างๆ การสร้างที่อยู่อาศัยขึ้นใหม่ การขับไล่ชาวปาเลสไตน์จากที่อยู่อาศัยเดิม และการออกกฎหมายที่สามารถทำให้ชุมชนชาวยิวขยายตัวในพื้นที่ยึดครองของชาวปาเลสไตน์ได้อย่างอิสระ

ความรุนแรงที่ขยายตัวไปยังอิสราเอล เมืองกาซาและเวสต์แบงก์แสดงให้เห็นความผิดพลาดจากประวัติศาสตร์บาดแผลของอาหรับ-อิสราเอลที่ยังคงหลอกหลอนอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา

หากอ่านบทกวีของมะห์มูด ดาร์วิช (Mahmud Darwish) กวีชาวปาเลสไตน์ที่มีชื่อเสียงเรื่องแม่น้ำที่จบลงด้วยความกระหาย (A River Dies of Thirst) ก็จะเข้าใจถึงความทรมานและความเจ็บปวดของชาวปาเลสไตน์ที่เกิดขึ้นในเมืองกาซา เวสต์แบงก์และเลบานอนได้เป็นอย่างดี