จักรวาลไทบ้าน | คำ ผกา

คำ ผกา

ได้มีโอกาสไปดูหนังเรื่อง “สัปเหร่อ” ที่ทำรายได้สูงเป็นปรากฏการณ์อยู่ตอนนี้ แล้วบอกได้เลยว่าไม่ผิดหวังกับหนังเรื่องนี้ และมีหลายประเด็นที่อยากพูดถึงมาก

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุตสาหกรรมในฐานะที่เป็นซอฟต์เพาเวอร์อันเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์สร้างเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลเศรษฐา หรือจะพูดเรื่องความเป็นอีสาน วัฒนธรรมอีสานในฐานะซอฟต์เพาเวอร์ แต่คิดว่าจะยังไม่คุยประเด็นนี้ เพราะอยากจะเยินยอสุนทรียรสของตัวหนังก่อน

“จักรวาลไทบ้าน” ในหนังเรื่องสัปเหร่อ มีการพูดถึงคำว่า มัลติเวิร์ส อยู่บ่อยมาก

มัลติเวิร์สในความหมายที่แม้จริงเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่สำหรับฉัน “ไทบ้าน” คืออีกมัลติเวิร์สหนึ่งของความเป็น “ไทย”

ไทบ้านเดอะซีรีส์ และการตั้งชื่อ “จักรวาลไทบ้าน” คือการปักหมุดหมายว่า ต่อไปนี้ในโลกภาพยนตร์ไทย เหล่า “ไทบ้าน” จะลุกขึ้นมาเล่าเรื่องราวจาก “จักรวาล” ของตนเอง

เรื่องราวของชาวอีสานไทบ้าน จะไม่ได้ถูกเล่าผ่านสายตาของ “คนนอก” ที่อยู่กันคนละมัลติเวิร์สกับเรา

 

ในอดีต หนังไทยพูดเรื่องคนอีสาน (ในขณะที่คนอีสานเรียกตัวเองว่า “ไทบ้าน” ) จากมุมมองของตนเอง

ความเป็นอีสานในหนังไทยคือความแร้นแค้น แห้งแล้ง ยากจน ความเฉิ่ม ความเชย ความสกปรก คือปลาร้า ปลาแดก คือเด็กตัวดำๆ ผอมๆ ซี่โครงบาน เดินเท้าเปล่าบนดินที่แตกระแหง

คือผู้เฒ่าที่สายตาว่างเปล่า สิ้นหวัง ผิวหนังเหี่ยวย่น

คือเมียเช่า คือผู้ใช้แรงงาน คือเมียฝรั่ง คือคนรับใช้ในบ้าน

คือ ตลกคาเฟ่ “อีสาน” ที่ถูกถ่ายทอดจากสายตา “คนนอก” ไม่เคยมีมิติของความ sophisticate

มีแค่จนที่สุด แห้งแล้งที่สุด ตลกที่สุด หรือไม่ก็กลายเป็นนามธรรมแบบลุงบุญมีระลึกชาติ

และหากจะเริ่มมีคอนเทนต์ที่คนอีสานออกมา “เล่า” ด้วยเสียงของตนเองบ้าง ก็เป็นเสียงที่ถูก “หล่อหลอม” มาจากเสียงเรื่องเล่ากระแสหลักมาแล้ว เช่น เพจ “อิหล่าสไมล์” ที่ฉันติดตามอยู่ ก็จะนำเสนอมความอีสานแบบ humble ถ่อมตัว

เป็นอีสานแบบ “ความสุขของกะทิ” ไม่มีพิษไม่มีภัย สวยงาม น่าอยู่ อุดมสมบูรณ์

แต่หนังของจักรวาลไทบ้าน คือการสลัดทุกภาพจำของอีสาน แล้วนับหนึ่งเล่าเรื่องชีวิตของผู้คนที่หมายถึงพวกเขาเอง (ที่เขาเรียกว่าไทบ้าน) แบบไม่มีคำคุณศัพท์ต่อท้าย

นั่นคือ ไม่ใช่ผู้คนที่ยากจน ไม่ใช่ผู้คนที่ร่ำรวย ไม่ใช่ผู้คนอีสาน ไม่ใช่ผู้คนที่เจ็บปวด

แต่เป็น just “ผู้คน” และชีวิตของพวกเขาก็ไม่พิเศษกว่าใคร หรือย่ำแย่กว่าใคร

พวกเขาล้วนเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมการเมืองที่เรียกว่าประเทศไทย ที่เจอความเปลี่ยนแปลง การพัฒนา ชะตากรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ ชุดเดียวกับที่คนอื่นในสังคมดียวกันเจอ

ต่างเพียงถิ่นฐานที่อยู่ตามภูมิศาสตร์จะต่างกัน พูดภาษาต่างกัน และภาษอีสานก็ไม่ใช่ความ exotic ที่น่าตื่นเต้นอะไร มันก็แค่ภาษาหนึ่งเหมือนภาษาของคนอื่นๆ นั่นแหละ

อีกทั้งชีวิตของผู้คนเหล่านี้ก็ไม่ได้มีความแตกต่างอะไรในความรัก ความฝัน ความทะเยอทะยาน ความเขลา ความเศร้า ความขลาด ไปจนถึงความตาย

 

“สัปเหร่อ” เป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร?

ครอบครัว single dad ครอบครัวหนึ่ง มีลูกชาย 2 คน ลูกชายคนเป็น “หมอ” อยู่สถานีอนามัย ลูกชายอีกคนเพิ่งเรียนจบนิติศาสตร์ กลับมาอยู่บ้านเพื่อเตรียมสอบตั๋วทนาย พ่อมีอาชีพสัปเหร่อ และการเป็นสัปเหร่อสืบต่อจากพ่อโดยความจำเป็น ตกกระไดพลอยโจน

ชีวิตในหมู่บ้านก็มีเรื่องควมรัก ความป่วยไข้ ความตาย ภาวะหัวใจสลายเมื่อต้องพรากจากสิ่งที่รัก และการพาตัวเองออกจากสภาวะ “หัวใจสลาย” เพราะ C’est la vie ชีวิตก็เป็นแบบนี้!

เรื่องมีแค่นี้ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเลย และเป็นวงจรชีวิตของมนูษย์ที่แสนจะเป็นสากล “จักรวาลเดียวกัน”

หนังสัปเหร่อสำหรับฉันมันให้รสชาติแปลกใหม่เหมือนได้ไปดูหนังของ “จักรวาล” หนึ่งที่ปลดแอกตัวเองออกจากความเป็น “ไทย” ทั้งความเป็นไทยฉบับราชการ และความเป็นไทยในแบบฉบับของ “ชนชั้นกลาง” รวมไปถึงความเป็นไทยแบบ “ช่วล”

แต่ได้สถาปนาภาษา ไวยากรณ์ มาตรฐานคุณค่าของสิ่งที่ฉันของเรียกรวมๆ ว่า respectability

สถาปนาชุดคุณค่า ลำดับชั้นต่ำสูงความเศร้า ความสุข ความดี ความงาม ในแบบของ “ไทบ้าน” โดยไม่ได้ร้องขอให้ใครช่วยมายอมรับสิ่งนี้

แต่แค่ออกมาประกาศว่า “เราเป็นแบบนี้”

ขณะเดียวกัน ก็ไม่ได้บอกว่า “เราชอบและภูมิใจที่เราเป็นแบบนี้”

สปิริตแบบไทบ้านคือ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราด้อยกว่าใคร

ขณะเดียวกัน เราก็ไม่รู้สึกว่าเราภูมิใจอะไรนักหนากับสิ่งเราเป็น และหากเราเป็นในสิ่งที่ดีกว่านี้ได้ เราก็จะเป็น

พระที่ฉันข้าวเย็น วงไพ่ ไฮโลในงานศพ บ้าน ส้วม รั้ว ถ้วยชาม ตะกร้าแขวนสบู่ ยาสีฟัน พลาสติกที่เอียงกระเท่เร่ อยู่เสมอ อาหาร รถเครื่อง วงเหล้า เด็กแว้น กะเทย ชายแท้เล็บเจล กูเกิล มุ้ง ที่นอน ม่าน คอมพิวเตอร์ ฯลฯ ทุกรายละเอียดที่ไม่ถูก gentrified ตามภาพชนบทในจินตนาการของ “คนนอก” อย่างที่เราคุ้นชิน

 

สําหรับรสนิยมของฉัน สัปเหร่อ ยังเป็นหนังที่ไม่ได้มีความทะเยอทะยานอยากเป็นหนังที่ฉลาดกว่าคนดู อยากเป็นแค่หนังที่เล่าเรื่องง่ายๆ ความรัก ความผิดหวัง ครอบครัว เพื่อน ผ่านบทสนทนาที่อยากจะใช้คำว่า “สะอาด” ไม่ฟูมฟาย ไม่พูดมาก จะมีแค่ตัวละคร “พ่อ” ที่จะมีบทเป็น “ปกาศก” ประกาศ ความจริง ความงาม สัจธรรม ต่างๆ ออกมาอยู่เนืองๆ คือเหมือนเป็น “ปัญญาชน” ประจำเรื่อง คอยพูดอะไรคมๆ ให้เรารู้สึก “รู้แจ้ง” ผ่านคำคม คำสอน

ตรงกันข้ามกับภาพ “ยาย” ที่จะไม่พูดคำคม คำสอน หรืออะไรที่ลึกซึ้ง บทสนทนาจะมีแค่

“ยายทำหยัง”

“ปอกหอม”

“ปอกกี่หัวแล้ว”

“หกหัว เจ็ดหัว แปดหัว”

แล้วบทสนทนาก็มีเท่านี้ หรือตอนที่ยายพูดแค่ “กินข้าว กินข้าว กินข้าวเสียจะได้มีแฮง”

ยายผู้ซึ่งไม่ต้องยกอ้างคำสอน ปรัชญาชีวิตก็เป็นตัวละครทรงพลังที่เป็นตัวเปลี่ยนชะตากรรมของตัวละครในหนัง

พลังของหนังเรื่องสัปเหร่อ จึงไม่ใช่ความเลอเลิศในทางการ “ภาพยนตร์” แต่มันคือการประกาศอิสรภาพของ “ท้องถิ่น” ที่ลุกขึ้นมาเล่าเรื่องโลกใบนี้จากตัวฉันที่มีจักรวาลของตนเอง มิได้เป็นเมืองขึ้นของใคร และไม่ติดค้าง ไม่มีปมด้อย ไม่ได้อยากประกาศความเกรียงไกรอะไร และพร้อมแล้วที่จะเป็นส่วนหนึ่งของโลก ไม่ได้ยึดติดกับภาษาอีสานหรืออะไร พูดก็ได้ ไม่พูดก็ได้

แต่พูดเพราะมันถนัดปากกว่าภาษาอื่น แต่ถ้าพูดภาษาอื่นได้ด้วยก็ยิ่งดี

 

สิ่งนี้พิสูจน์ว่า ท้องถิ่นของไทยเชื่อมต่อกับ “โลก” แล้ว โดยไม่ได้ “ผ่าน” กรุงเทพฯ และกรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นศูนย์กลางของความเจริญและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมอีกต่อไป

และในที่สุดกลุ่มคนที่ provincial หรือ globalized ทางวัฒนธรรมน้อยที่สุดก็อาจจะเป็นกรุงเทพฯ ก็เป็นได้ เพราะความเป็นไทยตามแบบราชการที่ทึกทักเอาว่าเก่าแก่ ดีงามกว่าใคร

หนัง ละคร จึงไม่สามารถนำเสนอภาพกรุงเทพฯ ร่วมสมัยอย่างที่มันเป็น และไม่สามารถสะท้อนสำเนียง และความหลากหลายของผู้คนได้มากพอ หรือเมื่อไหร่ที่หนังไทยเสนอภาพความเป็นไทย “อย่างที่มันเป็น” ก็จะถูกอธิบายว่า เป็นหนังที่พูดถึง “ด้านมืด” ของไทย ทั้งๆ ที่มันไม่ใช่ “ด้านมืด” มันแค่เป็นด้านที่ “จริง”

สัปเหร่อ ไม่ใช่หนังที่สมบูรณ์แบบแน่นอน แต่เป็นหนังที่ดูแล้วอิ่มเอม ไม่เสียดายเวลาที่ได้ไปดู

ที่แน่ๆ มันคือหมุดหมายของการประกาศอิสรภาพทางรสนิยม ทางวัฒนธรรมของไทบ้าน

และการประกาศว่า ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ และคนชั้นกลางไม่ได้มีแบบเดียวในแบบที่กรุงเทพฯ มีและเป็น