สัปเหร่อ : เมื่อความรักกับความตาย กลายเป็นความทรงจำ ในเมตาเวิร์สแบบไทบ้าน

ใครจะไปนึกว่าหนังบ้านๆ ที่รู้จักกันว่าเป็นหนึ่งในหนังชุดไทบ้านเดอะซีรีส์นั้นทำรายได้ถึง 400 กว่าล้านในการเข้าฉายไม่กี่วัน และยังมีกระแสต่อเนื่องแบบปากต่อปาก ทำให้มีคนเข้าไปดูเต็มทุกโรงทุกรอบ ต้องเพิ่มรอบถึงตีสองคนดูก็ยังล้น

ทั้งที่หนัง ‘ไทบ้าน’ ภาคก่อนหน้านั้นมีคนดูเฉพาะกลุ่ม บางภาคทำรายได้น้อยมาก

บางภาคทำรายได้พอสมควรแต่ก็ไม่ได้มากมายนัก

หรือบางคนดูตัวอย่างหนังภาคก่อนๆ อาจจะคิดด้วยซ้ำว่า หนังแนวนี้เข้ามาฉายในโรงทั่วไปได้อย่างไร

“สัปเหร่อ” หนังลำดับที่ 8 ในชุดจักรวาลไทบ้านหากรวมภาคแยกต่างๆ ด้วย หนังได้เล่าถึงเรื่องราวชาวบ้านหรือไทบ้านแบบปกติทั่วไปของหมู่บ้านๆ หนึ่งในอีสาน แม้คนดูจะรู้ว่าหมู่บ้านนี้ชื่อโนนคูณ หรือบางคนอาจจะไม่เคยได้ยินชื่อเลยก็ตาม แต่เชื่อว่าหลายคนย่อมคุ้นเคยกับหมู่บ้านทำนองนี้ดี

ไม่ใช่เพราะได้ดูหนังจากภาคก่อนๆ แต่มันเป็นหมู่บ้านที่ทุกคนรู้จัก เคยเห็น คุ้นเคยกับหมู่บ้านลักษณะนี้ที่แทบจะมีอยู่ทุกจังหวัดในอีสานหรือแม้แต่ภาคอื่นๆ ของไทย

บ้านโนนสูงจึงเป็นตัวแทนของสังคมคนชนบทท่ามกล่างความแปรเปลี่ยนของยุคสมัย

ไม่ว่าจะเป็นการคืบคลานเข้ามาของทุนและเทคโนโลยี ส่งผลต่อความสัมพันธ์ของผู้คนในสังคม พ่อแก่แม่เฒ่าเฝ้าบ้านอยู่ที่บ้านนอก

คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งที่ตกหล่นจากระบบการศึกษาก็เลือกใช้ชีวิตชนบทต่อไป ไม่ว่าจะเป็น รับจ้างทั่วไป ค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ฯลฯ

สำหรับหนุ่มสาวส่วนใหญ่ที่เข้ามาเรียนต่อ ทำงานที่กรุงเทพฯ ต่างก็ปากกัดตีนถีบเพื่อจะส่งเงินกลับไปต่างจังหวัด บางคนพลาดหวังหรือทดท้อต่อชะตากรรมก็ต่างทยอยกลับไปบ้านที่ต่างจังหวัด

บางคนเหมือนคนแปลกหน้าของผู้คนในหมู่บ้าน

บางคนเคยชินกับวิถีคนเมืองไปแล้ว ก็จะกลายเป็นความประดักประเดิดในบ้านเกิดของตน

 

สภาพของสังคม “ไทบ้าน” ในหนังเรื่องสัปเหร่อจึงสะท้อนออกมาให้เราเห็นถึงคุณค่าหรืออุดมคติของชีวิตที่หลากหลายผสมปนเปกันไป

เป็นไทบ้านที่วันๆ เอาแต่ตั้งวงเหล้าเมามายไปวันๆ ก็มี

เด็กวัยเรียนที่ความรักเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดแล้วในชีวิตตอนนี้

พ่อแก่แม่เฒ่าเข้าวัดวายึดถือฮีตคองตามครรลองที่ยึดถือปฏิบัติมา

หนุ่มสาวที่พยายามครองตนตามอาชีพอันได้รับการนับหน้าถือตาในสังคม

ชายหนุ่มผู้อยากก่อตั้งกิจการเฝ้าฝันถึงความร่ำรวย

คนหนุ่มสาวที่ไขว่คว้าหาความรักที่ตนหมายปอง ฯลฯ เหล่านี้แทบไม่ต่างจากความเป็นจริงในสังคมต่างจังหวัดของไทยในปัจจุบัน

หากดูจากชื่อเรื่อง “สัปเหร่อ” ตามหน้าหนังก็จะตรงไปตรงมาที่หนังเล่าถึงชีวิตและการทำงานของสัปเหร่อที่เป็นอาชีพที่ผู้คนสมัยนี้ไม่มีใครอยากจะทำต่อไปอีกแล้ว

หนังเล่าถึง “เจิด” ผู้ที่เพิ่งเรียนจบนิติศาสตร์จากกรุงเทพฯ โดยใช้เวลาร่ำเรียนถึง 8 ปี ระหว่างรอสอบใบอนุญาตทนายที่ตนใฝ่ฝันก็กลับมาบ้านพร้อมกับความไม่เข้าใจในอาชีพของพ่อที่เป็นสัปเหร่อ มองการทำงานของพ่อด้วยสายตาที่เห็นว่าเป็นเรื่องล้าสมัย

แต่เมื่อพ่อไม่สบาย ไม่อาจทำหน้าที่สัปเหร่อต่อไปไม่ไหว เจิดจึงรับอาสาทำหน้าที่แทนอย่างเสียมิได้เพื่อให้พ่อสบายใจ

เมื่อเจิดได้เรียนรู้งานที่พ่อทำมาตลอดชีวิต จึงเปลี่ยนความเข้าใจทั้งที่มีต่อตัวเอง พ่อและชาวบ้าน ตลอดจนเปลี่ยนทัศนะต่อเรื่องความตายไปอย่างสิ้นเชิง

 

หนังได้พาเราไปสำรวจความตายรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าคนแก่เฒ่า คนหนุ่มสาว ตลอดจนเด็กหญิงชายความตายไม่เลือกเว้นให้เรา คนต่างศาสนา ต่างความเชื่อศรัทธา ผี พุทธ คริสต์ อิสลาม ล้วนต้องเผชิญความตายเช่นเดียวกัน แตกต่างกันตรงพิธีกรรม

ซึ่งหนังก็เล่าให้รายละเอียดได้ดี ไม่ว่าจะเป็นพิธีซ้อนขวัญคนตายให้วิญญาณกลับบ้านตรงจุดเกิดเหตุ

การเสี่ยงทายโยนไข่ไก่เลือกจุดเผาศพ

งานศพชาวพุทธรูปแบบและรายละเอียดที่แตกต่างกัน

พิธีฝังศพชาวคริสต์ การเตรียมศพของชาวมุสลิม ฯลฯ

หนังเล่ารายละเอียดของความเชื่อแต่ละศาสนาแตกต่างกันออกไป ราวกับจะบอกว่า วิถีไทบ้านทุกวันนี้เต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายไม่ได้ต่างจากความเป็นเมืองในปัจจุบันแต่อย่างใด

แต่สิ่งที่แทบจะเหมือนกันของทุกคน ทุกวัฒนธรรมประเพณีเมื่อพูดถึงความตายก็คือความโศกเสร้าเสียใจ

ความคิดถึง โลกหลังความตายที่มนุษย์เราสร้างขึ้นมา

จึงเป็น “จักรวาล” ของความทรงจำที่เราอยากมีปฏิสัมพันธ์กับ “ความตาย” ของผู้คนที่เรารักและคิดถึง

 

หนังให้ตัวละครตัวหนึ่งที่ชื่อป่อง แสดงออกถึงความหมกหมุ่นอยู่กับเทคโนโลยีและความก้าวหน้าสมัยใหม่ ไม่ว่าในภาคก่อนๆ จะอยากเป็นเจ้าของร้านสะดวกซื้อ สโตร์ผัก สมาทานความคิดบริหารจัดการของยุคสมัยและคิดว่าชีวิตนี้จัดการปัญหาและสิ่งต่างๆ ได้ด้วยเทคโนโลยี

สำหรับเรื่องสัปเหร่อนี้ ป่องต้องบวชเป็นพระตามเงื่อนไขของผู้เป็นพ่อ แต่ก็บวชไปอย่างนั้น ไม่ได้เชื่อว่าศาสนาจะเป็นทางออกแต่อย่างใดสำหรับชีวิต

เขาจึงคลุกตัวอยู่กับคอมพิวเตอร์และแท็บเล็ตตลอดเวลา พร้อมทั้งหลุดคำว่า “เมตาเวิร์ส” (metaverse) ออกมาบ่อยครั้งทั้งจากป่องและเซียงตัวละครอีกตัวก็พูดเชิงล้อเลียนถึงคำว่า “มัลติเวิร์ส” (multiverse) โดยจงใจยั่วล้อตามสไตล์ของหนังถึงความคลั่งไคล้เทคโนโลยีและความคิดสมัยใหม่ของตัวละครหรือแม้กระทั่งตัวสังคมเองก็ตาม

แต่ผู้เขียนรู้สึกว่าหนังเรื่องนี้กำลังอยากสื่อสารกับคนดูถึง “พื้นที่” บางอย่างของชาวบ้านที่เป็นพื้นที่ของความทรงจำของคนที่เรารักไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ หรือแม้กระทั่งคนรัก

มีหลายฉากที่เห็นได้ชัดว่าหนังกำลังพูดถึง “เมตาเวิร์ส” หรือ “โลก” อีกโลกหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตหลังความตาย หรือโลกอีกใบของความทรงจำก็ตาม

 

ในทำนองเดียวกัน “เซียง” ชายหนุ่มผู้ผิดหวังกับความรักและฝังใจกับ “ใบข้าว” คนรักเก่าที่ตายจากไป

เซียงต้องการกลับไปแก้ไขความสัมพันธ์ในครั้งก่อน จึงต้องหาวิธีการเพื่อเข้าไปในโลกหลังความตาย ซึ่งเซียงใช้วิธี “ถอดจิต”ซึ่งหมายถึงการพาสำนึกรู้ของเราไปยังบางที่ บางเวลา เพื่อจะได้พบกับคนที่เรารักและคิดถึง

เซียงจึงต้องอ้อนวอนร้องขอจากสัปเหร่อผู้เป็นพ่อของเจิดให้สอนการถอดจิตให้ โดยแลกกับการสัญญาว่าจะมาเป็นผู้ช่วยสัปเหร่อให้กับเจิด

“โลก” ที่เซียงถอดจิตได้ออกไปพบกับใบข้าว อดีตคนรักที่ตายไป โลกใบนั้นจึงเป็นโลกอีกโลกหนึ่งที่เซียงสร้างขึ้น

เป็นเมตาเวิร์สของความทรงจำแห่งความรักที่เซียงมีต่อใบข้าว เป็นมัลติเวิร์สของความเป็นไปได้

ฉากที่เป็นโลกของการถอดจิตนี้ผู้กำกับฯ จงใจให้แตกต่างจากฉากที่เป็นเนื้อเรื่องทั่วไปอย่างเห็นได้ชัด

ก่อนหน้านี้ฉากทั่วไปอื่นๆ จะถ่ายทำแบบเรียบง่ายตามมาตรฐานของหนังซีรีส์ไทบ้าน แต่พอเป็นฉากถอดจิตนี้หนังถ่ายทำได้สวยงาม

บางฉากที่คล้ายเป็นทะเลทรายนั้นจัดให้เป็นฉากหนึ่งในหนังฮอลลีวู้ดได้สบาย เข้าใจว่าหนังคงอยากให้เราเห็นว่าเป็นอีก “จักรวาล” จักรวาลหนึ่งนั่นเอง

เป็นเมตาเวิร์สของการกลับไปแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต ในทางปรัชญาอาจเรียกได้ว่าเป็นเป็นโลกที่อาจเป็นไปได้ (possible worlds) นั่นเอง

บางครั้งการที่เราอยากละทิ้งโลกที่เราอยู่จริงเพื่อหลบลี้หนีเข้าไปในโลกที่เต็มไปด้วยความสุข ความทรงจำแม้จะชั่วครู่ชั่วยามก็ตาม โลกหลังความตาย โลกของความเชื่อก็เป็นจักรวาลอีกจักรวาลหนึ่งที่สร้างขึ้นมา

แม้จะดูงมงาย ไม่ทันสมัย แต่แล้วมันจะแตกต่างอะไรจากเมตาเวิร์สเล่า ที่มนุษย์สมัยใหม่ก็ใช้ไปหลบลี้หนีจากโลกจริงไปมีความสุข ไปหาผลประโยชน์ต่างๆ จาก “จักรวาล” อีกใบที่เราสร้างขึ้นมาเช่นเดียวกัน

 

หนังเรื่อง “สัปเหร่อ” จึงสร้าง “จักรวาล” ขึ้นมาใหม่ พาเราไปยังโลกของความทรงจำจากความรักที่ได้สิ้นสุดลงในโลกนี้จากความตาย

ให้กลายมาเป็น “โลก” อีกโลกหนึ่งที่ความรักและสัมพันธภาพของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ ของเรายังดำรงอยู่และดำเนินต่อไปในหลายโลกที่อาจเป็นไปได้

และท่ามกลางความแตกต่างหลากหลายของสังคม ไม่ว่าจะเป็นคุณค่า อุดมคติ ความคิดความเชื่อ ฯลฯ โลกทางความคิดที่มนุษย์สร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเรียกว่า ศาสนา อุดมคติทางการเมือง ชีวิตที่ดี ฯลฯ ก็แทบจะไม่ต่างจาก “เมตาเวิร์ส” “มัลติเวิร์ส” “จักวาลนฤมิต” “พหุภพ” หรือ “โลกที่อาจเป็นไปได้” ฯลฯ

จะเรียกว่าอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายสิ่งเหล่านี้จะเป็น “พื้นที่” ที่ทุกคนมีส่วนร่วมและเข้าถึงได้และเปิดโอกาสให้มีการปะทะสังสรรค์ทั้งความเหมือนและความแตกต่าง

หากเราเปิดโอกาสให้มี “พื้นที่” แห่งความเป็นไปได้ที่หลากหลายเช่นนี้ อาจบางทีสงครามหรือความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอาจจะไม่นำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็เป็นได้