อุษาวิถี (52) โครงสร้างและความเปลี่ยนแปลง (ต่อ) | วรศักดิ์ มหัทธโนบล

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ธุรกรรมทั้งสองด้านนี้ต่างเอื้อประโยชน์ต่อมูลนายอย่างมาก เมื่อเทียบกับการที่ต้องดูแลไพร่ในสังกัดเมื่อก่อนหน้านี้ที่เต็มไปด้วยปัญหา

แต่ก็ด้วยสถานะเช่นนี้เอง ที่ต่อมาได้ทำให้ชาวจีนเหล่านี้ค่อยๆ ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลทางการเมืองอย่างช้าๆ นั่นคือ ในส่วนของชาวจีนที่เป็นแรงงานกุลี หากไม่เปลี่ยนฐานะของตนมาเป็นแรงงานที่ใช้ทักษะมากขึ้น ก็จะเปลี่ยนมาเป็นผู้ประกอบการรายย่อยแทน

แล้วปล่อยให้การใช้แรงงานกุลีกลายเป็นเรื่องของชาวจีนที่ไร้ความรู้ และเพิ่งเข้ามายังสยามใหม่ๆ และจำนวนไม่น้อยก็มักจะเป็นแรงงานกุลีให้แก่บรรดาเจ้าสัวที่เป็นชาวจีนด้วยกัน

ส่วนชาวจีนที่เป็นพ่อค้าหรือขุนนางนั้น ได้เปลี่ยนฐานะของตนด้วยการผูกสายสัมพันธ์กับมูลนายมากขึ้น อันนับเป็นหนทางในระยะแรกๆ ก่อนที่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างค่อนข้างจะเต็มตัวในที่สุด

โดยเฉพาะภายหลังการปฏิวัติสยามในปี พ.ศ.2475 (ค.ศ.1932)

 

ที่น่าสังเกตก็คือ ชาวจีนสามารถเลื่อนชั้นฐานะของตนจากแรงงานกุลีมาเป็นแรงงานที่ใช้ทักษะ เป็นผู้ประกอบการรายย่อย ไปจนถึงพ่อค้าได้ตลอดเวลา

ที่เป็นเช่นนี้ได้ก็เพราะพื้นฐานความอิสระที่ตนได้รับมาแต่เดิมประการหนึ่ง กับพื้นฐานของการเป็นคนนอกที่ยากจนข้นแค้นจากเมืองจีน แต่มีความขยันหมั่นเพียร ทรหดอดทน และประหยัดมัธยัสถ์ อีกประการหนึ่ง

จากสถานะที่เปลี่ยนไปเช่นนี้ของชาวจีน ได้ส่งผลให้ชาวจีนกลายเป็นกลุ่มคนที่มีฐานะพิเศษยิ่งกว่าที่เคยมีมาในสมัยรัฐอยุธยา และมากกว่าชาวต่างชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาวตะวันตกที่มีบทบาทมากขึ้นภายหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง (หรืออื่นๆ)

ที่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ก็ไม่อาจสร้างสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดชนชั้นปกครองได้ดีเท่าชาวจีน กระทั่งต้องจ้างชาวจีนมาเป็น “กัมประโด” ที่มีเงินเดือนไม่สูง แต่ค่านายหน้าสูงอย่างยิ่ง

ด้วยเหตุนี้ ชาวจีนในรัฐกรุงเทพฯ กลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่จึงเป็นผู้มีฐานะไม่ต่างกับราษฎรชาวสยามในโครงสร้างที่เปลี่ยนไป ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยนั้น มีฐานะที่อยู่ในระนาบเดียวกับขุนนางไทยได้อย่างไม่ขัดเขินภายใต้โครงสร้างเดียวกันนี้

 

สถาบันทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าวปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในด้านหนึ่งขนบจารีตจากลัทธิขงจื่อย่อมต้องเข้ามามีบทบาทไปด้วย

กล่าวคือ เป็นบทบาทที่แสดงผ่านชาวจีนอีกชั้นหนึ่ง และโดยที่ราชสำนักสยามเองก็มิได้ปฏิเสธด้วยเช่นกัน บทบาทนี้มิใช่บทบาทที่เข้าไปกำหนดความเป็นไปของสถาบันทางการเมืองต่างๆ อย่างที่ศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธเป็น

หากแต่ถูกแสดงออกด้วยวิถีปฏิบัติของชาวจีนผ่านฐานภาพใหญ่สองภาพด้วยกัน

ภาพแรก เป็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนชั้นสูงที่เป็นขุนนางและไม่ได้เป็น อย่างหลังนี้หมายถึงบรรดาเจ้าสัวหรือพ่อค้าที่ร่ำรวยกับมูลนาย

ภาพที่สอง เป็นภาพความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนชั้นล่างกับสามัญชนคนไทยทั่วไป ในยุคสมัยที่พลังของระบบไพร่ได้อ่อนตัวลงแล้ว

จากฐานภาพทั้งสองนี้จะเห็นได้ว่า ฐานภาพแรก ชาวจีนชั้นสูงมีฐานะไม่ต่างกับการเป็นตัวกลางให้กับความสัมพันธ์ระหว่างชาวจีนชั้นล่างกับมูลนายไปด้วยในตัว

ในขณะที่ฐานภาพที่สองนั้น ชาวจีนชั้นล่างจะมีฐานะเป็นตัวกลางให้ความสัมพันธ์ของชาวจีนชั้นสูงกับไพร่หรือสามัญชนคนไทยทั่วไปทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

 

การที่ขนบจารีตจากลัทธิขงจื่อสามารถแสดงบทบาทของตนได้นั้น เป็นเพราะโดยพื้นฐานความคิดของลัทธินี้ไม่มีความขัดแย้งกับศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ เป็นลัทธิที่ไม่ปฏิเสธความจำเป็นของสถาบันทางการเมือง

ที่สำคัญ ลัทธินี้ยังส่งเสริมให้บุคคลใช้ความรู้ความสามารถของตน เข้าช่วยทำให้สถาบันทางการเมืองมีความเข้มแข็งและเจริญรุ่งเรืองอีกด้วย

นอกจากนี้ ลัทธิขงจื่อยังมีความเชื่อในฐานะทางสังคมที่แตกต่างกัน และชนแต่ละชั้นต่างก็มีหน้าที่ตามสิ่งที่เรียกว่า “ความเที่ยงแห่งนาม” ดุจเดียวกับที่ศาสนาพราหมณ์ให้ความสำคัญกับระบบวรรณะ ที่แต่ละวรรณะมีหน้าที่ของตนคอยกำกับอยู่

ส่วนศาสนาพุทธมหายานที่ชาวจีนนับถือนั้น แม้จะเป็นกระแสรองจากลัทธิขงจื่อ แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ไม่เป็นอุปสรรคในการอยู่ร่วมกันระหว่างชาวจีนกับชาวสยาม

ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่า บทบาทจากขนบจารีตของลัทธิขงจื่อนี้ แท้จริงแล้วก็คือ บทบาทของสายสัมพันธ์ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ วัฒนธรรม ที่เข้ามาเชื่อมร้อยชนแต่ละชั้นในสังคมสยามเอาไว้ โดยให้อยู่ภายใต้โครงสร้างเดียวกันของสังคมฐานันดรนั้นเอง

 

ผลของการเปลี่ยนแปลงนี้สามารถสรุปให้เห็นภาพได้ว่า ในขณะที่ระบบไพร่ได้อ่อนแรงลงไป พร้อมกับอิสระที่อดีตไพร่สามารถบุกเบิกที่ทำกินเป็นของตนเอง ไพร่ที่กลายเป็นสามัญชนคนธรรมดาเหล่านี้ ถึงที่สุดแล้วก็มิอาจตัดขาดความสัมพันธ์ของตนออกไปจากมูลนาย การพึ่งพาภายใต้ระบบความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ยังคงอยู่ต่อไป

เป็นอยู่แต่ว่าไม่มีความซับซ้อนดังเมื่อครั้งระบบไพร่ยังมีพลังอยู่

สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือว่า ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ที่มูลนายเคยมีอยู่กับไพร่อย่างเหนียวแน่นเมื่อก่อนหน้านี้ ได้ถูกผ่องถ่ายไปยังชาวจีนแทน

เหตุฉะนั้น โครงสร้างสังคมฐานันดรที่สถาบันทางการเมืองกับขนบจารีตที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ สิ่งที่เอื้อต่อ “สิทธิ” ของชนแต่ละชั้นนั้น ในด้านหนึ่งจึงมีที่มาจากความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ไปด้วย

ทั้งนี้ “สิทธิ” ตามกฎหมายยังเป็นพื้นฐานรองรับที่สำคัญ

และถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างหลังจากที่ระบบไพร่ได้สลายไปแล้วอย่างสิ้นเชิงก็ตาม แต่รากฐานทางวัฒนธรรมที่มีขนบจารีตรองรับเอาไว้ด้วยความคิดเดิมยังคงอยู่

ซึ่งจากนี้ไป งานศึกษาจะเรียกว่าสิทธิตามนัยที่ว่านี้ว่า “สิทธิตามประเพณีไทย” ต่อไป