ปิดฉาก ‘เรือดำน้ำ’ ยี่ห้อจีน พท.-ทร.งัดแก้ ‘จีทูจี’? หนทาง ‘เรือฟริเกต’ ไม่ง่าย

มาไกลได้เท่านี้ สำหรับ ‘เรือดำน้ำ’ S26T ชั้นหยวนคลาส (Yuan Class) วงเงิน 13,500 ล้านบาท ของกองทัพเรือ (ทร.) ที่ต้องถูกคว่ำลง หรือต้องยกเลิกโครงการหลังจากเดินหน้ามา 6 ปี ภายหลังที่ติดปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ MTU 396 ของเยอรมนี ที่ไม่อนุมัติขายให้บริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. (CSOC) จนกระทั่งจีนต้องเสนอเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็น CHD 620 ของจีน

ทำให้ปม ‘เครื่องยนต์’ เรื่องเดียวทำให้โครงการถูกดองมาร่วม 2 ปี จนในที่สุดวันนี้น่าชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลไทย-ทร. ไม่เอาเครื่องยนต์ CHD 620 ขอยกเลิกโครงการเรือดำน้ำ เปลี่ยนเป็นเรือ ‘ฟริเกต’ เรือรบ 3 มิติ ‘บนน้ำ ใต้นำ อากาศ’

ภายหลัง ‘นายกฯ นิด’ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บินไปร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่ 3 (Belt and Road Forum for International Cooperation : BRF) และการเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการ ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 17-19 ตุลาคมที่ผ่านมา

พร้อม ‘สนามไชย 1’ คีย์แมนอย่าง ‘บิ๊กทิน’ นายสุทิน คลังแสง รมว.กลาโหม อยู่ในวงพูดคุยนอกรอบ กับ ‘หลี่ เฉียง’ นายกฯ จีน รวมทั้ง ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน เพื่อเคลียร์ปม ‘เรือดำน้ำ’

และนำมาสู่การเปลี่ยนเป็นเรือ ‘ฟริเกต’ ในที่สุด

 

“ทร.ขอให้รัฐบาลพยายามให้ได้เครื่องยนต์นั้น นายกฯ รับปาก ไปเจรจาก็ไม่เป็นผล จึงมาสู่แนวทางว่า ถ้าไม่สามารถที่จะให้เครื่องยนต์ตามข้อตกลงตามสเป๊กเครื่องยนต์ MTU 396 ดังนั้น ทร.ขอ 2 แนวทาง

1. ขอเปลี่ยนรายการไม่เอาเรือดำน้ำก็ได้ แต่ขอเป็นเรือฟริเกต 3 ระบบ สามารถต่อสู้ทางอากาศ ผิวน้ำ ใต้น้ำ ส่วนราคาก็จะประมาณเรือดำน้ำ

2. ถ้าไม่ได้เรือฟริเกต ขอเป็นเรือ OPV เรือตรวจการณ์ระยะไกลทดแทน ผมและรัฐบาลพิจารณาแล้วว่า ขอเลือกแนวทางที่ 1 คือเรือฟริเกต ซึ่งราคาสูงกว่าเรือดำน้ำ 1,000 ล้านบาท โดยนำเงินการสร้างอู่เรือดำน้ำ ระยะที่ 3 ที่ยังไม่ทำสัญญา จะไม่กระทบงบประมาณ’ นายสุทินกล่าวขณะหว่างตรวจเยี่ยม ทร.”

นอกจากนี้ ‘สนามไชย 1’ ยืนยันว่า “ไม่ใช่การยกเลิกสัญญา แต่เป็นการปรับปรุงหรือเปลี่ยนเงื่อนไขใหม่ ภายใต้ข้อตกลงเดิมรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) รัฐบาลไทยและจีนให้ระงับเรื่องเรือดำน้ำ แล้วมาเขียนข้อตกลงขึ้นใหม่ว่าจะเอาเรือฟริเกต”

“ส่วนเงินที่ไทยจ่ายไปแล้ว ไทยเสนอว่าขอให้เป็นการเคลม เป็นค่าเรือฟริเกตราว 7 พันล้านบาทเมื่อหักลบกับที่ยังไม่ได้จ่ายอีก 6,000 ล้านบาท อาจจะต้องเพิ่มอีก 1,000 ล้านบาท ส่วนราคารวมของเรือฟริเกตลำใหม่จากการศึกษาอยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้าน”

 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ ‘รัฐบาล-ทร.’ จะขอเปลี่ยนโครงการ ‘เรือใต้นำ’ เป็น ‘เรือบนผิวน้ำ’ คงไม่ง่ายอย่างที่พูด เนื่องจากอาจมีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ติดระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง กรมบัญชีกลางกระทรวงการคลัง?

ดูแล้วงานนี้ไม่ง่ายอย่างที่ ‘บิ๊กทิน’ พูด เพราะขั้นตอนยังอีกยาว ต้องคุยกันในรายละเอียดเรื่องสัญญา ข้อตกลงใหม่อีกเยอะ ดังนั้น ต้องบินไปคุยกับจีนอีกหลายรอบ เพราะวันนี้เป็นเสียงจากฝังไทยเพียงฝ่ายเดียว

มีรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 ตุลาคมที่ผ่านมา ‘รมว.กลาโหม’ เรียก ‘บิ๊กดุง’ พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) พร้อมทีมงานโครงการเรือดำน้ำมาชี้แจงรายละเอียดหากจะเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต มีข้อกฎหมายอะไรที่เป็นปัญหา หรือที่ไปเซ็นไว้มีอะไรบ้าง เมื่อเปลี่ยนแปลงสัญญาต้องนำเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติอีกรอบหรือไม่ เพื่อความถูกระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง…

“การจัดซื้อเรือดำน้ำแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่สำคัญเป็นข้อตกลง ไม่น่าจะติดเรื่องข้อกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลมอบอำนาจให้ ทร.ไปตกลง รวมถึงโครงการที่ชะงักนั้นเพราะเหตุสุดวิสัย ดังนั้น จะล้มเลิกโครงการแบบกำปั้นทุบดิน พูดเอามันแบบฝ่ายค้านพูดไม่ได้ เพราะต้องระวังเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่ยังต้องพึ่งพากันเรื่องเศรษฐกิจระยะยาว ทั้งเรื่องแลนด์บริดจ์ การท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า ฯลฯ ดังนั้น จะทำอะไรต้องคิดให้เยอะ” แหล่งข่าวระดับสูงกระทรวงกลาโหมระบุ

แหล่งข่าวบอกว่า หากไทยเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกตได้จริงก็ไม่ได้เสียหาย เพราะความตั้งใจของ ทร.ต้องมีเรือฟริเกตประจำการ 8 ลำ วันนี้มีเพียง 5 ลำที่ใช้งานได้ หากดูตามแผนป้องกันประทศของ ทร. จะมีการเสนอขอจัดซื้อเรือฟริเกตอีกลำในปี 2567 เป็นแผนเดิมที่ถูกแขวนเอาไว้ด้วย

 

อย่างไรก็ดี คณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ทหาร) ที่มี ‘วิโรจน์ ลักขณาอดิศร’ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ในฐานะประธาน มีคิวเชิญ ผบ.ทร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงในวันที่ 26 ตุลาคมนี้ เพื่อเคลียร์ข้อสงสัยทั้งหมด ส่วนผลออกมาเป็นอย่างไร พอใจหายข้อสงสัยหรือไม่ คงต้องติดตามหลังจากนี้…

ขณะเดียวกัน ในสังคมวันนี้ เริ่มมีเสียงวิพาษ์วิจารณ์ถามหาความรับผิดชอบ ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงการ ‘เรือดำน้ำ’ เพราะนอกจากเงินล่วงหน้า 7 พันล้านแล้ว ยังมีออปชั่นอื่นอีก ทั้งท่าจอดเรือ, โรงซ่อมบำรุง, คลังเก็บอาวุธ (ตอร์บิโด) – จรวจนำวิถี-ทุ่นระเบิด รวมทั้งอาคารฝึกแบบจำลอง 3 มิติ, เรือลากจูงขนาดกลาง ที่เดินหน้าทำไปแล้ว

โดยเฉพาะของใหญ่อย่างการจัดซื้อเรือยกพลขึ้นบก แอลพีดี (LPD) จากจีน ที่ใช้งบประมาณ 6,100 ล้านบาท ที่ ‘บิ๊กลือ’ พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ ช้อปช่วงเป็น ผบ.ทร.เมื่อปี 2562 โดยครั้งนั้น ได้สั่งชะลอโครงการต่อเรือฟริเกตสมรรถนะสูง ลำที่ 2 จากเกาหลีใต้ราคา 15,000 ล้านบาท ออกไปก่อน โดยวันนี้เรือยกพลขึ้นบก ก็มาประจำการแล้วเพื่อเป็นพี่เลี้ยงเรือดำน้ำ แต่เรือดำน้ำดันไม่โผล่!!!

หากมองในด้านบวก โครงการ ‘เรือดำน้ำ’ ได้ผ่านการรับรองจากรัฐบาล มีการยอมรับความจำเป็นในการจัดหาแล้ว เพียงแต่มีอุปสรรค ดังนั้น คงต้องรอเวลาที่เหมาะสมต่อไป

เมื่อไหร่คงไม่มีใครตอบได้

 

เมื่อย้อนโครงการ ‘เรือดำน้ำ’ ครั้งแรกสมัย ‘บิ๊กติ๊ด’ พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผบ.ทร.ช่วงปี 2552 ได้เสนอแผนพัฒนา ทร.ระยะ 10 ปี พร้อมหยิบโปรเจ็กต์ ‘เรือดำน้ำ’ มาปัดฝุ่นอีกครั้ง คือ เรือดำน้ำ U206 A มือสองเยอรมนี จำนวน 6 ลำ วงเงิน 7.6 พันล้านบาท ที่ถูกดอง

กระทั่งเปลี่ยนรัฐบาลมาเป็น ‘นายกฯ ปู’ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ โดยมี ‘บิ๊กอ๊อด’ พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เป็น รมว.กลาโหม จนมีการปรับ ครม. ให้ ‘บิ๊กโอ๋’ พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต นั่งสนามไชย 1 ในที่สุด ‘เรือดำน้ำ’ U206A มือ 2 ของเยอรมนีก็ถูกคว่ำลง เนื่องจากการประเมินเวลานั้นอาจไม่คุ้มค่า

แต่หากค้นข้อมูลในโลกออนไลน์ จะพบว่า ‘เรือดำน้ำ’ U206A มือสองเยอรมนี ที่ไทยไม่เอาคราวนั้น ทร.โคลัมเบียได้ซื้อไปใช้งานยังสามารถใช้งานได้ดีจนทุกวันนี้…

ส่วนบทสรุป เรือดำน้ำ & เรือฟริเกต จะจบลงอย่างไร ท้ายที่สุดแล้วหวยจะไปออกที่ซื้อเรือเปล่าแล้วมาติดอาวุธเองหรือไม่ เดี๋ยวได้รู้กัน