‘เสี่ยโต้ง ภูมิใจไทย’ เผยความสำเร็จ ‘สัปเหร่อ’ ถ้าหนังฉายก่อนเลือกตั้ง ‘ผมแพ้เยอะกว่านี้’

หมายเหตุ : รายการ “เอ็กซ์-อ๊อก talk ทุกเรื่อง” ทางช่องยูทูบมติชนทีวี สนทนากับ “เสี่ยโต้ง-สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ” อดีต ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย และผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้อำนวยการสร้างภาพยนตร์เรื่อง “สัปเหร่อ” ที่กำลังทำรายได้เข้าสู่หลัก 400 ล้านบาท (อัพเดตวันที่ 31 ต.ค. 66 รายได้กำลังเข้าสู่ 700 ล้านบาท)

 

: จากจุดเริ่มต้นของ “ไทบ้าน เดอะซีรีส์” จนมาถึงวันที่ “สัปเหร่อ” ทำรายได้หลายร้อยล้านบาท ในฐานะคนอยู่เบื้องหลังหนัง “จักรวาลไทบ้าน” มีความรู้สึกอย่างไร?

วันแรกที่เขา (ทีมผู้สร้าง) เอาหนังตัวอย่าง (ไทบ้าน เดอะซีรีส์ 1) ไปฉายรอบปฐมทัศน์ที่จังหวัดศรีสะเกษ คนดูเขาก็โทร.มา วันนั้น ผมไม่ไปดู ผมไม่กล้าดู ผมถามหนังเป็นยังไงบ้างพี่? เขาบอกว่าไม่มั่นใจ ทำไม (ตัวละคร) ใช้คำพูด “กู-มึง” เยอะจัง แต่ผมก็ลืมไปว่าคนที่ผมถาม เขาอยู่สภาวัฒนธรรม

ตั้งแต่วันนั้น เราก็เห็นวันที่เขา (ทีมผู้สร้าง) สำเร็จ ก็ไปร่วมงานเลี้ยงกัน ผมก็บอกว่าวันนี้เขา “โชคร้ายในโชคดี” ที่เขาสำเร็จตั้งแต่เขายังไม่รู้จักล้มเหลว ฉะนั้น ถ้าเกิดเขายืนระยะได้ เขาก็จะสำเร็จต่อได้ แต่ถ้าเขาพลาดมันจะไม่มีโอกาสมากนักที่เขาจะกลับมาฟื้น แล้วเราก็พูดแบบนี้ทุกภาค

เราก็ลุ่มๆ ดอนๆ หลังจากทำหนังภาคแรกไป ไม่ขาดทุน เอาเงินมาคืนเรียบร้อย เงินที่เหลือผมก็ให้เขาเอาไปสร้างเนื้อสร้างตัว หลังจากนั้น ก็อยู่กันแบบครอบครัว เหมือนกับพ่อให้เงินลูกไปแล้ว พ่อบอกเอาไปทำทุน ลูกเอาเงินกลับมาคืน แล้วกำไรเขาก็เอาไปสร้างเนื้อสร้างตัว พอไม่มีเงินก็แวะมา “ยืมตังค์หน่อยเฮีย” หมุนเวียนกันไปแบบนี้

จนกระทั่งพอมาถึงหนังเรื่อง “สัปเหร่อ” ภาคล่าสุด ถ้าชื่อเต็มก็ “ไทบ้าน สัปเหร่อ” เราก็พาเพื่อนไปดู เดินออกมาจากโรงหนัง สิ่งที่ผมคิดวันนั้นคือภาพทุกภาพตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันมันวิ่งเข้ามา แล้วผมก็คิดเป็นคำพูดได้คำเดียวว่า “โตแล้ว”

คือเขาโตแล้ว เรารู้สึกเลยว่าลูกเราโตแล้ว เขาเป็นผู้ใหญ่แล้ว ทุกภาคเวลาดู เราก็จะต้องมีข้อตำหนิ คราวนี้ เขาถ่ายทอดทุกอย่างออกมาได้ราบรื่นมาก ดีมาก เนื้อหาแข็งแรง ภาพสวย ตัดต่อดี

: ถ้าจะถอดรหัสความสำเร็จของ “สัปเหร่อ” และ “จักรวาลไทบ้าน” อะไรคือปัจจัยบ้าง?

ผมอาจบอกไม่ได้ น้องๆ ไทบ้านก็บอกไม่ได้ว่ามันสำเร็จจากอะไร แต่อาจจะตอบได้ว่าสิ่งที่เราทำมันถูกใจผู้บริโภค

เราเริ่มต้นจากหนังไม่มีเงิน หนังทุนต่ำมาก (“ไทบ้าน เดอะซีรีส์ ภาคแรก” ใช้ทุนสร้าง 2 ล้านบาท) เราก็จะสอนเด็กว่า ถ้าเริ่มต้นคิดว่าต้องมีตังค์เท่านั้นเท่านี้แล้วถึงจะทำได้ดี ไม่มีทาง แต่ถ้าเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่ามีตังค์เท่านี้ ลองคิดดูว่าทำยังไงมันถึงจะรอด มันก็ทำได้

เขาก็เริ่มจากไม่มีเสื้อผ้า ไม่มีช่างแต่งหน้า ไม่มีไฟ กล้องไปยืมไปเช่าเขามาถ่าย บางฉากไม่มี (กล้อง) ไปเอาไอโฟนถ่ายหนัง แต่ฟีดแบ็กคนดูที่ผมเห็นเมื่อ 6-7 ปีก่อน เขาบอกว่านางเอกใส่เสื้อบอลนอน เขาบอกว่าเนี่ย ชีวิตฉัน

เวลาดูเด็กไทบ้าน ไม่เหมือนดูดารา เหมือนเราดูเพื่อนเล่นกัน แซวกัน คุยกัน ผมคิดว่าคนดูรู้สึกแบบนี้ เพราะคนดูมีความรู้สึกว่า คนเหล่านี้ไม่ได้ไกลตัว ไม่ได้หล่อจนแบบแตะต้องไม่ได้ ถ้าไอ้นี่เป็นพระเอกได้ ฉันก็เป็นพระเอกได้ แต่สำคัญคือเด็กมันเล่นไม่แข็ง ทุกคนเล่นเป็นตัวเองมาก ผมคิดว่าสิ่งนี้ที่มันทำให้คนเริ่มรู้จักไทบ้าน

แล้วเราก็เริ่มสั่งสมประสบการณ์ ลองผิดลองถูก ลองไปครอสโอเวอร์กับ “บีเอ็นเค 48” ซึ่งในแง่รายได้ไม่ขี้เหร่ ในแง่ของเพลงก็ดี แต่ในแง่คำวิจารณ์ อาจจะมีคนบอกว่าไม่ใช่ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีคนอีกกลุ่มบอกว่านี่เปิดโลก

เราก็มาถึง (หนัง) นอกจักรวาลอย่างเช่น “รักหนูมั้ย” ที่เป็นหนังฟีลกู๊ดมาก เรื่องนั้นดีมากๆ แต่ไม่ได้ดีในแง่รายได้ เพราะมันเพิ่งโควิด หนังเรื่อง “เซียนหรั่ง” รายได้ก็ไม่ได้ดีมาก อย่าง “หมอปลาวาฬ” รายได้ก็อาจจะน้อยที่สุดของจักรวาล เพราะช่วงจังหวะมันไม่ดี

เราก็เก็บสะสมประสบการณ์มาเรื่อยๆ ถอดบทเรียนด้วยตัวเอง พอมาสุดท้าย ก็เป็นความสำเร็จของเรา

: เราเรียก “จักรวาลไทบ้าน” ว่าเป็น “ซอฟต์เพาเวอร์” ได้ไหม?

ถ้าถามคำว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” คือแนวคิดของเรามันมีมาก่อนคำนี้ (จะเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทย) วันนั้น เรายังไม่รู้เลยว่ามันคืออะไร เพียงแต่ว่าผมดูหนังเรื่อง “กวน มึน โฮ” แล้วผมก็รู้สึกว่าดีนะ เหมือนกับว่าทำแล้วอยากให้ไปเที่ยว หรือเราดูหนังเกาหลี เราก็มีความรู้สึกอยากกิน “โซจู” “มักกอลลี” “หมูกระทะ”

ดังนั้น จุดกำเนิดของไทบ้าน มันก็มาจากการที่เราคิดว่า ถ้ามันมีหนังอีสานสักเรื่อง และคนดูแล้วอยากจะไปเที่ยวบ้านเรา มันจะเป็นยังไง

หลังจากที่ทำไทบ้านแต่ละภาคออกมา จนมาถึง “สัปเหร่อ” สิ่งหนึ่งที่เราได้เห็นก็คือเราได้เห็นการเติบโตของกลุ่มนักแสดง ที่เดิมทีเขาไม่ได้มีเวที

เราได้เห็นการมีรายได้ของศิลปินอีสาน เราได้เห็นการเติบโตของเพลง เราได้เห็นคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเพลงเอาเพลงของ “เซิ้ง (มิวสิก)” (ค่ายเพลงของทีมทำหนัง “จักรวาลไทบ้าน”) ไม่ว่าจะเป็น “กอดเสาเถียง” อะไรต่างๆ นานา ไปร้องเพื่อหารายได้

เราเห็นคนอีสานที่ไม่ได้อยู่บ้าน เขาดูหนังเสร็จแล้วเขาอยากกลับบ้าน เราได้เห็นโรงหนังในต่างจังหวัดที่จะไปรอดหรือไม่รอดไม่รู้ แต่ทุกครั้งที่หนังไทบ้านเข้า เขาเกิดปรากฏการณ์เต็มโรง ขายตั๋วได้ ขายป๊อปคอร์นได้ ขายเครื่องดื่มได้

ถ้าเกิดว่าสิ่งเหล่านี้ที่ผมพูดมาทั้งหมดเรียกว่า “ซอฟต์เพาเวอร์” เราก็คิดว่ามันใช่

: โอเคไหม ถ้ารัฐบาลจะนำหนังใน “จักรวาลไทบ้าน” ไปเป็นต้นแบบของ “ซอฟต์เพาเวอร์”?

โอเค ถ้าเกิดว่าเขาเอาไปแล้ว คนได้ประโยชน์

ต้องเรียนว่าสูตรหนึ่งของไทบ้านที่ผมคิดว่าอาจจะ “ต่าง” คือเรา “ไม่ยัดเยียด” มีหนังหลายเรื่องที่เขาก็มาขอผมสนับสนุน แล้วผมมีความรู้สึกว่ามันเฉพาะกลุ่มเกินไป มันยัดเยียดเกินไป ผมก็ไม่ไหว บอกว่าไม่พร้อมจะให้การสนับสนุน

อย่างเช่น สมมุติว่า ถ้าบอกว่าจะทำหนังเรื่อง “ศรีสะเกษ สบายดี” ให้ผมทำ ผมไม่เอานะ เพราะผมรู้สึกว่ามันยัดเยียดไป ทำไมต้องใช้ชื่อ “ศรีสะเกษ สบายดี”

หรือแบบว่าต้องการที่จะถ่ายทอดวิถีชีวิตของคนเผ่าใดเผ่าหนึ่งในศรีสะเกษ ผมก็ไม่เอา เพราะผมรู้สึกว่ามันยัดเยียดไป เพราะในความเป็นจริง ก็อยู่ด้วยกันได้ทุกเผ่า จะเป็นส่วย ลาว เยอ เขมร มี 4-5 เผ่า ก็อยู่ร่วมกันได้ทุกเผ่า ถ้าให้มาทำหนังเหมือนสารคดี ผมไม่เอา ไม่ใช่แนว

แต่ถ้าเกิดบอกว่าตัวละครเป็น “หนุ่มเยอ” ไปหลงรักสาวที่ไหนก็แล้วแต่ แค่นั้นพอ แต่ไม่ต้องไปถึงขนาดจะตั้งใจยัดเยียดให้ เราไม่ชอบแบบนั้น

: แม้จะทำหนัง “จักรวาลไทบ้าน” ประสบความสำเร็จ แต่ในมิติการเมือง คุณสิริพงศ์ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งคราวนี้ ทั้งสองสิ่งเชื่อมโยงกันไหม?

มันคนละเรื่องกันเลย เพราะประเด็นที่หนึ่ง ผมไม่เคยใช้หนังเป็นเครื่องมือในการเลือกตั้งของผม ผมไม่เคยใช้เด็กๆ (ทีมผู้สร้าง-นักแสดง) มาเป็นเครื่องมือในการเลือกตั้ง เต็มที่ ผมก็ให้ทำเพลงให้ แล้วก็ไม่ได้บอกด้วยว่าใครทำ ใครร้อง คือแยกกันโดยสิ้นเชิง

ไม่เคยมีสักครั้ง ที่ผมบอกว่าเด็กๆ ต้องไปช่วยผมหาเสียงเลือกตั้ง ไม่ใช่ ที่ผมทำ (หนัง) เพราะผมชอบ ผมอยากทำ ผมอยากจะทำเรื่องพัฒนาจังหวัดผม มากพอๆ กับทำเรื่องการเมือง

น้องชายผมถาม ถ้าหนังเรื่องนี้ออกมาก่อนเลือกตั้ง (ผม) จะชนะไหม? ผมบอกว่า “กูแพ้เยอะกว่าเดิม” ก็เพราะว่าปัจจัยในการแพ้ของเรา เพราะเราประมาทไง