จากท่อนจันทน์ในอดีต สู่ “ดอกไม้จันทน์” ในปัจจุบัน

ญาดา อารัมภีร
โกศบรรจุศพอินทรชิต ภาพเขียนห้องที่ 81 ระเบียงคด วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

สมัยโบราณเครื่องหอมอยู่คู่กับงานศพ โดยเฉพาะ ‘จันทน์’ มีบทบาทตั้งแต่ตอนบรรจุศพลงในโกศ บทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” (ฉบับรัชกาลที่ 1) บรรยายถึงการทำศพอินทรชิต โอรสทศกัณฐ์พญายักษ์ ว่า

“บัดนั้น จึ่งมโหทรมารยักษา

ก้มเกล้ารับราชบัญชา ก็เอาโกศรัตนาพรายพรรณ

เข้ามาแล้วเชิญพระศพ ลูกเจ้าจอมภพไอศวรรย์

ใส่ลงกับสุวคนธ์จรุณจันทน์ ตามบัญชาการอสุรี”

ในวรรณคดีเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นงานศพยักษ์หรือมนุษย์ ‘จันทน์’ เป็นหนึ่งในเครื่องหอมที่ขาดไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากงานพระเมรุท้าวทศรถ พระสัตรุดและพระชนนีทั้งสอง (นางเกาสุริยา และสมุทรเทวี) ถือดอกไม้ธูปเทียนและไม้เนื้อหอม เช่น กฤษณา และจันทน์ มาวางรอบพระโกศก่อนถวายพระเพลิง

“เมื่อนั้น พระสัตรุดสุริยวงศ์นาถา

กับสองสมเด็จพระมารดา พระวงศาสนมกำนัล

บ้างถือสุคนธมาลาศ ธูปเทียนโอภาสฉายฉัน

กฤษณาเนื้อไม้จวงจันทน์ พร้อมกันถวายอัญชุลี

ต่างต่างขมาลาโทษ รายรอบพระโกศจำรัสศรี

คำรพจบจุดอัคคี ถวายเพลิงภูมีแล้วร่ำไร”

 

ก่อนถวายพระเพลิงจะนำไม้หอม อาทิ ท่อนจันทน์ กฤษณา และกระลำพัก มาวางไว้ที่เชิงตะกอน ดังที่บทละครในเรื่อง “ดาหลัง” กล่าวถึงพิธีศพของระตูมงกลและระเด่นมังกันติกาหรา พระโอรสว่า

“จึงเชิญพระศพเจ้านครา ขึ้นมหาเชิงตะกอนอำไพ

ทั้งพระโอรสยศยง ก็วางเคียงพระบิตุรงค์เป็นใหญ่

ลำดับด้วยท่อนจันทน์คันธมาลัย ทั้งกฤษณาเนื้อไม้กระลำพัก”

การนำไม้หอม เช่น จันทน์ และกฤษณา บรรจุลงในโกศ หรือนำมาปรุงเป็นเครื่องหอมบรรจุไปพร้อมกับศพ รวมทั้งวางไม้หอมที่เชิงตะกอนเผาศพ ตลอดจนวางรายรอบพระโกศแทนฟืน เมื่อไฟลุกไหม้จึงเกิดกลิ่นหอมฟุ้งตลบอบอวลไปทั่วบริเวณ ดังตอนถวายพระเพลิงท้าววิรุญมาศพญายักษ์ ในเรื่อง “ลักษณวงศ์”

“ลมรำเพยเชยเพลิงโพลงประดัง ด้วยกำลังเพลิงผลาญประหารพลัน

ฟุ้งตลบกลบกลิ่นด้วยเครื่องหอม รำจวนจอมภูผาพนาสัณฑ์”

ข้อความว่า “ฟุ้งตลบกลบกลิ่นด้วยเครื่องหอม” ‘กลิ่น’ ในที่นี้คือ กลิ่นไม่พึงประสงค์ของศพที่เผาไหม้ถูกกลบด้วยกลิ่นหอมสารพันในยุคสมัยที่ยังไม่มีฟอร์มาลินใช้

การถวายพระเพลิงตัวละครกษัตริย์ในวรรณคดีดังกล่าวมาข้างต้น ใกล้เคียงกับ “คำให้การขุนหลวงหาวัด” ที่บันทึกว่า พระเจ้าเอกทัศ

“จึ่งรับสั่งให้ถวายพระเพลิงด้วยไฟฟ้า แล้วจึ่งเอาท่อนกฤษณากระลำพักและท่อนจันทน์อันปิดทอง บรรดาเครื่องหอมปวงนั้น ใส่ในใต้พระโกศทองทั้งสอง แล้วจึ่งจุดเพลิงไฟฟ้า แล้วจึ่งสาดด้วยน้ำหอมและน้ำดอกไม้เทศและน้ำกุหลาบ และน้ำหอมทั้งปวงต่างๆ อันมีกลิ่นหอมฟุ้งขจรตลบไปทั้งพระเมรุทอง”

 

นอกจากการใช้ท่อนจันทน์เป็นเชื้อจุดไฟถวายพระเพลิงตัวละครที่เป็นกษัตริย์ ยังพบในการทำศพตัวละครที่เป็นคนสามัญ เช่น ‘นางวันทอง’ ในเสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” เมื่อตั้งศพครบ 3 วันก็ถึงเวลาเผา พระไวยลูกชายของนางเข้าไปในป่าช้า เสกคาถา เอาน้ำมันงาเดือดๆ ทาทั่วตัว แล้วขึ้นนอนบนเชิงตะกอน ให้ยกศพแม่วันทองขึ้นวางทับ ญาติพี่น้องเอาท่อนจันทน์วาง ช่วยกันเผาพระไวยไปพร้อมๆ กับแม่ ภาพนี้น่าสยองเอาการ

“ถ้วนคำรบจบเป่าน้ำมันงา เดือดฉ่าทาตัวด้วยฉับพลัน

ครั้นทาทั่วผ้าผ่อนแลเกศา พระไวยลุกออกมาขมีขมัน

ขึ้นนอนบนเชิงตะกอนนั้น จึงให้ยกศพหันขึ้นวางทับ

พวกพ้องพี่น้องมาช่วยเผา จึงเอาท่อนจันทน์ฟันประดับ”

อาจารย์ศุภร บุนนาค ให้ความเห็นไว้ในหนังสือ “สมบัติกวี-ขุนช้างขุนแผน” ว่า

“ที่ทำเช่นนั้นไม่ทราบว่าต้องการอะไร แต่อาจจะเป็นว่าเพราะรู้สึกตัวว่าเป็นต้นเหตุให้แม่ตาย จึงให้เขาเผาพร้อมกับแม่ให้คล้ายกับว่าตายด้วยกัน แม่ร้อนก็ให้ร้อนเท่ากันก็เป็นได้”

กาญจนาคพันธุ์ และนายตำรา ณ เมืองใต้ ในหนังสือ “เล่าเรื่องขุนช้างขุนแผน” มีมุมมองเรื่องนี้ต่างไป

“เอาตัวเองทำเป็นเหมือนเชิงตะกอนเผาแม่ ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างมาแต่โบราณอย่างใดอย่างหนึ่ง งานพระเมรุพระบรมอัฏฐิสมเด็จพระชนกาธิบดี ก็ปรากฏในพงศาวดารว่า ‘เวลาบ่ายวันนั้นถวายพระเพลิงพระบรมอัฏฐิด้วยไม้หอมต่างๆ และในเวลาที่ถวายพระเพลิงพระบรมอัฏฐินั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล ช่วยกันทรงเชิญพระจิตกาธาน ซึ่งประดิษฐานพระบรมอัฏฐิไว้ด้วยพระหัตถ์จนถวายพระเพลิงเสร็จ’ ดูคล้ายคลึงกัน” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

เสภาเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ตอนเผาศพแม่ลูกพร้อมกัน ร่างพระไวยอยู่ยงคงกระพัน ถึงถูกเผาก็ไม่เป็นอันตราย เมื่อศพแม่ไหม้แล้ว พระไวยก็ออกมาจากเชิงตะกอน ผลัดผ้านิมนต์พระปลงผม เข้าโบสถ์บวชอุทิศส่วนกุศลให้แม่

 

จากท่อนจันทน์ในอดีตมาสู่ดอกไม้จันทน์ในปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ เคยทรงสันนิษฐานเมื่อครั้งเสด็จงานพระศพ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ พระราชนัดดาในรัชกาลที่ 4 ดังนี้

“ในนั้นมีกำหนดให้จัดของตั้งถวายในการพระราชทานเพลิงศพ คือ ให้จัดธูปเทียน เข้าตอกดอกไม้กับท่อนจันทน์ นึกแปลเอาว่า ธูปเทียน เข้าตอกดอกไม้นั้น สำหรับทรงขมาศพ ท่อนจันทน์ (เปนฟืน) สำหรับเผาศพ ภายหลังประดิษฐ์แก้ไขเปนดอกไม้จันทน์ไปเสีย” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

‘จันทน์’ มิได้สัมพันธ์เพียงงานศพ มีอะไรมากกว่านั้น

ฉบับหน้าอย่าพลาด •