ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก : (8) เอเชียใต้ระเบียบที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก

: (8) เอเชียใต้ระเบียบที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง

 

แผนภูมิทางขวาแสดงแนวคิดระเบียบแผ่นดินอันเหลื่อมล้ำที่มีจีนเป็นศูนย์กลางอารยธรรมความเจริญ (中華思想 จงหัวซือเสี่ยง) ล้อมรอบด้วยคนป่าเถื่อนนอกเขตอารยธรรมจีน (化外之地 ฮว่าไว่จือตี้) ทั้งสี่ทิศ ซึ่งจักรวรรดิจีนยึดถือกันมาตั้งแต่ครั้งโบราณจนถึงราชวงศ์ชิงหรือแมนจูจึงค่อยเสื่อมคลายลง

เขตอารยธรรมจีนประกอบด้วยวงสีแดงเข้มตรงกลางได้แก่องค์พระจักรพรรดิ (天子), สีชมพูคือ ข้าราชบริพารชั้นใน (内臣 เน่ยเฉิน), สีฟ้าคือข้าราชบริพารชั้นนอก (外臣 ไว่เฉิน), สีฟ้าจางคือประเทศราช (朝贡国 เฉาก้งกั๋ว)

ส่วนภายนอกวงสีฟ้าออกไปคือเหล่าคนเถื่อนประกอบด้วย 北狄 (เป่ยตี๋) หมายถึงชนส่วนน้อยทางเหนือ, 東夷 (ตงอี๋) หมายถึงคนป่าเถื่อนทางตะวันออก, 西戎 (ซีหรง) หมายถึงชนส่วนน้อยทางตะวันตก และ 南蠻 (หนานหมัน) หมายถึงคนป่าเถื่อนทางใต้ ซึ่งรวมทั้งชาวสยามด้วย

(https://www.newworldencyclopedia.org/entry/Sinocentrism)

แผนที่เส้นทางสายไหมใหม่ของจีนที่มุ่งสู่เอเชียภายใต้ระเบียบที่มีจีนเป็นศูนย์กลาง https://www.oliverstuenkel.com/2014/11/21/chinas-towards-sinocentric/

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อต้นปี 2022 (https://thedigradio.com/podcast/clash-of-empires-w-ho-fung-hung/) ต่อจากตอนก่อนดังนี้ :

แดเนียล เดนเวอร์ : อาจารย์หงครับ คุณเขียนไว้ว่าระหว่างศตวรรษที่เจ็ดถึงสิบในราชวงศ์ถังนั้น ระเบียบที่มีจีนเป็นศูนย์กลางปกแผ่ไปทั่วเอเชีย ระเบียบที่ว่านั้นถูกท้าทายช่วงสั้นๆ โดยความพยายามของจักรวรรดิญี่ปุ่นที่จะสร้างระเบียบเอเชียที่มีญี่ปุ่นเป็นศูนย์กลางขึ้นแทน (http://isas.arts.su.ac.th/?p=4234) และภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองก็ปรากฏว่า ระเบียบสงครามเย็นที่สหรัฐครอบงำนั่นเองได้ขึ้นมาปกแผ่ในเอเชีย อย่างนี้แล้วพอจะพูดได้ไหมครับว่าตอนนี้จีนกำลังพยายามปลุกชีพฟื้นระเบียบเอเชียที่มีจีนเป็นศูนย์กลางขึ้นมาอีกครั้ง?

และถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว ฐานะครอบงำของสหรัฐซึ่งนับเป็นเรื่องตลกร้ายที่จีนนั่นแหละเป็นผู้ออกเงินทุนอุดหนุนให้น่ะ มันส่งผลกระทบต่อความทะเยอทะยานระดับภูมิภาคของจีนอย่างไรบ้างครับ? และมาบัดนี้ที่ทั่วทั้งโลกตะวันตกโดยรวมพากันสามัคคีต่อต้านรัสเซียอยู่นี่น่ะ มันทำให้จีนตกอยู่ในฐานะลำบากด้วยไหมครับ?

โฮเฟิง หง : ก่อนเกิดสงครามยูเครนนั้น จีนมองว่าสถานการณ์ของจีนกับสถานการณ์ของรัสเซียเทียบเคียงกันได้ครับ ความข้อนี้แสดงออกอย่างโจ่งแจ้งยิ่งในแถลงการณ์ร่วม 4 กุมภาพันธ์ศกนี้ (2022) ระหว่างปูตินกับสี จิ้นผิง ช่วงเปิดงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งจีนประกาศสนับสนุนการที่รัสเซียคัดค้านเรื่องที่องค์การนาโตแผ่ขยายตัวมาถึงบรรดาอดีตรัฐสหภาพโซเวียตทั้งหลาย

ขณะเดียวกันข้างรัสเซียก็สนับสนุนการที่จีนคัดค้านการก่อตัวของพันธมิตรความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ดูแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ได้ที่ http://en.kremlin.ru/supplement/5770)

จะเห็นได้ว่าประเด็นโต้แย้งกันเป็นเรื่องไต้หวัน ทะเลจีนใต้ และเหล่าประเทศเอเชียอาคเนย์ทั้งมวลที่มีข้อพิพาทเรื่องดินแดนกับจีน สมัยสงครามเย็นน่ะ ประเทศเหล่านี้ล้วนเป็นรัฐบริวารของจักรวรรดิสหรัฐกันทั้งนั้นนะครับ

 

ทว่า ในรอบสิบยี่สิบปีหลังนี้ เป็นที่แน่ชัดว่าจีนกำลังพยายามขยายอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของตนในบรรดารัฐเหล่านี้ครับ กัมพูชาเป็นรัฐที่จีนมีความสัมพันธ์ด้วยลึกซึ้งยาวนานที่สุด และกล่าวในทางการเมืองแล้ว กัมพูชาก็เป็นมิตรกับจีนที่สุดด้วยแหละครับ นอกจากนี้ ก็ยังมีการขยายอิทธิพลของจีนในศรีลังกาและเนปาล โดยเฉพาะในเนปาลนั้นน่ะมีพวกเหมาอิสต์ที่สัมพันธ์เชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์กับจีน และต้องการใช้จีนมาถ่วงทานอำนาจอินเดียด้วย

รัฐเหล่านี้เอาเข้าจริงเป็นบริวารของจักรวรรดิจีนในประวัติศาสตร์นะครับ และคุณก็คงจะเห็นได้แล้วว่าจีนกำลังพยายามฟื้นฟูอิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองของตน เหนือรัฐเหล่านี้ขึ้นมาใหม่

ทว่า ที่ยุ่งยากลำบากก็คือสถานการณ์ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดน่ะมันแตกต่างอย่างยิ่งจากสถานการณ์ช่วงต้นสมัยใหม่หรือสมัยสงครามเย็นครับ สมัยนั้นน่ะรัฐเล็กรัฐน้อยพากันเจียมตัวเจียมใจยอมรับฐานะลูกน้องรองบ่อนสังกัดจักรวรรดิที่ใหญ่กว่า แต่มาเดี๋ยวนี้ลัทธิชาตินิยมเป็นกระแสแพร่หลายทุกแห่งหนจากยูเครนไปจรดไต้หวัน มาเลเซีย รวมทั้งรัฐเล็กๆ ทั้งหลายเหล่านี้ พวกเขาต่างก็ต้องการอัตวินิจฉัยและอิสรภาพกันครับ

ทางหนึ่งที่จะบรรลุสิ่งนี้ได้คือเล่นเกมให้ประเทศมหาอำนาจพวกนี้มาถ่วงดุลกันและกัน และนี่ก็คือสิ่งที่รัฐเล็กๆ เหล่านี้ได้ทำมาจวบจนปัจจุบันแหละครับ

บ่อยครั้งการวิเคราะห์ของเรามักเพ่งเล็งรวมศูนย์ที่พลวัตระหว่างเหล่าประเทศมหาอำนาจด้วยกันมากไปโดยใส่ใจรัฐเล็กๆ เหล่านี้ไม่เพียงพอ

ความข้อนี้แสดงให้เห็นในกรณีวิกฤตยูเครนครับ เพราะไม่มีใครคาดหมายเลยว่ายูเครนจะยืนหยัดต่อต้านอย่างดุเดือดขนาดนั้น แม้แต่ประธานาธิบดีไบเดนเอง ตอนที่เขาเสนอทางออกให้ประธานาธิบดีเซเลนสกีนั้นน่ะ เขาทึกทักว่ายูเครนจะแตกพ่ายอย่างรวดเร็ว และดีที่สุดที่สหรัฐทำได้คือเสนอที่หลบภัยให้แก่บรรดาผู้คนที่จะขอลี้ภัยไปอยู่เท่านั้นเอง

แต่แล้วทหารหาญชาวยูเครนกับความปักใจชาตินิยมอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะปกป้องประเทศของตนก็กลับทำให้ทุกคนประหลาดใจครับ

 

เรื่องทำนองเดียวกันก็เป็นจริงในเอเชียด้วยนะครับ รัฐเล็กๆ ทั้งหลายมีสำนึกสูงยิ่งในเรื่องที่ว่าพวกเขาไม่ต้องการตกเป็นบริวารไม่ว่าของจีนหรือสหรัฐ และฉะนั้นพวกเขาก็เลยกำลังพัฒนายุทธศาสตร์ที่เอามหาอำนาจเจ้าหนึ่งมาถ่วงดุลอีกเจ้าหนึ่งเพื่อคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยสูงสุดของตน

ฟิลิปปินส์เป็นตัวอย่างที่ดีครับ โรดริโก ดูแตร์เต ขึ้นมาครองอำนาจในฐานะประธานาธิบดีประชานิยมแอนตี้อเมริกัน (มิถุนายน 2016-มิถุนายน 2022) เขาพยายามปักหมุดเข้าหาจีนและตัดรอนสายสัมพันธ์กับทางสหรัฐในแง่การทหารและการค้า ทว่า มาภายหลังเขากลับปักหมุดหันไปหาสหรัฐดังเคยแทนเมื่อรู้สึกถึงแรงกดดันจากจีนในเรื่องทะเลจีนใต้และประเด็นอื่นๆ ครับ

ฉะนั้นสำหรับรัฐเล็กๆ และอ่อนแอกว่าทั้งหลายนี่น่ะ เอาเข้าจริงตัวขับเคลื่อนภูมิรัฐศาสตร์จึงได้แก่ แรงปรารถนาแบบชาตินิยมที่จะให้ได้มาซึ่งอัตวินิจฉัยและอิสรภาพมากกว่าความฝักใฝ่จักรวรรดิใหญ่เจ้าไหนนะครับ คุณถึงบอกได้อีกนั่นแหละครับว่าสถานการณ์จะแตกต่างอย่างหน้ามือเป็นหลังมือเลยทีเดียวถ้าหากประชาชนชาวยูเครนกับกองทัพของพวกเขาไม่ยืนหยัดต่อสู้และยูเครนเกิดแตกพ่ายไปอย่างรวดเร็วละก็

เราไม่มีปัญญาจะวิเคราะห์ผลกระทบของวิกฤตยูเครนต่อเอเชียให้ครอบคลุมหมดได้หรอกครับ แต่สำหรับตอนนี้ สี จิ้นผิง กำลังเฝ้ามองดูมันอยู่อย่างรอบคอบระมัดระวัง และเราจำต้องใส่ใจรัฐเล็กๆ ทั้งหลายให้มากขึ้นจริงๆ ในฐานะผู้กระทำการที่ถูกบีบคั้นอยู่ระหว่างจักรวรรดิต่างๆ ครับ

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)