‘ระบอบประยุทธ์’ | อุเชนทร์ เชียงเสน

การหาคำนิยาม “ระบอบการเมือง” ในประเทศใดๆ นั้นไม่ง่ายนัก เพราะไม่เพียงต้องสะท้อน “ความเป็นจริง” และลักษณะเฉพาะของประเทศนั้นแล้ว ยังต้องสามารถเข้าใจได้ดีในการศึกษาเปรียบเทียบกับประเทศทั่วโลกด้วย ดังนั้น การหาคำนิยามที่ได้รับการยอมรับร่วมกันจึงเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า

จึงไม่แปลกใจที่นักวิชาการไทยมักนิยามระบอบการเมืองในช่วงต่างๆ ผ่านตัวผู้นำ เช่น “ระบอบทักษิณ” “ระบอบประยุทธ์” เป็นต้น เพราะการนิยามเช่นนี้ตัดข้อยุ่งยากข้างต้นไปได้ และทำให้ผู้คนนึกถึงช่วงเวลานั้นได้ดี

แต่อย่างไรก็ตาม แม้งานจะอธิบายไว้อย่างดีละเอียดลออขนาดไหน แต่สร้างความเข้าใจผิดได้ง่ายเช่นกันว่า เมื่อผู้นำการเมืองคนนั้นลงจากอำนาจหรือหลบไปอยู่หลังฉากแล้ว ระบอบการเมืองนั้นได้สิ้นสุดลงไปด้วย

ชะตากรรมเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นกับ “ระบอบประยุทธ์” ของประจักษ์ ก้องกีรติ และ วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

 

“ระบอบประยุทธ์”
ในฐานะระบอบการเมืองแบบใหม่

นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์ 2 ท่านนี้ได้อธิบาย “ระบอบประยุทธ์” ไว้ในบทความชื่อ “The Prayuth Regime : Embedded Military and Hierarchical Capitalism in Thailand” ต่อมาตีพิมพ์ในภาษาไทยชื่อ “ระบอบประยุทธ์ : การสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น” ในวารสารฟ้าเดียวกัน ปี 2561

และเน้นว่า การเกิดขึ้นของรัฐบาลทหารภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังรัฐประหาร 2557 เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการเมืองไทย เพราะไม่ได้เข้ามาเพียงชั่วคราว ร่างกติกาใหม่และจัดการเลือกตั้งใหม่เท่านั้น แต่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากสภานิติบัญญัติ และนำระบอบที่กองทัพเป็นผู้นำครอบงำการเมืองไทยกลับมาอีกครั้ง

โดยมีการสร้างกติกา กลไก เพื่อให้กองทัพมีบทบาททางการเมืองในระยะยาว ผ่าน 1) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม คือ โครงสร้างโอกาสทางการเมืองและความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบใหม่ที่กองทัพได้สร้างขึ้น

2) ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับภาคธุรกิจ คือ การสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างคณะผู้ยึดอำนาจและกลุ่มบรรษัทขนาดใหญ่สัญชาติไทย-จีน

 

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับสังคม
: อำนาจกองทัพที่ฝังตัว และการเปลี่ยนผ่าน
สู่ระบอบการปกครองเผด็จการครึ่งใบที่กองทัพคอยชี้นำ

รัฐประหาร 2557 เป็นภาคต่อของรัฐประหาร 2549 และรัฐธรรมนูญ 2560 เป็นความพยายามอีกครั้งของกลุ่มอำนาจเก่าที่จะรักษาตำแหน่งนำทางการเมืองของตนภายใต้โฉมหน้าของการปกครองที่มีรัฐธรรมนูญ

โดยมีบริบทการเมืองหลัง 2549 คือ 1) การเปลี่ยนรัชกาล 2) มีพรรคการเมืองที่เข้มแข็งและได้รับชัยชนะอย่างต่อเนื่อง และ 3) การเมืองมวลชนเสื้อสี ที่อาจคุกคามและทำลายเสถียรภาพการเมืองแบบเก่า ทหารจึง “จำเป็น” ต้องออกมาควบคุม “การเปลี่ยนผ่าน” โดยมีแผนการทั้งหมด คือ

“การจัดระเบียบโครงสร้างทางการเมืองเสียใหม่เพื่อรักษาสถานะและอำนาจของชนชั้นนำตามจารีตให้คงอยู่ต่อไป พร้อมรักษาฉากหน้าที่เป็นประชาธิปไตยไปด้วยเพื่อจะได้รับความชอบธรรมในระดับหนึ่งจากกลุ่มต่างๆ ภายในประเทศและชุมชนต่างประเทศ”

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐประหารไม่ได้นำพาประเทศไทยไปสู่ “ระบอบประชาธิปไตยครึ่งใบ” แบบในอดีตที่กองทัพประนีประนอมและปรับตัวเข้ากับสภาวะแวดล้อมทางการเมืองที่เปลี่ยนไป

แต่กลับตรงกันข้าม แสดงถึงความไม่ยินยอมปรับตัวของกองทัพให้เข้ากับภูมิทัศน์ทางการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปตั้งแต่ต้นทศวรรษ 2540

กล่าวคือ

มุ่งผนึกกำลังและพยายามวางฐานอำนาจของกองทัพ โดยรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางมากขึ้น ผ่านการเพิ่มและขยายภาระหน้าที่และขอบเขตอำนาจกองทัพ เบียดขับภาคประชาสังคมและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งออกไป

โครงสร้างทางการเมืองแบบใหม่นี้ถูกออกแบบมาเพื่อควบคุมระบอบประชาธิปไตยเสียงข้างมาก โดยการทำให้อำนาจพรรคการเมืองถดถอยลง

รูปธรรมของโครงสร้างทางการเมืองนี้ปรากฏในรัฐธรรมนูญ 2560 โดยรัฐสภาประกอบไปด้วยวุฒิสภา 250 คน ในวาระแรก 5 ปี แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารและสำรองที่นั่งไว้ให้ผู้นำกองทัพ และสภาผู้แทนราษฎรอีก 500 คน รวมทั้งองค์กรอิสระที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารที่มีอำนาจเพิ่มขึ้น เป็นตัวแสดงที่ทรงอำนาจหยุดยั้งหรือล้มล้างรัฐบาลจากการเลือกตั้ง องค์กรอิสระแบบนี้ไม่มีในยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ

รวมทั้งระบบการเลือกตั้งใหม่ที่ทำลายความเข้มแข็งของพรรคการเมือง เปลี่ยนจากระบบ “คู่ขนาน” มาเป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม มี ส.ส.ทั้งหมด 500 คน เป็น ส.ส. เขตละ 1 คน 350 เขต และเพิ่มเติมจากบัญชีรายชื่ออีก 150 คน

นอกจากนั้นยังใช้การเมืองของการควบรวม ให้รางวัลตอบแทนแก่กลุ่มผู้สนับสนุนหรืออาจต่อต้าน โดยให้ได้รับตำแหน่งสาธารณะ ผลประโยชน์ทางด้านการเงิน และพื้นที่ที่เป็นทางการเพื่อเสนอข้อเรียกร้อง

ขณะที่ผู้เหลือรอดจากการควบรวม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา ถูกทำให้เงียบด้วยการข่มขู่และปิดกั้นแบบไม่เหวี่ยงแห (เนื่องจากมีจำนวนน้อย)

ด้วยการประสานกลไกการควบรวมประชาสังคมเข้ากับยุทธศาสตร์ทำให้สงบราบคาบ จึงประสบความสำเร็จในการควบคุมประชาสังคมและปิดกั้นการเมืองบนท้องถนน

 

ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับธุรกิจ
: ประชารัฐและทุนนิยมแบบช่วงชั้น

บทความได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับธุรกิจผ่านโครงการ “ประชารัฐ” ที่บรรดากลุ่มนายทุนใหญ่พยายามปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เข้าสู่ “ทุนนิยมแบบช่วงชั้น” ที่บทบาททางเศรษฐกิจถูกแบ่งตามลำดับชั้นฐานะของทุน เพื่อรักษาโครงสร้างและอำนาจการผูกขาดของทุนใหญ่ให้ดำรงอยู่ต่อไป

ทั้งนี้ “ประชารัฐ” สื่อความหมายถึงการเป็นพันธมิตรหรือการร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชน โดยนายกรัฐมนตรีหรือรัฐยื่นมือเข้ามาช่วยประชาชน เพื่อสร้างความเป็นปึกแผ่นของประเทศ มีกลุ่มทุนขนาดใหญ่เข้าร่วมสนับสนุนโครงการ

“ทุนนิยมแบบช่วงชั้น” เป็นตัวแบบในการอธิบายระบบทุนนิยมร่วมสมัยในละตินอเมริกา ที่ถูกครอบงำด้วยบรรษัทข้ามชาติขาหนึ่งและธุรกิจครอบครัวอีกขาหนึ่ง ประกอบกับตลาดแรงงานที่แยกส่วนและทักษะต่ำ สหภาพแรงงานถูกทำให้มีอำนาจในการต่อรองในเชิงการบริหารจัดการน้อย ผู้ผลิตขนาดเล็กต้องพึ่งพาผู้ซื้อขนาดใหญ่หรือผูกขาดตลาดรายเดียว

ดังนั้น ระบอบประยุทธ์จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและทุนจากเดิม คือ “ระบบอุปถัมภ์แบบแข่งขัน” ก่อนยุครัฐบาลทักษิณ ที่มีการแข่งขันกันระหว่างกลุ่มต่างๆ มาสู่ “ระบบอุปถัมภ์กึ่งผูกขาด” ในยุคทักษิณ ที่มีการรวมตัวของกลุ่มนายทุนใหญ่เพื่อจัดตั้งรัฐบาล และมีแนวโน้มรวมศูนย์มากขึ้น

 

ระบอบประยุทธ์ (2)
ที่มาจากการเลือกตั้ง

รัฐบาลประยุทธ์ที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2562 เป็นความต่อเนื่องของระบอบประยุทธ์อย่างชัดเจน หากบทความเขียนขึ้นหลังเลือกตั้ง น่าจะทำให้มีรูปธรรมสนับสนุนการวิเคราะห์ได้อย่างมีน้ำหนักและคมชัดมากขึ้น

รูปธรรมที่ชัดเจนมากที่สุดของการสืบต่ออำนาจ คือ คณะรัฐประหารได้ตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ในชื่อเดียวกับนโยบายของตน พรรค “พลังประชารัฐ” โดยรวบรวมอดีต ส.ส. จากมุ้งหรือพรรคการเมือง รวมทั้งฝ่ายตรงกันข้าม เข้ามาอยู่ในสังกัด เพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี และคณะผู้ครองอำนาจชุดเดิมให้ครองอำนาจต่อไป

ผลการเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมายนัก เพราะพรรคสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร แม้จะได้คะแนนรวมเป็นอันดับ 1 แต่ได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเป็นอันดับ 2 เพียง 116 ที่นั่ง ขณะที่เพื่อไทยได้คะแนนเป็นอันดับ 2 แต่ที่นั่งมากเป็นอันดับ 1 คือ 136 ที่นั่ง

ตามปกติในระบอบประชาธิปไตย การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลต้องเป็นไปตามผลการเลือกตั้ง โดยในระบบรัฐสภา พรรคอันดับ 1 จะได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และผู้นำของพรรคนั้นจะขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร คือ นายกรัฐมนตรี

แต่ด้วยกลเกมที่ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้การจัดตั้งรัฐบาลไม่ขึ้นต่อผลการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว คือ ให้วุฒิสภา จากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎร เลือกนายกรัฐมนตรี ดังนั้น พรรคอันดับ 1 จึงไม่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากและจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ และพรรคพลังประชารัฐ อันดับ 2 จัดตั้งรัฐบาลได้ด้วยการสนับสนุนของกติกาแบบนี้ ด้วยมือของสมาชิกวุฒิสภา

พูดในแง่นี้ การทำให้การเลือกตั้งซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญในการเข้าสู่อำนาจในระบอบประชาธิปไตย ถูกทำให้ไม่มีความหมายสำคัญหรือ “พอเป็นพิธี” จึงเริ่มจากตรงนี้

และถูกทำให้พอเป็นพิธีมากขึ้นไปอีก เมื่อนโยบายด้านเศรษฐกิจหรืออื่นๆ ที่ใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งคะแนนเสียง กลับถูกเททิ้งด้วยเหตุผลที่ไม่แน่ชัด การไม่ตรงปกก็เริ่มขึ้นที่ตรงนี้เช่นกัน

ที่สำคัญ รัฐบาลยังคงแน่วแน่ในการสนับสนุนนายทุนขนาดใหญ่ผูกขาดไม่ต่างจากก่อนหน้านี้

ขณะที่ความสัมพันธ์กับประชาสังคม การมาจากการเลือกตั้งควรมีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับเลวร้ายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตอบสนองต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชน นิสิต นักศึกษา นับตั้งแต่ 18 กรกฎาคม 2563 ถึง 30 พฤศจิกายน 2565 มีประชาชนถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 1,886 คน ใน 1,159 คดี เป็นกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี 283 ราย ใน 210 คดี เป็นข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามมาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 221 คน ใน 239 คดี

ถ้ารัฐบาลประยุทธ์ 1 เป็นจุดเริ่มต้น รัฐบาลประยุทธ์ 2 ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็เป็น “ตัวเต็มวัย” ของระบอบประยุทธ์นี่เอง

 

ระบอบประยุทธ์ (3)
ที่มีเศรษฐาเป็นนายกฯ?

ถ้าไม่ดูหน้าว่าใครเป็นนายกรัฐมนตรี รัฐบาลชุดนี้อาจไม่ต่างจากรัฐบาลชุดที่แล้วมากนัก ไม่ใช่เพราะเพียงแค่มีพรรคการเมืองในรัฐบาลเดิมเกือบทั้งหมด (ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์) หรือมีรัฐมนตรีส่วนใหญ่มาจากพรรคการเมืองเดิม และรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยเองเคยเป็นรัฐมนตรีจากระบอบประยุทธ์เท่านั้น

แต่ที่สำคัญคือ พรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้ง ได้อันดับ 1 คือ ก้าวไกล ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลและแกนนำเป็นนายกรัฐมนตรีได้ และพรรคอันดับ 2 ด้วยการสนับสนุนของสมาชิกวุฒิสภา ขึ้นสู่อำนาจแทน

พรรคเพื่อไทยในปี 2562 โดนอย่างไร พรรคก้าวไกล ปี 2566 ก็โดนอย่างนั้น และน่าจะรุนแรงกว่า

นอกจากนั้น สิ่งที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้แต่เกิดขึ้นแล้ว พรรคเพื่อไทยได้ทำลายมรดกที่บรรพบุรุษของตัวเองพยายามสร้างมาตลอดนับสิบปี คือ การนำนโยบายที่ตัวเองหาเสียงมาทำเป็นนโยบายของรัฐบาลและนำไปสู่การปฏิบัติ

จากการแถลงนโยบายและการตอบคำถามต่างๆ ของแกนนำรัฐบาล เห็นได้เด่นชัดว่าวิ่งตามหลังพลังประชารัฐแบบหายใจรดต้นคอ คือ ไม่ตรงปก

แม้การเข้าสู่อำนาจอาจไม่สง่างามอย่างที่กล่าวมา แต่ไม่มีประชาชนคนไหนสนับสนุนพรรคการเมืองใด ต้องการรัฐบาลที่แย่ไปกว่าเดิม และยังคงหวังว่ารัฐบาลชุดนี้จะจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับภาคธุรกิจและสังคมต่างไปจากระบอบประยุทธ์ก่อนหน้านี้

ถ้ารัฐบาลนี้ไม่ยอมทำอะไรเลย แต่ยังคงระเบียบโครงสร้างทางการเมืองที่รักษาสถานะและอำนาจของชนชั้นนำตามจารีตให้คงอยู่ต่อไป และต้องการเพียงรักษาฉากหน้าที่เป็นประชาธิปไตยไว้เพื่อความชอบธรรมเท่านั้น ก็จะกลายเป็นส่วนต่อขยายของระบอบเก่า ระบอบประยุทธ์ (3) ที่มีเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ เท่านั้น

เพราะการไม่มีชื่อประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เท่ากับการหมดไปของระบอบประยุทธ์ในแง่ของเนื้อหา และหากมีคนเข้าใจผิดในเรื่องนี้ ต้องโยนความผิดให้กับผู้เขียนบทความทั้ง 2 ท่าน