‘นายกฯ เศรษฐา’ รับบทเซลส์แมน เดินสาย 1 เดือน 7 ประเทศ 2 ทวีป

บทความพิเศษ | ศัลยา ประชาชาติ

 

‘นายกฯ เศรษฐา’ รับบทเซลส์แมน

เดินสาย 1 เดือน 7 ประเทศ 2 ทวีป

 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 กล่าวหลายครั้ง หลายวาระ

ตั้งแต่ตอนเปิดตัวเข้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย มาถึงช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ กระทั่งได้เป็นนายกฯ ตัวจริง ว่า ประเทศไทยต้องเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ

และตัวเขาขันอาสาทำหน้าที่เป็น “เซลส์แมน” เดินสายเปิดการค้า การลงทุนใหม่ครั้งใหญ่ นำเม็ดเงินเข้าประเทศ

และพลันที่ “เศรษฐา” เป็นนายกฯ ผ่านมา 1 เดือนเศษ “เศรษฐา” วางโปรแกรมเยือนต่างประเทศแล้วกว่า 7 ประเทศ 2 ทวีป ทั้งสหรัฐอเมริกา และในเอเชีย และจะกลับไปเยือนสหรัฐอเมริกาอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน

บนเป้าหมายที่จะเป็นการจัดสมดุลทางการทูต ในวันที่โลกแบ่งเป็น 2 ขั้ว

 

จุดเริ่มต้นการเดินทางออนทัวร์ของ “เศรษฐา” ไล่ตั้งแต่ 18-22 กันยายน เข้าร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UNGA) ที่เมืองนิวยอร์ก

การโคจรไปครั้งนั้นมีทั้งเจรจาการทูต และการค้า พบปะกับยักษ์ธุรกิจของโลก เพื่อดึงลงทุนประเทศไทย เช่น “อีลอน มัสก์” ของเทสลา ชักชวนให้มาลงทุนในไทย แทนที่อินโดนีเซีย ซึ่ง “เทสลา” ตัดสินใจชะลอการลงทุน

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี บอกอินไซด์ว่า อีลอน มัสก์ ก็ไม่ใช่เจอกันง่ายๆ และเขาเอาเบอร์ถัดจากเขามานั่งสนทนาด้วย และให้ความมั่นใจ มีการนัดต่อไปที่จะเข้ามา นอกจาก “เทสลา” นายกฯ เศรษฐา ยังเจรจาเจ้าใหญ่ๆ ให้มาลงทุน ทั้ง google Microsoft

“นอกจากนี้ UN ให้ความสำคัญ sustainable development ของโลก แนวโน้มการพัฒนายั่งยืน เรื่องนี้เปิดโอกาสอีกด้านหนึ่ง คือ เขาให้ความสำคัญถึงการลงทุนในอนาคต เกี่ยวกับการลงทุนด้านพลังงานสะอาด นายกฯ สร้างโอกาสการใช้ green fund เป็นการระดมทุนจากต่างประเทศ เพื่อลงทุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน การลงทุนเรื่องพลังงานสะอาด เรื่องสิ่งแวดล้อม ล้วนแล้วแต่เข้าใจเทรนด์ของโลก ในเดือนหน้า นายกฯ จะประชุมเอเปค เขารอนัดมาแล้ว หัวบันไดไม่แห้ง มีการติดต่อมาเพื่อจะปิดดีลเพิ่มขึ้น”

โดยภายในเดือนพฤศจิกายน “เศรษฐา” จะกลับไปเจรจากับ “เทสลา” อีกครั้ง ระหว่างเดินสายไปประชุมเอเปคที่ซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา จึงเกิดภาพที่ “เศรษฐา” นั่งเทสลาเข้าทำเนียบรัฐบาล

 

ถัดจากการไปประชุม UNGA ในช่วงเดือนกันยายน เศรษฐายังโคจรไปเยือนประเทศกัมพูชาอย่างเป็นทางการ หนึ่งในวาระสำคัญ คือหารือเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางปิโตรเลียม ก่อนจะเดินสายไปแนะนำตัวยังประเทศในกลุ่มอาเซียน ในวันที่ 8-12 ตุลาคม ทั้งการเยือนเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ต่อด้วยประเทศบรูไนดารุสซาลาม มาเลเซีย และสิงคโปร์

หนึ่งในผลจากการเดินสาย จนเกิดการเจรจาต่อเนื่องที่โปรตอน ค่ายรถยนต์สัญชาติมาเลเซีย สนใจที่จะมาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย

ต่อด้วย 16-21 ตุลาคม เยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ โดยพาทัพนักธุรกิจไทยกว่า 50 ชีวิต เพื่อร่วมประชุม Belt and Road Forum for International Coperration-BRF ครั้งที่ 3 และเปิดการค้าการลงทุน

คิวของ “เศรษฐา” ได้พบกับผู้นำค่ายตะวันออก อย่าง “สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน รวมถึงหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรี สาธารณรัฐประชาชนจีน และนายจ้าว เล่อจี้ ประธานสภาประชาชนแห่งชาติสาธารณรัฐประชาชนจีน และ “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย เพื่อหารือเรื่องการเกษตร

วาระของ “เศรษฐา” อัดแน่นไปทั้งการเจรจาการทูต และการค้า โดยพยายามขายโปรเจ็กต์ “โครงการแลนด์บริดจ์” ที่คณะรัฐมนตรีเพิ่งรับทราบหลักการ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน มูลค่ากว่า 1 ล้านล้านบาท สร้างท่าเรือน้ำลึกชุมพร เชื่อมท่าเรือน้ำลึกที่ระนอง รวมถึงมอเตอร์เวย์-รถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมอ่าวไทย-อันดามัน

“เศรษฐา” ถึงขั้นวาดรูปเพื่ออธิบายให้ผู้ประกอบการจีนเข้าใจ เพื่อดึงดูดให้มาลงทุน

“ผมลองวาดเส้นทางของ Landbridge ให้กับทางผู้ประกอบการรถไฟในประเทศจีนให้เข้าใจง่ายขึ้น ทำให้เห็นภาพของโครงการสองท่าเรือแต่นับรวมเป็นหนึ่ง โครงการจะลดปัญหาการจัดการซ้ำซ้อน (Double Handling)”

“รีบวาดรีบคุยให้เข้าใจ แม้ภาพออกมาไม่ค่อยสวยเท่าไร แต่สื่อสารได้ผลดีเลยครับ” เขาทวีตข้อความลงใน X

นอกจากนี้ ยังเจรจากับระดับซีอีโอของเอกชนจีนทั้ง CITIC เป็นบริษัทใหญ่ของจีนที่ดำเนินธุรกิจ ทั้งในส่วนของการบริการทางการเงินแบบครบวงจร และใช้เทคโนโลยีระดับสูง

บริษัท CRRC Group ดำเนินธุรกิจด้านขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัท Ping An Group ดำเนินธุรกิจประกันภัย บริษัท Xiaomi ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บริษัท Alibaba International Digital Commerce Group ดำเนินธุรกิจ e-Commerc บริษัท Norinco ดำเนินธุรกิจด้านยุทโธปกรณ์ บริษัท Huawei ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยี อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ บริษัท Tencent ธุรกิจ ด้านการให้บริการบนอินเตอร์เน็ตแบบครบวงจร รวมถึงบริษัทรถยนต์อีวีหลายบริษัทในจีน

ขณะที่การเจรจากับรัฐบาลจีน วีซ่าฟรี การอนุมัติซื้อเรือดำน้ำที่มีมาตั้งแต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมถึงรถไฟความเร็วสูง

 

นพ.พรหมินทร์ ฉายภาพการจัดสมดุลทางการทูตของรัฐบาลว่า การไปเยือนจีนเป็นการกระชับความสำพันธ์กับมหาอำนาจของโลก เป็นมิตรกับทุกประเทศ จีนเป็นกลุ่มเศรษฐกิจใหญ่ในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ภาคธุรกิจต่างๆ ก็จะสามารถร่วมกับเราได้สะดวกขึ้น

“เส้นทางคมนาคมเราเปิดช่องทางการลำเลียง ขณะนี้ รถไฟความเร็วสูงของลาวมาจ่ออยู่ที่เวียงจันทน์เราก็จะเชื่อมลงมาให้เร็ว และทำวิธีการเจรจาเรื่องศุลกากร ทริปที่เราไปจีนคงเป็นหัวข้อที่เราไปหารือกัน ทำให้การทำมาค้าขายสะดวกขึ้น ลดขั้นตอนพิธีการทำได้อย่างไรบ้าง และเราต้องลงทุนสร้างเพื่อให้เป็นเส้นทางลำเลียงในจุดสำคัญ”

ก่อนหน้านี้ “ประเสริฐ จันทรรวงทอง” รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เดินทางไปที่ Huawei ปรากฏว่าไปปิดดีลเพิ่มการขยายการลงทุนด้าน AI ทั้งหมดรองรับธุรกิจในอนาคต เราผูกจนกระทั่งเขามีเงื่อนไข ให้พัฒนาคนของเราให้เป็น expert ด้าน Ai ปีละ 1 หมื่นคน ติดต่อกัน 5 ปี ดังนั้น อย่ามองเรื่องเล็กๆ เรื่องเหล่านี้เป็นการสร้างและวางแผนทั้งสั้นและยาว

“นอกจากนี้ เราดักทางธุรกิจพื้นฐานอย่างภาคการเกษตรก็สำคัญ คือ อาหาร ซึ่งเป็นพื้นฐานเบื้องต้นของการดำรงชีวิต นายกฯ ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีการประชุมเรื่องนี้”

“ขณะที่โรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีน จาก 7 เจ้าใหญ่มาแล้ว 4 เจ้า และมีการตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทย ยอดความต้องการรถอีวีเพิ่มขึ้น การผลิตรถตัวนี้สิ่งที่ตามมาคือต้องผลิต chip ดังนั้น พวกบริษัท semiconductor ติดต่อเข้ามาแล้ว มีหลายเจ้าที่ให้ความสนใจ”

 

จบภารกิจจากจีน “เศรษฐา” เดินทางต่อไปยังประเทศซาอุดีอาระเบียทันทีเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (ASEAN-Gulf Cooperation Council Summit) ที่ประกอบด้วยบาห์เรน คูเวต โอมาน กาตาร์ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

มีกำหนดเข้าเฝ้าเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมาร และนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียด้วย นอกจากนี้ นายกฯ จะพบปะภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย จำนวน 3 บริษัท ก่อนเข้าหารือทวิภาคี เพื่อเปิดเจรจาทางการค้า โดยเฉพาะอาหารจากประเทศไทย

“การไปเจราจากับกลุ่มประเทศอาหรับ Gulf Cooperation Council (GCC) ซึ่งเป็น 6 ประเทศในตะวันออกกลาง ตรงนั้นเป็นการเปิดตลาดมหาศาล เพราะเขาต้องการอาหารจากประเทศไทย” นพ.พรหมินทร์กล่าว

นี่คือทิศทางใหม่ของการทูตแบบชีพจรลงเท้า ของนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ผู้วางบทบาทตัวเองให้เป็นเซลส์แมนเต็มตัวอยู่ในขณะนี้