นโยบายชวนระทึก

อย่างที่หลายคนพยายามชี้ประเด็น “นโยบายแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตคนละ 10,000 บาท” ดู “คนแจก” กระตือร้อร้นเสียยิ่งกว่า “คนรับ” อีก

แม้จะฟังคล้ายคำกระแหนะกระแหน แต่หากพิจารณาให้ดีแล้วความสมเหตุสมผลมีอยู่

อย่างแรกมุมมองของ “พรรคเพื่อไทย” ตั้งแต่ช่วงหาเสียงแล้วที่เห็นว่าตลอด 9 ปีของ “รัฐบาลสืบทอดอำนาจรัฐประหาร” ที่ “แช่แข็งการพัฒนาประเทศ” นำพาความเสื่อมทรุดทางเศรษฐกิจมาให้โดยเฉพาะ “กำลังซื้อของประชาชน” ที่เป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนระบบ และคิดว่าหนทางเดียวที่จะฟื้นฟูได้ต้องใช้ยาแรงคือเงินก้อนใหญ่ที่สุดลงไปในตลาด เพื่อกระตุ้นให้การหนุนของระบบอย่างแรง

และทางที่ดีที่สุดคือ “เงินดิจิทัล” ที่ลดภาระการกู้ของรัฐบาล

 

อย่างที่สอง เรื่องนี้กลายเป็น “สัญญาที่ไม่มีทางปฏิเสธ” เนื่องจากเป็นการให้ความหวังกับประชาชนที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด หากไม่ทำจะเป็นเรื่องยากอธิบายให้ประชาชนผู้สนับสนุนพรรคเข้าใจ

อย่างไรก็ตาม ทั้งที่เชื่อว่าเป็นนโยบายที่คิดมาดีแล้วว่าน่าจะให้ประโยชน์กับการฟื้นฟูประเทศจากความตกต่ำอย่างได้ผลเร็วที่สุด แต่กลับเป็นเรื่องที่ในการจัดการให้เกิดขึ้นจริงมีอุปสรรคอยู่ไม่น้อย

เริ่มจากความเป็น “เงินดิจิทัล” มีปัญหาทางกฎหมายต่อแนวคิดความมั่นคงทางการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติควบคุมอยู่ ทำให้การอธิบายที่มาที่ไปแทบทำไม่ได้

ทำให้ต้องดิ้นรนหาแหล่งเงินมารองรับ ซึ่งผลที่ตามมาก่อการโจมตีหนักหน่วงในนามความห่วงใย “หนี้ภาครัฐ” และเลยมาถึง “ความเสี่ยงต่อภาวะเงินเฟ้อ” ที่จะทำให้ประชาชนรับภาระจาก “ข้าวของที่จะแพงขึ้น” พร้อมกับ “ความเชื่อว่าค่าเงินบาทจะอ่อนตัว” ส่งต่อการชำระหนี้ต่างประเทศของภาคเอกชน

หลายฝ่ายโดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์เรียงหน้ากันออกมาต่อต้านด้วยการโจมตีว่า “จะสร้างปัญหาเศรษฐกิจให้ประเทศในอนาคตอย่างหนักหนาสาหัส จนเกินกว่าจะยอมรับให้รัฐบาลใช้ประโยชน์ในการสร้างคะแนนนิยมได้”

 

เมื่อเจอเข้าเช่นนี้ “นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน” แก้เกมด้วยการใช้วิธีปลุกประชาชนให้ลุกขึ้นมาคัดค้านการต่อต้าน เพื่อเป็นกำลังใจให้รัฐบาล

เหมือนการให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสิน

ดังนั้น ท่ามกลางความเห็นต่างเช่นนี้ เมื่อ “นิด้าโพล” สำรวจเรื่อง “การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ควรไปต่อหรือพอแค่นี้” จึงเหลียวมาฟังอย่างตั้งใจ

ผลออกมาว่า ในคำถาม “กังกวลหรือไม่ว่าการทำตามนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทจะได้ไม่คุ้มเสีย” ร้อยละ 30.92 ค่อนข้างกังวล, ร้อยละ 28.47 ไม่กังวลเลย, ร้อยละ 25.27 กังวลมาก, ร้อยละ 15.19 ไม่ค่อยกังวล, ร้อยละ 0.15 ไม่ตอบ

เมื่อถามว่า “เห็นว่านโยบายนี้ควรดำเนินอย่างไร” ร้อยละ 47.10 ให้ดำเนินต่อ แต่ควรปรับให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน, ร้อยละ 32.52 ให้ดำเนินการต่อตามที่หาเสียงไว้, ร้อยละ 18.85 ให้หยุดได้แล้ว, ร้อยละ 1.52 ไม่ตอบ

นั่นหมายถึงภาพรวมของความรู้สึกนึกคิดประชาชน ต่อความวิตกกังวลกับการดำเนินนโยบายนี้อยู่ไม่น้อย

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า จะรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทหรือไม่ มากถึงร้อยละ 79.85 ตอบว่ารับและนำไปใช้จ่าย, ร้อยละ 13.5 ตอบว่าไม่รับ, ร้อยละ 5.4 รับแต่ไม่นำไปใช้, ร้อยละ 1.22 ไม่ตอบ

และเมื่อถามว่า หากยกเลิกนโยบายนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อคะแนนนิยมพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 60.00 เห็นว่าคะแนนนิยมจะลดลง, ร้อยละ 29.92 เห็นว่าไม่ส่งผลกระทบใดๆ, ร้อยละ 6.49 เห็นว่าคะแนนนิยมจะเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.59 ไม่ตอบ

 

คือแม้จะกังวลว่าจะส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจประเทศอย่างคำเตือนของฝ่ายคัดค้าน แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยืนอยู่ในจุด “ให้ก็เอา” แถมเห็นว่า “หากไม่ให้พรรคก็เสีย”

ด้วยภาพรวมเช่นนี้ น่าจะสรุปได้ว่า “นโยบายแจกดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท” น่าจะอลหม่านไม่น้อยในความคิดความเห็นของทุกกลุ่มคน ตั้งแต่นักการเมืองในรัฐบาลด้วยกันเอง จนถึงประชาชนทั่วไป

ที่สำคัญคือมี “ขบวนการจ้องขย้ำ” อยู่ในทุกจังหวะก้าว