33 ปี ชีวิตสีกากี | เจาะวิธี “โจรกรรมรถ” แก๊งขโมยรถ สิ่งแรกที่ต้องการ คืออะไร

พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์

เมื่อวันอังคารที่ 23 กันยายน 2523 นักเรียนนายร้อยตำรวจชั้นปีที่ 3 ได้เรียนวิชาการสืบสวนจาก พ.ต.ท.อังกูร อาทรไผท ในหัวข้อ การสืบสวนคดีอาญาบางประเภท : การโจรกรรมรถ

และตามที่ผมเคยบอกให้ทราบว่า ผมเคยใช้ความรู้จากการบรรยายของอาจารย์ นำไปปฏิบัติงานเมื่อเวลาทำงาน จนยึดรถยนต์ที่ถูกลักไปกลับคืนมาถึง 33 คัน คนร้ายก็ยังใช้วิธีการตามที่อาจารย์นำมาบรรยายในชั่วโมงเรียน แม้เวลาจะห่างกันถึง 18 ปี คือผมกับทีมงานได้ทลายแก๊งโจรกรรมรถยนต์ในปี พ.ศ.2541 เป็นแก๊งที่ใหญ่ที่สุดที่ผมกับทีมงานทำได้ ที่ จ.ภูเก็ต และเป็นอีกครั้งที่ผมพบกับอัยการที่ฉ้อฉล มีการช่วยเหลือผู้ต้องหา ไม่ใช่แค่ครั้งเดียว แต่ครั้งแล้วครั้งเล่า

แน่นอน ผมต้องนำเสนอว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร นึกถึงคดีนี้ผมยังรู้สึกเจ็บช้ำใจ ทนายของแผ่นดิน เป็นปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน

 

กลับมาในชั้นเรียน ณ เวลานั้น ใน กทม.มีสถิติการโจรกรรมรถยนต์ โดยเฉลี่ยแล้วประมาณวันละ 4 คัน

วิธีโจรกรรมรถ

แก๊งขโมยรถ สิ่งแรกที่ต้องการ คือ

1. ลูกกุญแจรถ ซึ่งคนร้ายเอามาได้โดย

– ปั๊มลูกกุญแจ โดยให้เด็กตามปั๊มน้ำมัน เด็กตามสถานบริการ เอาลูกกุญแจมาปั๊ม โดยการใช้ดินน้ำมัน ซ้ายทีขวาที

– การใช้กระดาษตะกั่วที่ห่อบุหรี่ทาบไปบนกุญแจ แล้วเอามือลูบให้เป็นรอยฟันกุญแจ โดยให้เด็กตามสถานที่ดังกล่าวทำ

2. คนขับรู้เห็นเป็นใจกับคนร้าย โดยไปปั๊มกุญแจไว้อีกหนึ่งชุด

3. กรณีที่เป็นรถเช่าซื้อ บริษัทจะเอากุญแจอะไหล่ไปไขรถยนต์ยึดกลับมา เจ้าหน้าที่บางคนอาจจะเอากุญแจไปขายคนร้าย

4. รถยนต์บางชนิด กุญแจดอกเดียวอาจใช้ได้ทั้งคันรถ คนร้ายจะมีเครื่องมือพิเศษ คล้ายที่เปิดฝาขวดน้ำอัดลม ไปเปิดฝาน้ำมันรถ แล้วนำฝาไปปั๊มกุญแจ

5. กุญแจผี

6. ใช้ไขควงปากแบน ยัดเข้าไปในช่องปากประตู

7. วิธีอื่นๆ ไม่ต้องใช้ลูกกุญแจ

– ใช้ไขควงกับคัตเตอร์กรีดยางด้านหลัง แล้วเปิดกระจกออกทั้งแผ่น

– ทุบกระจกให้แตกแล้วเข้าไป

– จุดอ่อนของรถยนต์ คือ การใช้ใบเลื่อย เช่น โตโยต้า ไฮลักซ์ โดยสอดเข้าไปที่ที่เปิดประตูแล้วดันแรงๆ ที่ล็อกจะเด้งขึ้น

– คนร้ายสมัครมาเป็นคนขับรถ แล้วถือโอกาสขโมยรถนายจ้าง

– คนร้ายมาทำทีติดต่อซื้อรถ ยืมรถเพื่อนมาติดต่อขอซื้อรถแล้วลองขับรถ

 

การสืบสวนคดีโจรกรรมรถ

*ของมีทะเบียน ต้องรีบรับแจ้งไว้ทันที อย่าได้เป่าคดีโดยเด็ดขาด*

แนวทางการสืบสวน มีโอกาสที่จะหาพบได้น้อยมาก จะต้องสอบถามว่า ยี่ห้อใด หายที่ไหน เมื่อไหร่

1. การตกเบ็ด โดยนำรถที่กำลังนิยมไปจอดทิ้งไว้

2. สืบจากอู่รถยนต์ หาแหล่งที่ปั๊มกุญแจ

3. ทางด้านสายลับ โดยให้สายลับออกสืบ

เทคนิคในการตรวจสอบรถ

– เพ่งเล็งเกี่ยวกับแผ่นป้ายทะเบียนรถ ถ้าเป็นแผ่นป้ายทำเอง ให้สงสัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นรถคนร้าย

– แผ่นวงกลมแสดงการเสียภาษี

– การตรวจเลขเครื่องยนต์ ซึ่งแต่ละยี่ห้อไม่เหมือนกัน ดูระยะช่องไฟของตัวเลข ถ้าตอกจากโรงงาน ช่องไฟจะเท่ากัน แต่ถ้าตอกเองจะไม่เท่ากัน

 

ผมได้เคยบอกมาก่อนแล้วว่า การสืบสวนการโจรกรรมรถ เป็นเรื่องที่ผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของรถทุกข์ทรมานใจมาก ที่รถยนต์ของตนเองถูกโจรกรรมไป เมื่อทีมสืบสวนสอบสวนติดตามยึดรถยนต์กลับคืนมาได้ จึงสร้างความสุขให้ผู้เสียหายได้บ้างแม้จะไม่ทั้งหมดก็ตาม ตำรวจควรจะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุดีกว่า มีมาตรการที่ให้ประชาชนมั่นใจในความปลอดภัย ผมจะพูดถึงเวลาที่ทำงานในคดีเหล่านี้ทั้งการจับกุมและวิธีการป้องกันจนเกิดผลสำเร็จต่อไป จะกล่าวถึงปัญหาอุปสรรคในการทำงานด้วย ผมวางมาตรการป้องกันและลดอาชญากรรมจนสำเร็จ แต่มีคำสั่งจากรองนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการ สั่งให้ยกเลิกมาตรการดังกล่าว เรื่องราวจะเป็นอย่างไรนั้น ต้องเล่าไปตามห้วงเวลา

เมื่อผมเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 อาจารย์จะสอนวิธีการสืบสวนเพื่อหาตัวคนร้ายในคดีอาญาลักษณะความผิดต่างๆ รวมถึงการสืบสวนจราจร ก็มีการเรียนด้วย โดยผู้สอนคือ พ.ต.ท.อัมพร ศิริวัฒนกุล ลองมาฟังเนื้อหาสาระที่อาจารย์สอนไว้ ดังนี้

การสืบสวนจราจร เป็นคดีที่เกิดขึ้นได้ทุกโอกาส เพราะเป็นอุบัติเหตุที่ไม่เลือกเวลาเกิดเหมือนเช่นคดีโจรกรรม ที่มักจะเกิดในเวลากลางคืน

อุบัติเหตุจราจรจะเกิดขึ้นได้ มีสิ่งที่จะต้องสอบสวน 2 ประเด็น คือ

1. เจตนา ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่มีเจตนา

2. ประมาท

 

หลักการสอบสวน เมื่อพิจารณาคดีแล้ว ถ้าสอบแล้วพบว่าไม่ได้เกิดจากความประมาท ก็เป็นอุบัติเหตุ คดีนั้นก็สั่งไม่ฟ้อง

การประมาทนั้นมี 2 กรณี คือ จะต้องสอบเข้าประเด็นนี้

1. ประมาทโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เช่น มีป้ายห้ามเข้า ก็ขับเข้าไป ฝ่าสัญญาณไฟแดง แทนที่จะหยุดเสียก่อน แต่ไม่หยุด

2. ประมาทโดยปราศจากความระมัดระวัง เช่น ภาวะบุคคลซึ่งอยู่ในภาวะเช่นนั้นจะพึงทำได้แต่ไม่กระทำ อุบัติเหตุ คือ การกระทำที่ได้ป้องกันทุกวิถีทางแล้ว แต่ก็ยังเกิดขึ้น เช่น เด็กวิ่งตัดหน้ารถ

 

หลักการสอบสวนเมื่อได้รับแจ้งคดีจราจร

1. ต้องไปที่เกิดเหตุโดยรวดเร็วและปลอดภัย เมื่อได้รับแจ้งหรือรับทราบ

2. เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุแล้ว จอดรถให้ถูกที่

3. ถ้ามีผู้บาดเจ็บ ก็ให้รีบปฐมพยาบาล หรือรีบนำส่งโรงพยาบาล

4. ป้องกันสถานที่เกิดเหตุ รีบถ่ายภาพและเขียนแผนที่เกิดเหตุโดยย่อๆ

5. การสอบปากคำผู้ขับโดยยังไม่ให้ตั้งหลัก จะเป็นประโยชน์อย่างมากเพราะยังไม่ได้ตั้งสติ

6. การสืบปากคำและสอบปากคำพยาน ให้รีบทำ

7. การสังเกตและบันทึกสภาพแวดล้อม

8. การสังเกตดูว่ารถคันไหนขับอย่างไร ชนกันที่ไหน คือ การตรวจดูสภาพของรถที่เกิดเหตุ

9. พิจารณาถึงสาเหตุ โดยพิจารณาจากร่องรอยของที่เกิดเหตุ

10. ทำการจับกุมเมื่อจำเป็น ต้องพิจารณาดูสาเหตุที่เกิดขึ้น (อย่าเหมาว่าผิดทั้งคู่) และอย่าพูดว่า “คุณจะเสียเปรียบในด้านกฎหมาย” อย่าพูดว่า “คุณน่ะผิด” จะพูดได้เมื่อมีคำพิพากษาแล้ว

11. เคลื่อนย้ายรถให้พ้นจากสถานที่เกิดเหตุ อย่าทิ้งแช่ไว้ เพราะจะทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำได้ และจะต้องจัดเจ้าหน้าที่ดูแลรถ

12. ติดตามตัวผู้บาดเจ็บไปยังโรงพยาบาลทันทีถ้าทำได้ เพื่อทำการสอบปากคำ ถ้าตายต้องร่วมทำการชันสูตรพลิกศพกับแพทย์ผู้นั้น

13. การเขียนบันทึกโดยละเอียด

หลักในการบันทึกมีดังนี้

1. ตำแหน่งที่เกิดเหตุ ถนนอะไร ห่างจากแยกเท่าไหร่ มีทิศทางให้เรียบร้อย

2. บรรยายลักษณะของรถแต่ละคันของคู่กรณี รวมทั้งบรรยายรถส่วนที่เสียหายของรถยนต์คู่กรณี พร้อมทั้งประมาณค่าเสียหายของรถยนต์ด้วย (ใช้คำว่าประมาณไม่เกิน)

3. บันทึกผู้ขับรถแต่ละคัน ผู้หญิงหรือผู้ชาย อายุเท่าไหร่ อยู่ที่ไหน อาชีพอะไร

4. ผู้บาดเจ็บชื่ออะไร เพศ อายุ นั่งอยู่บริเวณไหน อาการบาดเจ็บ รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลไหน

5. การปฏิบัติตนของผู้ขับขี่ว่าแสดงท่าทีอย่างไรของทั้ง 2 ฝ่าย ยังอยู่ในที่เกิดเหตุหรือหนีไป หรือสลบอยู่

6. สภาพของดินฟ้าอากาศเป็นอย่างไรในขณะเกิดเหตุ อาจมีหมอก ฝนตก หรือไฟดับหมด

7. มีการควบคุมการจราจรในที่เกิดเหตุหรือไม่

8. ลักษณะการมองเห็น (ทัศนวิสัย)

9. ชื่อ ตำบลที่อยู่ของพยาน

10. เรื่องราวอุบัติเหตุโดยย่อ

11. แผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุ

12. รายละเอียดการจับกุม ชื่อ และข้อหา

13. ชื่อพนักงานสอบสวน และตำแหน่ง รวมทั้งเวลาที่ไปถึงที่เกิดเหตุ