กินเจ/เจียะฉ่าย : พิธีกรรมหลากความหมายในโลกที่เปลี่ยนแปลง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ดูเหมือนผมจะเขียนเรื่องกินเจหรือในบางพื้นที่เรียกว่า ประเพณี “เจียะฉ่าย” (กินผัก) ทุกปี เพราะมีประเด็นที่น่าสนใจหรือ “ดราม่า” ใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ

อันที่จริงนอกเหนือจากดราม่าอันอุดมในสังคมเรานั้น ผมเองก็ได้รับความรู้ความเข้าใจเพิ่มเติมจากท่านผู้รู้ในฐานะ “มือใหม่หัดไหว้เจ้า” จึงคิดว่าก็น่าจะเขียนอะไรมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่าน เผื่อท่านมีสิ่งใดที่อยากจะให้ผมได้เรียนรู้เพิ่มอีก ก็คงจะได้มีช่องทางแลกเปลี่ยนกัน

ปีนี้มีดราม่าเล็กๆ ตรงที่มีผู้กินเจบางท่านซึ่งไม่ได้อยู่ในวัฒนธรรมกินเจหรือเจียะฉ่ายแบบภาคใต้ โพสต์เฟซบุ๊กในทำนองว่า เขากินเจเอาบุญ ไม่ได้เพื่อไว้ทุกข์ให้โคตรพ่อโคตรแม่ใคร

ซึ่งอันนี้เป็นการโพสต์กระทบกระทั่งต่อกลุ่มคนกินเจตามมโนคติดั้งเดิม โดยเฉพาะงานกินเจหรือเจียะฉ่ายในภาคใต้โดยตรง

 

ผมคงต้องเล่าเท้าความไปแบบนี้ครับว่า ผู้รู้ท่านเสนอความเห็นว่างานกินเจเดือนเก้า (จีน) โดยเฉพาะที่ยังปฏิบัติกันแพร่หลายในภาคใต้ของไทยรวมทั้งอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ได้แฝงนัยยะทางการเมืองเอาไว้อย่างแยบยลในพิธีกรรมและสัญลักษณ์ต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องไว้ทุกข์

อันที่จริง แต่เดิม “โรงเจ” หลายแห่งทั้งในกรุงเทพฯ และภาคกลางก็มีนัยยะทางการเมืองและมีมโนคติอย่างเดียวกัน ทว่า เมื่อกาลเวลาผ่านไป ผู้รู้ล้มหายตายจาก เรื่องเล่าขาดช่วง สังคมเปลี่ยน รวมทั้งอิทธิพลของพุทธศาสนาที่มีมากขึ้นจนกลืนกินความคิดแบบเดิมไปจนหมดสิ้น

เหลือเพียงบางส่วนของพิธีกรรมและสัญลักษณ์บางอย่างพอให้เห็นร่องรอยเท่านั้น

ครั้นมีผู้สืบทอดมโนคติอย่างเดิมอยู่ ทั้งยังออกมาให้ความรู้ที่อาจขัดกับสิ่งที่คนทั่วไปเชื่อ จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีผู้ต่อต้านอย่างรุนแรงเพราะไม่ตรงกับความเห็นและศรัทธาของเขา

ผมคิดว่าน่าเห็นใจทั้งสองฝ่ายครับ ฝ่ายที่รับทอดอุดมคติก็รู้สึกเหมือนโดนดูถูกเหยียดหยาม ฝ่ายที่ถือความเชื่ออีกแบบเขาก็เชื่อแบบนั้นไปเสียแล้ว ใครจะพูดอย่างไรก็ไม่ฟัง ซึ่งอันที่จริงมันก็เป็นสิทธิของเขา แต่ก็น่าเสียดายโอกาสที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ไป

 

สรุปให้ง่ายที่สุด นัยยะทางการเมืองของงานกินเจที่เด่นชัด และนักประวัติศาสตร์ต่างก็กล่าวถึง คือเป็น “งานไว้ทุกข์” ครับ

ไม่ว่าจะไว้ทุกข์แด่กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์ซ่ง (ด้วยเหตุนี้จึงใช้เครื่องยศอย่างกษัตริย์ในพิธี รวมทั้งราชาศัพท์ด้วย) ซึ่งมาสวรรคตในดินแดนหมิ่นหนาน

ไว้ทุกข์แด่วีรชนทั้งเก้าผู้ต่อต้านชิงและถูกฆ่าโยนลงทะเล

หรือไว้ทุกข์แก่วีรชนหรือกบฏผู้ต้านชิงกู้หมิงในขบวนการอื่นๆ

แต่เนื่องจากการไว้ทุกข์เหล่านี้มิอาจกระทำโดยเปิดเผยได้ เพราะจะขัดกับผู้ปกครองใหม่ จึงได้ใช้พิธี “บูชาดาว” ในเดือนเก้าบังหน้า หรือไหว้เจ้าบังหน้ามิให้ทางการล่วงรู้ พิธีกรรมกินเจจึงเต็มไปด้วยรหัสซ่อนเร้นที่เข้าใจกันเฉพาะในหมู่พวกหรือสหายกินผัก (เหล่าฉ่ายอิ้ว) เท่านั้น

ตัวอย่างเช่น การสวมชุดขาวช่วงกินเจ ซึ่งเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจมากที่สุด เรามักเข้าใจว่าชุดสีขาวเป็นชุดที่แสดงถึงความบริสุทธิ์สะอาด ทว่า ในคติจีนสีขาวเป็นแห่งการ “ไว้ทุกข์” แสดงถึงความตายและฤดูหนาวอันขาวโพลนไปด้วยหิมะ มิได้แสดงถึงความบริสุทธิ์ดังที่มักอธิบายจากคติพุทธศาสนาแบบไทยๆ

เพราะเวลาเราถือศีลอุโบสถหรือบวชชีพราหมณ์ เราใส่ชุดขาวไปนอนที่วัดผิดจากการสวมเสื้อผ้าปกติ เราจึงไปถือเอาว่าชุดขาวต้องหมายถึงความบริสุทธิ์สะอาดแต่เพียงอย่างเดียว

อันที่จริง แม้แต่ชุดสำหรับถืออุโบสถศีลหรือชุดพิธีกรรมทางการของพุทธศาสนาแบบจีน (ไห่เช็ง) ก็มิได้ใช้สีขาว แต่เป็นสีดำ เทาและน้ำตาล อาจมีผู้เถียงว่า ทางจีนนิกายในเมืองไทยกำหนดให้ใส่ชุดแบบเดียวกันแต่มีสีขาวนี่นา จะบอกว่าเป็นชุดไว้ทุกข์ ไม่เกี่ยวกับคติความบริสุทธิ์ได้อย่างไร

ผมคิดว่า เรื่องนี้พุทธศาสนาฝ่ายจีนนิกายในเมืองไทยได้ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับบริบทแบบไทยๆ ไปแล้วครับ เช่นเดียวกับเรื่องจีวรของพระจีนนิกายที่มีสีและการครองคล้ายอย่างจีวรพระไทย

ยิ่งไปกว่านั้น ในพิธีกินเจหรือเจียะฉ่ายของทางภาคใต้ ยังมีการโพกศีรษะด้วยผ้าขาวด้วย อันนี้ชัดเจนครับว่าเป็นรูปแบบของชุดไว้ทุกข์อย่างจีน

 

เรื่องการกินอาหารเจ นอกเหนือจากการละเว้นการฆ่าสัตว์ด้วยเมตตาธรรมตามคติพุทธแล้ว ในคติของศาสนาเต๋ายังเกี่ยวข้องกับการชำระจิตให้บริสุทธิ์เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่พิธีกรรม ส่วนคติแบบหยูหรือขงจื่อ ผมเข้าใจว่ามีนัยเกี่ยวกับการไว้ทุกข์หรือความเศร้าโศกด้วย ถ้าจำไม่ผิดในคัมภีร์หลุนอวี่กล่าวถึงการกินอาหารหยาบๆ ง่ายๆ (ซึ่งไม่มีเนื้อสัตว์) ในช่วงไว้ทุกข์ให้บุพการี

แน่นอนว่าเทศกาลกินเจเดือนเก้า ไม่ได้มีที่มาจากประวัติศาสตร์แห่งความเศร้าโศกและการต่อต้านเพียงอย่างเดียว ยังมีคติและที่มาอย่างอื่นอีก เช่น ศาสนาเต๋ามีพิธีกินเจและการบูชาดาวอยู่แล้วมาแต่โบราณ ส่วนพุทธศาสนาในจีนทำพิธีแบบเดียวกันคงเพราะชาวบ้านนิยม แต่ได้อธิบายเรื่องนี้ใหม่ว่าแทนที่จะเป็นการบูชาเทพเจ้านอกศาสนา ก็ให้ดาวทั้งเก้านั้นเป็นพระพุทธะและพระโพธิสัตว์ จะได้สนิทสนมกลมกลืนกับพุทธศาสนาได้

ดังนั้น แม้แต่เทพประธานของงานพิธีนี้ยังถูกเรียกแตกต่างกัน ชาวฮกเกี้ยนนิยมเรียกว่า “กิ๊วหองไต่เต่” (นพราชาธิราช) ด้วยอิทธิของศาสนาเต๋าและคติชาวบ้าน ส่วนชาวแต้จิ๋วนิยมเรียกว่า “กิ่วอ้วงฮุดโจ้ว” (นพราชาพุทธะ) เพราะมีอิทธิพลของพุทธศาสนามากกว่า

โรงเจแต่ละโรงจึงทำพิธีต่างกันตามแนวทางที่ตนนิยม สายไหนนิยมทางฝั่งพุทธศาสนาก็นิมนต์พระจีนพระญวนมาสาธยายพระพุทธมนต์ ทำพุทธบูชาตามขนบ ฝ่ายไหนมาทางเต๋าก็มีนักพรตเต๋าประกอบพิธี เช่นที่อารามเต๋าไท่เสวียนก้วน นครปฐม ฝ่ายความเชื่อผสมอย่างชาวบ้านหรือคติของ “สมาคมลับ” ก็มีฆราวาสผู้ประกอบพิธีอย่างบรรดาศาลเจ้าต่างๆ ในภาคใต้

 

อันที่จริง ปัญหาอีกอย่างของเรื่องนี้คือความเชื่อว่ามันมีอะไร “แท้ๆ” ด้วยครับ กินเจอย่างพุทธแท้ กินเจอย่างเต๋าแท้ กินเจไม่ปนเปื้อนเรื่องไว้ทุกข์ ฯลฯ

ทว่า ในทัศนะของผม เอาแค่พุทธศาสนามาบูชาดาวนี่จะเรียกว่าแท้ที่ตรงไหน ต่อให้อธิบายว่าดาวเหล่านั้นเป็นพุทธะและโพธิสัตว์ก็ตามเถิด ที่กล่าวมานี้ไม่ได้ต้องการให้เลิกพิธีกรรมดังกล่าวนะครับ เพราะอันที่จริงเรื่องพวกนี้มันก็ผสมปนเปกันอยู่แล้วในตัวมาแต่เดิม

เต๋าในเมืองจีนก็ได้อิทธิพลมากมายจากพุทธ พุทธในเมืองจีนก็รับอิทธิพลจากเต๋า ความเชื่อชาวบ้านก็เป็นส่วนประกอบสำคัญ แถมยังมีเรื่องการเมืองซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่ศาสนาจะเกี่ยวข้องด้วยในยุคสมัยที่ศาสนาคือพลังขับเคลื่อนผู้คน

ประเด็นทางอุดมการณ์และประวัติศาสตร์ ราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงล่มสลายไปแล้วทั้งคู่ ไม่มีอะไรให้ต่อต้านและฟื้นฟูอีก วลี “ล้มชิงกู้หมิง” กลายเป็นถ้อยคำจากอดีต

ดังนี้แล้ว เราจะยังสืบอุดมการณ์และ “ไว้ทุกข์” ให้กับวีรชนเหล่านั้นในฐานะ “บรรพชน” อยู่อีกไหม

 

ผมคิดว่า คำตอบของเรื่องนี้อยู่ที่ว่า แต่ละคนมอง “รากเหง้า” และการเชื่อมต่อกับรากเหง้านั้นของตนเองอย่างไร

ถ้าเห็นว่าอดีตเป็นสิ่งตัดขาดกับปัจจุบัน เราอาจไม่ต้องสนใจประเด็นนี้เลยก็ได้

แต่สำหรับผมผู้แสวงหารากเหง้าของตนเองมาตลอดชีวิต ผู้ที่แบกนามสกุลจีนที่ตัวเองก็ไม่รู้ว่ามีความหมายอะไร การพบว่าตนเองคือลูกหลานชาวจีนที่อพยพมาสู่ดินแดนใหม่เพราะเรื่องดังกล่าวด้วย เรื่องราวในอดีตจึงมิใช่สิ่งที่แยกออกจากตัวตนของผมได้

รากเหง้าจึงอาจไม่ใช่แค่ตำนานแห้งแล้งจากยุคก่อนหน้า มันเป็นเรื่องที่มีชีวิตชีวาอยู่ในเนื้อในตัว การเชื่อมต่อกับรากเหง้าคือการสวมเอาอารมณ์ความรู้สึก อุดมการณ์ ความหวัง ความทุกข์และความเศร้าของบรรพชน/วีรชนผู้ล่วงลับมาไว้ ในห้วงเวลาสั้นๆ ที่เราเรียกว่า “เทศกาล” หรือ “พิธีกรรม”

ยิ่งไปกว่านั้น ก็เพราะได้อาศัยพิธีกรรมและเทศกาลเหล่านี้แหละ ผู้คนมากมายจึงได้ค้นพบรากเหง้าของตนที่ทรงพลังยิ่งกว่าเวลาไหนๆ

ดังนั้น จะกินเจแบบไหนก็กินตามความเชื่อและความต้องการเถิด

แต่อย่าลืมที่มาที่ไป

และนัยยะที่เราอาจไม่อยากรับฟังด้วย •

 

ผี พราหมณ์ พุทธ | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง