หุ่นยนต์ หุ่นใจ ดูแลผู้สูงวัย

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

Cool Tech | จิตต์สุภา ฉิน

Instagram : @sueching

Facebook.com/JitsupaChin

 

หุ่นยนต์ หุ่นใจ ดูแลผู้สูงวัย

 

ความคิดที่ผุดขึ้นมาอยู่บ่อยๆ ในหัวของคนที่ไม่มีลูกอย่างฉันก็คือ เมื่อแก่ตัวไป หากไม่มีลูกหลานมาเยี่ยมเยียน มาคอยถามไถ่สารทุกข์สุขดิบเหมือนคนอื่นๆ ฉันจะเหงาไหม จะรู้สึกว่าขาดสิ่งสำคัญในชีวิตไปไหม และจะมองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกว่าตัวเองตัดสินใจผิดพลาดไปหรือเปล่า

ฉันเชื่อว่าคุณผู้อ่านแต่ละคนก็มีคำตอบให้ฉันที่แตกต่างกันออกไป คนที่มีครอบครัว มีลูก มีหลาน ก็จะต้องบอกว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในชีวิต หรืออาจจะไล่ให้ฉันกลับไปตัดสินใจมาใหม่ก็ได้

ในขณะที่คนที่ไม่มีลูกหรือคนที่เชื่อว่าชีวิตคนเราเป็นไปได้หลายแบบ ไม่ได้มีอะไรขีดเส้นผิดถูกก็อาจจะให้คำแนะนำว่าต้องมีสถานะทางการเงินในระดับไหนถึงจะสามารถเข้าถึงบริการการดูแลที่ดีได้จนถึงบั้นปลายชีวิต

อันที่จริงไม่ต้องรอถึงคนเจนฉันแก่ตัวเลย แต่ทุกวันนี้กลุ่มเบบี้บูมเมอร์ที่มีอยู่จำนวนมากก็อายุมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่สัดส่วนผู้ดูแลกลับมีน้อยลง ทั้งผู้ดูแลที่ทำเป็นอาชีพ และผู้ดูแลที่ไม่ได้รับค่าจ้างซึ่งก็คือสมาชิกในครอบครัวนั่นเอง

บางคนมีลูกมีหลานคอยดูแลก็จริงแต่การดูแลคนสูงวัยไม่ใช่เรื่องง่ายๆ สมาชิกครอบครัวที่ต้องดูแลผู้สูงวัยไปด้วย ทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัวไปด้วยต้องเจอกับการทำงานที่หนักหน่วงจนร่างกายและจิตใจก็อ่อนล้าไปหมด

หนึ่งในทางออกที่กำลังมีการทดลองใช้กันอย่างจริงจังก็คือการใช้หุ่นยนต์มาช่วยดูแลเบบี้บูมเมอร์ซึ่งภายในปี 2040 เบบี้บูมเมอร์ทั้งเจเนอเรชั่นจะมีอายุมากกว่า 75 ปีขึ้นไป เมื่อมนุษย์ด้วยกันอาจทำหน้าที่ดูแลกันได้ไม่ทั่วถึงพอ หุ่นยนต์อาจจะเป็นอีกหนึ่งทางออกที่มาช่วยเสริมคุณภาพการดูแลผู้สูงวัยให้ดีขึ้น

ที่ผ่านมาเราอาจจะเคยเห็นข่าวหุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุมาแล้วบ้าง ส่วนมากมักจะอยู่ในประเทศญี่ปุ่น อย่างเช่น เจ้าหุ่นยนต์หน้าหมีที่ชื่อ Robear ที่ทำหน้าที่ช่วยยกผู้ป่วยขึ้นลงจากวีลแชร์เพื่อไปอาบน้ำหรือเข้านอน หุ่นยนต์ Paro แมวน้ำน่ารักที่ช่วยให้ผู้สูงอายุคลายเหงา

ในสหรัฐอเมริกาก็มีหุ่นยนต์ RYAN หรือย่อมาจาก Robot You Always Need เป็นหุ่นยนต์ที่เกิดจากห้องแล็บของ University of Denver ออกแบบมาเพื่อให้เหมาะสำหรับการช่วยดูแลผู้อยู่อาศัยในบ้านพักคนชราโดยเน้นไปที่การช่วยเหลือผู้สูงวัยที่ประสบปัญหาภาวะซึมเศร้าหรือการแยกจากสังคม

RYAN มีศีรษะ ลำตัว แขน ขา แบบเดียวกับมนุษย์ มีใบหน้าติดไปทางการ์ตูนเล็กน้อยเพื่อเพิ่มความเป็นมิตร ติดตั้งมาพร้อมกับเกมการละเล่น บทสนทนา หรือแม้กระทั่งการสอนทำโยคะให้กับผู้สูงอายุ

ผู้ผลิตหุ่นยนต์ RYAN ได้ทดลองนำหุ่นยนต์ตัวนี้ไปใช้งานตามศูนย์ดูแลผู้สูงวัยมาแล้วหลายแห่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดย RYAN จะมีหน้าที่ในการชวนผู้อาศัยคุย สร้างบทสนทนาต่างๆ ชวนเล่นเกม เล่นหมากรุก หรือนั่งฟังมุขตลกที่ RYAN เล่า

หนึ่งในผู้สูงวัยที่มีโอกาสได้มีปฏิสัมพันธ์กับ RYAN มาแล้วระยะหนึ่งบอกว่า RYAN ช่วยเพิ่มสีสันให้กับบ้านพักคนชราได้เป็นอย่างมาก เพราะ RYAN จะร่าเริงสนุกสนานอยู่เสมอ

เมื่อทดลองได้ผลลัพธ์ที่ดีแล้วทางทีมงานผู้ผลิตก็พร้อมที่จะอัปเกรดเวอร์ชั่นใหม่และเตรียมผลิตในระดับแมสเร็วๆ นี้

 

ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของหุ่นยนต์ที่แตกต่างจากหุ่นยนต์ที่เรามักจะได้เห็นอยู่บ่อยๆ อย่างเช่น หุ่นยนต์ของ Boston Dynamics ที่ทำกิจกรรมต่างๆ ได้คล่องแคล่วว่องไวเหมือนมนุษย์ในเวอร์ชั่นแข็งแกร่งไร้เทียมทาน หรือหุ่นยนต์สี่ขาที่ดูน่าเกรงขามติดไปทางน่ากลัวเล็กๆ

หุ่นยนต์เหล่านี้ก็จะมีภารกิจในแบบของตัวเอง อย่างเช่น ภารกิจที่ต้องใช้ความแข็งแกร่งของร่างกายที่เหนือมนุษย์ หรือภารกิจเสี่ยงภัยที่เป็นอันตรายเกินกว่าที่มนุษย์จะลงมือทำเอง ในขณะที่หุ่นยนต์แบบ RYAN นั้นเกิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสังคมให้กับมนุษย์มากกว่า

เวลาที่ฉันบอกว่าหุ่นยนต์อาจจะมาดูแลปู่ ย่า ตา ยาย ของเรา เราก็อาจจะเผลอคิดภาพไปว่าเราจะมีหุ่นยนต์ในบ้าน หรือในบ้านพักคนสูงวัย ที่ทำหน้าที่ทุกอย่างแทนพยาบาลและผู้ดูแล หุ่นยนต์จะอยู่กับเราตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้า ยกเราลงจากเตียง คอยเสิร์ฟข้าว เสิร์ฟน้ำ ให้ยา คล้ายๆ กับในภาพยนตร์ไซ-ไฟที่ไม่ต้องพึ่งพามนุษย์ด้วยกันเลย

ในความเป็นจริงหุ่นยนต์ที่ออกแบบมาให้ดูแลผู้สูงวัยนั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้ทดแทนผู้ดูแลแบบหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์นะคะ

หุ่นยนต์เหล่านี้ออกแบบมาให้เป็นลูกมือ เป็นผู้ช่วยผู้ดูแลมากกว่า คล้ายๆ กับเวลาที่เราไปนั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารและมีหุ่นยนต์เดินมาเสิร์ฟให้ถึงโต๊ะ

ถามว่าพนักงานจะต้องยกเลิกหน้าที่เสิร์ฟไปเลยโดยสิ้นเชิงไหม ก็ไม่ใช่ แต่ในช่วงเวลายุ่งๆ ที่พนักงานต้องหันซ้ายหันขวาทำงานหลายอย่าง การมีหุ่นยนต์ที่สามารถเดินไปเสิร์ฟอาหารให้ลูกค้าถึงโต๊ะได้ก็ช่วยทุ่นแรง ทุ่นเวลา ไปไม่น้อยเลย

 

ผู้สูงอายุที่ไม่มีครอบครัวมาเยี่ยม หรือไม่ค่อยได้เข้าสังคม ไม่ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนไอเดียกับคนอื่นรอบตัว มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าได้

ฉันเชื่อว่าอย่างน้อยๆ การได้พูดคุยกับหุ่นยนต์เก่งๆ ที่สามารถโต้ตอบ มีบทสนทนาที่ไหลลื่น หรือแม้กระทั่งสามารถอ่านอารมณ์ของคู่สนทนาและรู้ว่าต้องพูดคุยด้วยอย่างไรนั้นสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยได้

หากคุณผู้อ่านได้ทดลองใช้ AI แบบที่เราสามารถสนทนาพูดคุยด้วยได้และรู้สึกทึ่งกับคำตอบอันชาญฉลาดและแสนเป็นธรรมชาติของมันมาแล้วก็คงจะทำใจเชื่อได้ไม่ยากเลยว่าอีกไม่นานข้างหน้ามนุษย์เราจะคุยกับหุ่นยนต์เพิ่มขึ้นเยอะ และมันอาจจะทำได้ดีเสียจนช่วยเติมช่องว่างโหวงๆ ในใจของเราไปได้บ้าง

ทุกวันนี้หุ่นยนต์ช่วยดูแลสมาชิกภายในบ้านก็มีวางขายอยู่ตามท้องตลาดแล้ว ไม่ต้องรอให้เป็นหุ่นยนต์ขนาดเกือบเท่าคนจริง แต่พวกหุ่นยนต์จิ๋วๆ เก่งๆ ที่ทำหน้าที่เป็นทั้งกล้องวงจรปิดเคลื่อนที่ได้ ช่วยทำวิดีโอคอลล์หาเพื่อนหรือครอบครัว ไปจนถึงความสามารถในการตรวจจับว่าเกิดการหกล้มขึ้นภายในบ้านหรือเปล่า ถึงจะไม่เก่งกาจเท่าหุ่นยนต์อย่าง RYAN แต่ก็น่าจะช่วยดูแลความปลอดภัยผู้สูงอายุในบ้านได้มากขึ้น

แน่นอนว่าหุ่นยนต์เหล่านี้ไม่สามารถทดแทนมนุษย์ที่มีเนื้อมีหนังได้ ไม่ว่าจะอย่างไรเราก็ยังต้องการปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกัน แต่การมีหุ่นยนต์มาช่วยเติมเต็มในจังหวะที่เหงา หรือเป็นเครื่องทุ่นแรงให้ผู้ดูแลเหนื่อยกายเหนื่อยใจน้อยลง

ก็จะทำให้ทุกๆ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันนั้นมีคุณค่าและคุณภาพขึ้นมากนะคะ