มุกดา สุวรรณชาติ : เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อครองอำนาจ วงจรอุบาทว์เกิดซ้ำซาก (2)

มุกดา สุวรรณชาติ

ส.ส.อิสระและพรรคทหาร

เส้นทางขึ้นสู่อำนาจของจอมพล ป. หลังการรัฐประหาร 2490 เหมือนเป็นโรงเรียนฝึกสอนคนที่กุมกำลังว่าจะมีวิธีขึ้นสู่อำนาจตามเส้นทางลัดอย่างไร จะสืบทอดอำนาจให้ยาวนานอย่างไร? และก็มีคนทำตามจริงๆ ด้วย ตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์…จนถึงปัจจุบัน

วันนี้ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน แกนนำกลุ่มมัชฌิมา เสนอให้การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง และให้เป็นระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตอย่างเดียว 400 คน โดยไม่ต้องมีระบบบัญชีรายชื่อ

โดยขอให้ช่วงนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านใช้ระยะเวลา 1 ปีในการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.พรรคการเมือง ระบบการเลือกตั้ง เป็นต้น ตนเชื่อว่า เมื่อ ส.ส. ไม่สังกัดพรรค ก็ไม่มีมติพรรคมากำกับ ส.ส. ก็มีอิสระ ไม่ต้องมีสีเหมือนที่ผ่านมา ก็จะไม่มีม็อบออกมาเคลื่อนไหว เชื่อว่าจะแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งและสร้างความปรองดองได้

เรื่อง ส.ส. ไม่สังกัดพรรค จอมพล ป. ใช้มาแล้วในการครองอำนาจปี 2495 และปี 2500 ก็ตั้งพรรคทหารชื่อเสรีมนังคศิลา แต่เพียง 6 เดือนก็ถูกรัฐประหาร

หลังรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 จอมพลสฤษดิ์ ก็มีวิธีก้าวเข้าสู่อำนาจแบบมีลีลาไม่แพ้จอมพล ป. โดยจอมพลสฤษดิ์มิได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญที่จอมพล ป. ใช้อยู่ แต่ได้ยุบสภาให้ ส.ส. ทั้งประเภท 1 และประเภท 2 หมดวาระ จากนั้นก็ตั้ง ส.ส. ประเภท 2 (ส.ว.) ขึ้นมาแทน 121 คนซึ่งล้วนแต่เป็นนายทหารฝ่ายตน เป็นทหารบก 69 คน ทหารเรือและทหารอากาศ 29 คน นอกนั้นเป็นข้าราชการ

จอมพลสฤษดิ์ไม่ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีเอง แต่ให้ นายพจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกฯ เพราะเป็นอดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำอเมริกาจึงได้รับการยอมรับจากมหาอำนาจ

 

พรรคทหารของจอมพลสฤษดิ์
ชื่อ พรรคชาติสังคม อยู่ได้ 10 เดือน

เหตุผลหนึ่งของการรัฐประหารคือการอ้างว่าการเลือกตั้งที่ผ่านมาของจอมพล ป. มีการทุจริต ดังนั้น จึงมีการประกาศให้เลือกตั้งใหม่ภายใน 90 วัน … 15 ธันวาคม 2500 มีการเลือกตั้งใหม่ได้ ส.ส. ที่ไม่สังกัดพรรคถึง 59 คน กลุ่มใหญ่ที่สุด พรรคสหภูมิของจอมพลสฤษดิ์ได้ 44 คน ประชาธิปัตย์ได้ 39 คน นอกนั้นเป็นพรรคเล็กพรรคน้อย

จอมพลสฤษดิ์จึงได้ตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาคือพรรคชาติสังคมโดยใช้พรรคสหภูมิเป็นแกนกลางและรวบรวม ส.ส. ที่ไม่สังกัดพรรคและพรรคเล็กพรรคน้อยได้ 80 เสียง

แต่ครั้งนี้ให้ พลโทถนอม กิตติขจร เป็นนายกฯ เพราะพรรคชาติสังคมรวมกับเสียง ส.ว. ก็มีผู้สนับสนุนถึง 202 เสียง ส่วนจอมพลสฤษดิ์เดินทางไปรักษาตัวที่สหรัฐอเมริกา

นายกฯ ถนอมปกครองเป็นเวลาเกือบ 10 เดือน จอมพลสฤษดิ์ผ่าตัดเสร็จก็เดินทางกลับมายึดอำนาจในวันที่ 20 ตุลาคม ก็ทำการยึดอำนาจโดยพลเอกถนอม และคณะรัฐมนตรีลาออกในตอนบ่าย จอมพลสฤษดิ์ได้ยึดอำนาจในตอนค่ำ

การรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในครั้งนี้ทำให้รัฐธรรมนูญเหมือนเศษกระดาษที่ถูกโยนลงถังขยะ ระบบการปกครองเป็นเผด็จการแบบเต็มใบ ยกเลิกรัฐธรรมนูญ, ยุบสภา, ยุบพรรคการเมือง, ให้ ส.ส. และ ส.ว. สิ้นสภาพลงในทันที, ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน, ห้ามกรรมกรนัดหยุดงาน และประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ

จอมพลสฤษดิ์ใช้อำนาจคณะปฏิวัติอยู่ถึงสามเดือน ได้ออกประกาศคณะปฎิวัติมาบังคับใช้ 57 ฉบับ ด้วยระบบเผด็จการทำให้มีหนังสือพิมพ์ถูกปิด ฝ่ายก้าวหน้าถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก

 

ธรรมนูญการปกครอง (ชั่วคราว 9 ปีกว่า)
หลังจอมพลสฤษดิ์รัฐประหารเงาตัวเอง

ในเดือนมกราคม 2502 จึงมีการประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรซึ่งมีเพียง 20 มาตรา มีการตั้งสภาที่เรียกว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ให้ทำหน้าที่นิติบัญญัติด้วย สมาชิกสภาก็แต่งตั้งทั้งหมด ไม่มีการเลือกตั้งเลย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากทหาร

พอตั้งสภาเสร็จ ก็ลงมติให้จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ ทั้งที่ยังอยู่ในตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผบ.ทบ., และอธิบดีกรมตำรวจด้วย

ส่วนการร่างรัฐธรรมนูญไปเริ่มประชุมครั้งแรกอีกสองปีต่อมา ด้วยการสนับสนุนจากหลายฝ่าย ที่สำคัญคือ CIA จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกฯ อยู่จนถึงเดือนธันวาคมปี 2506 ก็ป่วยและเสียชีวิตลง

จอมพลสฤษดิ์เข้าสู่อำนาจด้วยลีลาคล้ายจอมพล ป. แต่ใช้ธรรมนูญการปกครองที่ใครๆ ก็คิดว่าจะเป็นฉบับชั่วคราว แต่สามารถลากยาวได้ จนตัวเองเสียชีวิต

แต่รัฐบาลจอมพลถนอมก็ยังลากต่อไปอีก ธรรมนูญการปกครองนี้จึงยืนยาวอยู่ถึง 9 ปี 4 เดือน ที่ยกเลิกเพราะสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรแล้วเสร็จ และประกาศใช้เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2511

สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากยุคจอมพล ป. คืออำนาจพิเศษ “มาตรา 17”

ในระหว่างที่ใช้ธรรมนูญนี้ ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีเห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการระงับหรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร กวน หรือคุกคามความสงบที่เกิดขึ้นภายใน หรือมาจากภายนอกราชอาณาจักร ให้นายกรัฐมนตรีโดยมติของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งการ หรือกระทำการใดๆ ได้ และให้ถือว่าคำสั่งหรือการกระทำเช่นว่านั้นเป็นคำสั่งหรือการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

เมื่อนายกรัฐมนตรีได้สั่งการหรือกระทำการใดไปตามความในวรรคก่อนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแจ้งให้สภาทราบ

 

รัฐธรรมนูญฉบับ 2511 ร่าง 9 ปี ใช้ 3 ปีฉีกทิ้ง
พรรคทหารชื่อ สหประชาไทย ใช้ได้ 2 ปีกว่า

จอมพลถนอม กิตติขจร รับตำแหน่งนายกฯ ต่อจากจอมพลสฤษดิ์เสียชีวิต บริหารต่อ ปราบคอมมิวนิสต์ต่อ ร่างรัฐธรรมนูญต่อ.และได้เรียนแบบจอมพล ป. และจอมพลสฤษดิ์…

เมื่อรัฐธรรมนูญร่างเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2511 และประกาศใช้ใน 10 มิถุนายน 2511 ใช้เวลาร่างนานที่สุดในโลก รัฐธรรมนูญฉบับนี้ห้าม ส.ส. เป็นรัฐมนตรี วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งทั้งหมดและจะมาจากข้าราชการก็ได้

มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2512 ผลการเลือกตั้งพรรคสหประชาไทยของจอมพลถนอมได้ ส.ส. 76 คน ปชป. ได้ 55 คน แต่ ส.ส.อิสระไม่สังกัดพรรค มีมากถึง 71 คน

จอมพลถนอม ดึงเสียง ส.ส.อิสระ มารวมกับพรรคสหประชาไทย ได้ 125 คน เมื่อมี ส.ว. หนุน จึงได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี

พอถึงปี 2514 กลุ่ม ส.ส. ได้ขอแก้รัฐธรรมนูญ ลดอำนาจวุฒิสภาลง ให้แยกข้าราชการการเมืองออกจากข้าราชการประจำ ให้ ส.ส. เป็นรัฐมนตรีได้

และมีปัญหาขัดแย้งเรื่องการจัดสรรงบประมาณ

 

ธรรมนูญการปกครองเผด็จการ 2515
หลังจอมพลถนอมรัฐประหารรัฐบาลตัวเอง

17 พฤศจิกายน 2514 นายกรัฐมนตรีถนอมแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการยุบสภา แต่ไม่ได้ยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน กลับปฏิวัติตัวเอง ยุบสภาทิ้งไปเลย ยกลิก รธน.2511 ที่ใช้เวลาร่าง 9 ปี แต่ใช้จริงปีกว่า แล้วตั้ง “สภาบริหารคณะปฏิวัติ” ขึ้นมาแทน

จากนั้นก็ใช้อำนาจเผด็จการเช่นเดียวกับจอมพลสฤษดิ์ ออกประกาศคณะปฏิวัติใช้แทนกฎหมายมากกว่า 400 ฉบับ

ทำแบบนี้นานถึง 13 เดือน จึงออกธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515

ตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 299 คน เป็นทหารประจำการ 173 คน นอกนั้นส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ มีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี แต่ไม่มีสิทธิเสนอกฎหมาย ให้อำนาจของนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 17 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ มาบังคับใช้ด้วย

ตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มี พลเอกประภาส จารุเสถียร เป็นประธาน

คำว่าระบบถนอม-ประภาสจึงเกิดขึ้น ณ ช่วงเวลานั้น

วงจรอุบาทว์หมุนต่อมาได้อีกไม่ถึง 2 ปีก็เกิดเรื่อง

ปี พ.ศ.2516 มีการต่อต้านอำนาจเผด็จการของกลุ่มถนอม-ประภาสโดยขบวนการนักศึกษาประชาชนจนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ขึ้น จนจอมพลถนอมและจอมพลประภาสต้องเดินทางออกจากประเทศไทย ธรรมนูญการปกครองฉบับที่ 9 ก็สิ้นสุดลง

 

โครงสร้างในวงจรอุบาทว์ 3 ยุค

ถือว่าธรรมนูญการปกครองหรือรัฐธรรมนูญที่ร่างกันเองอยู่ภายใต้เงาเผด็จการ ส่วนใหญ่สิ่งที่เขียนไว้ อำนวยประโยชน์ให้กับฝ่ายเผด็จการทั้งสิ้น หลังรัฐประหาร 2490 ผู้ปกครองคือ จอมพล ป. ปกครอง 10 ปี ยุคต่อมาก็คือ จอมพลสฤษดิ์ กับจอมพลถนอม มีระยะเวลาการปกครองอีก 15 ปี

การให้มี ส.ส.อิสระเปิดโอกาสให้มีการดึงตัว ซื้อตัว เป็นช่องทางสร้างกำลังทางการเมืองแบบพรรคชั่วคราว ของผู้มีอำนาจ มีอิทธิพล มีเงิน นับเป็นการเกื้อหนุนระบบเผด็จการ+รัฐสภา อย่างแท้จริง การเลือกตั้งคือพิธีเปลี่ยนเครื่องแบบของผู้ปกครอง นับตั้งแต่ยุคจอมพล ป. มีการเลือกตั้งปี 2495 จอมพลสฤษดิ์เลือกตั้งเดือนธันวาคม ปี 2500 จอมพลถนอมมีเลือกตั้ง ปี 2512

การร่างรัฐธรรมนูญ แบบเปิดช่องให้มีอำนาจนอกระบอบประชาธิปไตยเข้ามาเป็นผู้ปกครอง ทำกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยผู้รู้กฎหมายที่รับใช้ผู้มีอำนาจ

40 ปีหลังเปลี่ยนแปลง 2475 อย่างน้อย 25 ปีที่ถูกครอบงำด้วยเผด็จการ+รัฐสภา ที่สร้างจากพื้นฐาน… กำลังทหาร+รัฐธรรมนูญร่างเอง+ส.ว.ตั้งเอง+ส.ส.อิสระ+พรรคทหาร

สำหรับประชาชน การเลือกตั้งแต่ละครั้งคล้ายการปรุงอาหารให้สุก เมื่อเครื่องปรุงทุกอย่างเหมือนเดิม ก็จะได้อาหารแบบเดิม รสชาติเดิม ประชาชนถูกบังคับให้กินมา 25 ปีแล้ว ผ่านมา 40 ปีก็ยังมีคนจะมาบังคับให้กินอีก

(ต่อฉบับหน้า)