‘จันทน์’ อยู่วงจรงานศพมาแต่โบราณ ใช้ในอะไรบ้าง?

ญาดา อารัมภีร

‘จันทน์’ มิใช่เป็นแค่ ‘ดอกไม้จันทน์’ ในวันเผา ความสำคัญมากกว่านั้น ทรงคุณค่าและมีบทบาทครบวงจรในงานศพมาแต่โบราณ นอกจากใช้ไม้จันทน์ต่างฟืนเป็นเชื้อจุดไฟ ยังใช้ทำโกศบรรจุศพอีกด้วย

บทละครรำเรื่อง “อิเหนา” ตอนระตูปันจะรากัน และระตูปักมาหงันทำศพระตูบุศสิหนา พระอนุชา ได้เล่าถึงพระโกศทำด้วย ‘ไม้จันทน์’ และ ‘ไม้กฤษณา’ ซึ่งเป็นไม้มีแก่นหอม ราคาแพง การบรรจุร่างระตูบุศสิหนาใน ‘โกศจันทน์’ หรือ ‘โกศแก่นจันทน์’ นับว่าคู่ควรแก่ฐานะกษัตริย์ ดังที่กวีบรรยายว่า

“นายงานทหารในระดมกัน ทำพระโกศด้วยจันทน์กฤษณา”

“ให้เชิญศพองค์พระน้องนั้น ใส่ในโกศจันทน์ทันใด”

เมื่อถึงเวลาถวายพระเพลิง ระตูทั้งสองมีบัญชา

“ให้ยกโกศแก่นจันทน์ทันที มาตั้งที่ถวายเพลิงเชิงตะกอน

พระทรงถือธูปเทียนสุคนธา แล้วชวนนางดรสาสายสมร

ทั้งสองมหิษีบังอร บทจรเข้าจุดอัคคี”

โกศจันทน์ โกศไม้จันทน์ และโกศแก่นจันทน์ มีชื่อเรียกเป็นทางการว่า ‘พระลองไม้จันทน์’ พระลอง คือโกศประกอบชั้นนอกโกศโลหะที่บรรจุศพ ในที่นี้เป็นพระลองทำด้วยไม้จันทน์

“พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง” ที่ อาจารย์โชติ กัลยาณมิตร รวบรวม (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดพิมพ์ เมื่อ พ.ศ.2518) มีภาพของโกศไม้จันทน์ทรงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในงานถวายพระเพลิง พร้อมคำอธิบาย ดังนี้

“โกศไม้จันทน์ คือ พระลองทำด้วยไม้จันทน์ฉลักลาย มีรูปและทรวดทรงเช่นเดียวกับพระลองโลหะที่ใช้หุ้มนอกโกศบรรจุพระบรมศพ พระลองไม้จันทน์นี้อาจเรียกเป็นสามัญได้ว่าโกศไม้จันทน์ เมื่อจะถวายพระเพลิงพระบรมศพ เจ้าพนักงานจะเปลื้องพระลองทองประดับเครื่องราชอิสริยยศออกแล้วนำพระลองที่เป็นโกศไม้จันทน์แต่งหุ้มโกศบรรจุพระบรมศพไว้แทน โกศไม้จันทน์นี้จะถูกเผาไหม้ไปพร้อมกับพระบรมศพด้วย”

ภาพของกระบวนแห่พระบรมศพอัญเชิญพระโกศจันทน์และท่อนจันทน์ที่ใช้ในการถวายพระเพลิงพระมหากษัตริย์ ปรากฏชัดเจนใน “คำให้การขุนหลวง วัดประดู่ทรงธรรม” เอกสารจากหอหลวง ว่า

“หลังจากพระมหาพิชัยราชรถนั้น มีเจ้าพนักงานเชิญเครื่องราโชปโภคสำหรับพระบรมราชอิศริยยศพระเจ้าแผ่นดิน ถัดมาถึงรถพระโกษฎจันทน์ เปนพระที่นั่งรองถัดมาถึงรถพานทองรับท่อนจันทน์ รถพระโกษฎจันทน์ รถท่อนจันทน์นั้นมีคู่เคียงและเครื่องสูงเหมือนรถพระบรมศพ” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

นอกจากโกศไม้จันทน์ที่ใช้เฉพาะเจ้านาย ยังมี ‘หีบจันทน์’ ดังที่นิทานคำกลอนเรื่อง “ลักษณวงศ์” เล่าถึงการสร้างพระเมรุท้าววิรุญมาศว่าก่อเป็นมณฑปเจ็ดชั้น

“ถึงชั้นเจ็ดเป็นสมเด็จพระหริวงศ์ อินศวรทรงอุสุภราชอันเรืองศรี

มรฎปงามสรรพประดับดี จึ่งเชิญศพยักษีใส่หีบจันทน์

แล้วยกหีบขึ้นพระแท่นแผ่นศิลา อสุรารันทดกำสรดศัลย์

ร้องไห้แซ่เสียงระงมพนมวัน ดังจักจั่นแจ้วๆ วังเวงใจ”

 

มณฑปชั้นที่ 7 เป็นรูปพระอิศวร (ศิวะ) ทรงโคอุสุภราช พาหนะประจำพระองค์ ณ ชั้นนี้วางหีบจันทน์บรรจุร่างพญายักษ์วิรุญมาศ

‘จันทน์’ ยังเป็นส่วนหนึ่งของ ‘จิตกาธาร หรือ แท่นที่เผาศพ เรียกเป็นสามัญว่า เชิงตะกอน จิตกาธารเป็นคำใช้สำหรับที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพ หรือศพผู้ที่มีฐานันดรศักดิ์ที่ได้รับพระราชทานเพลิง’ (พจนานุกรมสถาปัตยกรรมและศิลปเกี่ยวเนื่อง ของ โชติ กัลยาณมิตร) ดังจะเห็นได้จากหนังสือ “ประวัติศาสตร์ ธรรมชาติและการเมืองแห่งราชอาณาจักรสยาม” (ในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์) ของ นิโกลาส์ แชรแวส (ฉบับ สันต์ ท. โกมลบุตร แปล) บันทึกว่า

“หลังจากที่ได้เก็บพระศพ (สมเด็จพระบรมราชินีนาถ) ไว้เป็นเวลานานกว่าหนึ่งปีแล้ว จึงได้รับพระราชทานเพลิง ณ ลานภายในพระบรมมหาราชวัง……. จิตกาธานนั้นประกอบด้วยไม้จันทน์ ไม้กฤษณา และไม้กะลำพอ สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นผู้จุดพระราชทานเพลิงด้วยพระองค์เอง เพราะคนชาวสยามนั้นเชื่อกันว่าการกระทำเช่นนี้เป็นกุศลแรง ยิ่งผู้ที่จุดไฟเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงสำคัญเท่าใด ผู้ตายก็จะได้รับความสุขในปรภพมากยิ่งขึ้นเท่านั้น” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

 

นอกจาก ‘จันทน์’ จะเป็นไม้หอมสำหรับทำโกศและหีบบรรจุศพแล้ว ขณะที่บรรจุศพลงโกศ ก็จะใส่จันทน์ซึ่งเป็นเครื่องหอมลงไปพร้อมกับศพนั้น ดังจะเห็นได้จากงานพระเมรุของทศกัณฐ์ พิเภกน้องชายเป็นประธานถวายพระเพลิง บทละครในเรื่อง “รามเกียรติ์” (ฉบับรัชกาลที่ 1) บรรยายว่า

“เมื่อนั้น พญาพิเภกยักษี

จึ่งเอาธูปเทียนมาลี อันมีกลิ่นฟุ้งขจายจร

สมาศพบรมเชษฐา ซึ่งได้ประมาทมาแต่ก่อน

ให้คิดเสน่หาอาวรณ์ ชุลีกรประณตบทมาลย์

แล้วเอากฤษณาจวงจันทน์ สารพันมีกลิ่นหอมหวาน

ใส่ในโกศแล้วอลงการ พญามารก็จุดอัคคี”

นอกจากนี้ ยังมีการใส่น้ำหอมเข้าไปในพระศพ ดังตอนถวายพระเพลิงพระเจ้ากรุงพาณ บทละครในเรื่อง “อุณรุท” บรรยายภาพของข้าราชบริพาร พระสนมกำนัล นางข้าหลวงล้วนมี ‘จุณจันทน์สุคันธาหอมหวาน’ เป็นอุปกรณ์สำคัญในการถวายพระเพลิง ดังนี้

“ต่างจุดธูปเทียนเคารพ ษมาศพพระยายักษี

ทักษิณพลางแสนโศกี เสียงมี่วังเวงวิญญาณ์

แล้วให้เอาจุณจันทน์สุคันธาร เทียนทองกุสุมาลย์กฤษณา

ใส่เข้าในศพอสุรา จุดเพลิงบูชาพร้อมกัน”

ไม้จันทน์สำคัญต่องานศพอย่างไร

ฉบับหน้ามาคุยต่อ •

 

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี | ญาดา อารัมภีร