ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก (7)

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม | เกษียร เตชะพีระ

 

ทุนอเมริกัน vs. ทุนจีนในบริบททุนนิยมโลก

: (7) สงครามการค้าจีน-สหรัฐจะลุกลามเป็นสงครามการทหารหรือไม่?

 

ในบทความวิจัยเรื่อง The Great Military Rivalry : China vs. the U.S. (การประชันขันแข่งทางทหารครั้งยิ่งใหญ่ : จีนกับสหรัฐ, 2021, https://www.belfercenter.org/publication/great-military-rivalry-china-vs-us) ของศาสตราจารย์รัฐศาสตร์ Graham Allison & ผู้ช่วยวิจัย Jonah Glick-Unterman สังกัดศูนย์เบลเฟอร์เพื่อวิทยาศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ วิทยาลัยฮาร์วาร์ดเคนเนดี สหรัฐอเมริกา (ที่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลเรียนจบมานั่นแหละ) มีข้อสรุปสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ :

1. ยุคสมัยที่สหรัฐอเมริกาเป็นเอกเหนือประเทศอื่นใดทั้งปวงด้านการทหารสิ้นสุดลงแล้ว

2. ขณะที่ฐานะอภิมหาอำนาจทางทหารระดับโลกของอเมริกายังคงไม่มีประเทศใดเสมอเหมือน ทว่า มาบัดนี้ทั้งจีนและรัสเซียกำลังเป็นคู่แข่งที่ร้ายกาจและกระทั่งพอฟัดพอเหวี่ยงกันกับสหรัฐ เฉพาะในบางปริมณฑล

3. หากในอนาคตอันใกล้เกิดสงครามระดับจำกัดเหนือไต้หวันหรือตามบริเวณชายขอบของจีนขึ้นแล้ว สหรัฐน่าจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ หรือมิฉะนั้นก็ต้องเลือกเอาระหว่างพ่ายแพ้กับไต่ระดับสงคราม แผ่กว้างออกไป (‘Executive Summary’, pp.1-2)

ปกงานวิจัย & แผนที่แสดงปฏิบัติการที่ทหารรับจ้างของ Erik Prince ทำให้แก่จีนในกลุ่มประเทศ BRI https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-02-10/blackwater-mercenary-prince-has-a-new-1-trillion-chinese-boss#xj4y7vzkg

เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โฮเฟิง หง ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัย Johns Hopkins สหรัฐอเมริกา ให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อต้นปี 2022 (https://thedigradio.com/podcast/clash-of-empires-w-ho-fung-hung/) ต่อจากตอนก่อนดังนี้ :

แดเนียล เดนเวอร์ : แน่ล่ะครับว่าจีนกับรัสเซียต่างครองฐานะตำแหน่งแตกต่างกันยิ่งในเศรษฐกิจโลก กระนั้นแล้ว ฐานะใจกลางต่อเศรษฐกิจโลกของจีนจะช่วยหักห้ามสหรัฐไม่ให้ใช้อำนาจทางภูมิเศรษฐศาสตร์อันเกิดจากการครองความเป็นเจ้าของเงินสกุลดอลลาร์มาลงโทษจีนในลักษณะเดียวกับที่ทำต่อรัสเซียอยู่ทุกวันนี้ไหมครับอาจารย์? ในสภาพที่การลงโทษรัสเซียได้ก่อให้เกิดผลกระทบตีกลับทางเศรษฐกิจเป็นพิเศษขึ้นมาให้เห็นๆ กันแล้ว ขืนทำแบบเดียวกันต่อจีนดูท่าอาจถึงขั้นทำให้เศรษฐกิจโลกหายนะได้นะครับ

โฮเฟิง หง : แหงแก๋เลยครับ ห่วงเชื่อมทางเศรษฐกิจจีน-สหรัฐนั้นลุ่มลึกและกว้างไกลกว่าห่วงเชื่อมรัสเซีย-สหรัฐ หรือแม้กระทั่งรัสเซีย-ยุโรปมากนัก แล้วห่วงเชื่อมที่ว่าก็แผ่ออกไปทั้งสองทางด้วย นี่คือเหตุผลที่ทำไมแม้กระทั่งภายในจีนเองจึงเกิดการโต้แย้งถกเถียงกันเรื่องที่สี จิ้นผิง จะครองตำแหน่งต่ออีกสมัยหนึ่ง ซึ่งจะเป็นญัตติพิจารณากันในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์จีนปีนี้

(หมายถึงการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ จีนครั้งที่ 20 เมื่อตุลาคมศกก่อน ซึ่งลงมติเอกฉันท์ให้สี จิ้นผิง เป็นเลขาธิการพรรคสมัยที่สาม https://english.news.cn/20221025/ba4e4b6d652740c38ebb64471d383735/c.html)

เอริก ปริ๊นซ์ อดีตทหารหน่วยซีลของกองทัพเรือสหรัฐ & เจ้าของบริษัท รปภ. Frontier Services Group รับจ้างทางการจีน

ชนชั้นนำบางกลุ่มของสถาบันอำนาจภายในจีนกังวลว่าโวหารก้าวร้าวและท่าทีเผชิญหน้ากับสหรัฐของสี จิ้นผิง นั้นควรไหมที่จะต้องปรับลดลงบ้าง ในแง่หนึ่งมันเหลือที่จะนึกคิดไปได้ว่าสหรัฐจะแซงก์ชั่นจีน เหมือนที่กำลังทำต่อรัสเซียนะครับ สหรัฐน่ะอาจหยุดนำเข้าน้ำมันและแก๊สจากรัสเซียซึ่งคิดสะระตะแล้วไม่ถึง 5% ของสินค้าเข้าของตนได้ ทว่า สหรัฐไม่มีทางปิดกั้นสินค้าเข้าทั้งหมดจากจีนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแน่ๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนพึ่งพาอุปทานของจีนครับ

ขณะเดียวกัน จีนก็พันพัวนัวเนียกับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก และภาคส่งออกของจีนก็ยังคงเป็นพลังขับดันเศรษฐกิจของจีนเองด้วยนะครับ เงินตราต่างประเทศสำรองซึ่งภาคส่งออกสร้างขึ้นนั้นเป็นพื้นฐานรองรับการปล่อยกู้เงินสกุลหยวนของจีนที่ใช้มาขับดันการลงทุนและการก่อสร้างในประเทศอีกที ฉะนั้นภาวะเช่นนี้จึงเข้าข่ายสถานการณ์ที่ประกันว่าขืนหักหาญตัดขาดกันทางเศรษฐกิจขึ้นมา จีนกับสหรัฐนั่นแหละจะพังทลายไปด้วยกันทั้งคู่ครับ

ในระยะหลัง สี จิ้นผิง เที่ยวแพร่กระจายแนวคิดที่เรียกว่า “การหมุนเวียนภายใน” ว่าจีนจำต้องหันมาเน้นการหมุนเวียนภายในมากกว่าจะมุ่งเพ่งเล็งแต่การหมุนเวียนภายนอกเท่านั้น นี่เป็นภาษาป่าวร้องหนุนเสริมการแยกคู่ (decoupling) นะครับ แน่ล่ะครับ ในสหรัฐก็มีการพูดกันมากเรื่องการแยกคู่และขนย้ายอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ทั้งหลายกลับมาขึ้นฝั่งเพื่อทำการผลิตในสหรัฐแทน (re-shoring)

ส่วนภายในจีนก็มีแนวโน้มที่เสนอว่าการแยกคู่กันอาจเป็นเรื่องดีก็ได้ด้วย มีการดึงดันกันไปมา ระหว่างแนวโน้มที่ว่านี้กับพลังฝ่ายตรงข้ามซึ่งเถียงว่าถ้าหากจีนอยากจะแยกคู่จากสหรัฐจริงๆ แล้ว จีนก็จะกลายเป็นเกาหลีเหนือขนาดยักษ์เท่านั้นเอง

การแยกคู่เป็นเรื่องทำได้ยากและเจ็บปวดหากจะไม่ให้เสียหายผลประโยชน์มากหลายของทั้งชนชั้นนำและประชาชนครับ เอาเข้าจริงไม่มีใครเต็มใจจะดูดซับรับเอาความเสี่ยงทางสังคมและการเมืองของการทำเช่นนั้นหรอกครับ

ดังนั้น ทั้งในฟากสหรัฐและจีนเอง จึงมีพลังถ่วงทานการแยกคู่อยู่ แต่ก็จริงแหละครับว่ามันมีทั้งการแก่งแย่งแข่งขันและประชันขันแข่งกันระหว่างสองประเทศ

 

ผมมักชอบชี้เสมอให้มองดูกรณีเทียบเคียงน่าสังเกตของความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับสหราชอาณาจักรตอนจวนเจียนจะเกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งครับ ตอนปลายศตวรรษที่สิบเก้าต่อต้นศตวรรษที่ยี่สิบนั้นน่ะ ทั้งสองประเทศแข่งขันกันหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ทางด้านธุรกิจและการเงิน และก็กลายเป็นคู่แข่งกันทางภูมิรัฐศาสตร์ยิ่งขึ้นทุกที

แต่กระนั้นทั้งสองประเทศก็ยังคงเชื่อมโยงกันอย่างยิ่งทั้งทางเศรษฐกิจและกระทั่งทางสังคม จะว่าไปเจ้านายกับขุนนางของสองประเทศก็แต่งงานกันด้วยนะครับ มีการลงทุนและค้าขายซึ่งกันและกันอยู่ แต่แล้วแรงดึงกับแรงดันมันก็เสียดุลในท้ายที่สุด และก็กลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งครับ

ตอนนี้เรายังไปไม่ถึงจุดหักเปลี่ยนในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนนะครับ แต่กระนั้นผมก็เห็นพลวัตและความตึงเครียดในความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนมากมายหลายประการที่คล้ายคลึงเหลือเกินกับสถานการณ์ระหว่างสหราชอาณาจักรกับเยอรมนีเมื่อศตวรรษก่อนครับ

แดเนียล เดนเวอร์ : เอ อาจารย์หงครับ พูดอย่างเป็นรูปธรรมนี่น่ะ ความสัมพันธ์สหรัฐ-จีนจะเคลื่อนย้ายจากการประชันขันแข่งไปเป็นสงครามได้ยังไงครับ?

 

โฮเฟิง หง : ต่อเรื่องนี้ผมยังค่อนข้างมองโลกในแง่ดีอย่างรัดกุมอยู่นะครับ จีนน่ะกำลังส่งออกเงินทุนและแข่งขันกับทุนสหรัฐอยู่ในบรรดาประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางทั้งหลาย แต่ขณะเดียวกันจีนก็กำลังเผชิญกับประเด็นปัญหาเรื่องการส่งออกเงินทุนด้วย กล่าวคือ เวลาคุณส่งออกทุนไปที่ไกลๆ ละก็ คุณจำต้องปกป้องการลงทุนของคุณด้วย คุณจำต้องสำแดงอำนาจทางการเมืองหรือกระทั่งการทหารเพื่อปกป้องการลงทุนประดามีของคุณในที่ไกลๆ เหล่านั้นครับ

พอจีนส่งออกทุน จีนก็ต้องเผชิญความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนรัฐบาลเอย ความเสี่ยงเรื่องโรคระบาดทั่วไปเอย การก่อการร้ายเอย และที่น่าสนใจก็ตรงทั้งในปากีสถานและทวีปแอฟริกามีรายงานฉบับต่างๆ ของบริษัทรักษาความปลอดภัยที่แสดงว่าบุคลากรจีนและสิ่งอำนวยความสะดวกจีนกำลังกลายเป็นเป้าหมายอันดับแรกสุดของพวกโจรท้องถิ่นเอย กลุ่มกบฏเอย และพวกก่อการร้ายเอยนะครับ

จีนน่ะค่อนข้างยับยั้งชั่งใจมากในความหมายที่ว่าจีนไม่อยากสำแดงอำนาจการทหารและการเมืองของตัวเปรี้ยงออกมาทันทีครับ จีนว่าจ้างเอริก ปริ๊นซ์ อดีตเจ้าของบริษัท แบล็กวอเตอร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานทหารรับจ้างที่ทำงานให้สหรัฐระหว่างสงครามอิรักเอาไว้ หลังจากปริ๊นซ์เกิดเรื่องลำบากเดือดร้อนใหญ่โตกับทางการสหรัฐแล้ว ตอนนี้เขามาอยู่ในฮ่องกงและดำเนินกิจการบริษัทย่อยของรัฐวิสาหกิจจีนแห่งหนึ่งซึ่งจัดหาบริการรักษาความปลอดภัยให้แก่บรรดาบริษัทและบุคลากรจีนในเหล่าประเทศหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางครับ

(หมายถึงบริษัท Frontier Services Group ดู “Blackwater Founder’s New Company Strikes a Deal in China. He Says He Had No Idea.”, 1 February 2019, https://www.nytimes.com/2019/02/01/business/erik-prince-xinjiang-china-fsg-blackwater.html)

 

ความจริงการที่จีนกำลังใช้ทหารรับจ้างมาแก้ปัญหาบ่งชี้ว่าจีนไม่เหมือนพวกมหาอำนาจจักรวรรดินิยม หรือล่าอาณานิคมแต่ก่อน ซึ่งส่งออกแสนยานุภาพอย่างโจ่งแจ้งโดยไม่เคอะเขิน จีนรอบคอบรัดกุมกว่าในการสำแดงแสนยานุภาพครับ แต่มันก็มีสัญญาณบอกด้วยว่าจีนต้องการมีฐานทัพในต่างแดน ดังกรณีที่กองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนไปตั้งประจำการในประเทศอย่างจิบูตี ทว่า กล่าวโดยเปรียบเทียบแล้ว การไปตั้งวางกำลังที่ว่านี้ยังเล็กกระจิริดมากเมื่อเทียบกับรัสเซีย เป็นต้น รัสเซียน่ะสามารถส่งกำลังทหารพลร่มแล้วทิ้งระเบิด ไปจนจรดซีเรียโน่นเลยนะครับ และอีกอย่างเมื่อเทียบกับเยอรมนีร้อยปีก่อน จีนมีลักษณะแสนยนิยม (militarism) น้อยกว่าโขด้วย คือด้านในประเทศน่ะ จีนแสนยนิยมและเหี้ยมเกรียมยิ่งแหละครับ แต่ภายนอกแล้ว จีนใช้นโยบายแสนยนิยมอย่างเหนียมอายกว่านะครับ

นี่คือเหตุผลที่ทำไมการประชันขันแข่งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนกับสหรัฐจึงเป็นภยันตรายน้อยกว่าการประชันขันแข่งระหว่างเยอรมนีที่แสนยนิยมอย่างยิ่งกับสหราชอาณาจักรซึ่งก็แสนยนิยมพอๆ กันในต้นศตวรรษที่ยี่สิบครับ ความเป็นไปได้อย่างหนึ่งคือการแข่งขันระหว่างจีนกับสหรัฐนั้นถูกเหนี่ยวรั้งไว้ เพราะทุกวันนี้เรามีสถาบันโลกาภิบาลพหุภาคีต่างๆ ตั้งแต่องค์การการค้าโลกไปจนถึงองค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติคอยดึงไว้

ฉะนั้น สงครามภูมิรัฐศาสตร์จึงอาจถูกแปลเป็นการแข่งขันที่ประสงค์ร้ายแต่เอากันถึงตายน้อยกว่าภายในสถาบันเหล่านี้ครับ เราได้เห็นเรื่องนี้มาแล้วในการต่อสู้ช่วงชิงเหนือองค์การอนามัยโลกระหว่างเกิดโควิด-19 ระบาดทั่วโลกและในการโต้แย้งถกเถียงกันในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งคณะกรรมการองค์การการค้าโลกชุดต่างๆ

แต่ก็นั่นแหละนะครับ ผมอาจคิดเพ้อฝันไปเองก็ได้

(ต่อสัปดาห์หน้า)

ใต้ภาพ :

1-ปกงานวิจัย & แผนที่แสดงปฏิบัติการที่ทหารรับจ้างของ Erik Prince ทำให้แก่จีนในกลุ่มประเทศ BRI https://www.bloomberg.com/news/articles/2019-02-10/blackwater-mercenary-prince-has-a-new-1-trillion-chinese-boss#xj4y7vzkg

2-เอริก ปริ๊นซ์ อดีตทหารหน่วยซีลของกองทัพเรือสหรัฐ & เจ้าของบริษัท รปภ. Frontier Services Group รับจ้างทางการจีน