ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13 - 19 ตุลาคม 2566 |
---|---|
ผู้เขียน | ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
เดือนแรกของรัฐบาลเศรษฐา 1 ผ่านไปมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว และถึงแม้ทุกคนประเมินได้ว่าการจับมือกับพรรคฝ่ายคุณประยุทธ์ จันทร์โอชา จะทำให้รัฐบาลเศรษฐา 1 ไม่มีเวลาดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์เลย แต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ร้อนแรงจนกลบข่าวเชิงบวกของรัฐบาลก็รุนแรงจนน่ากังวล
นอกเหนือจากข่าวแจกเงิน 5.6 แสนล้าน ที่ความไม่ชัดของรัฐบาลกำลังทำให้รัฐมนตรีต้องตอบคำถามอลวน
ความรู้สึกว่าคณะรัฐมนตรีทำงานช้าก็ยังเป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนวิจารณ์รัฐบาลขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือคนไทยในสงครามอิสราเอล ม็อบคนจนที่นอนตากฝนหน้าทำเนียบกว่า 7 วัน การร่างรัฐธรรรมนูญฉบับใหม่ เรือดำน้ำจีน ฯลฯ
แม้คุณเศรษฐา ทวีสิน เพิ่งรับตำแหน่งในวันที่คุณทักษิณ ชินวัตร กลับไทยเมื่อ 22 สิงหาคม แต่ด้วยความที่พรรคร่วมรัฐบาลส่วนใหญ่มาจากฝ่ายคุณประยุทธ์, รัฐมนตรีคนสำคัญมาจากรัฐบาลเดิม และ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลจากฝ่ายคุณประยุทธ์มีถึง 200 สูงกว่าเพื่อไทยซึ่งมี ส.ส.แค่ 141 ทำให้ความรู้สึกว่าต้องให้เวลาคุณเศรษฐาหายไปพร้อมกับรัฐบาลซึ่งเต็มไปด้วยคนหน้าเดิม
ในแง่นี้รัฐบาลกำลังเผชิญปัญหา “ความไม่ชัด” ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ กับปัญหา “ความล่าช้า” ซึ่งเป็นความรู้สึกที่ก่อตัวในประชาชนบางกลุ่มซึ่งรัฐบาลจะปฏิเสธก็ไม่ได้อีก เพราะการเมืองเป็นเรื่องของ “มุมมอง”
ซึ่งไม่ว่าคนมองจะมองถูกหรือผิดข้อเท็จจริง หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่มีผลต่อความเชื่อถือและไม่เชื่อถือรัฐบาลอยู่ดี
ถึงวันนี้แม้รัฐบาลจะคุมทหารโดยส่งคุณสุทิน คลังแสง ไปเป็นรัฐมนตรีกลาโหม รวมทั้งคุมตำรวจโดยคุณเศรษฐาเสนอชื่อ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแบบข้ามทุกคนที่อาวุโสจนถูกยื่นเอาผิดรัฐธรรมนูญไปที่ ป.ป.ช.
แต่ “อำนาจรัฐ” ที่รัฐบาลมีในมือ กลับไม่สามารถสร้าง “ความยอมรับนับถือ” อย่างที่ควรได้เมื่อเทียบกับอำนาจที่มี
นับตั้งแต่แนวคิด “อำนาจนำ” เผยแพร่สู่สังคมไทยตั้งแต่ปี 2524 ถึงเวลานี้สื่อ, นักวิชาการ, นักการเมือง และประชาชนรู้ดีแล้วว่า “อำนาจรัฐ” ต่างจาก “อำนาจนำ”
เพราะอำนาจรัฐหมายถึงอำนาจตามกฎหมายในการควบคุมประชาชนและใช้ความรุนแรง
ขณะที่อำนาจนำหมายถึงการเป็นที่ยอมรับจนทุกคนทำตามโดยไม่ต้องใช้กฎหมายหรือความรุนแรงเลย
คุณเศรษฐาและรัฐบาลเพื่อไทยมี “อำนาจรัฐ” ในการคุมทหาร, คุมตำรวจ และคุมการใช้กฎหมายแน่ๆ
แต่คุณเศรษฐาและรัฐบาลเพื่อไทยยังไม่มี “อำนาจนำ” ในความหมายของการเป็นที่ยอมรับของคนทุกฝ่ายระดับที่คนส่วนใหญ่ยินยอมพร้อมใจโดยดุษฎี ไม่ว่าจะเป็นเพราะการจับมือกับฝ่ายคุณประยุทธ์หรือระยะเวลาในการเป็นรัฐบาลเองก็ตาม
พรรคร่วมรัฐบาลจากฝ่ายคุณประยุทธ์ล้วนมี “ต้นทุนติดลบ” จนไม่สามารถช่วยสร้างความยอมรับนับถือให้กับรัฐบาล
และแม้แต่พรรคเพื่อไทยเองก็เผชิญปัญหา “ต้นทุนติดลบ” จากการตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว รวมถึงปัญหาการเมืองเก่าเชิงต่อปากต่อคำ สงครามน้ำลาย อื่นๆ หรือแม้แต่การโจมตีของคุณอดิศร เพียงเกษ ต่อพรรคก้าวไกล
ถ้าเป็นในโลกยุคอะนาล็อกที่เสียงประชาชนระบาย ปัญหา “ต้นทุนติดลบ” ก็เป็นเสียงบ่นตามสภากาแฟหรือโต๊ะอาหารที่พูดแล้วก็หายไปกับสายลมหมด แต่ในโลกออนไลน์ที่เสียงประชาชนแสดงออกผ่าน “โซเชียล” ได้ตลอดเวลา
ปัญหา “ต้นทุนติดลบ” ก็จะกลายเป็นคอมเมนต์, โพสต์, แชร์, คลิปติ๊กต็อก ฯลฯ ที่แสดงความไม่พอใจรัฐบาลได้ 24 ชั่วโมง
ล่าสุด นโยบายแจกเงิน 5.3 แสนล้าน กลายเป็นมรสุมความเห็นถล่มรัฐบาลเพราะความ “ไม่ชัด” ในเรื่องที่ควรชัดอย่างที่มาของเงิน รวมทั้งเรื่อง “ล่าช้า” ในเรื่องที่ควรชี้แจงได้รวดเร็ว อย่างเช่น การปรับพื้นที่ใช้เงินจาก 4 กิโลเมตรเป็นระดับอำเภอ เช่นเดียวกับความไม่สามารถตอบได้ในเรื่องยากๆ อย่างเช่น การทำให้เกิดผลตอบแทนแบบทวีคูณ
บทความของ อ.วิมุต วานิชเจริญธรรม เรื่อง “ข้อคิดต่อตัวทวีคูณทางการคลังและภาษีที่ได้จากนโยบายกระเป๋าเงินดิจิทัล” อธิบายได้ยอดเยี่ยมถึงปัญหาของนโยบายแจกเงิน 5.6 แสนล้านที่น่ากังวล
สรุปง่ายๆ พรรคเพื่อไทยอ้างว่าจะทำโครงการนี้โดยไม่กู้และใช้เงินในระบบงบประมาณ 100%
แต่หากถอดตัวเลขและเทียบเคียงงานวิจัยอื่นๆ แล้วเป็นไปไม่ได้เลย
กล่าวแบบรวบรัดที่สุด นโยบายแจกเงิน 5.6 แสนล้านจะประสบความสำเร็จโดยไม่กู้และไม่ใช้เงินนอกงบประมาณก็ต่อเมื่อเม็ดเงินที่รัฐบาลใส่เข้าไป 1 บาทจะก่อให้เกิดการใช้จ่ายและรายได้ 2.55 บาท
แต่ปัญหาคือการอัดฉีดงบประมาณแบบนี้ทั้งโลกไม่เคยมีที่ไหนที่ผลตอบแทนสูงอย่างที่รัฐบาลเพื่อไทยประเมินเลย
ตามที่ อ.วิมุตระบุ การอัดฉีดเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สหรัฐเคยทำหลังเหตุการณ์ 9/11 หรือการคืนภาษีปี 2001 ที่ใช้เงินกว่า 38,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1.4 ล้านล้านบาท เทียบเท่ากับ 0.4% ของจีดีพีสหรัฐในปี 2001
แต่งานวิจัยเชิงประจักษ์พบว่า “ตัวทวีคูณทางการคลัง” ที่เกิดขึ้นในกรณีนี้อยู่ที่ 1.33 เท่านั้นเอง
สําหรับคนเรียนเศรษฐศาสตร์ระดับ 101 คำถามง่ายๆ คือ อะไรทำให้รัฐบาลเพื่อไทยมั่นใจว่านโยบายแจกเงินของคุณเศรษฐา 1 จะได้ผลตอบแทนเชิงทวีคูณสูงกว่านโยบายแจกเงินของรัฐบาลสหรัฐถึงเกือบ 1 เท่าตัว เพราะความแตกต่างในแง่วิธีแจกเงินด้วย Blockchain ไม่น่าเป็นคำอธิบายเรื่องนี้ได้อย่างแน่นอน
ถ้ารัฐบาลไม่ตัดงบฯ รายจ่ายอื่นๆ มาใช้แจกเงิน รัฐบาลย่อมไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการกู้มากขึ้น
นักเศรษฐศาสตร์มีมติเอกฉันท์ว่าการกู้กระทบสถานะด้านเครดิตของประเทศแน่ๆ
ขณะที่รัฐบาลไม่เคยมีรัฐมนตรีคนไหนตอบคำถามนี้ตรงๆ มีแต่คนของรัฐบาลในคราบสื่อหรือไอโอที่บอกว่าถึงหนี้พุ่ง แต่เดี๋ยวเศรษฐกิจก็จะโตตาม
นโยบายแจก 5.6 แสนล้านใช้ภาษีประชาชนมหาศาลใน 6 เดือน แต่ขณะที่สังคมตั้งคำถามซึ่งต้องการคำตอบที่อิงความรู้และหลักวิชา คำตอบของรัฐบาลในแง่ “ข้อเท็จจริง” และ “หลักวิชา” กลับพร่ามัวจนอย่างเดียวที่ชัดคือเงินที่ใช้และวิธีที่แจกเท่านั้น
ส่วนคำตอบอื่นๆ กลับมีแต่เรื่องการเมือง, การเมือง และการเมือง
น่าสังเกตว่ายิ่งเสียงวิจารณ์นโยบายแจก 5.6 แสนล้านดังขึ้นทุกวัน สิ่งที่รัฐมนตรีและคนในทำเนียบรัฐบาลตอบกลับเน้นที่การโจมตีคนถามว่าเป็นพวกนักวิชาการอมสาก, สมัยประยุทธ์ไม่เคยถามอะไร, ทำไมแบงก์ชาติไม่สนับสนุนรัฐบาล ฯลฯ ทั้งที่คนวิจารณ์นโยบายรัฐบาลรอบนี้มีมากกว่าคนกลุ่มที่รัฐบาลโจมตีมากเหลือเกิน
มองในแง่การเมืองมวลชน รัฐบาลเริ่มปกป้องนโยบายนี้โดยสร้างกระแสว่าใครตั้งคำถามกับนโยบายนี้ คือคนที่ต้องการล้มรัฐบาล แต่ความจริงคือไม่มีรัฐบาลไหนล้มเพราะถูกประชาชนวิจารณ์นโยบาย และทุกคนที่วิจารณ์นโยบายคือคนที่เป็นเจ้าของประเทศและเจ้าของภาษีจนมีสิทธิพูดได้ทุกคน
เพื่อไทยมีสิทธิถูกหลอนจากอดีตที่ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยวิจารณ์นโยบายจำนำข้าวเพื่อล้มรัฐบาล
แต่รัฐบาลเพื่อไทยไม่ได้ล้มเพราะถูกวิจารณ์ แต่เพราะองค์กรอิสระและรัฐประหาร
ขณะที่พรรคเพื่อไทยวันนี้จับมือกับฝ่ายรัฐประหารและคุณประยุทธ์จนไม่มีทางที่จะมีฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยล้มรัฐบาลได้เลย
ด้วยการกลับไทยของคุณทักษิณที่ตามมาด้วยฝ่ายคุณประยุทธ์โหวตคุณเศรษฐาเป็นนายกฯ จากนั้นคุณประยุทธ์ลงนามรับสนองคำสั่งพระราชทานลดโทษคุณทักษิณเหลือแค่ 1 ปี ทั้งที่คุณประยุทธ์เคยใช้ ม.44 ลงนามถอดยศคุณทักษิณตั้งแต่ปี 2558 ประเทศไทยวันนี้ไม่มีเงื่อนไขที่ทหารจะรัฐประหาร รวมทั้งไม่มีเงื่อนไขที่จะมีใครล้มรัฐบาลได้เลย
หนึ่งในเงื่อนไขของการสร้างอำนาจนำคือการสร้างความยอมรับจากสังคม และในเวลาที่รัฐบาลเจอปัญหาที่ตอบยากๆ อย่างแจกเงิน 5.6 แสนล้านบาทอย่างไรไม่ให้เครดิตประเทศพัง สิ่งที่รัฐบาลควรตอบคือการแสดงความรู้ที่วางอยู่บนข้อมูลและการวิจัยที่แม่นยำที่สุด ไม่ใช่การตอบแต่ในเชิงตอบโต้การเมืองอย่างที่ทำในปัจจุบัน
อย่าสร้างความขัดแย้งในหมู่ประชาชนเพื่อปกป้องนโยบายรัฐบาล แต่ต้องปกป้องนโยบายด้วยการสร้างอำนาจนำที่มาจากความรู้และการยอมรับจริงๆ
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022