วิกฤตการสืบเผ่าพันธุ์ไทย

เมนูข้อมูล นายดาต้า

 

วิกฤตการสืบเผ่าพันธุ์ไทย

 

โลกพัฒนาไปรวดเร็ว เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายที่กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน การจัดการอย่างชาญฉลาดและเท่าทันคือความจำเป็น

ด้วยความเป็นจริง ความรู้ความสามารถที่ประกอบเป็นคุณภาพของผู้บริหารจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

ความซับซ้อนที่ทำให้การจัดการชีวิตผู้คนเป็นโจทย์ยากขึ้นมากมาย

ตัวอย่างง่ายๆ ประเทศไทยเข้าสู่ยุคประชาชนสูงวัย คนแก่เป็นภาระในหลายมิติที่ต้องอาศัยคนหนุ่มคนสาวมารับ ทั้งโดยส่วนตัวและในภาพรวมของประเทศ

ทว่า คนหนุ่มคนสาวกลับมีสัดส่วนน้อยลง เพราะนโยบายคุมกำเนิดที่ผ่านมา หนำซ้ำถึงวันนี้ “ความไม่อยากมีลูก” กลายเป็น “ค่านิยม” ของคนรุ่นใหม่

เพิ่มปัญหาให้วิกฤตขึ้นไปอีก

 

ผลสำรวจของ “นิด้าโพล” ล่าสุด เรื่อง “มีลูกกันเถอะน่า” โดยสอบถามความเห็นจากประชาชนวัยเจริญพันธุ์ อายุ 18-40 ปีทั่วประเทศ

เมื่อถามถึงความอยากมีลูก แม้ยังเป็นส่วนมากคือร้อยละ 53.89 จะยังตอบว่า “อยากมี” แต่ร้อยละ 44.00 ซึ่งถือว่าไม่น้อยเลยที่ตอบว่า “ไม่อยากมี” ร้อยละ 2.11 ไม่ตอบ

ที่บอกว่าไม่น้อย เพราะโดยปกติธรรมชาติของสิ่งมีชีวิตย่อมอยู่ด้วยสัญชาตญาณ “สืบทอดเผ่าพันธุ์” การมีลูก มีหลายคนคือวาระแห่งความยินดีปรีดาที่เกิดขึ้นตามสัญชาตญาณนั้น

ทว่า ถึงวันนี้ คนไทยจำนวนมากอยู่ด้วยการฝืนสัญชาตญาณแห่งการสืบพันธุ์เสียแล้ว

นี่จึงเป็นเรื่องที่ต้องถือว่า “ไม่ปกติ”

เมื่อสอบถามถึงเหตุผลจากคนกลุ่มที่ตอบว่า “ไม่อยากมีลูก” โดยให้เลือกตอบได้หลายข้อ ร้อยละ 38.32 ระบุว่าไม่อยากเพิ่มค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงลูก เท่ากับที่เป็นห่วงว่าลูกจะอยู่อย่างไรในสภาพสังคมปัจจุบัน, ร้อยละ 37.72 ไม่อยากมีภาระต้องดูแลลูก, ร้อยละ 33.23 ต้องการชีวิตอิสระ, ร้อยละ 17.66 กลัวเลี้ยงลูกได้ไม่ดี, ร้อยละ 13.77 อยากให้ความสำคัญกับงานมากกว่า, ร้อยละ 5.39 สุขภาพของตัวเองหรือคู่ครองไม่ค่อยดี, ร้อยละ 2.10 กลัวพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์จะไม่ดี ทำให้ลูกที่เกิดมาไม่ดีไปด้วย, ร้อยละ 0.90 กลัวกรรมตามสนองเนื่องจากเคยทำไม่ดีไว้กับพ่อแม่

ความคิดที่ปฏิเสธสัญชาตญาณของสิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นกับคนไทยเกือบครึ่งคือ ร้อยละ 44.0 นี้ เป็นเรื่องน่าใคร่ครวญเป็นอย่างมาก เนื่องจากธรรมชาติของมนุษย์นั้น พลังในการในการสืบเผ่าพันธุ์อยู่ที่คนหนุ่มสาว ทั้ง “ก่อกำเนิดชีวิตใหม่” ถึงการทะนุถนอมเลี้ยงดู ปกป้องเด็กๆ ให้เจริญเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ และการดูแลคนเฒ่าคนแก่ให้ยังมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องทุกข์ร้อนมากนัก

เมื่อคนหนุ่นคนสาวมี “ค่านิยม” ในทางไม่อยากรับภาระซึ่งเป็นธรรมชาติปกติของมนุษย์เสียแล้ว “การสืบทอดเผ่าพันธุ์” ย่อมเป็นปัญหา

 

ปรากฏการณ์นี้เป็นโจทย์ใหญ่มากที่คนรับผิดชอบในการบริหารจัดการประเทศต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างสูงยิ่ง เพื่อให้เกิดจัดการในคุณภาพที่หวังได้

กระทรวงที่มีหน้าที่โดยตรงคือ “การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” รัฐมนตรีที่ได้รับแต่งตั้งสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องเสนอ “วิสัยทัศน์-นโยบาย และแผน” ที่จะบริหารจัดการโจทย์ที่เป็นปัญหาละเอียดอ่อนนี้ อย่างหวังได้ในความชาญฉลาด

ประเด็นอยู่จึงมาอยู่ที่ว่า ความชาญฉลาดและเท่าทัน “วิกฤตการสืบเผ่าพันธุ์ของคนไทย” นี้ ประชาชนเห็นความหวังได้แค่ไหนในศักยภาพของ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์”