‘ดุร้าย’

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ
ช้างป่า - ลูกเล็กของช้างนั้นซน รวมทั้งเป็นเป้าหมายของผู้ล่า เมื่ออยู่ในฝูงมันจะถูกปกป้องดูแลจากแม่และพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด

หากมีคำถามว่า สัตว์ป่าที่ดูเหมือนว่าจะมีปัญหากับการทำงานของคนทำงานในป่า ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย หรือช่างภาพ คือตัวไหน

ในความรู้สึกของผม จะตอบว่า ช้าง เป็นคำตอบซึ่งไม่ได้หมายความว่าช้างเป็นสัตว์ตัวใหญ่ อันตรายอะไรแบบนั้น แต่เป็นเพราะพวกมันฉลาด และคล้ายจะชอบแกล้ง รวมทั้งความซนของลูกช้าง เหล่านี้สร้างปัญหาให้เราบ่อยๆ

หากช้างเดินผ่านมาทางซุ้มบังไพรที่ทำทิ้งไว้ นานๆ จะมีสักตัวยอมเสียเวลาแวะ เข้ามาดึง ฉีก หรือเหวี่ยงทิ้งไปไกล โทษฐานที่มาอยู่ขวางหูขวางตา

ในกรณีนี้ผมทำอะไรไม่ได้มากกว่าก้มหน้าก้มตาทำซุ้มบังไพรใหม่

อีกทั้งกล้องดักถ่ายภาพนี่ ช้างชอบดึงออกจากตำแหน่งที่ติดตั้งไว้ และเหวี่ยงทิ้งไปไกลๆ มาก ถ้าลวดสลิงที่เรามัดไว้แน่นหนา ไม่หลุด มุมกล้องก็เปลี่ยน

ในแง่ดี บางครั้งมุมที่ช้างตั้งให้ใหม่นั้น ก็ได้ภาพดีแบบแปลกๆ บ้าง ส่วนตัวที่ถูกกระชากออกมาเหยียบพังนั่น ก็ต้องทำใจ

 

โดยปกติ ผมจะตั้งซุ้มบังไพรทิ้งไว้หลายวันก่อนเข้ามาใช้ สิ่งแปลกปลอมในป่านั้น สัตว์ป่าสัมผัสได้ แต่พวกมันจะเริ่มคุ้นเคยหากสิ่งแปลกปลอมดูไม่มีอันตรายอะไร สักระยะหนึ่งสัตว์จะคุ้นเคย คลายความระแวงลง

สำหรับผมนี่อยู่ในขบวนการขออนุญาตแบบหนึ่ง

แม้แต่ในวันที่กระแสลมเป็นใจ เราเป็นฝ่ายอยู่ใต้ลม เมื่อมีสัตว์ลงมาในแหล่งอาหาร เช่น โป่ง ไม่ใช่ว่าพวกมันจะไม่รู้ตัว สัตว์สัมผัสได้ว่า บรรยากาศไม่ปลอดภัย จะก้มๆ กิน สลับกับรีบเงยหน้ามองมาซุ้มตลอด

โดยเฉพาะกับเสียงแปลกปลอมอย่างเสียงชัตเตอร์ ถึงทุกวันนี้กล้องจะพัฒนามาไกล เราสามารถปิดเสียงชัตเตอร์ได้ก็ตาม แต่การจ้องนานๆ ก็ทำให้สัตว์รู้ตัว

เสียงชัตเตอร์ ถ้ารัวอย่างไม่ยั้ง สิ่งที่จะได้เห็นคือ สัตว์ทั้งฝูงหยุดกิจกรรม ตื่นหนีเข้าชายป่า

ภาพสัตว์ป่ากำลังวิ่ง อาจเป็นภาพที่ดี แต่การต้องตื่นหนีไป เสียโอกาสในการกิน ย่อมไม่เป็นเรื่องที่ดี

 

ไม่กดชัตเตอร์ติดต่อ ละสายตาจากการจ้องมองบ้าง ถ้าสัตว์รับรู้ถึงความผิดปกติ พวกมันจะค่อยๆ ถอยเข้าชายป่าสักพัก หยุดพอคลายความระแวง ส่วนใหญ่จะกลับลงมาอีก

แต่หลายครั้งผมพบว่า ช้างไม่ทำเช่นนี้ โดยเฉพาะถ้าในฝูงมีลูกช้าง ซึ่งชอบตอนแม่และพี่เลี่ยงเผลอแอบวิ่งมาดูสิ่งผิดปกติ

ทุกครั้ง ก่อนออกมาสู่ที่โล่ง อย่างลำห้วย หรือโป่ง ช้างจะต้องใช้เวลาดูลาดเลาอยู่นาน แต่เจ้าพวกตัวเล็กที่กำลังซนมักทำให้แม่และพี่เลี้ยงเหนื่อย พวกจอมซนไม่สนใจอะไรมาก วิ่งนำหน้าออกมาก่อน

ครั้งหนึ่งเจ้าตัวเล็กจอมซนเกิดอาการสงสัยว่าซุ้มบังไพรที่ผมอยู่ข้างในเป็นอย่างไร วิ่งเข้ามาดู ผลคือ ผมต้องรีบออกมาเพื่อขึ้นไปอยู่บนต้นกระโดน

ตำแหน่งที่ตั้งซุ้มบังไพรจำเป็นต้องคำนึงถึงทางหนีทีไล่ไว้บ้าง ผมมักใช้ต้นไม้ใหญ่เผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน นอกจากนั้น การไม่ตั้งในตำแหน่งขวางเส้นทางที่สัตว์ใช้เดิน ก็จำเป็น

ถ้าอยู่ในซุ้มบังไพรตอนพวกจอมซนมารื้อ คงไม่ใช่เรื่องน่าสนุกเท่าใด

 

ครั้งที่เริ่มต้น ผมพบว่าในช่วงเวลาที่สัตว์ป่ามีลูกเล็ก แม่จะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องลูก ไม่ให้โดนรบกวน หรือติดตามอย่างกระชั้นชิด

แต่ก็เถอะ เรื่องความดุร้ายของสัตว์ป่านั้น คล้ายจะอยู่ในใจของคนมายาวนาน นิยาย ภาพยนตร์ เสนอภาพสัตว์ ที่พบปะกับคน และวิ่งเข้ามาทำร้าย กลายเป็นตราประทับถึงความดุร้าย ทำให้สัตว์ป่าเป็นภัยอันตราย

เรื่องเล่าจากคนที่ถือปืนในมือ สัตว์ป่าดุร้ายเสมอ

ในอีกแง่มุมหนึ่ง ดูเหมือนการหันกลับมาสู้เพื่อเอาชีวิตรอดนั้น เป็นเรื่องปกติ ซึ่งมีอยู่ในทุกชีวิต

ช้างป่า – ลูกเล็กของช้างนั้นซน รวมทั้งเป็นเป้าหมายของผู้ล่า เมื่ออยู่ในฝูงมันจะถูกปกป้องดูแลจากแม่และพี่เลี้ยงอย่างใกล้ชิด

ที่จริง เพราะความขี้เล่น อยากรู้อยากเห็นของช้างนี่แหละ ทำให้ผมบอกว่า ช้างสร้างปัญหากับคนทำงานในป่า

สำหรับผม สัตว์ป่ากับคน ต่างล้วนมีศักดิ์ศรี

ครั้งหนึ่ง บนทุ่งหญ้าในหุบเขา ผมเห็นช้างร่วมร้อยตัวมาชุมนุม แต่ผมไม่เห็นช้างงาสักตัว

เพื่อนชาวมูเซอบอกผมว่า “ช้างงา อยู่ในฝูงนั่นแหละ เพียงแต่เจ้าบังตาไว้ไม่ให้ใครเห็น”

วันนั้น ผมได้ความรู้สึกหนึ่ง ช้างตัวโตแล้ว ยังมี “เจ้า” ช่วยดูแล อย่างนี้จะไม่ให้เกรงศักดิ์ศรีได้ยังไง

 

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเสมอ ไม่มีสิ่งใดอยู่ถาวร

เราต่างรู้ดีถึงความเปลี่ยนแปลงที่สัตว์ป่ากำลังเผชิญ แหล่งอาศัยถูกตัดขาด เหลือเพียงหย่อมๆ พวกมันคล้ายติดอยู่ในเกาะ บางชนิดจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นอย่างไร้การควบคุม เพราะในพื้นที่อาศัยไม่มีนักล่า อย่างเสือโคร่ง ทั้งกระทิง และช้างจำนวนไม่น้อยออกจากป่า ใช้พื้นที่ซึ่งคนใช้ประโยชน์ พืชผลที่คนปลูกกลายเป็นพืชอาหารที่ดี

แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างคนกับสัตว์ป่า อย่างเลี่ยงไม่พ้น หลายครั้งการปะทะจบลงด้วยชีวิต

และมันคือโศกนาฏกรรม ในแต่ละปีมีคนเสียชีวิตไม่น้อย และคล้ายจะเพิ่มขึ้น

 

หลายฝ่ายพยายามแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง แน่นอนว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องการการแก้ไขอย่างเข้าใจและจริงใจจากรัฐบาล ไม่เพียงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

สัตว์ป่ากับคน มีศักดิ์ศรีไม่ต่างกัน คนพร้อมจะเข่นฆ่า ทำลายล้าง ปลายทางของความรุนแรงที่มีปัญหาสะสมมาเนิ่นนาน คือสงคราม

สงครามระหว่างคนกับสัตว์ป่าเช่นกัน

มองจุดเริ่มต้นสงครามอย่างเข้าใจปัญหา จำเป็น

มองสัตว์ป่าอย่างเห็นชีวิตที่พวกมันเป็น ลบภาพความ “ดุร้าย” ที่เชื่อมาตลอด ออกไปจากใจ คือสิ่งสำคัญ… •

 

หลังเลนส์ในดงลึก | ปริญญากร วรวรรณ