โลมาสีชมพู ‘เตือนภัย’

Bruno Kelly/Reuters

ความตายของโลมาสีชมพูกว่า 140 ตัวบริเวณทะเลสาบเทเฟ รัฐแอมะโซนัส ทางตอนเหนือของประเทศบราซิล เป็นปริศนาที่นักวิทยาศาสตร์ นักสิ่งแวดล้อมเร่งค้นหาคำตอบว่า อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ฝูงโลมาสีชมพูตายพร้อมๆ กัน

ในเบื้องต้นตั้งข้อสันนิษฐานน่าจะมาจากน้ำในทะเลสาบที่ร้อนขึ้น

โลมาสีชมพูพบได้ทั่วไปในลุ่มน้ำแอมะซอนเป็นโลมาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีเอกลักษณ์เฉพาะทั้งตัวเป็นสีชมพูและเป็นหนึ่งในโลมาน้ำจืดเพียงไม่กี่สายพันธุ์ที่หลงเหลืออยู่ในโลกใบนี้

มีตำนานเล่าขานในหมู่ชาวบราซิเลียนว่าเมื่อในคืนวันพระจันทร์เต็มดวง “โบโต คอร์ เด โรซา” ( boto cor de rosa) หรือโลมาสีชมพูจะแปลงร่างเป็นชายหนุ่มรูปหล่อแต่งสูทเต็มยศสวมรองเท้าขาว ใส่หมวกทรงสูงหรือท็อปแฮต หว่านเสน่ห์สาวๆ และพลอดรักกันริมฝั่งก่อนหายตัววับไปในแม่น้ำ

ทุกวันนี้สาวบราซิเลียนคนไหนมีลูกแต่ไม่ได้แต่งงาน ชาวบ้านจะพากันเรียกลูกคนนั้นว่า “โบโต คอร์ เด โรซา” หรือลูกโลมา

เจ้าหน้าที่รัฐแอมะโซนัสตั้งประเด็นข้อสงสัยการตายของโลมาสีชมพูว่า น่าจะมาจากอากาศร้อนจัดและภัยแล้ง

จากการตรวจวัดอุณหภูมิของน้ำในทะเลสาบแต่ละวันพบว่ามีอุณหภูมิเกิน 39 องศาเซลเซียส

ปกติแล้ว อุณหภูมิของน้ำที่เหมาะกับโลมาซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอยู่ระหว่าง 25-32 องศาเซลเซียส เมื่ออุณหภูมิน้ำสูงขึ้นจะมีต่ออัตราการเผาผลาญสูงขึ้นด้วย

น้ำที่ร้อนจัดเช่นนี้ทำให้ออกซิเจนในแม่น้ำลดลง ในทางตรงกันข้ามโลมาจะต้องเร่งอัตราการหายใจถี่ขึ้น เผาผลาญพลังงานมากขึ้น จึงเกิดอาการช็อกหายใจไม่ออกและพากันเกยตื้นตายในที่สุด

 

“มิเรียม มาร์มอนเทล” นักสิ่งแวดล้อมชาวบราซิล สันนิษฐานสาเหตุโลมาตายยกฝูงให้สำนักข่าว “บีบีซี” ฟังว่า เห็นพฤติกรรมแปลกๆ ของโลมา เช่น ดำน้ำไม่ได้หรือว่ายน้ำเป็นวงกลม น่าจะเป็นเพราะอุณหภูมิของน้ำที่สูงขึ้น หรือมีสารพิษบางอย่างอยู่ในน้ำ เมื่อสารพิษหรือเชื้อโรคกระจุกตัวเพิ่มขึ้น บวกกับอุณหภูมิในน้ำสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดเหตุอย่างที่เห็น

ปกติแล้วทุกๆ 15 ปีบราซิลเผชิญกับภัยแล้งรุนแรงเนื่องจากปรากฏการณ์ “เอลนีโญ” น้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกอุ่นขึ้น แต่เวลานี้บราซิลเจอกับอากาศร้อนสุดขั้วทุกๆ 5 ปี หรืออาจจะน้อยกว่า

ปรากฏการณ์เอลนีโญเมื่อรวมกับกระแสน้ำอุ่นในมหาสมุทรแอตแลนติก ทำให้ฤดูฝนในลุ่มน้ำแอมะซอนซึ่งจะเริ่มต้นในเดือนตุลาคม ต้องทอดยาวออกไป อากาศที่ร้อนแล้งเช่นนี้อาจทำให้โลมาตายมากขึ้น

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารว่าด้วยการอนุรักษ์สัตว์ระบุว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบนบกที่อาศัยอยู่ในป่าแอมะซอนเผชิญกับการคุกคามของสภาพอากาศสุดขั้ว การทำลายพื้นที่ป่าฝนจนกลายสภาพเป็นทุ่งหญ้าแห้งมีผลต่อชีวิตสัตว์ป่า

ความตายของ “โลมาสีชมพู” แห่งลุ่มน้ำแอมะซอน หากเป็นเพราะอุณหภูมิโลกที่ร้อนขึ้น จะเป็นสัญญาณเตือนภัยว่า สัตว์โลกทุกชนิดกำลังเป็นทุกข์เช่นเดียวกับมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์

สำนักข่าวบีบีซีแห่งอังกฤษพล็อตเส้นกราฟเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างของค่าเฉลี่ยอุณหภูมิโลก ของปี 2566 (เส้นกราฟสีแดง) กับค่าเฉลี่ยอุณหภูมิในแต่ละวันตั้งแต่ปี 2483 (เส้นกราฟสีเทาดำ) แสดงว่าปี 2566 อุณหภูมิสูงกว่า และเมื่อเทียบกับยุคก่อนเกิดอุตสาหกรรม ช่วงระหว่างปี 2393-2443 ปี 2566 อุณหภูมิสูงกว่ามาก

อีกสัญญาณเตือนภัยที่บอกว่าโลกเข้าสู่ยุคโลกเดือด นั่นคืออุณหภูมิเดือนกันยายนที่เพิ่งผ่านมานี้มีค่าเฉลี่ยร้อนกว่าเดือนกันยายนของปี 2534-2563 ถึง 0.93 องศาเซลเซียส และสูงกว่าสถิติเดิมเมื่อปี 2563 กว่า 0.5 องศาเซลเซียส

หน่วยงานติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป หรือ The Copernicus Climate Change Service (C3S) เก็บข้อมูลสภาพภูมิอากาศทั่วโลกทั้งบนบก ผิวน้ำทะเล พื้นผิวน้ำแข็งปกคลุมบริเวณขั้วโลก นำข้อมูลชิ้นนี้มาเผยแพร่ผ่านวารสารรายเดือน

วารสารของ C3S ระบุว่า สถิติเมื่อเดือนมกราคม-กันยายนของปี 2566 เทียบกับช่วงเดือนเดียวกันของปี 2559 พบว่า ปี 2566 มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น 0.05 องศาเซลเซียส กลายเป็นปีที่ร้อนที่สุด

นั่นหมายความว่า ปีนี้ ชาวโลกดำรงอยู่ในภาวะที่อุณหภูมิโลกสูงที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกสถิติไว้

สาเหตุที่เดือนกันยายนปีนี้มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น เนื่องจากฤดูร้อนบริเวณซีกโลกเหนือมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์

ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมาพื้นที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งในขั้วโลกเหนือมีระดับต่ำมากไม่ว่าจะเปรียบเทียบเป็นรายวันหรือรายเดือน เฉพาะเดือนกันยายน พื้นที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 9 เปอร์เซ็นต์

อุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลชัดเจนทำให้พื้นที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็งหดตัวลง ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในเดือนกันยายนปีนี้มีความผันผวนมากขึ้น ฝั่งตะวันตกของยุโรป เช่น ไอร์แลนด์ คาบสมุทรไอบีเรียน แถบสแกนดิเนเวียรวมถึงอังกฤษตอนเหนือ มีฝนตกหนักปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ย

ทางฝั่งตอนใต้ของบราซิลและชิลีเจอฝนถล่มหนักสุดเช่นกัน แต่ฝั่งทางสหรัฐในซีกตะวันออกเฉียงใต้ เม็กซิโก บางส่วนของยุโรปและออสเตรเลียกลับร้อนแล้ง

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลีย บอกว่าเดือนกันยายนปีนี้ซึ่งเป็นช่วงเช้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ แต่กลับเป็นเดือนร้อนแล้งที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ ปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเมื่อเทียบกับช่วงปี 2503-2533

ปัจจุบันฤดูกาลในออสเตรเลียเปลี่ยนไปมาก จนกลายเป็นเรื่องอำกันเล่นในหมู่ชาวเมืองของรัฐวิกตอเรียว่าถ้าใครถามวันไหนมีถึง 4 ฤดู แล้วมีคนตอบว่าวันนี้ไง รับรองว่าตอบไม่ผิด

 

กลับมาที่การตรวจวัดอุณหภูมิของยุโรป พบว่ามีสถิติสูงกว่าค่าเฉลี่ย 2.51 องศาเซลเซียส ถือเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ โดยเฉพาะเดือนกันยายน มีอุณหภูมิสูงขึ้นในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ยิ่งเมื่อเทียบอุณหภูมิของเดือนกันยายนในยุคก่อนเกิดการปฎิวัติอุตสาหกรรม ปรากฏว่า เดือนกันยายนปีนี้สูงกว่า 1.75 องศาเซลเซียส

ฉะนั้น ปรากฏการณ์ เช่น พายุลมแรง ฝนตกหนัก อากาศร้อนจัด แล้งจัดรวมทั้งอุณหภูมิน้ำในลุ่มน้ำแอมะซอนพุ่งทะลุไปถึง 39 องศาเซลเซียส จนกระทั่งโลมาสีชมพูเกยตื้นตายเป็นร้อยตัว จึงมีที่มาจากความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก

“โลกเดือด” จึงไม่ใช่แค่คำขู่ให้ชาวโลกตื่นตระหนก แต่เป็นของจริงพิสูจน์ได้ •

 

สิ่งแวดล้อม | ทวีศักดิ์ บุตรตัน

[email protected]